โครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในกรุงเทพ ของเทเลคอมเอเซีย ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ธรรมดา
!! ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุดของโลก และด้วยสายตาที่ยาวไกลมองทะลุถึงความหมายของธุรกิจการสื่อสารในโลกปัจจุบัน
โครงข่าย 2 ล้านเลขหมายคือ อิเล็คโทรนิคส์ ซุปเปอร์ไฮเวย์ที่ไม่เพียงแต่จะปฏิวัติโฉมหน้าการติดต่อสื่อสาร
และวิถีชีวิตของผู้คน หากแต่ยังทำให้ซีพีขยายแสนยานุภาพเข้าไปในธุรกิจที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของโลกวันนี้และวันหน้าด้วย
เพราะปากทางเข้าสู่อิเล็คโทรนิคส์ ไฮเวย์สายนี้ มีเจ้าถิ่นชื่อเทเลคอมเอเซียยืนคุมอยู่
!!!
"โดยสรุป ผลจากความพยายามในการทบทวนโครงการ 3 ล้านเลขหมายของนายอานันท์
ซึ่งได้กลายมาเป็นโครงการ 2 ล้านเลขหมาย และ 1 ล้านเลขหมายทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น
2 แสนล้านบาท จากโครงการ 1 ล้านเลขหมาย และอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จากโครงการ
2 ล้านเลขหมายรวมเป็น 3 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 25 ปีของโครงการ ซึ่งเทียบเท่ากับรายจ่ายของรัฐบาลทั้งปีใน
2533 ที่รัฐบาลชุดก่อนนายอานันท์ได้จัดทำร่างสัญญา 3 ล้านเลขหมายไว้
นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ที่มิอาจคำนึงเป็นตัวเงินเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการป้องกันการผูกขาดกิจการโทรศัพท์
โดยเอกชนรายหนึ่งรายใด"
ข้อความข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาสาระใน "บันทึกช่วยจำ เรื่องโครงการโทรศัพท์
3 ล้าน 2 ล้านและ 1 ล้านเลขหมาย" ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกลุ่ม "เพื่อนอานันท์"
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2536
จุดมุ่งหมายสำคัญของการทบทวนสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายของรัฐบาลนายอานันท์
ปันยารชุน เมื่อกลางปี 2534 นั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทซีพี เทเลคอม
ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเทเลคอมเอเชียหรือ ทีเอ. เป็นผู้ผูกขาดกิจการโทรศัพท์แต่เพียงผู้เดียว
โดยลดขนาดโครงการลงจาก 3 ล้านเลขหมายเหลือเพียง 2 ล้านเลขหมาย และจำกัดสิทธิของซีพีในการเข้าประมูลรับสัมปทานการติดตั้งโทรศัพท์ในเขตนครหลวง
จนกว่าองค์การโทรศัพท์จะอนุมัติให้ผู้อื่นดำเนินการอีก 2 ล้านเลขหมายใหม่แล้ว
และห้ามเข้าประมูลในเขตภูมิภาค จนกว่าจะติดตั้งในเขตนครหลวงครบ 2 ล้านเลขหมาย
เป้าหมายหลักอีกประการหนึ่งของการเจรจาต่อรองครั้งประวัติศาสตร์ที่นายกอานันท์
ปันยารชุนต้องกระโดดลงมาเผชิญหน้ากับธนินท์ เจียรวนนท์ในการประชุมแบบมาราธอนที่ทำเนียบรัฐบาลในครั้งนั้นก็คือ
ผลประโยชน์ที่ซีพีจะต้องแบ่งให้รัฐบาลจากเดิม ที่รัฐจะไม่ได้รับกำไรส่วนเกินใด
ๆ ทั้งสิ้นแก้ไขใหม่ให้บริษัทต้องแบ่งกำไรส่วนที่เกินร้อยละ 16 ให้รัฐ 30%
และส่วนที่เกินร้อยละ 20 จะแบ่งให้อีก 60%
