|
Profit Organization
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วันที่ 17 มีนาคม 2550 หลังรับการบริจาคเงินก้อนมหาศาลจากวิกรม มูลนิธิอมตะจะมีทุนหนาเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะขึ้นแท่นเป็นมูลนิธิระดับบุคคลอุปถัมภ์ที่มีเงินมากมายที่สุดอีกแห่ง แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้มูลนิธินี้เป็น "อมตะ" สมความตั้งใจของผู้ก่อตั้งวิกรมจึงต้องนำโมเดลธุรกิจมาจัดการอย่างเข้มข้น
"ผมไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องการรางวัลหรือสายสะพาย เราไม่ได้หว่านพืชเพื่อหวังผล" วิกรมกล่าวทันทีที่เริ่มต้นพูดมาถึงมูลนิธิอมตะ
มูลนิธิอมตะก่อตั้งเมื่อปี 2539 โดยมีวิกรมเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิด้วยทุนส่วนตัวแรกตั้งที่ 200,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งมูลนิธิ โดยนโยบายหลักของมูลนิธิฯ คือสร้างสรรค์การศึกษาให้แก่เยาวชนทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมอื่น เช่นสนับสนุนการสร้างสถานศึกษาในระดับต่างๆ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และอมตะซิตี้ เป็นต้น
ช่วงแรก กิจกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงแคบ ประกอบกับขาดการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง คนทั่วไปจึงยังไม่ค่อยรู้จัก จนกระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีการจัดประกวดศิลปกรรมระดับประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" ที่มีเงินรางวัลร่วมล้านบาทเป็นแรงจูงใจ และตั้งรางวัล "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" ที่รางวัลสูงไม่แพ้กันให้กับนักเขียนรุ่นเดอะของเมืองไทย ล่าสุดยังมีทุนการศึกษาและทุนวิจัยภายใต้ชื่อ "อมตะ จีเนียส อวอร์ด"
ด้วยเงินก้อนโตจากวิกรมเมื่อ 3 ปีก่อนอีก 100 ล้านบาท จัดสรรเป็นงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับ "อาร์ต อวอร์ด" อีก 30 ล้านบาทสำหรับ "ไรเตอร์ อวอร์ด" และ 20 ล้านบาท สำหรับ "จีเนียส อวอร์ด"
"อาร์ต อวอร์ด ผมให้ปีละ 5 ล้านบาท แล้วดูศิลปินที่ได้มาอายุ 20-30 ปี พวกนี้เขาก็ได้มีเวทีมาแสดงตน เขาก็มีกำลังใจ อีกอันคือรางวัลนักเขียน พอผมลองไปนั่งเขียนเอง รู้เลยว่างานเขียนนี่ยากมาก วันนี้เลยมาแจกเขาดีกว่าปีละ 3 ล้านบาท 10 ปี แล้ววันนี้ก็มาดูพวกอัจฉริยะที่พ่อแม่จน เรียนไปเลยถึงดอกเตอร์หรือนักวิทยาศาสตร์ ที่มีผลงานวิจัยที่ดีเป็นประโยชน์ เราก็ให้ทุนไป" วิกรมอธิบายรายละเอียดได้อย่างแม่นยำ
