พวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์ ในวันนี้เข้มแข็งขึ้นกว่าวันที่เข้ามารับงานกอบกู้บ้านฉัตรเพชรของรังสรรค์
ต่อสุวรรณผู้เป็นพี่ชายเมื่อกลางปี 2536 เป็นอย่างมาก เพราะเธอกล้าที่จะตัดสินใจ
ยุติโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จเอาไว้ก่อนพร้อมกับเร่งมือโครงการเก่าที่ค้างอยู่ให้เสร็จตามกำหนดที่วางไว้
ปี 2537 นี้ พวงเพ็ญตั้งใจให้เป็นปีแห่งการสะสางโครงการเก่าที่เปิดตัวไปแล้ว
เช่นโครงการฉัตรเพชรทาวเวอร์, สาธร ยูนีค, สีลมพรีเชียสทาวเวอร์, บ้านฉัตรเพชร
บางพลัด, รัชดาภิเษก, และโกลเด้น บีชที่ระยอง ให้เรียบร้อยก่อนที่ลูกค้าจะเริ่มทวงถาม
โครงการทั้ง 6 แห่งนี้ยังรอการสานต่อโดยเฉพาะบ้านฉัตรเพชรทั้ง 2 ทำเลนั้น
ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนักนับตั้งแต่ที่พวงเพ็ญเข้ามารับงานก็โหมหนักไปที่สีลมพรีเชียสทาวเวอร์เป็นส่วนใหญ่
เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นหน้าตาของกลุ่มบ้านฉัตรเพชรด้วย
โครงการที่พวงเพ็ญสั่งชะลอไปคือบ้านฉัตรเพชรรัตนาธิเบศร์ ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก
บีโอไอ เธอกล่าวเพียงว่า ยังไม่พร้อมที่จะทำ แต่ข่าววงในเปิดเผยว่า ที่ดินแปลงที่รัตนาธิเบศร์นี้
ทางกลุ่มบ้านฉัตรเพชรได้ตัดสินใจขายทิ้งไปแล้ว โดยมีนักซื้อที่ดินหลายรายขับรถมาดูกันเป็นว่าเล่นตั้งแต่ต้นปี
2537
"จะถามถึงทำไมว่าโครงการใหม่จะมีอะไรบ้างในปีนี้ " พวงเพ็ญย้อนถามกับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ถามถึงโครงการใหม่ของกลุ่มบ้านฉัตรเพชร
และอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่มีโครงการใหม่มีแต่ของเก่าเท่านั้น
สิ่งที่พวงเพ็ญอยากลืมมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นเรื่องที่ธนาคารบัตเตอร์ฟิลด์
จากเบอร์มิวด้า ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเงินกู้ใหม่เมื่อครั้งที่พวงเพ็ญเข้ามารับงาน
เพราะขณะนี้สัญญาเงินกู้ระหว่างบ้านฉัตรเพชร และธนาคารบัตเตอร์ฟิลด์จบสิ้นลง
หลังจากเซ็นสัญญากู้เงินไม่นานนัก
พวงเพ็ญให้เหตุผลที่เลิกสัญญากู้เงินครั้งนี้ว่า ธนาคารไม่มีเงินกู้ให้ต่อ
ได้เงินกู้งวดแรกมาเพียง 5 ล้านเหรียญเท่านั้น เดิมตามสัญญาจะกู้ถึง 100
ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไปไม่ถึงดวงดาวเสียก่อน
"นึกว่าลืมกันไปแล้วว่าเคยกู้เงินที่ธนาคารบัตเตอร์ฟิลด์" เธอย้อนถามพร้อมกับหัวเราะ
ธนาคารบัตเตอร์ฟิลด์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เบอร์มิวด้าและก่อตั้งมากว่า
100 ปี ขณะนี้มีสาขาทั้งหมด 6 แห่งคือที่เมืองแฮมิลตัน ประเทศเบอร์มิวด้า
