Great Image Creator

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

จากลูกที่เคยเกือบจะยิงพ่อ จากเพลย์บอยหาตัวจับยาก วันนี้ภาพลักษณ์ใหม่ในสังคมของวิกรมคือ นักบริหารผู้มีวิสัยทัศน์ที่มักได้รับเชิญให้แสดง "วิชั่น" ผ่านสื่อหลายแขนง และนักบุญผู้คอยสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส

ภาพหลังจะยิ่งชัดเจนขึ้นมาก เมื่อจู่ๆ เขาก็ประกาศว่าจะยกหุ้นของอมตะที่ถืออยู่ในนามของเขาทั้งหมดมูลค่าร่วม 5 พันล้านบาท ให้กับมูลนิธิอมตะเมื่อถึงวันเกิดของเขาในปีหน้า

หากมอง "วิกรม" เป็นแบรนด์ ภาพลักษณ์ที่สังคมยอมรับในวันนี้ย่อมต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนในการสร้างขึ้นมา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว "มูลนิธิอมตะ" ก่อตั้งขึ้นโดยมีวิกรมเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ ด้วยทุนส่วนตัวตั้งต้นที่ 200,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งมูลนิธิ พร้อมกับที่ดินใน "อมตะนคร" ที่ชลบุรี โดยมีคำขวัญว่า "ผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน" ซึ่งหมายรวมถึงผู้ก่อตั้งด้วย (รายละเอียดอ่าน "มูลนิธิอมตะ : Profit Organization")

เนื่องจากทำเลของมูลนิธิฯ ที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ที่ชลบุรี และเนื้อหาส่วนหนึ่งยังมุ่งเน้นกิจกรรมภายในนิคม เช่น การสร้างสถานศึกษา การให้ทุนการศึกษาเด็กในนิคม เป็นต้น ประกอบกับยังขาดการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ชื่อมูลนิธิจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กระทั่งมีโครงการ ประกวดศิลปกรรม ชื่อ "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" ในปี 2547 ซึ่งเป็นกิจกรรมของศิลปินทุกกลุ่ม ทุกระดับอายุ ทั่วประเทศ และที่เรียกความสนใจได้ดีก็คือ เงินรางวัลเรือนล้าน (ซึ่งมีไม่กี่เวทีประกวดในแวดวงศิลปะที่แรงจูงใจสูงขนาดนี้)

นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีโครงการ "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" เพื่อสนับสนุนนักเขียนอาวุโส ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยภายใต้ชื่อโครงการ "อมตะ จีเนียส อวอร์ด"

การควักกระเป๋าส่วนตัวร่วม 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ในมูลนิธิฯ ไม่เพียงทำให้ภาพ "ผู้เสียสละ" ของวิกรมชัดเจน ขณะเดียวกันยังช่วยเสริมสร้างภาพความเป็นผู้เข้าใจหรือผู้เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ ของเขาให้โดดเด่นขึ้นมา เช่น

ในงานเปิดนิทรรศการอมตะ "อาร์ต อวอร์ด สัญจร 2548" ชวน หลีกภัย ประธานในพิธี ได้กล่าวไว้ว่า "ในวงการของนักธุรกิจไทยบ้านเรา มักมองศิลปะเป็นเพียงเครื่องประดับ เพียงเพื่อ แสดงว่ามีเงินจะซื้อศิลปะชิ้นนั้น แต่คนที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงศิลปะถึงขั้นสนับสนุนเช่นนี้มีไม่มากนัก ใครที่เข้าใจ มีความรัก มีจิตใจ มีสายตาที่มีสุนทรียภาพ ผมเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตท่านมีคุณค่า"

หลังจากนั้นในปี 2547 ภาพ "ผู้ชำระบาป" ที่มาพร้อมกับภาพ "ผู้บูชายัญชีวิตตัวเอง" ที่วิกรมสร้างขึ้นพร้อมกับการออกหนังสือที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง ภายใต้ชื่อ "ผมจะเป็นคนดี" กลายเป็นที่ฮือฮา โดยมีผู้ช่วยตรวจทานต้นฉบับเป็นถึงนักเขียนใหญ่ "ประภัสสร เสวิกุล" หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการ "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" และมีมูลนิธิ อมตะเป็นผู้จัดพิมพ์และจัดการเผยแพร่ออกสู่ตลาด ก่อนครบรอบ 52 ปี เพียง 3 วัน