สำหรับโครงการที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 3
บทบาทของมูลนิธิต่อแวดวงศิลปะที่วิกรมวางไว้คือ เป็น "back-up partner" ให้แก่ศิลปิน เพราะเขารู้ปัญหาดีว่าศิลปินเก่งๆ มักไม่มีหัวธุรกิจ และบางคนอาจไม่มีเงินทุนสร้างสรรค์ผลงาน ขณะที่วิกรมมีทั้ง 2 สิ่งอย่างเหลือเฟือ มูลนิธิฯ จะจัดเงินจำนวนไม่อั้นเท่าที่จำเป็นในการสร้างผลงานให้ศิลปินคนนั้น โดยมีข้อแม้ว่าเมื่อผลงานเสร็จแล้ว ต้องยกให้มูลนิธิฯ เพื่อเอามาแสดงและก๊อบปี้ขาย หลังหักต้นทุนและค่าแรงแล้ว กำไรที่เหลือก็เอามาแบ่งกันระหว่างเจ้าของผลงานและมูลนิธิฯ ในสัดส่วนที่ตกลงกัน
"สมมุติคุณเป็นศิลปินวาดภาพ ไม่มีสตางค์เลย ผมก็บอกไม่เป็นไร คุณไปวาดเลย อยากได้กระดาษ สี วัสดุ ค่ากินค่าอยู่ เอาไปเลย เบิกไป แต่อันนี้ถือเป็นต้นทุนนะ เสร็จแล้วผมก็สร้างเวทีขึ้นมา ซึ่งก็คือ "อมตะ คาสเซิล" ซึ่งจะมีส่วนที่เป็นแกลเลอรี่โชว์ผลงาน ผมก็เอาของชิ้นนี้ตั้งไว้ สมมุติลูกค้าซื้อไป เงินที่ได้หลังจากหักต้นทุนและค่าแรงคุณไปแล้ว เป็นกำไรก็เอามาแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ตรงนี้ต่างหากที่เราเข้าไปสนับสนุน มีทุน มีเวที มีคนจัดการเรื่องธุรกิจให้ เขาก็ผลิตผลงาน แล้วเตรียมไปดัง" วิกรมอธิบายโมเดลธุรกิจของมูลนิธิฯ
หากจะเทียบไปแล้ว โมเดล "แบ่งผลกำไร" เช่นนี้ คล้ายคลึงกับระบบ "เถ้าแก่น้อย" (รายละเอียดอ่าน Think Tank ที่ไม่ทำงาน?) ที่วิกรมใช้จัดการในองค์กรอมตะ โดยมีบริษัทอมตะเป็นผู้ลงทุนทุกอย่างในบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมี "เถ้าแก่น้อย" ลงแรง พลังสติปัญญา และจิตวิญญาณ ทำงานให้ ผลกำไรที่ได้จากบริษัทลูกหลังหักค่าใช้จ่ายที่บริษัทแม่ออกและค่าแรงเถ้าแก่น้อย ก็จะนำมาแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน เช่นเดียวกันกับการแบ่งผลประโยชน์ให้ศิลปินเจ้าของภาพ
สำหรับ "อมตะ คาสเซิล" โครงการราคาพันล้านของวิกรม ขณะที่ชั้นบนจะเป็นที่พักอาศัยของตระกูลกรมดิษฐ์ ชั้นล่างถูกเปิดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ โดยแต่ละห้องในหอศิลป์จะเป็นแกลเลอรี่โชว์ภาพของศิลปินที่มูลนิธิฯ คัดเลือกมา เช่น ห้อง "อังคาร กัลยาณมิตร" โดยศิลปินและครอบครัวจะได้กรรมสิทธิ์โดยไม่เสียเงินสักบาท และหากมีรายได้จากภาพในห้องนั้น มูลนิธิฯ จะปันผลประโยชน์ให้ตามสัดส่วนที่ตกลงไว้
"ผมทำมูลนิธิให้เป็นแบบธุรกิจ เช่น ตั้งงบไว้ 50 ล้าน ให้ไปหาศิลปินมา พอเจอศิลปินก็ถามว่าจะมาลงทุนด้วยไหม ถ้าลงทุน พอมีผลิตภัณฑ์ก็ถือเป็นดอกผลของมูลนิธิอมตะ พอมีกำไรก็แบ่งกัน มันก็ดีกับศิลปินและมูลนิธิ"
