"จรินทร์ รอดประเสริฐ วันนี้ กับงานฝ่ากระแสคลื่นอินทีเรียร์นอก"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

งานตกแต่งภายใน เป็นงานที่เดินเคียงคู่ไปกับการรังสรรค์โครงสร้างบ้านให้ดูโอ่โถงตระการตา หากการออกแบบและรังสรรค์ความวิจิตรเพริศแพร้วภายในบ้าน ไปคนละทางกับงานภายนอกเสียแล้ว ความใหญ่โตอลังการของบ้านก็แทบจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย

รูปแบบการตกแต่งภายในของคฤหาสน์เศรษฐีโดยทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะประยุกต์เอา วัฒนธรรมการตกแต่งภายในของชาติตะวันตกมาใช้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบหลุยส์คลาสสิค นีโอคลาสสิค หรือแม้แต่ศิลปะการตกแต่งภายในรุ่นใหม่ที่เรียกว่า NEW WAVE เข้ามาผสมผสานให้กลมกลืนกับตัวบ้าน เช่นเดียวกับศิลปะการตกแต่งภายในสมัยเหม็ง หรือเช็งของจีน ก็มีอยู่เกลื่อนกลาด

มีใครเคยคิดบ้างไหมว่าศิลปะการตกแต่งภายในของไทยเราเอง ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าต่างชาติเลย เพราะหากเราไม่เริ่มคิดในวันนี้

เราอาจจะได้เห็นศิลปะของไทยตามวัดวาอารามเท่านั้น

แต่มีมัณฑนากรระดับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่พยายามทุ่มเทและผลักดันให้ศิลปะของไทย ได้มีโอกาสเข้าไปแทรกตัวในงานตกแต่งภายในของคฤหาสน์เศรษฐีบ้าง

จรินทร์ รอดประเสริฐ คือมัณฑนากรท่านนั้น

จรินทร์ หรือ อ. จรินทร์ ของลูกศิษย์ลูกหา จบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2508 และได้เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนทางด้านมัณฑนศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่ได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเลยเพียงแต่ได้ไปดูงานเป็นครั้งคราว จรินทร์รับราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ถึง 19 ปี จึงได้ออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า สำนักงานสถาปนิกและออกแบบภายในจรินทร์ รอดประเสริฐ โดยได้ฝากผลงานอาคารและการตกแต่งคฤหาสน์เศรษฐีมากมาย

จรินทร์ได้เล่าให้ฟังถึง ความเป็นมาของรสนิยมการตกแต่งของคฤหาสน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า เมื่อย้อนหลังไปสัก 25-30 ปี จำนวนของผู้มั่งคั่งระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี มีจำนวนไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อมาถึงช่วงที่เศรษฐกิจบูมสุดขีดเช่นเดี๋ยวนี้ได้มีผู้มั่งคั่งทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย จึงมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะตกแต่งบ้านให้หรูหราขึ้นอีกระดับหนึ่ง ได้ทำให้ปริมาณงานตกแต่งที่มีความหรูหรายิ่งขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในสมัยก่อน งานที่ดูหรูหราส่วนใหญ่มักจะเป็นงานที่มีลวดลายแกะสลักเป็นตัวนำ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีวัสดุเกิดขึ้นใหม่มากมายที่จะนำมาใช้ทดแทนได้ จึงทำให้การแกะสลักขนานแท้ ลดบทบาทลงไปบ้าง แต่ทั้งของใหม่และเก่า ก็ต้องดูที่รสนิยมของเศรษฐีเองว่า ชอบแบบไหนมากกว่ากัน

เกี่ยวกับผลงานตกแต่งภายใน ที่แสดงความเป็นไทยนั้นจรินทร์ได้มีโอกาสฝากผลงานไว้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะกระแสวัฒนธรรมการตกแต่งภายในจากต่างชาตินั้นนับวันมีแต่เพิ่มขึ้น จะมีประปรายเฉพาะงานใหญ่ ๆ เพียงไม่เกินปีละ 2-3 งานเท่านั้น ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก

กระแสวัฒนธรรมการตกแต่งจากต่างชาติ ที่ อ. จรินทร์หมายถึงนั้น ได้มีผลสืบทอดมาจากการปลูกฝังด้านค่านิยมในงานสถาปนิกอาคารสมัยใหม่ ที่สถาปนิกหลายท่านที่มีชื่อเสียงในวงการ ที่พยายามรับเอาวัฒนธรรมด้านสถาปนิกทั้งแบบยุโรป หรือโรมันเข้ามาโดยไม่มีการแต่งแก้ให้มีกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่บ้าง

จรินทร์รู้สึกทอดถอนใจที่จะต้องกล่าว ถึงเรื่องเหล่านี้เพราะได้พยายามต่อต้านแนวความคิดเหล่านี้มาตลอด แต่ในที่สุดก็มีอาคารรูปแบบดังกล่าวผุดขึ้นอย่างมากมาย แม้ว่าจะมีสถาปนิกหลายท่าน ที่พยายามฝืนกระแสโดยการเสริมความเป็นไทยเข้าไปในงานของตัวเองบางจุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

"กระแสความคิดของสถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร ที่เรารับมาอย่างผิด ๆ ได้มีผลปลูกฝังให้เจ้าของอาคาร เมื่อต้องไปสร้างบ้านตัวเอง ก็เลือกเอาศิลปกรรมแบบยุโรปหรือโรมัน ไปใช้บ้างทั้งภายนอกและภายใน"

แต่จรินทร์ก็ยังหวังจะเดินหน้าผลักดันให้ผู้มีอันจะกินที่มีกำลังทรัพย์มาก ๆ หันมาสนใจงานตกแต่งภายในด้วยรูปแบบความเป็นไทยมากขึ้น เพราะคนระดับบน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการจุดประกายให้คนในสังคมทั่วไปเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัญหาและอุปสรรคในการผลักดันให้ประดาเศรษฐีสนใจงานตกแต่งภายในแบบไทยมากขึ้นนั้น อยู่ที่เจ้าของงานและผู้ออกแบบทั้ง 2 ฝ่ายมีจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เจ้าของงานอาจไม่แน่ใจว่างานที่ออกมาจะสวยเหมือนกับรูปแบบต่างชาติที่ตนคุ้นเคยหรือไม่ ในขณะที่ผู้ออกแบบก็ไม่ได้พยายามผลักดันให้เจ้าของงานหันมาสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรูปแบบงานศิลปะของไทยนั้น เนื่องจากมีลักษณะดั้งเดิมที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ไว้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก มัณฑนากรรุ่นใหม่จึงพอจะมีแนวทางพัฒนางานของตน เพื่อให้เกิดผลงานออกแบบสมัยใหม่ที่มองเห็นความเป็นไทย ในขณะที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนวัฒนธรรมตกแต่งที่มีอยู่ดาษดื่นในวงการขณะนี้ไปด้วย แต่มัณฑนากรรุ่นใหม่ ก็ยังให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก ๆ

"ผมมีความบริสุทธิ์ใจที่จะพยายามปกป้องหน้าตาของบ้านเมือง เราไม่ให้มีหน้าตาเป็นของชาติอื่นเพราะสถาปัตยกรรมคือหน้าตาของเมือง หากเราไม่ช่วยกันพิทักษ์รักษา และหวงแหนไว้ วันหนึ่งข้างหน้าเราจะสูญเสียอารยธรรมให้กับต่างชาติโดยฝีมือของคนไทยกันเอง" จรินทร์ ถอดใจพูดเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกคนไทยทั้งหลาย

แม้ว่าจะยังไม่ได้รับแรงสะท้อนในแง่เห็นด้วยกับการกระตุ้นจิตสำนึกที่ผ่านมา แต่ อ. จรินทร์ก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยได้หันไปกระตุ้นนิสิตที่กำลังศึกษาสถาปัตยกรรม ในมหาวิทยาลัย ด้วยการตั้งทุน "เพื่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่" ด้วยการใช้เงินส่วนตัวมอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อจัดประกวดการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ให้นิสิตทำขึ้นเพื่อแข่งขันภายในชั้นเรียน มีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวดทุกปี

ทางลูกค้าเศรษฐี จรินทร์ ก็ใช้วิธีการชักชวนด้วยวาจา หรือแจก บทความให้เขาไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่าจะนำไปใช้บ้านของตัวเองได้เพียงใดนอกจากนั้นแล้ว อ. จรินทร์ยังมีความฝันสูงสุดที่จะรวบรวมแนวคิดการตกแต่งภายในแบบไทยสมัยใหม่ ออกมาเป็นรูปแล่น เพื่อเป็นการเผยแพร่สู่สาธารณะ

"ตอนนี้ผมกำลังหาทุนสักก้อนหนึ่ง ประมาณ 3 ล้านบาทที่จะจัดพิมพ์แนวความคิดนี้ออกมา เพื่อเผยแพร่ให้คนในวงการ ได้มีความสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด งานแนวนี้เป็นของใหม่ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาปนิกและมัณฑนากรหลาย ๆ คน ช่วยกันคิดช่วยกันทำในมุมมองต่าง ๆ กัน หากได้ผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ ก็จะเห็นแนวทางของผลงานออกแบบไทยสมัยใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น" อ. จรินทร์กล่าวถึงความตั้งใจของตน

ก็คงต้องมาให้กำลังใจกับอินทีเรียร์ระดับอาจารย์ท่านนี้ที่จะหาญกล้าฝ่ากระแสคลื่นวัฒนธรรมตกแต่งภายในของฝรั่งต่างชาติ ที่โหมพัดเข้ามาเป็นระลอก และยังไม่มีวันจะเจือจางหายไป

และคงต้องเตือนตัวเองด้วยว่า วันนี้คุณช่วยอนุรักษ์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.