ชิ้นเค้กซีกน้อยๆ ของจีน

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สัปดาห์ก่อน คุณสุปราณี คงนิรันดรสุข แห่งนิตยสารผู้จัดการ ส่ง By The Tyne : มองอังกฤษยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป หนังสือเล่มที่ 19 ในซีรีส์ The Global Link ที่เขียนโดยคุณวิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ คอลัมนิสต์ของผู้จัดการที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลมาให้ผมอ่าน

ผมใช้เวลาในช่วงว่างเพียงไม่ถึงสองวันในการพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบแล้วพบว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลายส่วนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศจีนไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ในเชิงการค้าที่นับวันยิ่งจะผูกแต่ละประเทศในโลกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ในบทที่ 15 ของ By The Tyne กล่าวถึง "Bra War" หรือสภาพการณ์ที่สินค้าเสื้อผ้าของประเทศจีนนั้นเข้าตีตลาดเสื้อผ้าของอังกฤษ (รวมถึงสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป) เสียจนกระจุยกระจาย

"อยู่อังกฤษ ถึงไม่รวย ก็สวยได้ เพราะเสื้อผ้าสวยๆ ในอังกฤษ ซึ่งแต่ก่อนราคาแพงเกินเอื้อม แต่ปัจจุบันกลับราคาถูก จนบางครั้งเหลือแค่ตัวละปอนด์สองปอนด์ (70-140 บาท) เท่านั้น หลายคนบอกว่าใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งก็ยังคุ้ม" คุณวิไลลักษณ์เขียนสะท้อนให้เห็นถึง สงครามบรา (Bra War) ไว้อย่างเห็นภาพ พร้อมทั้งอธิบายว่า ปัจจุบันแหล่งผลิตและที่มาของเสื้อผ้าราคาถูกของโลกนั้นตกอยู่ในมือของชาวจีนหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่โควตาสิ่งทอ (Multi-Fibre Arrangements หรือ MFA) ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548

การบุกเข้าตีตลาดเสื้อผ้า-สิ่งทอในประเทศพัฒนาแล้วของสินค้าจากจีนนั้นกลายเป็นประเด็นในระดับโลกที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้โจมตีว่า จีนให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอของตนเองอย่างลับๆ ผ่านหลายช่องทาง อย่างเช่น การยกเว้นภาษี เงินอุดหนุนค่าเช่าที่ดิน รวมไปถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเงินอุดหนุนการส่งออก ฯลฯ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบจากสภาวะของการที่สินค้านำเข้าจากจีนถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศพัฒนาแล้วนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศนั้นๆ ขายของไม่ออกจนต้องปิดกิจการกันไปเป็นแถบๆ หรือไม่ก็ต้องโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนเสียเลยเพื่อเป็นการลดต้นทุน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสินค้าจำพวกเสื้อผ้า-สิ่งทอเท่านั้นที่พยายามย้ายฐานการผลิตไปยังแดนมังกร แต่ยังรวมไปถึงสินค้าแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า ยา เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั้งหลายก่นด่าชาวจีนว่ากำลังแย่งงานในภาคการผลิตไปจากคนอเมริกันและคนยุโรป (เช่นเดียวกับที่กล่าวหาชาวอินเดียว่า แย่งงานในภาคบริการของคนอเมริกันและยุโรปทำ) สิ่งเหล่านี้ทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2548) ผู้ประกอบการชาวตะวันตกล้วนแล้วแต่หวาดหวั่นกับคำว่า China's Price และ Cut the price by 30%, or else lose you customers! กันเสียจนไม่เป็นอันกินอันนอน

ภาวะเช่นนี้ส่งให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ต่างพยายามกดดันจีนที่ในแต่ละปีเกินดุลการค้ากับโลกมากมายมหาศาล ให้รัฐบาลจีนปรับอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น และระบายเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนที่มีมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ออกเสีย

รัฐบาลจีนจงใจอุดหนุนผู้ผลิตจริงหรือ? สินค้าส่งออกของจีนนั้นขายราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงหรือ? จีนเป็นผู้ส่งออกภาวะเงินฝืดไปยังโลกตะวันตกจริงหรือ?

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2549 หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง Behind U.S.-China trade gap : The story of a boot โดยเนื้อหานั้นพยายามตีแผ่เกี่ยวกับความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่านตัวอย่างเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ คือ รองเท้าบูต

ผู้สื่อข่าวของ IHT ได้เดินทางไปเยือนโรงงานผลิตรองเท้าบูตเพื่อส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน (เทียนสิน) เมืองท่าสำคัญของจีนที่อยู่ใกล้ๆ กับกรุงปักกิ่ง โรงงานแห่งนี้ผลิตรองเท้าบูตส่งขายให้กับร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา

