TFEX เริ่มมาร์เกตเมกเกอร์ 18 ก.ย. "เกศรา" ย้ำปีนี้ไม่เพิ่มสินค้า-คงเป้า 1,000 สัญญา/วัน


ผู้จัดการรายวัน(29 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดอนุพันธ์ อนุมัติให้ 3 โบรกฯ "ภัทร-ฟิลลิป-เคจีไอ" เป็นมาร์เก็ตเมกเกอร์ เริ่มเปิดดำเนินการ 18 ก.ย.นี้ พร้อมรับสมาชิกใหม่อีก 3 ราย เริ่มซื้อขาย 4 ก.ย. “เกศรา” เผย ปีนี้ไม่เพิ่มสินค้าใหม่ –ยังคงเป้าปริมาณการซื้อขายปีนี้ 1 พันสัญญาต่อวัน

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เปิดเผยว่า ตลาดอนุพันธ์จะเปิดให้ผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เก็ตเมกเกอร์) เริ่มดำเนินการในวันที่ 18 กันยายนนี้ โดยขณะนี้ตลาดอนุพันธ์ได้มีการส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานไปทางบริษัทสมาชิกที่ยื่นความจำนงจะเป็นมาร์เกตเมกเกอร์ตอบรับ ซึ่งเบื้องตนบริษัทที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการจำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA, บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย), บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI ซึ่งก่อนหน้านี้ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST มีความสนใจที่จะเป็นมาร์เกตเมกเกอร์ แต่ ก.ล.ต.ยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการ

สำหรับเงื่อนไขในการทำหน้าที่นั้นจะต้องมีการส่งคำสั่งครั้งละ 5 สัญญา ซึ่งความห่างของการส่งคำสั่งซื้อขายนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุสัญญา โดยผลตอบแทนที่ผู้ทำหน้าที่เป็นมาร์เกตเมกเกอร์จะได้รับคือ การได้รับยกเว้นการจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ตลาดอนุพันธ์ในการซื้อขายจำนวน 50 บาทต่อสัญญา และจะต้องมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 60% ของเวลาในการซื้อขาย

นางเกศรา กล่าวว่า จากการมีมาร์เกตเมกเกอร์ การเปิดให้ซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต และการรับสมาชิกใหม่อีก 3 ราย ก็จะทำให้มูลค่าซื้อขาย และปริมาณการซื้อขายสัญญาอายุยาวมีการซื้อขายมากขึ้น แต่ยังคงเป้าปริมาณการซื้อขายปีนี้ที่ 1,000 สัญญาต่อวัน ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 600 สัญญาต่อวัน หากมีการปรับน่าจะเป็นในปีหน้าซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตามในปีนี้ตลาดอนุพันธ์ยังไม่มีการเพิ่มสินค้าใหม่ เนื่องจากการที่จะมีสินค้าใหม่นั้นจะต้องให้ผู้เขียนโปรแกรม (เวนเดอร์) มีความพร้อมในการดำเนินงาน รวมถึงบริษัทสมาชิกต้องมีความพร้อมก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ในปีหน้า โดยจะเป็นออฟชั่น โดยขณะนี้ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ประเทศเกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงใช้กับประเทศไทย

นอกจากนี้คณะกรรมการตลาดอนุพันธ์ อนุมัติรับสมาชิกเพิ่มอีก 3 ราย คือ บล.บีที, บล.เกียรตินาคิน, บล.นครหลวงไทย โดยจะเริ่มเปิดซื้อขายตั้งแต่ 4 กันยายนนี้ โดยทั้ง 3 รายได้ผ่านการพิจารณาความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ตลาดอนุพันธ์และสำนักหักบัญชีกำหนด แต่จะต้องมีการทดสอบความพร้อมของระบบงานซื้อขายร่วมกับ ตลาดอนุพันธ์ และสำนักหักบัญชี

รวมถึงจะต้องได้รับการทดสอบและอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย ซึ่งตลาดอนุพันธ์มั่นใจว่าสมาชิกทั้ง 3 ราย มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยการรับสมาชิกเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้กันยายนี้มีบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มเป็น 23 แห่ง

สำหรับอีก 2 บริษัทที่ยังไม่พร้อมในการเปิดซื้อขายอนุพันธ์ คือ บล.ไซรัส และบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ยังไม่อนุญาตเปิดดำเนินงานธุรกิจ เพราะ ก.ล.ต.ต้องมีการเข้าไปตรวจสอบระบบ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.