|
ออสเตรเลีย: The Next Energy Superpower?
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การส่งออกพลังงานและแร่ธรรมชาติชนิดต่างๆ คืออุตสาหกรรมหลักที่นำเข้าเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศออสเตรเลียมาอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
ความต้องการพลังงานและแร่ธรรมชาติของโลกนั้นถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลักๆ ก็เป็นผลมาจากการบูมของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ซึ่งก็ยังไม่มีท่าทีที่จะชะลอตัวในอนาคตอันใกล้แต่อย่างใด ราคาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของโลก ไล่ตั้งแต่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองคำ เงิน ทองแดง และอื่นๆ อีกหลายประเภท ก็พากันทุบสถิติโลกที่มีมาในอดีตอย่างถ้วนหน้า
นอกจากนั้นความต้องการพลังงานของโลกในระยะยาวก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย International Energy Agency ประเมินว่าภายในปี 2030 ความต้องการพลังงานของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 50% จากระดับปัจจุบัน ซึ่งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ยังคงจะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ผลิตพลังงาน 80% ป้อนตลาดโลกและอานิสงส์จากการบูมของพลังงานและแร่ธรรมชาติเหล่านี้เอง ที่ช่วยชุบชีวิตให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในออสเตรเลียและที่อื่นๆ ทั่วโลกให้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง
แม้ออสเตรเลียจะไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่ออสเตรเลียนั้นอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรพลังงานด้านอื่นๆ อย่างเช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียม โดยเฉพาะถ่านหิน ออสเตรเลียคือประเทศผู้ส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน โดยในแต่ละปีออสเตรเลียส่งออกถ่านหินได้มากถึง 1/3 ของถ่านหินที่ส่งออกในตลาดโลกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกถ่านหินของออสเตรเลียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับ 6% ต่อปี
นอกจากนั้นออสเตรเลียยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมาออสเตรเลียทำการส่งออกก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นถึง 34% จากปีก่อนหน้านี้และก็คาดกันว่าออสเตรเลียจะกลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติใหญ่อันดับสองของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นออสเตรเลียยังมีแหล่งน้ำมันในทะเลตอนใต้ของประเทศที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีกมาก ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเองก็ได้ให้การสนับสนุนการสำรวจอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นในอนาคตออสเตรเลียก็อาจจะกลายเป็นประเทศผู้มั่งคั่งน้ำมันรายใหม่ของโลกอีกก็ได้
และในยุคน้ำมันแพงประจวบกับปัญหา Global Warming และ Climate Change พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในอนาคต คาดกันว่าในปัจจุบันมีการใช้ Commercial Nuclear Reactors ผลิตพลังงานทั่วโลกอยู่ 440 แห่ง และอีก 60 แห่ง ก็กำลังถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย และด้วยปัจจัยนี้เอง แร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นแร่สำคัญในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ก็กำลังจะกลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอนาคตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งออสเตรเลียเองก็เป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมขนาดใหญ่ของโลก โดยออสเตรเลียมีแหล่งแร่ยูเรเนี่ยมราคาถูก (low-cost Uranium) อยู่ถึงประมาณ 40% ของแหล่งแร่ยูเรเนียมที่ค้นพบแล้วทั่วโลก นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมาออสเตรเลียก็สามารถส่งออกแร่ยูเรเนียมได้เพิ่มขึ้นถึง 24% จากปีก่อนหน้านี้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนายกรัฐมนตรี John Howard ของออสเตรเลีย จึงบอกกับที่ประชุม CEDA ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ออสเตรเลียนั้นมีความพร้อมที่จะกลายเป็น Energy superpower ของโลก นายกรัฐมนตรี John Howard ยังยกตัวอย่างอีกด้วยว่า มูลค่าการส่งออกพลังงานของออสเตรเลียในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 45 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย (คูณด้วย 29 ก็จะได้มูลค่าเงินบาทไทย) หรือเทียบได้มากกว่า 3 เท่าของมูลค่ารวมของการส่งออก เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก และขนแกะ ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของออสเตรเลีย
การบูมของอุตสาหกรรมพลังงานและเหมืองแร่ในออสเตรเลีย นอกจากจะส่งผลมหาศาลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อรัฐที่เป็นแหล่งเหมืองแร่ อย่างรัฐ Western Australia ซึ่งมี Perth เป็นเมืองหลวง และรัฐ Queensland ซึ่งมี Brisbane เป็นเมืองหลวง รวมถึงรัฐอย่าง Northern Territory ด้วยเช่นกัน
ซึ่งถ้าการบูมครั้งนี้มีขนาดใหญ่เและเป็นเวลานานเพียงพอ แผนผังลำดับเมืองใหญ่ในออสเตรเลียซึ่งถูกครอบครองมานานโดย Sydney และ Melbourne ก็อาจจะถูกท้าทายโดยเมืองอย่าง Perth และ Brisbane ก็เป็นได้ เพราะการบูมขนาดใหญ่หมายถึงการอพยพเข้าของผู้คนและธุรกิจประเภทต่างๆ รวมถึงการบูมของราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะติดตามมาอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี John Howard ที่จะผลักดันให้ออสเตรเลียเป็น Next ซาอุดีอาระเบียนั้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายสวนกระแสและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยิ่งออสเตรเลียผลิตถ่านหินและก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดโลกมากขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับว่าออสเตรเลียผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ Greenhouse effect ให้กับโลกมากขึ้นเท่านั้น และความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมนี้เอง ก็จะกลายเป็นเงาติดตามรัฐบาลออสเตรเลียในภาระการเป็นมหาอำนาจทางพลังงานของโลกต่อไป
นอกจากนั้นบทบาทในการขุดเจาะและส่งออกยูเรเนียมของออสเตรเลีย ก็เป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในขณะนี้ เพราะพลังงานนิวเคลียร์แม้จะเป็นพลังงานที่ค่อนข้างสะอาด แต่ก็เป็นพลังงานที่สร้างความอ่อนไหวให้กับเสถียรภาพของโลก ดังนั้นการส่งออกแร่ยูเรเนียมของออสเตรเลีย จึงต้องมีการไตร่ตรองในเชิงนโยบายอย่างรอบคอบและรัดกุม ก่อนที่ออสเตรเลียจะทำการเปิดเหมืองแร่ยูเรเนียมเพิ่มขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางพลังงานในทศวรรษหน้าอย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|