IHT เปิดเผยว่า สำหรับรองเท้าบูตคู่หนึ่งที่ติดป้ายขายปลีกราคา 49.99 เหรียญสหรัฐจริงๆ แล้วราคาขายที่หน้าโรงงานผู้ผลิตในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ 15.30 เหรียญสหรัฐต่อคู่ โดยในราคาขายนี้เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ (10.96 เหรียญ) ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในโรงงาน (1.88 เหรียญ) ค่าแรง (1.30 เหรียญ) ค่ากล่องและค่าติดตราสินค้า (0.52 เหรียญ) แล้ว เจ้าของโรงงานผลิตรองเท้าจะได้กำไรเพียงคู่ละราว 0.65 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรที่เจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่ได้กำไรจากการขายมากถึงคู่ละประมาณ 3.46 เหรียญสหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่ากำไรของเจ้าของโรงงานผู้ผลิตชาวจีนกับกำไรของเจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ นั้นแตกต่างกันมากกว่า 5 เท่า!

ด้านผู้ส่งออกสินค้าจากประเทศจีนที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงก็เปิดเผยด้วยว่า ความแตกต่างระหว่างราคาหน้าโรงงานกับราคาขายปลีกของรองเท้าบูตที่อยู่ที่ประมาณ 3 เท่าในกรณีนี้ถือเป็นเพียงขั้นต่ำเท่านั้น เพราะหากเป็นสินค้ามียี่ห้อดังอย่างเช่น Calvin Klein Nautica Chaps หรือ Ralph Lauren แล้วส่วนต่างอาจจะเป็น 4 เท่า 5 เท่า หรือแม้กระทั่งสิบเท่า นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันผู้ซื้อ (เจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ) ก็ยังมีอำนาจในการต่อรองที่จะกำหนดต้นทุนได้เหนือผู้ผลิตที่อยู่ในจีนเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากทุกวันนี้โรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในประเทศจีนนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน และต่างก็แข่งขันกันอย่างรุนแรง

ขณะที่หากมองในแง่มุมของแรงงานก็จะพบว่า แรงงานชาวจีนที่ทำหน้าที่ผลิตรองเท้าบนสายพานการผลิตนั้นได้ค่าแรงน้อยมากเสียจนเหลือเชื่อ และรายได้ที่แรงงานชาวจีนผู้ทำหน้าที่ร้อยเชือกรองเท้าได้ในปัจจุบันนั้นน้อยกว่าแรงงานชาวอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ยุคแรกๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก

IHT ระบุว่า เมื่อเกือบสามร้อยปีที่แล้วแรงงานในโรงงานสิ่งทอของอังกฤษได้ค่าแรงราวสัปดาห์ละ 8 ชิลลิ่ง ซึ่งเมื่อคิดคำนวณข้าม Time&Space มาเปรียบเทียบกับแรงงานชาวจีนในปัจจุบันแล้วก็คงจะเท่ากับเงินราวๆ 1,300 หยวนต่อเดือน ซึ่งมากกว่าค่าแรงที่แรงงานชาวจีนได้รับอยู่ราวร้อยละ 30 เรียกได้ว่าต่อให้ราคาค่าแรงของคนงานทั้งโรงงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ราคาขายปลีกรองเท้าบูตคู่นี้ในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นไม่กี่เซ็นต์เท่านั้น

จริงๆ แล้ว รายได้ของแรงงานเย็บรองเท้าราวๆ พันหยวนต่อเดือนที่ IHT ระบุไว้ในรายงานชิ้นนี้นั้น ผมเห็นว่าเป็นรายได้ที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันที่ผมรับรู้มากมายนัก เพราะค่าแรงของแรงงานจีนในปัจจุบันนั้นถือว่าน้อยนิดมาก อย่างเช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงที่ค่าครองชีพแพงกว่าเมืองเทียนจินนั้นอาจมีรายได้ต่อเดือนเพียงแค่ 300-400 หยวนเท่านั้น (โดยมีสวัสดิการเป็นอาหารแบบขอไปทีสามมื้อกับห้องขนาดเท่ารูหนูเอาไว้ซุกหัวนอน)

สรุปแล้วจากข้อกล่าวหาที่ชาติตะวันตกว่าจีนต่างๆ นานานั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในส่วนหนึ่งรัฐบาลจีนนั้นอาจให้การอุดหนุนผู้ประกอบการของตนเองจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมาพิจารณาตัวเลขแจกแจงกันอย่างละเอียดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในความเป็นจริง โลกยุค Global Link นั้น ยังไงๆ นายทุนชาวตะวันตกก็ยังคงเป็นผู้ที่คว้าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปอยู่ดี ส่วนนายทุนชาวจีนนั้นได้ส่วนแบ่งเป็นเพียงเค้กซีกเล็กๆ เท่านั้น

มิพักต้องพูดถึงแรงงานจีน (รวมถึงแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ) ที่หากเปรียบเทียบไปแล้วถือว่าน่าสงสารที่สุด เพราะสุดท้ายก็ยังคงได้รับเพียงแค่เศษเหลือเดนจากก้อนเค้กชิ้นใหญ่เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.