กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เหมือนกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพิ่งจะนึกขึ้นมาได้ว่าที่ผ่านมาได้แต่นั่งมองผู้ประกอบการคาราโอเกะเก็บเกี่ยวรายได้และผลกำไรจากธุรกิจนี้ไปไม่น้อย ทั้งๆ ที่แกรมมี่เป็นเจ้าของสิทธิ์ในเพลงที่ลูกค้าร้องกันอยู่ทุกวัน แต่กลับมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลังจากจดๆ จ้องๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว มาปีนี้แกรมมี่ก็เลยประกาศรุกเข้าสู่ธุรกิจคาราโอเกะอย่างจริงจังเสียที โดยการควบรวมกิจการระหว่างคลีน คาราโอเกะ ที่เป็นบริษัทในเครือเข้ากับกลุ่มมิวสิค พาวิลเลียน ผู้ประกอบการตู้คาราโอเกะในตลาดโมเดิร์นเทรดที่มีจำนวนตู้มากที่สุดในขณะนี้ และธัญญะ ดาวเรือง ผู้ผลิตตู้คาราโอเกะ รายใหญ่ เพื่อหวังสร้างธุรกิจ Singing Business อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

"ที่ผ่านมาแกรมมี่ผลิตเพลงขายเราได้ค่าลิขสิทธิ์ครั้งเดียว แต่ใน Singing Business ทุกครั้งที่มีการร้องเพลงเราได้ค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้ง ในบางประเทศธุรกิจนี้มีตลาดใหญ่กว่าธุรกิจเพลงจริงๆ เสียอีก" สุเมธ ดำรงชัยธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสนับสนุนกลาง และพัฒนาธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้เหตุผลถึงการเข้าสู่ธุรกิจนี้

คลีน คาราโอเกะ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท และได้มีการเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยหลังจากเพิ่มทุนสัดส่วนการถือหุ้นประกอบด้วยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 71% ทวีชัย ตรีธารทิพย์ (กลุ่มมิวสิค พาวิลเลียน) 24% และธัญญะ ดาวเรือง 5%

การร่วมหุ้นระหว่างแกรมมี่และมิวสิค พาวิลเลียน ถือเป็นการรวมจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันเพลงของแกรมมี่มีส่วนแบ่งในตลาดคาราโอเกะประมาณ 70% ขณะที่กลุ่มมิวสิค พาวิลเลียนมีตู้คาราโอเกะตั้งอยู่ในโมเดิร์นเทรด ทั้งที่เป็นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์กว่า 1,500 ตู้ทั่วประเทศ เมื่อร่วมทุนกันแล้วทำให้คลีน คาราโอเกะกลายเป็นผู้ประกอบการคาราโอเกะรายใหญ่ที่สุดในทันที

แกรมมี่วางตำแหน่งคลีน คาราโอเกะ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัวและคนรุ่นใหม่ เน้นการตกแต่งทันสมัย นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบันทึกข้อมูลการใช้เพลงของลูกค้า เพื่อความแม่นยำในการตรวจสอบการใช้งานเพลง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของเพลงอย่างถูกต้องตามการใช้งานจริง โดยนอกจากแกรมมี่แล้วขณะนี้มีค่ายเพลงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับคลีน คาราโอเกะแล้วกว่า 30 ค่ายด้วยกัน

"ที่ผ่านมาการเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นแบบเหมาจ่าย ซึ่งไม่ได้คิดตามจำนวนที่มีการใช้จริงและยังไม่สะดวกสำหรับค่ายเพลงขนาดเล็ก แต่ระบบของเราเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามการใช้งานจริง ลูกค้าร้องเพลงไหนจ่ายเพลงนั้น" ยงศักดิ์ เอกปรัชญาสกุล กรรมการผู้จัดการ คลีน คาราโอเกะกล่าว

ข้อดีอีกประการหนึ่งของระบบดังกล่าวคือ ข้อมูลเพลงทุกเพลง ที่มีการร้องจะถูกบันทึกเอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่และจำนวนครั้ง ช่วยให้แกรมมี่สามารถวิเคราะห์ความนิยมจากการออกอัลบั้มแต่ละชุดได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้สำหรับสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดเพิ่มเติม หรือแม้แต่การออกอัลบั้มชุดต่อไป

"ถ้าเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงมีการร้องกันมาก ผมก็อาจจะเอาติ๊ก ชิโร่ ไปจัดกิจกรรมร้องเพลงกับลูกค้าที่ร้านก็ได้ หรือมองว่า ได้รับความนิยมก็เตรียมการจัดคอนเสิร์ตและเตรียมตัวทำอัลบั้มชุดใหม่ได้" สุเมธกล่าวถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากการขยายสาขาที่คลีน คาราโอเกะจะดำเนินการเองแล้ว ยังเปิดรับผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจจะใช้ระบบของคลีน คาราโอเกะอีกด้วย ซึ่งแกรมมี่คาดว่าภายในปีนี้น่าจะทำรายได้จากธุรกิจนี้ถึง 100 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท ในปีหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.