เกาะเคย์แมน ไอส์แลนด์ ฮ่องกง ลอนดอนและที่สิงคโปร์ มีทรัพย์สินประมาณ 3,000
ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ทุกปี และมีนโยบายการเปิดสาขาหรือถ้ามีก็เรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ
ธุรกิจหลักของบัตเตอร์ฟิลด์ คือปล่อยสินเชื่อด้านการค้าส่งออก-นำเข้าด้วยการเปิดแอลซี
อีกทั้งเป็นตัวแทนให้ธนาคารกรุงเทพ และที่ผ่านมาธนาคารแห่งนี้ไม่เคยเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์มาก่อนเลย
จุดเริ่มต้นการเข้ามาในเมืองไทยของบัตเตอร์ฟิลด์ เกิดจากการชักชวนของสถาบันการเงิน
ที่เป็นที่ปรึกษาของบ้านฉัตรเพชรให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งได้เลือกดูหลายโครงการและตัดสินใจเลือกบ้านฉัตรเพชรเป็นประเดิม
จะว่าโชคดีหรือร้ายของบัตเตอร์ฟิลด์ก็ได้ทั้งสองทางที่ความสัมพันธ์ฉันท์เจ้าหนี้ลูกหนี้
ต้องสะดุดหยุดลงหลังจากที่ปล่อยสินเชื่อไปเพียง 5 ล้านเหรียญ
แต่สำหรับบ้านฉัตรเพชรนับว่าเป็นการลงเอยที่ไม่สวยนัก
ภาระที่หนักหนาสำหรับพวงเพ็ญต่อไปคือ การหาสถาบันการเงินแห่งใหม่มาสนับสนุนต่อไป
เพราะวาระที่ต้องคืนเงินให้กับธนาคารบัตเตอร์ฟิลด์อีก 3 ปีข้างหน้าพร้อมดอกเบี้ย
7% อีกทั้งโครงการก็ต้องเดินหน้าต่อเงินทุนจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเธอช่วงนี้
พวงเพ็ญได้กำหนดไว้แล้วในเรื่องการกู้เงินจากต่างประเทศ โดยมุ่งไปที่ตลาดสถาบันการเงินในยุโรป
โดยติดต่อเอาไว้ในวงเงินประมาณ 100 ล้านเหรียญ เพราะงานโครงการที่รอพวงเพ็ญสานต่อนั้นแต่ละแห่งหนักหนาอยู่ไม่ใช่น้อย
มูลค่าการลงทุนของกลุ่มบ้านฉัตรเพชรในสมัยที่รังสรรค์ รุ่งเรืองนั้นมีมูลค่าสูงถึง
24,000 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินส่วนมากที่เข้ามาสนับสนุนต่างเชื่อถือในเครดิตของรังสรรค์เมื่อเขาล้มไป
ความมั่นใจของเจ้าหนี้ก็ย่อมสั่นคลอนเป็นธรรมดา
พวงเพ็ญยังต้องพิสูจน์ว่าเธอสามารถต่องานของฉัตรเพชรได้แม้จะไม่มีรังสรรค์ก็ตามนั่นจึงเป็นที่มาของการจัดงานปาร์ตี้
ขอบคุณลูกค้า เพื่อวัดความเชื่อถือของลูกค้าต่อบ้านฉัตรเพชรยุคใหม่
ห้องภาณุรังษี ของโรงแรมรอยัล ริเวอร์ถูกกำหนดให้จัดงานแบบง่าย ๆ ไม่ต้องหรูหรา
ซึ่งคนที่เคยไปร่วมงานตอนเปิดตัวกลุ่มบ้านฉัตรเพชรครั้งแรกที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ที่มีรังสรรค์เป็นแม่งาน
จะไม่เชื่อสายตาว่า 2 งานนี้จะแตกต่างกันแบบพลิกฝ่ามือ
งานนี้ไม่มีพระเครื่องเบญจภาคี ไม่มีการโชว์อัญมณี
มีคนมาร่วมงานไม่ถึง 200 คน
สิ่งที่พวงเพ็ญต้องการใช้งานนี้เป็นสื่อคือ ฉัตรเพชรยังอยู่ ไม่ได้ล้มหายไปไหน
แต่ขอเวลาให้เธอบ้าง โครงการที่ขายไปแล้วยังคงทำต่อ
พวงเพ็ญกำลังท้าพิสูจน์ ประโยคที่ว่า "คนล้มอย่าข้าม"