Eejanaika: Ain’t it great!

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

Kobe no hana ni kane nuite,
Ee ja nai ka, ee ja nai ka!
Ee ja nai ka, ee ja nai ka!
Nipponkoku e wa kami ga furu,
Tojin yashiki nya ishi ga furu,
Ee ja nai ka, ee ja nai ka!
Ee ja nai ka, ee ja nai ka!

Butterflies come in from the west,
Attracted to money in Kobe's harbor,
Isn't that right?
Ain't it the truth?

The gods will descend to Japan,
While rocks fall on the foreigners
in their residencies,
Ain't it good!
Ain't it great!

หากภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสื่อความหมายหลากหลาย และลื่นไหลไปตามบริบทที่แวดล้อม ความหมายแห่ง Eejanaika ก็มิได้อยู่ในวิสัยที่จะได้รับการยกเว้น

Eejanaika (ee-ja-nai-ka) มีความหมายรากฐานสืบเนื่องมาจากเทศกาลงานรื่นเริง ที่ผสมผสานทั้งมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ที่เริ่มปรากฏก่อรูปขึ้นในช่วงปลายของสมัย Edo ต่อเนื่องสู่ยุคเริ่มต้นของ Meiji ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอำนาจของโลกตะวันตก บทเพลง Eejanaika จึงเป็นภาพสะท้อนที่แฝงนัยทั้งในมิติของการปลุกปลอบ และการต่อต้าน ก่อนที่นัยและความหมายของ Eejanaika จะเคลื่อนที่คลี่คลายไปสู่ Ain't it great! ในเวลาต่อมา

ความคลี่คลายของ Eejanaika ได้เคลื่อนไปสู่การเป็นชื่อเรียกเครื่องเล่น Roller Coaster แบบใหม่ของ Fujikyu (Fuji-Q) Highland ผู้ประกอบการ Amusement Park รายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขาในเขตจังหวัด Yamanashi ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ สัญลักษณ์ของญี่ปุ่นที่ได้หยิบยืมวาทกรรมแห่ง Eejanaika ขึ้นมาเป็นประเด็นในการจุดประกายความคิดคำนึงครั้งใหม่นี้

ธุรกิจ Amusement Park และ Themepark ของผู้ประกอบการญี่ปุ่น ได้รับ ผลกระเทือนต่อเนื่องนับตั้งแต่การรุกเข้ามาของทุนต่างชาตินับตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัว ขึ้นของ Tokyo Disneyland (1983) รวมถึง Universal Studios Japan (2001) และ Tokyo DisneySea (2001) ท่ามกลางสถานภาพของความเป็นสากลและพลังแห่งทุนที่หนาแน่น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับสื่อภาพยนตร์และสินค้าหลากหลายได้อย่าง ต่อเนื่องกลมกลืน

ทุนทางวัฒนธรรมจากซีกโลกตะวันตกที่ถาโถมเข้าใส่ญี่ปุ่น นอกจากจะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว อีกส่วนหนึ่ง ยังทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยน รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และแสวงหาจุดสนใจใหม่ๆ มาเป็นเครื่องดึงดูดและชี้ชวนเพื่อการขยายกลุ่มลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่าอาณาจักรธุรกิจของ Fujikyu จะมีความต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี และ เปลี่ยนผ่านผู้บริหารมาถึง 3 generations ท่ามกลางการขยายตัวทางธุรกิจทั้งในส่วนของกิจการขนส่ง และรถไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทานในระดับท้องถิ่น ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงสนามกอล์ฟและสวนสนุก

แต่จุดเด่นของ Fuji-Q Highland ไม่ได้อยู่ที่การเป็น themepark ที่อุดมด้วย Cartoon Character หรือวีรบุรุษวีรสตรี จากภาพยนตร์ หาก Fuji-Q Highland ประกอบส่วนไปด้วยเครื่องเล่นที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก ไม่ว่าจะเป็นบ้านผี (Haunted House) ที่จัดวาง theme ด้วยการจำลองภาพของโรงพยาบาลผีที่ต้องเดิน เท้าผ่านสายทางที่ทอดยาวกว่า 700 เมตร ซึ่งถือเป็นบ้านผีที่ยาวที่สุดในโลก หรือแม้กระทั่ง Roller Coaster หลากหลายที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกในมิติต่างๆ

Fujiyama ซึ่งมีความสูงถึง 259 ฟุต และมีความเร็วสูงสุดที่ระดับ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง กลายเป็นเครื่องเล่น Roller Coaster ที่สูงที่สุดในโลกเมื่อเปิดให้บริการในปี 1996 ก่อนที่สถิติในปี 2005 เครื่องเล่น Fujiyama จะเป็น Roller Coaster ที่สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก

ขณะที่ Dodonpa ที่มีความสูง 170 ฟุต และมีความเร็ว 106.9 ไมล์ต่อชั่วโมงเป็น Roller Coaster ที่มีความเร็วมากที่สุด เมื่อเปิดให้บริการในปี 2001 ก่อนที่จะครองอันดับ สามจากสถิติและการจัดอันดับในปี 2005

