"คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ราเจนดร้า อะเนจากำลังตรวจนับสต็อคผงซักฟอกบนชั้นวางของในร้านแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในเมืองเฟทฮาแบด ทางเหนือของอินเดีย รถมารูติ ยิบซีสีน้ำเงินใหม่เอี่ยมแล่นเข้ามาจอดที่หน้าร้านคนที่กำลังก้าวลงมาจากรถเป็นชาวนาร่างกำยำ เขาเดินเข้ามาในร้านแล้วก็เริ่มต้นสั่งของ "เอานี่ 200 ข้าว 30 โล ข้าวสาลีอีก 20 กิโลด้วย---"

ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีการถามไถ่ถึงราคาเลย ชาวนาเดินกลับไปที่รถ ดึงธนบัตรใบละ 100 รูปี สองสามปึกออกจากกระสอบป่าน เพื่อมาจ่ายให้เจาของร้าน

"นี่คือความมั่งคั่งของชนบทอินเดีย" อะเนจาซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของฮินดูสถาน ลีเวอร์ ผู้ผลิตสบู่และผงซักฟอกรายใหญ่ของอินเดียกล่าว

ความมั่งคั่งนี้เป็นผลมาจากนโยบาย 2 ข้อของรัฐบาล นโยบายแรกคือ การยกเว้นภาษีรายได้ที่เกิดจากการเกษตรกรรม และนโยบายข้อที่สองก็คือ นับตั้งแต่ปี 1967 รัฐบาลแจกเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้กับชาวนา ให้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูก สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ใช้น้ำจากคลองชลประทานฟรี ๆ

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติเขียว"

ระหว่างปี 1981-1991 มูลค่าผลิตผลจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 167% รายได้ต่อพื้นที่ 1 เอเคอร์เพิ่มขึ้น 354% และจำนวนคนยากจนในชนบทลดลงจาก 54% ของประชากรทั้งหมดเหลือ 28% ในปี 1950 มีเพียง 3,000 หมู่บ้านจากทั้งหมด 500,000 หมู่บ้านที่มีใช้ไฟฟ้า พอมาถึงปี 1989 ไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน 450,000 แห่ง

ในเมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือที่แทบจะไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่อย่างเมืองฮีซาร์ มีช้อปปิ้งอาเขตถึง 3 แห่ง ขายสินค้าคุณภาพที่ดีเมื่อก่อนมีขายเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ของอินเดียเท่านั้น

อะเนจาเล่าว่า เมื่อ 15 ปีก่อนเขาเคยเดินทางเข้าไปในถิ่นของชนเผ่าพื้นเมืองที่บาสทาร์เพื่อหาลู่ทางในการขายสบู่ราคาถูก

"ตอนนั้น ไม่มีใครมีรองเท้าใส่เลย เด็ก ๆ ต้องเดินเท้าเปล่า แต่ทุกวันนี้เด็ก ๆ มีชุดนักเรียนใส่แล้ว และคุณจะพบเห็นประชาชนอ่านหนังสือ 'อินเดีย ทูเดย์' ฉบับภาษาอินดู" (อินเดียทูเดย์ เป็นนิตยสารที่ขายดีที่สุดในเอเซีย)

เมืองเล็ก ๆ อย่างฮีซาร์เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าบางชนิด สภาวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของอินเดียระบุว่า 70% ของวิทยุ นาฬิกาข้อมือแบบไขลาน และจักรยานที่ขายในอินเดีย ผู้ซื้อคือชาวชนบท โฆษณา ภาพยนตร์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ต่างก็มีบทบาทในการสร้างลัทธิบริโภคนิยมให้เกิดขึ้น แม้แต่ในหมู่บ้านที่เล็กที่สุด ชาวบ้านก็ยังมีทีวีดู

ปัจจุบัน การตลาดของธุรกิจอินเดียโดยส่วนใหญ่ยังคงพุ่งเป้าไปที่เมืองใหญ่ ๆ ซึ่งมีอัตราการเติบโตของสินค้าบางประเภทปีละ 5-10% แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในท้องถิ่นชนบทสินค้าบางอย่าง เช่น สบู่ยี่ห้อมีชื่อ มีการเติบโตถึงปีละ 50-60%

สถิติของสภาวิจัยเศรษฐกิจเปิดเผยว่า คนอินเดีย 72% อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน บริโภคสินค้าในสัดส่วน 40% ของการบริโภคทั้งหมด โดยใช้จ่ายเงินปีละ 700 ล้านเหรียญเป็นอย่างต่ำซึ่งเท่ากับ 1% ของรายได้ในภาคชนบทเท่านั้น

อะเนจา ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจากผลงานการเจาะตลาดชนบทอินเดียประเมินว่า ชาวชนบทอินเดียจ่ายเงินซื้อสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าคงทนและสินค้าใช้สิ้นเปลืองเดือนละ 30 รูปีเป็นอย่างน้อย หรือเดือนละ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้ามองในแง่มูลค่าตลาดรวม ตลาดชนบทก็มีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญต่อปี

ถึงแม้ชนบทจะมีศักยภาพอยู่มาก แต่ก็มีผู้ผลิตสินค้าคอนซูมเมอร์น้อยรายที่เข้าไปทำตลาด เพราะความยากลำบากในการเดินทาง เครือข่ายการกระจายสินค้าที่ไม่เพียงพอ แต่ก็มีบางบริษัทที่สามารถทำตลาดได้สำเร็จด้วยการเปลี่ยนแปลงแพ็คเก็จสินค้าเสียใหม่ เช่น แพนมาซาลา ซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายหมากฝรั่งที่ผสมใบพลูจาก 5 ล้านเหรียญในปี 1985 เป็น 66 ล้านเหรียญในปี 1991 โดยลดปริมาณหมากฝรั่งจากซองละ 200 กรัมเหลือเพียง 10 กรัม

ส่วนบริษัทอื่น ๆ ก็พยายามปรับปรุงสินค้าให้เป็นที่ดึงดูดใจของลูกค้า จากการสำรวจของอินเดีย ทูเดย์พบว่า แคดบิวรี่กำลังพัฒนาช็อคโกแลตแบบใหม่ที่ไม่ละลายเมื่อเจอกับอากาศร้อน โลเฮีย แมชชีน ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ สกูตเตอร์ออกรถรุ่นใหม่ที่กำลังเครื่องยนต์เพียงพอต่อการใช้บรรทุกสินค้าได้เท็กซ์ล่า ซึ่งผลิตทีวีขาวดำขายคนในเมืองก็หันไปผลิตทีวีสีสดใสสำหรับชนบท

สำหรับฮินดูสถาน ลีเวอร์ก็ใช้วิธีการโปรโมชั่นด้วยการฉายหนังและการแสดงของช้าง

บนเส้นทางออกจากบอมเบย์ไปตามท้องทุ่งของ GUJARAT และ
MAHARASHITRA จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ยี่สิบปีก่อน บิลบอร์ดสองข้างทางโฆษณาสินค้าจำพวกบุหรี่ราคาถูก พัดลม จักรยาน สบู่และปุ๋ย เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นทีวีสี เครื่องบันทึกและเล่นวิดีโอ ตู้เย็นและมอเตอร์ไซค์สกูตเตอร์

อีกไม่นาน เสื้อผ้าฝีมือดีไซน์เนอร์และรีสอร์ตตากอากาศก็อาจมีสิทธิขึ้นป้ายโฆษณาได้เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.