"ทนง" ปัดดึงต่างชาติเพิ่มทุน BT ไฟเขียวแบงก์ชาติกำกับธนาคาร


ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“ทนง พิทยะ” ปัดแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลกรณีไทยธนาคารดึง TPG Newbridge ร่วมทุน ระบุธปท.รู้ดีที่สุดว่าอะไรควรทำ คลังมีหน้าที่อนุมัติตามที่แบงก์ชาติเสนอมาเท่านั้น ขณะที่การลาออกของเอ็มดีแบงก์นครหลวงไทยไม่ขอยุ่งด้วยเพราะกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่คลัง

นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) BT มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 9,400 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 940 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีหุ้นจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1,493,450,000 หุ้น เป็น 2,433,450,000 หุ้น เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับ TPG Newbridge จำนวนไม่เกิน 24.99% นั้นถือเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้กำกับดูแลโดยตรงจะเป็นผู้พิจารณา

โดยการเข้ามาของกองทุน TPG Newbridge จะมีความแตกต่างกับกรณีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY และกลุ่มจีอี แคปปิตอล เอเชียแปซิฟิค เนื่องจากเท่าที่ทราบมากองทุน TPG Newbridge เข้ามาเพื่อสร้างฐานะการเงินที่แข็งแกร่งให้กับไทยธนาคารเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเข้ามาเพื่อมีส่วนในการบริหารจัดการภายในของธนาคารและนำเทคโนโลยีในการจัดการองค์กรเข้ามาด้วย ซึ่งเสมือนเป็นการเข้ามาลงทุนเท่านั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

“กองทุน TPG Newbridge เคยเข้ามาติดต่อเพื่อลงทุนในสถาบันการเงินของไทยแล้วแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงหันไปลงทุนในสถาบันการเงินที่ประเทศเกาหลีใต้แทน แต่ครั้งนี้คงมีการเจรจาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงมีการประกาศออกมาชัดเจนว่าจะมีการร่วมทุนกัน” นายทนงกล่าว

นายทนง กล่าวว่า ส่วนกรณีการเข้ามาถือหุ้นเกิน 5% ของนักลงทุนต่างชาติ 1 ราย หรือการลงทุนของต่างชาติเกิน 25% นั้น ธปท.ซึ่งเป็นผู้กำกับดูและและผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะเป็นผู้พิจารณารายละเอียดในเรื่องนี้เอง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

ทั้งนี้หน้าที่ของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับการร่วมทุนของไทยธนาคารและกองทุน TPG Newbridge นั้น ต้องรอให้ทางธปท.ส่งแผนการดำเนินการมายังกระทรวงการคลังก่อน แล้วส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้พิจารณาข้อกฎหมายตามขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่รมว.คลังจะลงนามอนุมัติ

“แบงก์ชาติเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ซึ่งหากการร่วมทุนแล้วทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งแบงก์ชาติก็คงจะเสนอเข้ามาเอง เพราะตั้งแต่ผมไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยผมก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับแบงก์อีกเลย ปล่อยให้ผู้ที่มีหน้าที่เป็นคนดูแลดีกว่า” นายทนงกล่าว

นายทนงกล่าวว่า สำหรับการลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) SCIB ของนายอรุณ จิรชวาลา ที่อ้างสาเหตุว่ามีความขัดแย้งกับกรรมการของธนาคารนั้น ยังไม่ทราบในรายละเอียดแต่อย่างใด เท่าที่รู้มานายอรุณก็เป็นคนทำงานดี เรื่องนี้คงต้องให้แบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลเช่นกันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.