ติ่มซำไฮเทค

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ขนมจีบ ซาลาเปา ฮะเก๋า ในเข่งนี้ คุณซื้อได้ด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

ตึกแถวขนาดหนึ่งคูหาสูงสามชั้นปากซอยสยามสแควร์ซอย 4 ที่มีราคาแพงไม่น้อยสำหรับผู้ที่สนใจจะใช้เป็นร้านค้าหรือสถานที่จัดวางสินค้าของตนให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาแถวนั้นเห็น

แต่ "โชคดีติ่มซำ" ก็เลือกที่จะลงทุนไปกับพื้นที่ดังกล่าว และยกฐานะให้กับร้านติ่มซำสาขาใหม่ของตนแห่งนี้เป็น "สาขาต้นแบบ" ทั้งในแง่ของการตกแต่ง ให้บริการ และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ใหม่ทั้งหมด

วันงานแถลงข่าวผู้บริหารของโชคดีติ่มซำ เชื้อเชิญให้แขกเหรื่อเข้าไปนั่งบริเวณชั้นสองของร้าน ซึ่งหลังจากวันนี้ก็คงกลายเป็นสถานที่สำหรับนั่งกินติ่มซำของทางร้าน และเริ่มอรรถาธิบายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจติ่มซำของตน นับตั้งแต่ได้เปิดให้บริการสาขาแรกบนถนนบรรทัดทอง จุฬาซอย 12 ในปี 2543

จากเดิมที่เป็นเพียงร้านติ่มซำที่เปิดให้คนมานั่งกิน และก็เดินกลับออกไปโดยไม่ได้ทำอะไรกับข้อมูลคนเดินเข้าออกร้านแต่ละวัน เพื่อทำให้ "เขาเดินกลับมาอีกครั้ง" นอกจากการทำเพียงปรับปรุงรสชาติ เพิ่มเมนู และเพิ่มจำนวนชั่วโมงให้บริการเป็น 24 ชั่วโมงในบางสาขา หรือเพิ่มจำนวนร้านให้มากขึ้นด้วยการขยายเป็นธุรกิจแฟรนไชส์เท่านั้นเอง

วันนี้ติ่มซำของโชคดีติ่มซำยังคงเสิร์ฟมาในเข่งร้อนๆ ให้คนได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อยเช่นเดิม แต่สภาพแวดล้อมของร้านเปลี่ยนไปสวยงามและดูทันสมัยเข้ากับกลุ่มคนทานที่มีอายุลดลงกว่าเดิม

เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนทำงาน คือกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่โชคดีติ่มซำต้องการจะไปถึง เพราะติ่มซำไม่ได้จำกัดว่าคนอายุมากมานั่งและจิบน้ำชาไปพลางๆ อย่างแต่ก่อนเท่านั้น

จากการศึกษาและสำรวจของโชคดีติ่มซำพบว่า วัยของคนทานเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่มาของการตัดสินใจปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดึงดูดสายตาลูกค้าอย่างที่พบเห็นนั่นเอง

"กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์" หรือสมาร์ทเพิร์ส เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มความเปลี่ยนแปลงของโชคดีติ่มซำในครั้งนี้

เพราะขณะที่ทางไทยสมาร์ทคาร์ด เจ้าของบัตรสมาร์ทเพิร์สกำลังขยายจำนวนร้านค้าให้หันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนมากยิ่งขึ้น โชคดีติ่มซำก็ต้องการให้ภาพลักษณ์ของร้านดูทันสมัยยิ่งขึ้น จึงเกิดความลงตัวในการดำเนินธุรกิจร่วมกันในลักษณะการทำ co-brand โดยใช้ชื่อบัตรสมาร์ทเพิร์สที่ใช้ในร้านโชคดีติ่มซำว่า "โชคดี สมาร์ทเพิร์ส"

วันนี้ลูกค้าที่เดินเข้าร้านโชคดีติ่มซำทุกสาขา สามารถใช้สมาร์ทเพิร์สซึ่งเติมเงินเอาไว้แล้ว จ่ายค่าติ่มซำแทนเงินสดได้แล้ว และในเวลาเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนไปใช้เงินสดได้หากต้องการ

นอกจากโชคดีติ่มซำจะให้ความสะดวกในการจับจ่ายของลูกค้า หมดปัญหาเรื่องเงินทอนที่อาจจะบริหารจัดการได้ลำบาก เพราะราคาต่อเข่งของติ่มซำในร้านอยู่ที่เข่งละ 16.50 บาท จึงทำให้มีเศษห้าสิบสตางค์เข้ามาสร้างปัญหาในการทอนเงินให้กับลูกค้าเสมอ แต่สำหรับสมาร์ทเพิร์ส พนักงานแคชเชียร์เพียงตัดตัวเลขในบัตรก็ได้เงินค่าติ่มซำจากลูกค้าเป็นที่เรียบร้อย

โชคดีติ่มซำยังได้ข้อมูลจากการเลือกรับประทานอาหารแต่ละอย่าง จำนวนการใช้จ่าย อายุของผู้ใช้บริการ วัน เวลา สถานที่เพศ การศึกษา ระดับฐานเงินเดือน และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายกลับมาด้วยทุกครั้งที่แตะบัตรสมาร์ทเพิร์สเข้ากับเครื่อง

"ข้อมูล" คือขุมพลังทางธุรกิจเป็นจริงสำหรับติ่มซำ เพราะผู้บริหารสามารถทราบข้อมูลการใช้บริการทุกด้าน ก่อนนำมาปรับปรุงการให้บริการ และหาวิธีการที่เหมาะสมในการทำโปรโมชั่นหรือกิจกรรมการตลาดเพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้านมากยิ่งขึ้น ดีกว่าปล่อยทิ้งให้ข้อมูลเหล่านั้นขึ้นหิ้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว

ขณะที่บัตรเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นบัตรสมาชิกของลูกค้า ซึ่งร้านค้าสามารถใช้จัดโปรแกรมสะสมแต้ม ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และออกโปรโมชั่นเพื่อสมนาคุณลูกค้าได้ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.