ดาต้าแมทโละทิ้ง 5 บริษัทย่อย แก้ปัญหาปี 48 ขาดทุน 500 ล้าน


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ดาต้าแมท แจงผลงานปี 2548 ขาดทุนสุทธิกว่า 500 ล้านบาท เหตุขาดสภาพคล่องทางการเงินทำให้บริษัทย่อยต้องหยุดดำเนินกิจการ พร้อมเผยแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการโละทิ้งบริษัทย่อยทั้งหมด 5 แห่ง และเดินหน้าฟื้นฟูกิจการหลังผ่านการอนุมัติจากศาลล้มละลายกลาง

นางกุลชลี นันทสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ดวานซ์ แพลนเนอร์ จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) หรือ DTM เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 500.75 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.46 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 119.27 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.11 บาท

โดยในปี 2548 บริษัทมีรายได้จากการขายและการบริการเพิ่มขึ้น 77.32 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26% แต่บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ลดลง 31.07 ล้านบาท หรือลดลง 5% เกิดจากบริษัทย่อยบางแห่งหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวในปี 2548 เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่มีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย 3 แห่ง จำนวน 40.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.54 ล้านบาท หรือ 13%

ขณะเดียวกัน บริษัทถูกเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งในมูลหนี้เป็นเงินต้นจำนวน 1,322.75 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวน 321.91 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมจำนวน 0.11 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,455.77 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้องบันทึกค่าใช้จ่ายและตั้งเจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิ่มขึ้น 96.42 ล้านบาท

ด้านค่าใช้จ่ายนั้น ในปี 2548 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 234.13 ล้านบาท หรือคิดเป็น 142% ขณะที่งบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 268.41 ล้านบาท หรือ 82% โดยปัจจัยหลักเกิดจากการที่บริษัทบันทึกตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้ เงินทดรองและเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวน 122.87 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทที่เกี่ยวข้องได้หยุดดำเนินกิจการ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ตั้งสำรองรายการขาดทุนจากการประมาณการต้นทุนโครงการ 90.61 ล้านบาท เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์ของโครงการต่างๆ ระหว่างบริษัทและคู่สัญญา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้มีการเปลี่ยนแปลงราคาของวัสดุอุปกรณ์จากเดิมที่ได้จัดทำไว้ แต่โดยภาพรวมแล้วบริษัทคาดว่าจะสามารถดำเนินการโครงการต่างๆ และควบคุมต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเพื่อให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้และมีกำไรจากโครงการต่างๆ ได้

พร้อมกันนี้ บริษัทได้ชี้แจงถึงกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเกิดจาก 2 กรณีคือ 1. บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นสาระสำคัญอย่างมากและมีผลขาดทุนสะสมเกินทุน และ 2. บริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น บริษัทพยายามแก้ไขปัญหาการขาดทุนด้วยการพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่เหลือจำนวน 5 แห่ง ให้กับบุคคลอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยในเดือนธันวาคม 2548 ได้ขายบริษัทย่อย 3 บริษัท เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้ขายบริษัทย่อย 1 บริษัท และเดือนมีนาคม 2549 ได้ขายบริษัทย่อยอีก 1 บริษัท รวมเป็น 5 บริษัท

ส่วนแนวทางการฟื้นฟูกิจการนั้น ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 4 กันยายน 2549 นี้ หากศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูฯ แล้ว บริษัทจะดำเนินการฟื้นฟูกิจการภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างเงินทุน โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างทางการเงิน โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทประสบความสำเร็จ และทำให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนสามารถเข้าร่วมดำเนินงานในโครงการใหญ่ๆ ได้ในอนาคต จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานและสามารถล้างขาดทุนสะสมเกินทุนในงบการเงินให้หมดไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.