สถาปนิกเป็นอีกวิชาชีพประเภทหนึ่ง ที่พร้อมจะได้รับคำสรรเสริญและก่นด่าได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคลว่ามีความเห็นเป็นเช่นไร แต่ "จรรยาบรรณ"
และความรับผิดชอบต่อผลงาน จะเป็นสิ่งที่ตีกรอบให้สถาปนิกแต่ละคนไม่ออกนอกลู่นอกทางมากเกินไปนัก
แต่อำนาจที่จะคอยควบคุมจรรยาบรรณของสถาปนิกได้อย่างเต็มที่นั้น ปัจจุบันไปตกอยู่ในมือของคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม
หรือ กส. ซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่สมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมตัวกันขึ้นโดยมวลหมู่สถาปนิก
กลับไม่มีบทบาทประการหนึ่งประการใดในเรื่องนี้
ความคิดเรื่อง "สภาสถาปนิก" จึงได้ก่อตัวขึ้นและมีทีท่าว่าจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
เมื่อการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ได้จบสิ้นลงและได้ทีมงานบริหารชุดใหม่
ซึ่งมีจ่าฝูงที่ชื่อว่า "ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์" ซึ่งชูประเด็นหาเสียงก่อนการเลือกตั้งไว้ว่าจะผลักดันให้
"สภาสถาปนิก" เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้จงได้
อันที่จริงแล้ว ความคิดเรื่อง "สภาสถาปนิก" นี้เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว
นับแต่สมัยที่สมาคมมีมติ ตั้งพานิชเป็นนายก และได้มีการสานต่อความคิดกันเรื่อยมา
จนเมื่อสมัยที่แล้วที่มีนิธิ สถาปิตานนท์ เป็นหัวเรือใหญ่นั้น ก็ได้มีการร่างแนวทางที่จะเข้าไปแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม
เมื่อเตรียมจะทำคลอดให้สภาสถาปนิกเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
และเมื่อสมาคมสถาปนิกได้มีการผลัดแผ่นดินให้ยอดเยี่ยม ขึ้นมาเป็นนายกฯ
ในครั้งนี้ ก็มีความหวังว่าเขาจะสามารถอาศัย "บุคลิกพิเศษ" ฝ่าฟันงานชิ้นนี้ไปถึงฝั่งจนได้
บุคลิกพิเศษดังว่าของยอดเยี่ยมนี้คือ ความเป็นคนชอบ "ลุย" และบุกในทุกสถานการณ์ที่ขวางหน้า
จนเป็นที่รู้กันในหมู่กรรมการของสมาคมว่า เขาเป็นหนึ่งในหนุ่มไฟแรงของสมาคม
ที่ทำงานแบบจิกไม่ปล่อย จนได้สมญาว่า "หัวหมู่ทะลวงฟัน" และเป็นผู้หนึ่งที่มีฝีปากร้าย
จนหลายคนที่เคยปะทะคารมมาด้วยต้องพากันหนาวไปตาม ๆ กัน
ดังนั้นเมื่อสมาคมได้มอบหมายภาระกิจอันหนักอึ้งเช่นนี้ให้เขาทำเป็นการพิสูจน์ตนเองเช่นนี้
เขาจึงต้องวางแผนการผลักดันเรื่องนี้ อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง โดยสังเกตได้จากนโยบายที่เขาได้นำเสนอเพื่อผลักดันเรื่องนี้ว่า
ค่อนข้างดุดันพอสมควร
"จะมีการผลักดัน-จัดตั้ง "สภาสถาปนิก" เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมระบบเบ็ดเสร็จโดยบุคคลภายนอก
(ดังเช่นปัจจุบัน) หากประสบความสำเร็จจะดำเนินการประสานงานกับวิชาชีพอื่นเช่น
แพทย์ ทนายความ เภสัชกร ผู้ตรวจสอบบัญชี พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร เพื่อเจรจากับต่างประเทศตามข้อตกลง
ให้สถาปนิกไทย และต่างชาติอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันทั้งเกียรติศักดิ์
และผลประโยชน์ กีดกันการเป็นอาณานิคมทางธุรกิจ-วิชาชีพ ซึ่งกระทำกันอย่างลับ
ๆ ในปัจจุบัน"
ขั้นตอนที่จะดำเนินการนั้นในขณะนี้ได้มีการ "จับเข่า" คุยกันทาง
กส. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเดิมแล้วว่า การจัดตั้งสภาสถาปนิกขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่ขึ้นมาเพื่อแก่งแย่งอำนาจ
หรือให้เกิดความซับซ้อน แต่หวังจะให้มีอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน
คอยเป็นหูเป็นตา ให้สอดส่องการกระทำของมวลหมู่สถาปนิก ให้กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้
ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า แทนที่จะตั้งสภาสถาปนิกให้เป็นองค์กรเอกเทศขึ้นมาต่างหาก
ก็อาจจะยกฐานะของ กส. ขึ้นเป็นสภาฯ แทน และให้มีสมาชิกจากทั้ง 2 หน่วยงานเข้ารวมตัวกัน
โดยให้มีการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาบริหารเป็นวาระ ๆ ไปซึ่งการเจรจาจับเข่าคุยกันกับ