เมื่อถามว่าต้องการสื่อสารอะไรกับสังคม สิ่งที่วิกรมตอบก็คือ "ความถูกต้อง ความมีเหตุและผลของสังคม เพราะว่าสังคมเราเป็นสังคมกึ่งๆ อีแอบ สิ่งที่เราไม่อยากจะบอกใครเก็บไว้ที่บ้านเพราะอาย ผมอยากให้เปิดเผยแล้วนำไปสู่การปรับปรุง และอยากจะสื่อว่าผมมาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ก็พยายามทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปได้"

แม้ภาพที่วิกรมขายคือความเป็นนักสู้ที่ดิ้นรนเพื่อความถูกต้องและความสำเร็จ แต่สิ่งที่รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ซื้อต่างก็เป็นประเด็นเดียวกันคือ "นักธุรกิจเจ้าของอมตะนคร ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เคยเกือบจะยิงพ่อของตัวเอง"

"มีผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไหนบ้างในประเทศไทยที่จะมาเขียนเล่าว่าเคยจะเอาปืนไปยิงพ่อตัวเอง ไม่มีหรอก พอหนังสือออกมาหุ้นร่วงเลย เห็นผลทันตา (หัวเราะ) เพราะอะไร อย่างเหรียญมี 2 ด้าน คนไทยชอบเอาด้านหัวออก หมกด้านก้อยไว้ที่บ้าน แต่ผมนี่เปิดหมดทั้ง 2 ด้าน"

ช่วงแรกๆ อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" มียอดแจกพอๆ หรือมากกว่ายอดขาย เนื่องจากมูลนิธิฯ ได้ทำตามเจตนารมณ์ของวิกรมในการเผยแพร่จัดส่งหนังสือเล่มนี้ไปยังเรือนจำ ห้องสมุดในสถานศึกษา และห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ โดยจะครบทุกห้องสมุดก่อนครึ่งปีหน้า ซึ่งตั้ง งบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวถึง 100 ล้านบาท

"ผมทำหนังสือเล่มนั้นเป้าหมายเพื่อทำให้นักโทษ เมืองไทยมีนักโทษแสนกว่าคน ผมมอบให้เขาไป 3 หมื่นเล่ม เพื่ออะไร "ผมจะเป็นคนดี" นักโทษ ที่เข้าคุกก็บำบัดได้แค่เรื่องร่างกาย แต่จิตใจไม่ได้บำบัด อันนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของผมเพราะผมถือว่านักโทษคือภาระของสังคม อีกอันคือเด็ก ผมให้กระทรวงศึกษาฯ ไป 7 หมื่นเล่ม เพราะเด็กคืออนาคตของเรา นั่นก็คือจัดการกับปัญหาและดูแลอนาคต"

อานิสงส์ของการโปรโมตด้วยวิธีการต่างๆ "ผมจะเป็นคนดี" ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มอีก 7 หมื่นเล่ม

เรื่องราวในมุมส่วนตัวเป็นที่รู้จักผ่านสื่อเพียงไม่นาน วิกรมก็ได้รับบทบาทใหม่ทางสังคม คือ การเป็นนักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ที่ชื่อ "CEO Vision" ออกอากาศที่คลื่น FM 96.5 ที่เดิมออกอากาศเพียง 2 วัน แต่ด้วยความฮอตฮิตติดชาร์ต ซึ่งเขาเชื่อว่าความฮอตของเขา ไม่เกินอันดับ 2 ในบรรดาเหล่านักจัดของ "คลื่นความคิด" นี้ ครั้นแฟนรายการเรียกร้องมากๆ เขาจึงได้เพิ่มรายการ CEO Clinic มาอีก 1 วัน

"แฟนรายการของผมเยอะ เหลือเชื่อจริงๆ เขานึกว่าผมเป็นคนแสนรู้ จริงๆ ไม่ใช่หรอก ผมมีทีมงาน 8 คนจบปริญญาโท ผมก็วางแผนว่า ถ้าต้องทำรายการนี้มีเป้าหมายอย่างไร CEO โลกมีทั้งหมดกี่ร้อยคน ตั้งไปเลยอาทิตย์ละคน แล้วองค์สุดท้ายคือพระพุทธเจ้า พูดไปได้กี่ปี นี่ก็คือเป้า จากนั้นก็มาย่อยว่าจะพูดใครถึงใคร พอได้แล้วผมก็เทรนการหาข้อมูลให้ทีมงาน แล้วเขาก็ไปหาข้อมูลวัตถุดิบมาให้ พอได้ข้อมูลมาปึกหนึ่ง เราก็มาย่อยแล้วก็เขียนด้วยลายมือ เขียนจากความรู้สึกว่าเราเข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็กลายเป็น speech"

