|

จากรากเหง้า สู่อนาคต
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ห้องทำงานใหม่ของเขาอีกห้องหนึ่งอยู่ที่ชั้น 9 สำนักพหลโยธิน อาคารนี้เคยเป็นสำนักงานใหญ่ยุคก่อนหน้า ซึ่งเขาถือเป็นยุคความเจริญรุ่งเรืองของธนาคารกสิกรไทย ขณะที่อาคารสำนักงานใหญ่ปัจจุบันอยู่ในยุคของการแก้ปัญหา
"ในทางฮวงจุ้ยถือเป็นการประสานพลัง ฝั่งโน้นเก่งทางด้านกู้ไม่ให้ล่ม ทางนี้ทำมาค้าขึ้น" บัณฑูรซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความเชื่อในศาสตร์ตะวันออกมากคนหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงที่มาของที่ทำงานแห่งใหม่ ซึ่งเพิ่งทำเสร็จไม่ถึงเดือนมานี้เอง
ห้องทำงานของเขาห้องนี้ถือว่าว่าต้องตามตำราอย่างมาก เป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส เก้าอี้ของเขานั่งในตำแหน่งหัวมังกร ทั้งนี้ด้านหน้าสำนักงาน ก็มีการปรับภูมิทัศน์พอสมควรเพื่อให้เข้ากับฮวงจุ้ย
ที่สำคัญห้องทำงานนี้ตกแต่งด้วยสไตล์จีนเต็มรูปแบบ ทั้งห้องเต็มไปด้วยภาพวาดหรือป้ายคำขวัญภาษาจีน แม้ว่าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง จะไม่ใช่ของเก่า แต่ก็สไตล์เก่าทั้งสิ้น ส่วนใหญ่สั่งทำที่เมืองไทย จะมีเพียงโต๊ะทำงานเท่านั้นที่นำเข้ามาจากจีน
บัณฑูร ล่ำซำ มักใช้สัญลักษณ์สื่อความเสมอ เรื่องนี้ก็คงเช่นดียวกัน
ในความเป็นจริงของธนาคารกสิกรไทย แม้ว่าขณะนี้จะมีตระกูลล่ำซำถือหุ้นไม่ถึง 10% แต่ประวัติศาสตร์ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเลต้นตระกูลนี้อพยพมายังแผ่นดินไทย ย้อนกลับไปประมาณ 150 ปี ประวัติศาสตร์ธุรกิจของล่ำซำมีพัฒนาการที่น่าสนใจและดูเชื่อมโยงกับปัจจุบัน
ยุคที่ 1 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1) ต้นตระกูลล่ำซำสร้างรากฐานธุรกิจจากค้าไม้สัก กิจการโรงเลื่อย โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวยุโรปในยุคอาณานิคม
ยุคที่ 2 (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่สอง) ขยายการค้าสู่โรงสี ค้าและส่งออกข้าว โดยร่วมกับชาวยุโรปในช่วงแรกเมื่ออาณานิคมเสื่อมก็หันมาร่วมมือกับเครือข่ายในเอเชียอาคเนย์มากขึ้น ขยายกิจการอย่างกว้างขวางตั้งสาขาทั้งในสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของธุรกิจตระกูลล่ำซำก็ว่าได้
ยุคที่ 3 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ยุคธนาคารกสิกรไทย และเครือข่ายธุรกิจเริ่มต้น
ยุคที่ 4 (สงครามเวียดนาม-หลังสงครามเย็น) ธนาคารกสิกรไทย และเครือข่ายขยายตัวด้วยการร่วมมือกับธุรกิจตะวันตกเป็นบุคลิกสำคัญ
จากภาพกว้างๆ นี้ ธุรกิจตระกูลล่ำซำไม่มีความสัมพันธ์กับแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษมาอย่างน้อยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงวันนี้นับเป็นเวลาถึง 60 ปีเต็ม อาจพูดได้เต็มปากว่า รุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่มีชีวิตที่แตกต่างจากรุ่นที่ 1 และ 2 อย่างสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจที่บัณฑูร ล่ำซำ บอกว่า แผนการเกี่ยวกับจีนสร้างความวิตกกังวลต่อกรรมการธนาคารไม่น้อย "เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการมองด้วยความสะพรึงกลัว สะพรึงกลัวว่าผมจะพาแบงก์ไปโดนกินโต๊ะ" การเดินทางไปจีนครั้งหลังๆ ของเขาจึงมีประธานกรรมการ (บรรยงค์ ล่ำซำ) ร่วมเดินทางไปด้วย
การเริ่มต้นสร้างเครือข่ายใหม่ของบัณฑูร ล่ำซำ แม้จะได้ชื่อว่ามีเชื้อสายจีน ย่อมมิใช่เรื่องง่ายเลย การทุ่มเทของเขาในเรื่องนี้สำคัญและยิ่งใหญ่อย่างไร คงต้องอ่านความเห็นของเขาในเรื่องนี้ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจน
"ไทยไปจีนส่วนใหญ่ก็ไปโดนกิน คนไปโดนกินกลับมา เขาไม่โม้หรอก เขากินแล้วกลับมาเงียบๆ เขาไม่พูดอะไรหรอก แต่มีแล้วก็มีเยอะด้วย ที่ไปสำเร็จมีไม่กี่คน อย่าไปยกเอาแบงก์กรุงเทพ อย่าไปยกเอา ซี.พี. พวกนี้เขาวางรากมายาวนาน พวกโผล่ไปก็โดนกินเรียบกันทั้งนั้น ที่ว่าแน่ๆ ในเมืองไทย ก็โดนกินเรียบมาทั้งนั้น หนึ่ง ส่วนใหญ่ก็ไปเจอคนไม่ดี เจอพาร์ตเนอร์ไม่ดี เสร็จ สองต่อให้ไม่ถึงกับเจอ โดนพาร์ตเนอร์โกงเข้าไป จีนเอาเข้าจริงก็ไม่หมูหรอก เขี้ยวจะตายไป จีนเข้มในเชิงการค้ามากกว่าคนไทยเยอะ"
แรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ของธนาคารกสิกรไทย มาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ว่าด้วยอนาคตของธนาคารพาณิชย์ไทยในยุคการค้าเสรี แต่อีกนัยหนึ่งอาจจะแรงขับดันภายในมาจากประวัติศาสตร์ มาจากรากเหง้าตระกูลล่ำซำ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นภารกิจและเป็นเดิมพันยิ่งใหญ่ที่ตกอยู่บนบ่าบัณฑูร ล่ำซำ ไม่อาจจะให้ใครมาทำแทนได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|