ว่าด้วยห้างสรรพสินค้า Printemps

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สาวไทยในฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกตว่าจะพบเห็นเพื่อนร่วมชาติก็แต่ตามร้านค้า ส่วนตามพิพิธภัณฑ์ไม่เคยได้ยินเสียงภาษาไทยเลย ฟังแล้วเห็นคล้อยตาม เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามร้านค้าปลอดภาษีอย่าง Benlux หรือ Parislux จะมีพนักงานชาวไทยคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะ แถมติดประกาศภาษาไทยให้ขึ้นไปยังชั้นที่จัดให้บริการชาวไทยโดยเฉพาะ หรือติดป้ายบอกที่จ่ายเงิน เป็นต้น

นึกย้อนดูพฤติกรรมของชาวไทย ต้องยอมรับว่าชาวไทยชอบเดินห้างจริงๆ ห้างดังกล่าวคือห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดสัปดาห์ มาเป็นครอบครัว หรือเป็นที่นัดหมายของเพื่อนฝูง ต่างกับชาวฝรั่งเศสที่มักจะเข้าคิวชมพิพิธภัณฑ์ หรือนิทรรศการต่างๆ ที่มีหลากหลาย หรือไปเที่ยวสวนซึ่งมีอยู่มากมาย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าห้างสรรพสินค้าฝรั่งเศสจะไร้ผู้คน กาเลอรีส์ ลาฟาแยต (Galeries Lafayette) และแพรงตองป์ (Printemps) เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีลูกค้าเนืองแน่นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของ Galeries Lafayette ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว ถึงกระนั้นใช่ว่าห้างสรรพสินค้าของ ฝรั่งเศสจะไร้ปัญหา ผลกำไรไม่เป็นที่น่าพอใจ สืบเนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป สินค้ายี่ห้อ ต่างๆ เปิดร้านของตนเองอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปซื้อจากร้านเหล่านี้โดย ตรง หรือตามศูนย์การค้า ห้าง Samaritaine ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ไม่สามารถเรียกลูกค้าคืนกลับแม้จะมีการปรับรูปโฉมใหม่ แถมยังเกิดข้อกังขาในด้านความปลอดภัย ด้วยว่าเป็น ห้างที่ก่อตั้งมานับร้อยปีแล้ว จึงจำต้องปิดตัวเพื่อดำเนินการให้ต้องกับข้อกำหนดของรัฐ และคาดหมายว่าจะเปิดบริการในรูปโฉมใหม่ในปี 2011 ห้าง Galeries Lafayette จำต้องปิดสาขาในต่างจังหวัดไป 5 แห่ง

ห้างเลอ บง มาร์เช (Le Bon Marche) เป็นแห่งเดียวที่มีผลประกอบการเกินคาด ด้วย ว่าตั้งอยู่ในย่านผู้มีอันจะกิน กลุ่ม LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของห้าง Le Bon Marche จัดวางให้เป็น ห้างหรูเริ่ด ขจัดยี่ห้อพื้นๆ หันมาเน้นสินค้าหรูราคาแพง ลูกค้าของ Le Bon Marche ไม่มากเท่า Galeries Lafayette และ Printemps

ห้าง BHV ของกลุ่มGaleries Lafayette ซึ่งเน้นอุปกรณ์ในการแต่งบ้านด้วยตนเอง หงอยเหงาไปในระยะหลัง ผู้บริหาร เริ่มปรับปรุงห้างให้ดูโก้กว่าเดิม ทว่าจำต้องปิดสาขาในเมืองกอง (Caen) และสตราสบูรก์ (Strasbourg)

เมื่อผลประกอบการไม่น่าพอใจ ห้างสรรพสินค้าจึงต้องเปลี่ยนนโยบายด้วยการมุ่งให้เช่าพื้นที่ ซึ่งให้รายได้ที่แน่นอนกว่า

