|
"นอมินี"เครื่องมือลอดช่องกฎหมายยึดทุกภาคธุรกิจ-คนไทยแค่ลูกจ้าง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"นอมินี" เครื่องมือทรงอานุภาพ เลี่ยงได้ทุกช่องกฎหมาย ใช้กันมานาน สาวไม่ถึงตัวชื่อเจ้าของตัวจริง นักการเมืองนิยมใช้ชื่อต่างชาติ เหตุมีกฎหมายรับรอง ส่วนต่างชาติที่ต้องการสิทธิที่กฎหมายไทยห้าม แค่ใช้ชื่อคนไทยถือแทนแต่อำนาจบริหารจัดการอยู่ในมือต่างชาติ ดีลเมกเกอร์แนะวันนี้ต้องยอมรับ "ต่างชาตินาย-คนไทยบ่าว"
ผลการตรวจสอบการถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัทกุหลาบแก้วและซีดาร์ โฮลดิ้ง มีลักษณะเข้าข่ายการถือหุ้นแทนต่างชาติโดยคนไทยหรือนอมินีหรือไม่นั้น เดิมกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการสอบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ทางยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้มีการสอบใหม่ โดยอ้างเรื่องความรอบคอบและให้มีคณะทำงานตรวจสอบใหม่ ที่ประกอบด้วยด้วยตัวแทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้ง ๆ ที่ข่าวที่ออกมาในระยะแรกค่อนข้างชัดเจนว่ากรณีของบริษัทกุหลาบแก้วเข้าข่ายการถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ป 49.595% เมื่อ 23 มกราคม 2549 ว่าเลี่ยงกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว คาดว่าผลอย่างเป็นทางการคงยืดออกไปอีก
ขณะเดียวกันได้มีการออกมาเปิดเผยเรื่องการลบเลี่ยงกฎหมายของไทยด้วยการใช้วิธีให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทนหรือ NOMINEE กันมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการที่มีข้อกำหนดสำหรับบุคคลต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ทำให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยผ่าน NOMINEE แทบทั้งสิ้น อีกทั้งรัฐบาลยังเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นด้วยการแก้ไขในบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น กิจการค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ที่ต่างชาติสามารถเข้ามาทำได้หากมีทุนจดทะเบียนสูงกว่า 100 ล้านบาท
เลี่ยงรายงาน-เปิดเผยชื่อ
ดีลเมกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องการถือหุ้นแทนนั้น ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติดำเนินการในนามนิติบุคคล เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ สามารถทำได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเคยมีการร่างกฎหมายแล้วแต่เรื่องไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องใช้ช่องว่างที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถทำได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ
ในประเทศไทยภาคธุรกิจเกือบทุกแห่งมีการใช้นอมินีทำการถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงกันมานานแล้วเช่นกัน โดยที่วิธีการเหล่านี้ได้รับคำแนะนำกันอย่างแพร่หลายจากนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ลงทุนนั้นเป็นบุคคลสัญชาติใด และต้องการเลี่ยงข้อกฎหมายใด
หากเป็นคนไทยการใช้นอมินี มักจะใช้สำหรับการหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ เช่น นักการเมืองมอบหมายให้บุคคลที่ไว้วางใจตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อรับงานสัมปทานหรืองานประมูลจากรัฐที่ตนเองหรือพวกพ้องมีอำนาจในการอนุมัติ หากสื่อมวลชนหรือพรรคฝ่ายค้านจะทำการตรวจสอบก็ไม่สามารถโยงใยไปถึงนักการเมืองคนนั้นได้
นอกจากนี้ยังใช้กันแพร่หลายในวงการตลาดหุ้น โดยอาจทำทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ต้องการเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งก็ใช้ชื่อของบุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนั้น หรืออาจตั้งเป็นรูปบริษัทเข้าไปลงทุนก็ได้เช่นกัน
