|

ทุ่งคาฯ แจงความคืบหน้าโครงการจ้าง "Heraues-ฮ่องกง" ถลุงทองคำ
ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทุ่งคาฮาเบอร์ แจงความคืบหน้าโครงการต่างๆ ละเอียดยิบ โดยเฉพาะเหมืองทองคำ จังหวัดเลย ที่เดินหน้าติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว และตั้ง Heraues ฮ่องกง เป็นผู้ถลุงแร่ทองคำให้บริสุทธิ์ ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องชะลอออกไปก่อน
นายเจ. พี. มิลล์ส กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับบริษัท ดีเอส พรูเดนเชียล แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ประจำไตรมาส 2 โดยบริษัทยังคงเน้นการประกอบการในธุรกิจหลัก คือ การสำรวจแหล่งแร่ การทำเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สำหรับโครงการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ ประกอบด้วย โครงการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ THL ถือหุ้นอยู่ 98.86% ซึ่งได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาเหมืองแร่ทองคำและแร่อื่นๆ บริษัท อาชญาบัตรพิเศษ ที่จังหวัดเลย ขณะนี้บริษัทได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารไทยธนาคาร วงเงิน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยขณะนี้ บริษัทได้ทำการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบและปรับแต่งเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเริ่มเดินเครื่อง (Commissioning) แต่จากสภาวะอากาศและฝนตกหนักทำให้เป็นอุปสรรคในการติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่งผลให้กำหนดการเดินเครื่องล่าช้าไปจากแผนเล็กน้อย
ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำสัญญาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การขนส่ง และการถลุงทองคำ โดยแต่งตั้งให้ บริษัท Risk Protection เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในโรงงาน ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการรักษาความปลอดภัยและควบคุมภายในโครงการตลอด 24 ชั่วโมง บริษัท Brinks (ประเทศไทย) เป็นผู้ขนส่งทองคำจากโรงงานไปยังบริษัท Heraues ที่ประเทศฮ่องกง เพื่อทำการถลุงแร่ทองคำให้บริสุทธิ์
พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งบริษัท Heraues ฮ่องกง ให้ทำการถลุงแร่ทองคำให้บริสุทธิ์ (99.99%) โดยมอบหมายให้นายเบนนี่ ยู เจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่สำนักงานฮ่องกงเป็นตัวแทนของบริษัทในการตรวจสอบรับรองปริมาณทองคำกับบริษัท Heraues ทั้งนี้ บริษัท Heraues จะชำระเงินประมาณ 95% ของมูลค่าทองคำที่ส่งไปทำการถลุงให้กับบริษัท ณ วันรับทองคำ ส่วนที่เหลือจะชำระตามผลที่ได้จริงจากการถลุงใน 1 สัปดาห์
โครงการเหมืองหินแอนดีไซท์ บริษัทได้ว่าจ้างบริษัท ชลสิน จำกัด (บริษัทย่อย) เป็นผู้ดำเนินการในการบดย่อยหิน และจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานเหมืองหินแอนดิไซท์ โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายหินแอนดีไซท์เพิ่มขึ้นจาก 6.57 ล้านบาท เป็น 7.12 ล้านบาท หรือประมาณ 8%
โครงการเหมืองแร่ดีบุกในทะเล บริษัทได้หยุดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เนื่องจากอัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ดีบุกสูงมาก ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหารือและเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนโครงสร้างอัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ดีบุก เพื่อให้อุตสาหกรรมแร่ดีบุกสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อนำเสนอการจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสม
ส่วนการทำเหมืองแร่นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ทรัพยากรสมุทร จำกัด (SML) เป็น 83.70% ปัจจุบันการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคในการพัฒนาแหล่งแร่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปและมาเลเซียที่มีความชำนาญในการทำเหมืองแร่ในทะเลมาทำการประเมินปริมาณสำรองแร่เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน
หลังจากการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และตรวจสอบปริมาณสำรองสินแร่โดยที่ปรึกษาอิสระแล้ว บริษัทมีแผนที่จะนำ SML เข้าจดทะเบียนใน The Alternative Investment Market (AIM) ของตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
สำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 โครงการ โดยโครงการแรก การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพอ่าวในจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้บริษัทได้นำเสนอต่อรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมข้อกำหนดในการประมูลโครงการดังกล่าว ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารของบริษัท สกายคลิฟฟ์ จำกัด บนถนนรัชดาภิเษก บริษัทได้ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับกองทุนแห่งหนึ่ง ที่ให้ความสนใจในการร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มสัดส่วนของทุนและลดการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|