เป็นลูกค้า Printemps มาก กว่า Galeries Lafayette เพราะการจัดวางสินค้าแต่ละยี่ห้อง่ายต่อการหา ไม่ดูรก อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่า ทั้ง Galeries Lafayette และ Printemps แข่งกันในทีเพราะตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียง จึงมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดลูกค้าและแล้ววันหนึ่ง ต้องแปลกใจที่เห็นข่าวว่า กลุ่ม PPR (Pinault-Printemps-Redoute) ดำริจะขายห้าง Printemps มีการเจรจาอย่างเงียบๆ กับกลุ่ม ธุรกิจและกลุ่มการเงินต่างๆ มานับปีแล้ว แต่ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลง Galeries Lafayette เป็นหนึ่งในผู้สนใจซื้อกิจการของ Printemps อันทำให้พนักงานของ Printemps หวาดวิตกว่าจะตกงาน เพราะ Galeries Lafayette คงจะซื้อเพื่อให้ Printemps ดับเพื่อที่จะไม่เป็นคู่แข่งทางการค้าต่อไป อย่างไร ก็ตาม Galeries Lafayette ไม่น่าจะซื้อ ด้วย ว่าทั้งสองห้างต่างมีสาขาในบริเวณที่ใกล้เคียง กัน ทั้งในกรุงปารีสและต่างจังหวัด

เมื่อแรกมีข่าวว่าจะขายห้าง Printemps มีการตีราคาว่าน่าจะเป็น 600 ล้านยูโร หากเวลาผ่านไปแทนที่ราคาจะลดลงกลับสูงขึ้นเป็น 1,000 ล้านยูโร ด้วยว่ามูลค่าของ Printemps มิได้อยู่ที่กิจการค้าขายปลีกเท่านั้น หากอยู่ที่ตัวอาคารทั้งที่ boulevard Haussmann ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่และสาขาในต่างจังหวัด มูลค่าของตัวอาคาร ถือเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของราคารวม

ข่าวลือเพิ่งจะกระจ่างเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2006 เมื่อกลุ่ม PPR ประกาศว่าได้ขาย Printemps ให้กับกลุ่มบอร์เลตตี (Borletti) เจ้าของและผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้า รีนาเชนเต (La Rinascente) ของอิตาลี ซึ่งร่วมกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของดอยช์แบงก์ ในสนนราคา 1,075 ยูโร โดยที่กลุ่ม Borletti จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร และมีสิทธิซื้อหุ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ในปัจจุบันเมาริซิโอ บอร์เลตตี (Maurizio Borletti) วัย 39 ปี เป็นผู้บริหารห้างสรรพสินค้า La Rinascente และมุ่งที่จะปรับปรุงให้เป็นห้างหรูระดับเดียวกับ Harrod's ของอังกฤษและ Le Bon Marche ของฝรั่งเศส เมาริซิโอ บอร์เลตตี หวังที่จะยกระดับ Printemps ให้เป็นห้างหรูยิ่งกว่าเก่า ซึ่งกลุ่ม PPR ได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

กลุ่ม PPR ซื้อกิจการ Printemps ในปี 1992 ยี่ห้อที่ติดมากับการซื้อครั้งนั้นคือ La Redoute ยี่ห้อเสื้อผ้าสั่งซื้อตามแค็ตตาล็อก จึงเกิดกลุ่ม Pinault-Printemps-Redoute PPR อันว่าฟรองซัวส์ ปิโนลท์ (Fran'ois Pinault) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม PPR นั้นร่ำรวยมาจากธุรกิจค้าไม้ ตั้งแต่ปี 1962 และเริ่มธุรกิจขายปลีกเมื่อซื้อกิจการเครื่องเรือน Conforama และร้านหนังสือ Fnac กลุ่ม PPR หันมาสนใจธุรกิจสินค้าหรูเมื่อได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในกุชชี (Gucci) ในปี 1999 และตั้งกลุ่ม Gucci พร้อมกับดำเนินการซื้อกิจการสินค้าหรู กล่าว คือ อีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ห้างเพชรบูเชอรง (Boucheron) นาฬิกาเบดาต์ เอต์ โก (Bedat & Co) ห้องเสื้อบาเลนเซียกา (Balenciaga) รองเท้าแซร์โจ รอสซี (Sergio Rossi) ห้องเสื้อสเตลลา แมคคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) ห้องเสื้ออเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen) กลุ่ม Gucci ทำกำไรถึง 35 เปอร์เซ็นต์ของกำไรทั้งหมดของกลุ่ม PPR ในปี 2005

นับแต่นี้ไปจะมีแต่กลุ่ม PPR โดยไม่ใช้ ชื่อเต็มว่า Pinault-Printemps-Redoute ดุจเดิม โดยมีฟรองซัวส์-อองรี ปิโนลท์ (Fran'ois-Henri Pinault) เป็นผู้บริหาร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.