ส่วนผู้ที่เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนเกินกว่า 5% มีข้อกำหนดจะต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) หรือซื้อหุ้นในบริษัทใดเกินกว่า 25% ก็ต้องทำคำเสนอซื้อทั้งหมด หากพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงก็ใช้วิธีการกระจายชื่อให้บุคคลอื่นเข้ามาถือหุ้นแทน วิธีการนี้ก็ไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.กำหนด
วิธีการในลักษณะนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย หรืออย่างเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เข้ามาเล่นการเมือง ต้องลาออกจากตำแหน่งในภาคธุรกิจทั้งหมดก็ใช้ญาติ พี่ น้อง หรือคนใช้ คนขับรถเข้ามาถือหุ้นแทน แต่ตัวเองเป็นผู้รับประโยชน์ทั้งหมดเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการไปใช้บริการผู้ถือหุ้นแทนในต่างประเทศ ซึ่งวิธีการนี้จะต้องเสียค่าบริการและต้องส่งเงินในการซื้อหรือขายหุ้นผ่านผู้ให้บริการในต่างประเทศ วิธีการนี้นักการเมืองนิยมใช้ เนื่องจากชื่อที่ปรากฎในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่จะปรากฎเป็นชื่อของผู้ให้บริการแทน และไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อของลูกค้าได้ว่าเป็นใครเนื่องจากในต่างประเทศมีกฎหมายรองรับ
ต่างชาตินาย-คนไทยบ่าว
สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการลงทุนในประเทศไทยแต่ติดขัดในเรื่อง พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ก็เลือกใช้นอมินีเป็นเครื่องมือเลี่ยงกฎหมายได้ เชื่อหรือไม่ว่าหลายกิจการที่เราเห็นว่าเป็นของคนไทยแต่แท้ที่จริงเป็นของนักลงทุนต่างประเทศกันหลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ตึกสูง ๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ เป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น แต่ชื่อเจ้าของที่เราเห็นเป็นคนไทย เพราะเรื่องการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนไทยเหล่านั้นล้วนเป็นแค่ลูกจ้างของต่างชาติเท่านั้น หรืออาจจะดีกว่าลูกจ้างทั่วไปตรงที่มีส่วนร่วมในการถือหุ้น รับและแบ่งผลประโยชน์ที่มากกว่าการรับเงินเดือน
"กรณีของกุหลาบแก้วที่มีชื่อคนไทยถือหุ้น 51% แล้วเข้าไปถือหุ้นในซีดาร์ โฮลดิ้งเพื่อถือหุ้นในชิน คอร์ปนั้น ชัดเจนว่าเป็นนอมินีทำการถือหุ้นแทนกลุ่มของเทมาเส็ก เพราะอำนาจที่แท้จริงในการสั่งการและเงินทุนทุกอย่างอยู่ที่สิงคโปร์ แค่เพียงใช้ชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยเข้ามาถือหุ้นแทนเท่านั้น" วานิชธนากรรายหนึ่งกล่าว
ปัญหาก็คือหากตีความตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้ว คงยากที่จะผิดเพราะในกฎหมายไทยจะดูแค่เฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเท่านั้น หากมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ไม่ถือเป็นต่างด้าวตามความหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ประเทศไทยยังไม่ได้ดูในเรื่องการควบคุมหรืออำนาจในการสั่งการเหมือนในต่างประเทศที่เขาให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นหลัก
วานิชธนาคารรายเดิมกล่าวเพิ่มเติมว่า หากกรณีของบริษัทกุหลาบแก้วถูกตัดสินว่าเข้าข่ายนอมินีและลามไปถึงดีลซื้อขายหุ้นชิน คอร์ปของตระกูลชินวัตรกับเทมาเส็กจากสิงคโปร์ล่ม งานนี้คงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากกรณีการขายหุ้นในบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด(มหาชน) ที่ขายหุ้นให้กับกลุ่มเทเลนอร์ ก็มีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน
เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าแก้ยาก ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้องการแข่งขันกับต่างประเทศด้วยการพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาเราภาคภูมิใจว่าดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก แต่ผลที่ตามมาไม่มีใครคิดว่าสุดท้ายกิจการใหญ่ ๆ หลายแห่งล้วนตกอยู่ในมือของคนต่างชาติแทบทั้งสิ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|