|
วันที่รอคอยของสามชัย สตีลฯ
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สามชัย สตีลฯ ใช้เวลา 2 ปี ลงทุนโครงการผลิตท่อเหล็กขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท เริ่มเดินเครื่องทำการผลิตในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและหนีการแข่งขันด้านราคา
เดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไปถือได้ว่ามีความหมายต่อบริษัท สามชัย สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ไม่น้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มทดลองเดินเครื่องจักรในโครงการผลิตท่อเหล็กขนาดใหญ่ ที่เป็นความหวังจะช่วยสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าให้กับสามชัย สตีลฯ เพื่อหนีการแข่งขันจากผู้ผลิตท่อเหล็กที่มีอยู่กว่า 50 รายในประเทศ
สามชัย สตีลฯ เป็นผู้ผลิตท่อเหล็กรายใหญ่ของไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 ทำการผลิต และจำหน่ายท่อเหล็กเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม และเฟอร์นิเจอร์ ถึงแม้ว่าสินค้าของสามชัย สตีลฯ จะได้มาตรฐานทั้งของไทยและต่างประเทศ แต่ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีผู้ผลิตจำนวนมากทำให้สินค้ามีมาร์จินต่ำ จึงมีการมองหาหนทางที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น โดยเลือกไปที่การผลิตท่อเหล็กขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8-18 นิ้ว ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุน 950 ล้านบาท และเป็นที่มาของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2547 โดยใช้เงินจากการขายหุ้นให้ประชาชนจำนวน 300 ล้านบาท และจากเงินกู้อีก 650 ล้านบาท การก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จเรียบร้อยและเริ่มทำการผลิตในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
พัชวัฐ คุณชยางกูร รองประธานกรรมการบริหาร สามชัย สตีลฯ เล่าว่าเทคโนโลยีที่สามชัย สตีลฯ เลือกใช้เป็นของ Nakata จากญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตท่อขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ โดยปัจจุบันมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ที่สามารถทำท่อขนาดใหญ่ได้ถึง 18 นิ้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งสามชัย สตีลฯ เป็นผู้ผลิตในประเทศเพียงรายเดียวที่สามารถทำได้ในขณะนี้
รวมทั้งยังมีสัญญากับ Nakata ห้ามขายเทคโนโลยีเดียวกันนี้ให้กับผู้ผลิตรายอื่นในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ที่สามชัย สตีลฯ เริ่มเดินเครื่องอีกด้วย
ท่อเหล็กขนาดใหญ่ที่ผลิตได้จะนำไปใช้ในงานโครงสร้าง ซึ่งในประเทศไทยที่ผ่านมามีการใช้งานอยู่บ้างแล้ว แต่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด อาทิ อาคารที่จอดรถ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือแม้แต่สนามบินสุวรรณภูมิก็ใช้ท่อเหล็กขนาดใหญ่ลักษณะเดียวกับที่สามชัย สตีลฯ ทำการผลิต จำนวนถึง 30,000 ตัน
"ท่อเหล็กขนาดต่ำกว่า 8 นิ้วลงไป มีการแข่งขันรุนแรงมาก มาร์จินได้ประมาณ 5 ถึง 8% ส่วนท่อขนาดใหญ่ตอนที่เราคิดโครงการคาดว่า น่าจะได้ 30% แต่ตอนนี้ราคาเหล็กลดลงมาร์จินจะเหลือประมาณ 15% การลงทุนครั้งนี้น่าจะคืนทุนได้ภายใน 6 ปี"
ตามแผนงานที่วางไว้แต่เดิมตลาดของท่อเหล็กขนาดใหญ่ที่สามชัย สตีลฯ ผลิตขึ้นจะจำหน่ายในประเทศในสัดส่วน 90% แต่จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นและปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้โครงการต่างๆ มีการชะลอออกไปทำให้ผู้บริหารต้องปรับแผนมาส่งออกเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 20-25% จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ 8,000 ตันต่อเดือน โดยตลาดต่างประเทศที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา
ส่วนการทำตลาดในประเทศในขณะนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายมาเป็นการตั้งทีมงานขึ้นเพื่อติดต่อโดยตรงไปยังบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เช่น ไทยโคบา ยาชิ ไทยคาชิมาและซิโนไทย โดยคาดว่าจะมียอดขายท่อเหล็กขนาดใหญ่ในปีนี้ 800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายทั้งหมดภายในปีหน้า
นอกจากการผลิตท่อเหล็กขนาดใหญ่ที่เพิ่งเริ่มเดินเครื่องไปแล้ว สามชัย สตีลฯ ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ให้ความสนใจไปที่การผลิตท่อสำหรับใช้ในการขนส่งน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตต้องนำเข้าเพียงอย่างเดียว
"ตอนนี้เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตท่อส่งน้ำมัน แต่คิดว่าเราทำแน่ เพราะไม่อย่างนั้นก็เสียโอกาส ทุกวันนี้ ปตท. และโรงกลั่นต้องใช้ท่อจำนวนมากในแต่ละปีและต้องนำเข้าทั้งหมด ผู้ผลิตท่อส่งน้ำมันอย่าว่าแต่ในไทยเลย ขนาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังไม่มีเลย" พัชวัฐเล่าถึงโอกาสในอนาคตของสามชัย สตีลฯ
เขาขยายความว่าหากสามชัย สตีลฯ จะผลิตท่อส่งน้ำมันจะต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 200 ล้านบาท ในส่วนของเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพท่อเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน API หรือ American Petrolium Institute ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้มาร์จินสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้มีกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|