กส. ในรอบแรกนี้ ทาง กส. ก็รับหลักการด้วยดี
แต่ความยากของการผลักดันเรื่องนี้นั้นกำลังรออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือการเจรจาและผลักดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านเห็นคุณค่าความสำคัญของการแก้ไขพระราชบัญญัติ
เพื่อให้ได้มาซึ่งการก่อกำเนิดของสภาสถาปนิกนี้ รวมถึงการเร่งผลักดันให้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยเร็วหากเป็นไปได้
ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ยอดเยี่ยมและทีมงานต้องฝ่าฟันไปให้จงได้
"ซึ่งหากเป็นไปตามขั้นตอน และไม่เกิดอุบัติเหตุทางด้านการเมืองขึ้นแล้ว
ก็เชื่อได้ว่าเราจะสามารถผลักดันสภาสถาปนิกเกิดขึ้นได้ในไม่ช้านี้ แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง
ๆ แล้ว เรื่องนี้ก็ต้องล่าช้าออกไปพอสมควร" ยอดเยี่ยมกล่าว
สำหรับข้อดีของการมีสภาสถาปนิกขึ้นมา นอกจากจะมีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลมวลหมู่สมาชิกด้วยกันอย่างรู้ซึ้งถึงจิตใจของกันและกัน
แล้วก็จะช่วยยกระดับงานสถาปัตยกรรมของไทย โดยเฉพาะงานอาคารให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น
ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหลักประการหนึ่งที่ทีมงานของยอดเยี่ยม จะต้องเข้าไปแก้ไขให้ได้ด้วยคือ
การยกระดับการยอมรับสถาปนิกไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติ เพื่อตัดปัญหาสถาปนิกจากต่างชาติเข้ามาแย่งงานในไทย
ซึ่งกำลังลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตในขณะนี้
ผลพวงจากการยกระดับสถาปัตยกรรมขึ้นมานี้เองจะส่งผลให้การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม
(FEE) ซึ่งเป็นมติของ GATT ต่อการรับงานสถาปนิกทั่วโลกนั้น จะหันมามองประเทศไทยด้วยมาตรฐานการมองที่ไม่แตกต่างจากชาติอื่น
อัตราค่าธรรมเนียมของไทยก็คงต้องสูงขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อมวลหมู่สถาปนิกโดยตรง
เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ได้มีการผลักดันให้มีการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมของสถาปนิกภายในประเทศให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่คือประมาณ
1-3% มานานพอสมควรแล้ว แต่เนื่องด้วยศักยภาพของสถาปนิกไทยที่จะเรียกร้องให้เจ้าของโครงการขึ้นค่างานของตนให้สูงขึ้นนั้นยังทำไม่ได้ในทันที
เพราะค่าธรรมเนียมนี้เป็นอัตราที่ยึดถือกันมาเป็นเวลาช้านาน การปรับค่าธรรมเนียมขึ้น
จะมีผลต่อความคุ้นเคยที่เคยติดต่อกันมาและงานที่ได้รับในอนาคตด้วย เหล่าสถาปนิกไทยจึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนมาตลอดเวลา
นอกจากเรื่องสภาสถาปนิก ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการทำงานของนายกสมาคมสถาปนิกสยามคนใหม่นี้
แล้วประเด็นหลักอีกอย่างหนึ่งที่ยอดเยี่ยมเน้นเป็นอย่างมาก คือการมุ่งกระจายให้บริการของสมาคมไปสู่สังคมระดับกลาง
และระดับล่างให้มากกว่าที่เป็นมา ทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายนั้น
ทีมงานของยอดเยี่ยมกำลังศึกษาที่จะเข้าไปผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายต่าง
ๆ ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้อยู่อาศัยระดับกลาง และระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อบัญญัติ
หรือข้อกำหนดผังเมืองที่ว่าด้วยการจัด ZONING หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการกำหนดประเภทบ้านจัดสรร
รวมถึงกฎหมายควบคุมอาคารที่ยังมีช่องโหว่อีกมากมาย เหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของทีมงานของคนหนุ่มไฟแรงนี้ว่า
จะทำงานด้วยสโลแกนของยอดเยี่ยม ที่ประกาศตัวเองแปลกกว่าคนอื่นที่ว่า จะตั้งหน้า
ตั้งตา ตั้งใจ … ทำงาน ทำงาน ทำงาน ไม่เสพติดในตำแหน่ง ไม่นำชื่อสมาคมและมวลสมาชิกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ก็เป็นสัจจพจน์ที่เป็นเหมือนสัญญาประชาคมว่า
ได้เวลาที่ "หัวหมู่ทะลวงฟัน" จะตะลุยยุทธจักรแล้ว