ความพยายามของ Fuji-Q ที่จะรักษาสถานะและศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการ themepark จากต่างประเทศ ทำให้ Fuji-Q ต้อง refresh สภาพพื้นที่และกิจกรรมภายในสวนสนุกแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการก่อสร้างเครื่องเล่นใหม่ๆ ขึ้นมาเป็น attraction เพิ่มเติม

ภายใต้เงินลงทุนที่มีมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านเยน (1.2 พันล้านบาท) ที่ใช้ในการก่อสร้าง Eejanaika ให้มีความสูง 249.33 ฟุต (73 เมตร) ยาว 3,782.83 ฟุต (1,153 เมตร) และมีความเร็วสูงสุด 78.3 ไมล์ต่อชั่วโมง (126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้ Eejanaika เป็น Roller Coaster แบบ 4 มิติ (4th dimension coaster) ที่มีความสูง ยาว และความเร็วมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 1 พันราย ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันจังหวะก้าวในการเปิดตัวเครื่องเล่นชิ้นใหม่ Eejanaika เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2006 ภายใต้ห้วงเวลา ที่คาบเกี่ยวและต่อเนื่องกับเทศกาลไทย Fujikyu Thailand Festival ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 22 กรกฎาคม-20 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้สะท้อนนัยสำคัญบางประการที่น่าสนใจไม่น้อย

เนื่องเพราะกิจกรรม Fujikyu Thai-land Festival ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้นับเป็น เทศกาลไทยที่มีระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียว กันกรณีดังกล่าวได้สะท้อนภาพความร่วมมือ ระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ที่เป็นหน่วยราชการไทยกับภาคธุรกิจเอกชน ของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการขยายผลความสำเร็จ ของเทศกาลไทย ในกรุงโตเกียว ไปสู่หัวเมือง ใหญ่แห่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Osaka Nagoya Kyoto Shizuoka Hyogo และ Mie โดย Fujikyu Thailand Festival นับเป็นเทศกาล ไทยที่จัดขึ้นในเขตจังหวัด Yamanashi เป็นครั้งแรกอีกด้วย

แม้ว่าก่อนหน้านี้ Fuji-Q จะเคยจัดกิจกรรมเทศกาลจีน Chinese Festival ภายในพื้นที่ของ Fuji-Q Highland เพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวจากทั้งจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ที่คาดว่าจะเดินทางท่องเที่ยวใน ช่วงเวลาของเทศกาลตรุษจีนมาแล้ว แต่การจัดกิจกรรมเทศกาลไทยในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามเมื่อกลุ่มเป้าหมายของกิจกรรมดังกล่าวได้รับการจัดวางน้ำหนักไว้ที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มักจะเดินทางพักผ่อนในช่วงปิดภาคฤดูร้อน และเทศกาล O-bon อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาของเทศกาลไทยที่ยาวนานนับเดือนนี้ นอกเหนือจากการเน้นย้ำจุดเด่นในเรื่องรสชาติของอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและสามารถครองความนิยมได้อย่างต่อเนื่องแล้วเทศกาลไทยครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตลาดไปสู่ประชากรกลุ่มใหม่ที่หมุนเวียนเข้ามาท่องเที่ยวใน Fuji-Q Highland ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนในแต่ละวัน และมากถึง 3-4 หมื่นคนในช่วงเทศกาล O-bon พร้อมกับการสอดแทรกมิติในทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เข้าสู่กระแสการรับรู้ของประชากรกลุ่มนี้ไปในคราวเดียวกันด้วย

กิจกรรมและการสาธิตทางวัฒนธรรม หลากหลายที่หมุนเวียนจัดแสดงตลอด 1 เดือน (22/07-20/08) รวมถึงการแสดงชุดพิเศษของคณะแฟนต้ายุวทูต ในช่วงเทศกาล O-bon (12/08-15/08) โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการสาธิตเทศกาลสงกรานต์ ได้สร้าง เสริมให้เทศกาลไทยใน Fuji-Q Highland ครั้งนี้อยู่ในบรรยากาศของ Summer Festival ซึ่งสอดรับกับความรู้สึกแห่งฤดูร้อนของญี่ปุ่น ได้อย่างลงตัว

ภาพริ้วขบวนการแสดงทางวัฒนธรรม ของกลุ่มแฟนต้ายุวทูตจากประเทศไทย ที่เคลื่อนผ่านเครื่องเล่นหลากหลายใน Fuji-Q Highland ในระหว่างวันที่ 12-15 สิงหาคม ที่ผ่านมา จึงมิได้เป็นเพียงกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างดาดๆ หากเป็นปรากฏการณ์ของการเชื่อมประสานทางวัฒนธรรมที่กำลัง ขยายแนวรุกเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายชาวญี่ปุ่นอย่างได้ผล

เป็นการเชื่อมประสานท่ามกลางความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความคลี่คลายของนโยบาย และทิศทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น บางทีบทสรุปแห่งเทศกาลไทย ภายใต้ชื่อ Fujikyu Thailand Festival อาจมีคำตอบอยู่แล้วจากวาทกรรม Eejanaika นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.