"ไพโรจน์ หวังวงศ์วิโรจน์ ทนายมืออาชีพผู้อยู่เบื้องหลังทุนไทยในจีน"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ไพโรจน์ หวังวงศ์วิโรจน์ เป็นทนายความมืออาชีพชั้นเยี่ยมที่จับงานทำสัญญาระหว่างประเทศให้กับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของคนไทย ที่ไปลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแห่งเดียว จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่พ่อค้าจีน

"คนนิยมเรียกใช้ผมนั้นเป็นเพราะเหตุบังเอิญ ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นบุญหรือกรรม" ไฟโรจน์รำพึงกับตัวเอง

ลูกแต้จิ๋วแซ่เฮ้งที่เกิดในไทยอย่างไพโรจน์ มีใจรักในภาษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เมื่อเรียนจบสูงสุดที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และขวนขวายเรียนต่อภาษาจีนในภาคกลางคืน หลังจากนั้นก็เรียนต่อคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่เจ็ดปีครึ่งจึงจบได้

ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ชอบตัวเลขแต่ชอบด้านภาษา แต่ก็ต้องเข้าไปเรียนเพราะคิดว่าเป็นลูกพ่อค้าก็เรียนรู้พวกนี้เอาไว้ เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เรียนตอนนั้นก็มี ดร. สม จาตุศรีพิทักษ์ และอธิบดีกรมสรรพสามิต "ศุภชัย พิศิษฐ์วานิช" ไพโรจน์เล่าให้ฟัง

ความที่เป็นคนเก่งด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน ถึงขั้นเป็นครูสอนกวดวิชาไวทยากรณ์ภาษาอังกฤษถึง 14 ปี ทำให้มารุต บุนนาคซึ่งเป็นรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ดึงตัวมาช่วยที่สำนักงานและสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ไพโรจน์คิดได้ว่าถ้าเพียงแต่รู้บัญชีอย่างเดียวไม่พอเพียง จำเป็นต้องรอบรู้ด้านกฎหมายด้วย ไพโรจน์จึงเรียนเพิ่มเติมที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์จนกระทั่งจบในปี 2513

"เพราะความรู้ภาษานี้เองทำให้ผมทำอะไรได้มากมาย ผมได้เขียนบทความ ลงประจำในหนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับ เช่น ซิงเสียนเยอะเป้า เขียนเกี่ยวกับเรื่องการค้าโดยรัฐ กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า พระราชบัญญัติการใช้เช็ค อธิบายให้พ่อค้าจีนได้เข้าใจ" นี่คือบทบาทหนึ่งของทนายไพโรจน์

ไพโรจน์เริ่มสร้างกิจการสำนักงานของตัวเองในชื่อ "สำนักงานไพโรจน์" ขึ้นที่หัวมุมห้าแยกพลับพลาไชยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ที่นี่ มีลูกค้ารายใหญ่ ๆ อย่างธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงเทพ บริษัทสหพัฒนพิบูล ฯลฯ

ล่าสุดกิจการบริษัทเอเชีย แลมป์ ซึ่งแบงก์กรุงเทพเข้าถือหุ้นร่วมกับนักลงทุนชาวจีนเพื่อลงทุนในมณฑลหูหนาน ก็ได้ให้ไพโรจน์เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายและสัญญาการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจ

"คนไทยเราไปลงทุน ก็ถือว่าเป็นคนต่างด้าวในประเทศเขา ไม่ว่าจีน ลาว เขมร หรือเวียดนาม กฎหมายของเขาก็ย่อมจะควบคุมการประกอบธุรกิจ ในฐานะที่ผมทำงานด้านนี้ ผมก็ต้องศึกษามาตรการสำคัญ ๆ ในกฎหมายของเขาอย่างละเอียดว่า มีข้อไหนที่น่าจะเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงสูง ยิ่งกฎหมายจีนเขาซอยย่อย ๆ เป็นกฎหมายบังคับใช้กับแต่ละมณฑลและแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ผมก็ต้องพยายามหาซื้อหรือขอจากหน่วยราชการ เวลานี้ผมพยายามเดินทางไปเสาะแสวงหากฎหมายของไต้หวันและฮ่องกงมาศึกษา" ไพโรจน์เล่าให้ฟัง

หากนักลงทุนไม่ใช้มือกฎหมายมืออาชีพที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ แน่นอนผลเสียหายมหาศาลย่อมเกิดขึ้นจากความไม่รัดกุมในสัญญาร่วมลงทุน เช่นกรณีหุ้นส่วนคนไทยกลับประเทศสองอาทิตย์ ระหว่างนั้นหุ้นส่วนอีกฝ่ายเรียกประชุม โดยกระทำการประกาศในหนังสือพิมพ์จีนก่อน 7 วัน เพื่อผ่านมติเพิ่มทุนหรือปลดกรรมการฝ่ายไทยออก เรื่องก็จบเห่ ต้องฟ้องศาลซึ่งผลแพ้ชนะในอนาคตไม่ต้องเดาก็ต้องรู้ว่ากฎหมายประเทศเขาก็ต้องคุ้มครองคนของเขา

แต่ไพโรจน์ไม่เคยพลาด ภารกิจตลอดยี่สิบกว่าปีจึงได้สั่งสมชื่อเสียงให้แก่เขาอย่างดี ทั้งนี้เพราะมุมมองกฎหมายของไพโรจน์นั้นลึกซึ้งละเอียดรอบคอบ บ่อยครั้งที่เขามักพูดว่า

"ถ้าเรามองมุมกลับว่าคนต่างด้าวที่มาลงทุนในไทยเขาต้องเจอกับกฎหมายไทยอย่างไรบ้าง เขาเลี่ยงกฎหมายแบบไหน และมีกฎหมายที่เป็นภัยต่อเขาหรือไม่? เราก็เอาประสบการณ์นี้มาคิดเมื่อต้องอยู่ใต้กฎหมายประเทศอื่น ๆ" ทนายจีนไพโรจน์เล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้ไพโรจน์ยังคงทำงานหนักอย่างเงียบ ๆ ให้กับลูกค้าระดับบิ๊ก ๆ และเตรียมตัวจะล้างมือในอ่างทองคำกับปัจฉิมวัยที่ใกล้หกสิบ กับงานที่ปรึกษากฎหมายมืออาชีพในยุคโลกาภิวัตรนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.