ดูหนังแบบเปียกปอน


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

อควาเรียมหรืออุทยานสัตว์น้ำ กลายเป็นจุดขายของหลายๆ โครงการ ทั้งในศูนย์การค้า และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ต้องหาของเล่นใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นคนดูให้รู้สึกแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง และกลับเข้ามาดูซ้ำแล้วซ้ำอีก

สยามโอเชี่ยนเวิร์ลในศูนย์การค้าสยามพารากอน ก็หยิบเอาโรงภาพยนตร์ 4 มิติ มาเรียกคนดู ซึ่งที่ผ่านมาโรงหนังแบบนี้ มีเพียงโรงหนัง 3 มิติ ที่โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ เมเจอร์ รัชโยธิน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นโรงหนังที่สร้างรายได้มากมายนัก แต่เป็นโรงหนังที่เอาไว้ให้คนพูดถึงและรับรู้ว่าบ้านเราก็มีอยู่เหมือนกัน

การดูภาพยนตร์ 3 มิติ ก็คือหนังที่ถ่ายทำด้วยเทคนิคพิเศษแตกต่างจากหนังทั่วไป แล้วนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ ที่มีระบบการฉายและจอภาพต่างจากธรรมดา และผู้ชมต้องใส่แว่นตาในการรับชม ส่วนภาพที่เห็นจะเหมือนกับตัวละครเหล่านั้นแสดงอยู่ตรงหน้า และให้ความรู้สึกว่าสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในหนังยื่นเข้ามาชิดหน้า ชิดตา เรียกความตื่นเต้นได้ไม่น้อย

แต่ภาพยนตร์ 4 มิติ ที่สยามโอเชี่ยนเวิร์ล มีความพิเศษออกไปอีกก็คือ ได้นำเก้าอี้ที่ออกแบบพิเศษมาติดตั้ง เพื่อให้เก้าอี้เหล่านี้เคลื่อนไหวสัมพันธ์กับหนังที่ฉาย โดยมีการเป่าลม ฉีดน้ำ ปล่อยกลิ่น ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ เปรียบเหมือนว่าหากในภาพยนตร์ ดาราที่แสดงตกน้ำ คนดูก็มีสิทธิ์ที่จะถูกน้ำกระเด็นใส่ หรือหากมีพายุ คนดูก็จะถูกลมพายุพัดมาสัมผัสที่ผิวหน้าได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากเก้าอี้พิเศษเท่านั้น หากไม่มีก็เหมือนกับภาพยนตร์ 3 มิติทั่วไป

หรรษา ถนอมสิงห์ ผู้จัดการทั่วไป สยามโอเชี่ยนเวิร์ล หวังว่า โรงภาพยนตร์ 4 มิติแบบนี้ จะสามารถเรียกลูกค้าให้เข้ามาในสยามโอเชี่ยนเวิร์ลได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,600 คน โดยจะขายตั๋วร่วมกับการชมสวนสัตว์น้ำในราคา 600 บาท หรือหากจะแยกซื้อเฉพาะดูภาพยนตร์ก็ราคา 290 บาท

ส่วนเทคนิคการฉายภาพยนตร์ 4 มิติ ใช้ของบริษัทซันโย (Sanyo 4D-Xventure) ซึ่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายนี้ เป็นผู้ติดตั้งจอ LCD จอพลาสม่า และจอโปรเจกเตอร์ทั้งหมดในสยามโอเชี่ยนเวิร์ล โดยการทำโรงภาพยนตร์ 4 มิติ ซันโยจะได้สิทธิใช้ชื่อ Sanyo 4D-Xventure ในสยามโอเชี่ยนเวิร์ล เป็นเวลา 5 ปี สัญญาจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2554

สำหรับภาพยนตร์ 4 มิติเรื่องแรกที่เปิดฉายก็คือ เรื่อง Prirate ความยาวประมาณ 20 นาที ส่วนการเปลี่ยนโปรแกรมหนังก็ต้องใช้เวลานานสักระยะ เพราะต้องมีการจัดเตรียมในเรื่องของเก้าอี้พิเศษให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง

นี่คือจุดอ่อนของโรงภาพยนตร์ประเภทนี้ เพราะหนังที่สร้างออกมามีน้อย และเนื้อหาก็ไม่เร้าใจหรือตื่นเต้นเท่าไรนัก โอกาสที่จะมีคนดูซ้ำก็อยู่ในระดับต่ำ และที่ผ่านมาสปอนเซอร์รายใหญ่อย่างสถาบันการเงินที่สนับสนุนโรงภาพยนตร์ 3 มิติ ก็ถอนตัวไปแล้ว

โรงภาพยนตร์ 4 มิติ ที่มีทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ครบถ้วน อาจไม่เพียงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ พวกเขาต้องการสิ่งเร้า และดึงลูกค้าให้เข้ามาบ่อยๆ ในอนาคตอาจจะได้เห็นโรงภาพยนตร์ 5 มิติ หรือ 6 มิติก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.