วิกรมบรรยายกระบวนการทำงานในฐานะ Visionary CEO ซึ่งห้องออกอากาศของวิกรม หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง คือในห้องนอนบนชั้น 6 อาคารกรมดิษฐ์ ซึ่งมีเพียงโน้ตบุ๊ก สคริปต์ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเองบนกระดาษประทับตรา "For Vikrom Kromdit Only" โทรศัพท์บ้านและ headset

สถานที่ออกอากาศอีกแห่งก็คือ แพวิเวกกลางบึงบัว ติดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ยกเว้นโทรศัพท์บ้านที่เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ และยังต้องมีดาวเทียม IP Star เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารไร้สาย

ข้อมูลในสคริปต์ที่ออกอากาศจะถูกส่ง ต่อไปยังเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อพิมพ์และจัดส่งไปให้ยังหนังสือพิมพ์ที่วิกรมเป็นคอลัมนิสต์ พร้อมด้วยรูปภาพ ปัจจุบันเขาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ถึง 3 ฉบับคือ โพสต์ ทูเดย์, มติชน และคมชัดลึก ขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวยังจะถูกแปลงเป็นไฟล์ PDF และนำไปโพสต์อยู่ในเว็บไซต์ส่วนตัวของวิกรมคือ www.vikrom.net

ส่วนหนึ่งถูกรวบรวมเป็นหนังสือ "มองโลกแบบวิกรม" วางแผงเมื่อเดือนมีนาคม 2548

ขณะนี้วิกรมยังเตรียมตัวจะนำเสนอหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองออกมาอีก 4 เล่ม ประกอบด้วยเรื่องในวัยเด็ก (ความบีบคั้นในวัยเด็ก) เรื่องธุรกิจ (ความเป็นนักต่อสู้) เรื่องผู้หญิง (ความเป็นเพลย์บอย) และเรื่องเกี่ยวกับความฝันทั้งหลายของเขา (ความเป็นนักล่าฝัน)

"อันนี้คือทรัพย์สินที่อยากจะถ่ายทอดให้กับสังคม" วิกรมบอก

ณ วันนี้ วิกรมได้รับการยอมรับจากสังคมในหลายๆ สถานภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ดีก็คือ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ นักเขียน นักจัดรายการ นักสงเคราะห์ทางด้านศิลปะและการศึกษา (ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิอมตะ) ฯลฯ หรือในแง่ลบ เช่น เพลย์บอย นักเพ้อฝัน (จนหลายคนมองว่าเพี้ยน) ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็น (สถาน) ภาพใด ล้วนเป็นภาพที่เป็นไปในแนวทางและปริมาณที่เขาควบคุมได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดจากภาพลักษณ์เหล่านั้นได้เกือบทั้งหมด ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า เมื่ออีกมิติหนึ่งของวิกรมคือ "อมตะ" ประโยชน์ย่อมตกไปถึงองค์กรด้วยเช่นกัน

ตามกำหนดการ วิกรมจะบริจาคเงินร่วม 5 พันล้านบาท ซึ่งก็คือหุ้นอมตะทั้งหมดที่ถือในนามของเขาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับมูลนิธิฯ ในวันที่เขาครบรอบอายุ 55 ปี

"พวกคุณเคยได้ยินใครบริจาคเงินห้าพันล้านบาทให้กับมูลนิธิอะไรในเมืองไทยบ้างไหม" วิกรมถาม

"สุดท้ายในชีวิตผม จะไม่มีทรัพย์สินอะไรเหลือแม้แต่หนึ่งชิ้น มีแค่เสื้อ รองเท้า กางเกง ผมไม่ค่อยมีอะไรอยู่แล้ว เพราะอันนั้นมันไม่ใช่ของเรา"

ปรัชญาของมูลนิธิฯ ข้อหนึ่งที่วิกรมมักนำมาพูดอยู่เสมอคือ "คนเราเกิดมาจากศูนย์ และจากไปสู่ศูนย์" และดูเหมือนว่าเขากำลังพยายามทำให้สังคมเห็นและเชื่ออย่างนั้นจริงๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.