วิกรมอธิบายแนวทางการขายภาพ ณ หอศิลป์ของเขาว่า จะเป็นการขายภาพเลียนแบบผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่โดยศิลปินรุ่นเล็ก ภาพต้นฉบับจึงจะคงอยู่คู่หอศิลป์ ซึ่งยิ่งเพิ่มคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป หรือศิลปินท่านนั้นลาลับโลกไป และที่สำคัญคือจะกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนในวงการศิลปะแห่กันมาชม
"ตอนนี้เรามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องยุคทางศิลปะของเมืองไทย เพราะพอมีของเราก็ขาย พอศิลปินตาย เราก็ไม่มีผลงานของเขาเลย ศิลปะก็เลยขาดช่วง"
หากหอศิลป์แห่งนี้สามารถรวบรวมผลงานของศิลปินแห่งชาติ และศิลปินดาวรุ่ง ซึ่งมี "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" เป็นหน่วยค้นหาศิลปินเก่งๆ มาได้เป็นจำนวนมากย่อมทำให้ "อมตะ คาสเซิล" สุดหรูกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีที่จะคลาคล่ำด้วยนักสะสม นักศึกษา และผู้ชื่นชมงานอาร์ต ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ที่แวะเวียนเข้าไปชมและชอปภาพก๊อบอย่างไม่ขาดสาย
นอกจากนี้วิกรมยังเตรียมมองหาธุรกิจสืบเนื่องขึ้นมารองรับพฤติกรรมของนักชอปนักเที่ยวที่จะแวะมา เช่นธุรกิจออกแบบที่จะช่วยจัดวางศิลปวัตถุหรือจิตรกรรมที่ลูกค้าซื้อให้เหมือนดิสเพลย์ หรือธุรกิจฟังก์ชันแบบโรงแรมคอยให้บริการลูกค้า
"คุณรู้ไหมมูลนิธิคึกฤทธิ์ฯ กับมูลนิธิจิม ทอมป์สัน ต่างกันตรงไหน ต่างกันที่มูลนิธิคึกฤทธิ์ฯ ทำแบบไม่มีธุรกิจเลย แล้ววันนี้เป็นยังไง แต่มูลนิธิจิม ทอมป์สัน ขายผ้า ขายของ ขายอาหาร ขายตั๋ว อะไรขายได้ก็ขาย อย่างนี้อีกสิบชาติก็อยู่ได้ เพราะมีระบบ (เศรษฐกิจ) ที่ดี วันนี้ทุกอย่างในโลกต้องมีระบบ (เศรษฐกิจ) อย่าไปบอกว่าใจบุญ มันหมดยุค ความต่อเนื่องมันต้องอยู่ที่เศรษฐกิจด้วย" วิกรมสรุปหนักแน่น
ในวันเกิดปีหน้า วิกรมจะถ่ายโอนหุ้นทั้งหมดในอมตะของเขาที่มีมูลค่าร่วม 5 พันล้านบาท ให้เป็น "แบ็ก-อัพ" ที่มั่นคง เพื่อสร้างการเติบโตแบบเป็นเอกเทศให้กับมูลนิธิฯ ซึ่งทุกวันนี้การตัดสินใจต่างๆ ยังขึ้นอยู่กับเจ้าของเงินทุนคนนี้เพียงคนเดียว
"ทุกอย่างมันสร้างมาจากเงินส่วนตัวผม พอไปถึงจุดหนึ่ง ทุกอย่างต้องสานต่อให้มันไปด้วยตัวมันเองเหมือนบริษัทผม ต่อไปมูลนิธิฯ ก็ต้องเปลี่ยนเป็น NGO นี่คือคอนเซ็ปต์ที่ผมจะต้องสร้าง เพราะคนเราอยู่ไม่นาน แต่พอตายไป ความเป็นองค์กรต่างหากที่ต้องทำให้อยู่เป็น "อมตะ"
กว่าจะถึงวันนั้น วิกรมก็ยังคงจะต้องดูแลและตัดสินใจด้วยตัวเอง... อีกสักพัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|