"แฟรงค์ ลิม" เป็นชื่อฝรั่งที่ "สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล"
ราชาฟู้ดแลนด์แห่งพัฒน์พงษ์ใช้สมัยอยู่ฮ่องกง ปัจจุบันเพื่อน ๆ นิยมเรียกเขาว่า
"แฟรงค์" ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสมศักดิ์ได้ทำเรื่องที่ตกเป็นข่าวดังในวงการค้าหุ้นในช่วงภาวะตลาดหุ้นซบเซา
เพราะสมศักดิ์ได้อาจหาญประกาศทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หุ้นบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย
ซึ่งถือเป็นหุ้นบูลชิฟที่นักลงทุนประเภทสถาบันนิยมถือไว้มาก
น้อยคนนักจะรู้จักประวัติส่วนตัวของสมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล หรือแฟรงค์ ราชาฟู้ดแลนด์แห่งพัฒน์พงษ์วัย
57 ปีผู้นี้ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งกำเนิดที่แผ่นดินจีน แต่เติบใหญ่และจบการศึกษาสูงสุดที่โรงเรียนเซนต์สตีเว่นส์ประเทศฮ่องกง
เมื่อย้ายถิ่นมาปักหลักฐานในเมืองไทยและถือสัญชาติไทย แฟรงค์เล่าให้ฟังถึงชีวิตของเขาว่า
"ผมทำงานหลายอย่างกว่าจะมาทำฟู้ดแลนด์ ซึ่งเป็นกิจการหลักของผม ผมคิดว่ากิจการมันจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนทำ
ผมไม่อวดว่าตัวเองเก่งแต่ถ้าหากผมเทคโอเวอร์ไทยทินเพลทได้ ผมเชื่อว่าผมทำได้ดีกว่าพวกเขา"
กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างฟู้ดแลนด์ ได้กลายเป็นเครื่องจักรทำเงินสด ๆ
ที่สมศักดิ์นำเงินไปต่อเงินด้วยการลงทุนในรูปของหุ้น และพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า
หนึ่งในหุ้นที่สมศักดิ์ทะยอยซื้อเก็บไว้นานนับเนื่อง 7 ปีคือหุ้นแผ่นเหล็กวิลาสไทยเพราะเห็นว่าศักยภาพเติบโตสูงมาก
แม้จะจ่ายเงินปันผลเพียงแค่ 20% ของผลกำไร แต่อนาคตหุ้นตัวนี้กำไรเกินคาด
แต่ฝันของสมศักดิ์ต้องสลายลงพลัน เพราะเหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแผ่นเหล็กวิลาสไทย ประกาศลาออกจากตลาดหลักทรัพย์เหมือนที่บริษัท
UI (ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมด้าย) เคยทำสำเร็จมาแล้ว และเสนอรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย
ในราคาเพียง 880 บาท โดยอ้างเหตุผลถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ต่อไปว่า
"ผมนำกิจการเข้าตลาดเพราะคุณสมหมาย ฮุนตระกูลชักชวน โดยผมเอาหุ้น
"สี่ยงค์" ขายให้ประชาชนหุ้นละ 100 บาท ไม่ได้เป็นการเพิ่มทุนต่อมาเมื่อตลาดมีกฎเกณฑ์ต่าง
ๆ มากมายและผมเห็นว่าไม่สามารถทำตามข้อบังคับของตลาดได้ ผมก็ถอน เพราะถือว่ามีศักดิ์ศรี
ผมไม่เคยเอาเปรียบใคร" ชำนิ วิศวผลบุญหรือ "ฉั่ว เต็ง ซ้ง"
พูดด้วยความลำบากจากอัมพาตคุกคามขณะนั่งบนรถเข็นในวันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่อิมพีเรียลควีนปาร์ค
แรงกดดันจากทางการที่ต้องการให้กระจายหุ้นเป็นบริษัทมหาชน ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลของผู้ถือหุ้นใหญ่
ที่กลัวจะถูกเทคโอเวอร์จากตลาดหุ้นทำให้หุ้นของแผ่นเหล็กวิลาสไทยแทบไม่มีสภาพคล่องที่หมุนเวียนในตลาดเลย
เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมปล่อยหุ้นออกมาหมุนเวียนซื้อขายในตลาด และไม่เคยมีการแตกพาร์หุ้นเดิมที่มีมูลค่า
100 บาทต่อหุ้น
ข่าวลาออกจากตลาดนี้ทำให้สมศักดิ์แทบช็อค ที่จู่ ๆ หุ้นในมือที่มีมูลค่านับพันร่วงลงเหวในราคาเพียง
880 บาท "มันไม่แฟร์" นี่คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ผู้บริหารแผ่นเหล็กวิลาสไทยเอาตัวรอดและเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยเกินไป?
ผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งมีจำนวน 331 รายซึ่งถือหุ้นอยู่ประมาณ 16.74% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
"ผมถือหุ้นบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทยนี้อยู่ 20,000 หุ้นสะสมมาเรื่อยตั้งแต่ปี
2529 วันดีคืนดีเขาประกาศจะออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยกลับในราคา
880 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ ผมเองคิดว่าวิธีที่เขาทำไม่แฟร์ เขาควรจะเสนอราคาที่เหมาะสมและคิดถึงผู้ถือหุ้นรายเล็กที่มี
100-200 หุ้น พวกนี้ไม่มีโอกาสขายอีกแล้ว ถ้าหากบริษัทออกจากตลาดผมจึงไปปรึกษาหารือกับ
ดร. ก้องเกียรติและคุณศรีพร เชิญมาเป็นที่ปรึกษา หลังจากทำตัวเลขออกมา พบว่ามูลค่าของหุ้นตกอยู่
1,300 กว่าบาท ผมจึงตัดสินใจที่จะซื้อหุ้นแผ่นเหล็กวิลาสไทยจากผู้ประสงค์จะขายในราคา
1,500 บาท" นักเลงมังกรสยามอย่างสมศักดิ์เล่าให้ฟังอย่างมีอารมณ์
เป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้เวลานานในการที่ ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการและศรีพร
สิทธิพงษ์ สองผู้บริหารแห่งบริษัท ASSET PLUS และบริษัท PERIGRINE NITHI
FINANCE & SECURITIES จะกระโดดเข้าร่วมสู้กับสมศักดิ์ ด้วยเจตจำนงที่ต้องการพิทักษ์ความเป็นธรรมของผู้ถือหุ้นรายย่อย
และให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาต่อไปของการพัฒนากฎกติกาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เป็นไปอย่างรัดกุม ชัดเจนและยุติธรรม
งานนี้สมศักดิ์ไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว !!
ตั้งแต่ 21 มีนาคมจนถึง 4 เมษายน อันเป็นระยะของการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หุ้นแผ่นเหล็กวิลาสไทย
ภาพพจน์ของแฟรงค์กลายเป็นแจ็คผู้หาญฆ่ายักษ์ ด้วยอาวุธคือใบหุ้นที่ระดมมาได้เพียง
4.43% หรือจำนวน 62,036 หุ้น ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายของการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์นี้ว่าจะต้องซื้อให้ได้จำนวน
51% เพื่อเขี่ยกรรมการบริหารชุดเดิม ที่มาจากผู้หุ้นใหญ่สี่รายคือ หจก. สี่ยงค์ของชำนิ
วิศวผลบุญ มิตซุย แอนด์ คัมปะนี คาวาโชคอร์ปอเรชั่นและคาวาซากิ สตีล คอร์ปอเรชั่น
แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟเกมจึงจบลงด้วยแจ็คถูกยักษ์ซามูไรญี่ปุ่นฟันด้วยดาบกระจุยแต่ผลงานที่ทิ้งไว้ก็ยังให้ประโยชน์เล็ก
ๆ กับผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ ด้วยการกระตุ้นให้ราคาหุ้นที่เคยกดไว้ ณ ราคา
880 บาทกระเตื้องขึ้นมาเป็น 1,010 บาท
"ถึงแม้ว่าการเสนอซื้อครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม.. ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน
ดิฉันคิดว่าคุณสมศักดิ์ได้ทำหน้าที่ปกป้องและช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยอย่างดีที่สุดแล้วและเต็มความสามารถ
และยินดีด้วยที่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถขายหุ้นไดสูงกว่า 880 บาท"
ศรีพร สุทธิพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท PEREGRINE NITHI FINANCE & SECURITIES
เอ่ยถึงความจริงใจและจริงจังของสมศักดิ์ในสนามรบแห่งนี้
ข้อกล่าวหาของกรรมการบริหารแผ่นเหล็กวิลาสไทย ที่ว่าสมศักดิ์ฉวยโอกาสเข้ามาไล่ซื้อหุ้น
TIP ขึ้นไปจนถึง 892 บาท ในวันที่บริษัทประกาศลาออกจากตลาดฯ นั้น สมศักดิ์เล่าให้ฟังว่า
"เจตนาของผมโปร่งใสผมแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าผมซื้อหุ้นวันที่เขาประกาศลาออกจำนวน
2,100 หุ้น วันนั้นหุ้นตกลงมาถึง 880 บาท ถ้าผมมีเจตนาจะขายของแพงโดยไล่ราคา
เขามองผมผิด ถึงอย่างไรผมก็ไม่ขายแม้ว่าผมจะแพ้ในครั้งนี้" สมศักดิ์เล่าให้ฟัง
ที่สุดแม้เกมจะแพ้หรือชนะไม่สำคัญ ขอเพียงแต่ทุ่มสู้สุดตัวอย่างดีที่สุดก็ทำให้สมศักดิ์และทีมงานอย่าง
ดร. ก้องเกียรติ และศรีพร สามารถยืนหยัดได้แบบ "เงยหน้าไม่อายฟ้าก้มหน้าไม่อายดิน"
ใช่หรือไม่??