จาก 3 ล้านเลขหมายหดลงไปเหลือ 2 ล้านเลขหมาย เงินกำไรส่วนเกินที่จะเข้าพกเข้าห่อเต็มร้อยก็ต้องเจียดแบ่งให้รัฐบาล
แถมยังถูกคุมกำเนิดชั่วคราวไม่ให้มีโอกาสประมูลโครงการใหม่ได้อย่างเสรีหลังจากเจรจาสิ้นสุดลง
จึงดูเหมือนว่าฤกษ์ตกฟากของซีพีในธุรกิจสื่อสารช่างไม่เกื้อกูลต่อวิถีชีวิตในวันข้างหน้าเอาเสียเลย
แต่ซีพีก็คือซีพี ที่ไม่เคยมองอะไรชั้นเดียวสั้น ๆ ง่าย ๆ คนที่สร้างอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาณาจักรหนึ่งจากร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชเล็ก
ๆ ย่านทรงวาดของปู่อย่างธนินท์ ย่อมต้องมองกว้างไกลลึกและยืดหยุ่นต่อทุกสถานการณ์
ไม่มีใครรู้ว่า นอกจากรายได้จากการเป็นผู้ติดตั้งและให้บริการโทรศัพท์
และการลงทุนในโรงงานผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน เพื่อซัพพลายให้กับโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมายแล้ว ธนินทร์คิดอะไรอยู่ ???
"เรื่องนี้ เราก็ดูกันอยู่ ยอมรับว่าเคยคิดก่อนมีการประมูล แต่หนทางที่จะเป็นไปได้น้อยมากโอกาสต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นตอนหลังเอื้ออำนวย เราจึงโอเค" วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการเทเลคอมเอเซีย
และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเทเลคอม โฮลดิ้งกล่าว
วัลลภจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แคลิฟอร์เนีย
สหรัฐอเมริกาก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับซีพี เขาคือผู้อำนวยการสำนักวางแผนและปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ปี 2527 เป็นปีแรกที่มาทำงานกับซีพีในตำแหน่ง ผู้จัดการสำนักจัดการระบบคอมพิวเตอร์
เครือเจริญโภคภัณฑ์ เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในโครงการธุรกิจโทรคมนาคม
ของซีพีโดยมีฐานะเป็นผู้ช่วยผู้ประสานโครงการ ด้านวิศวกรรม
ตัวผู้ประสานโครงการคือ เฉลียว สุวรรณกิตติซึ่งมักจะเล่นบทผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่
ๆ ของซีพี
"เรื่องนี้" ของวัลลภก็คือ การเข้าไปสู่ธุรกิจการโทรคมนาคมสื่อสารของซีพี
ส่วน "โอกาส" ที่เขาพูดถึงก็คือ นโยบายของรัฐบาลชุดพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทางอ้อมด้วยการให้เอกชนเข้ามาลงทุน-บริหาร-เก็บผลประโยชน์ในโครงการสาธารณูปโภคใหญ่
ๆ ตามแนวความคิด BTO (BUILD-TRANSFER-OPERATE)
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจไทยมาถึงจุดที่เติบโตสูงสุด ความต้องการบริการด้านการโทรคมนาคมสื่อสาร
มีมากจนน่าจะคุ้มต่อการลงทุนของเอกชน หากรัฐเปิดช่องให้ทำ
"โอกาส" ที่สำคัญมากที่สุดคือ เทคนิคที่ผู้ลงทุนจะต้องนำมาใช้วางโครงข่ายในโครงการนี้ต้องเป็นเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยที่สุด
นั่นคือเทคโนโลยี่ใยแก้วนำแสง (OPTICLE FIBER CABLE) และระบบดิจิตอล
เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงทำจากแก้วบริสุทธิ์ ซึ่งมีความใสขนาดที่นำมาวางเรียงซ้อนกันเป็นแผ่นหนา
110 กิโลเมตรแล้ว ก็ยังสามารถมองทะลุได้เหมือนมองผ่านบานกระจกหน้าต่าง เส้นใยแก้วแต่ละเส้นที่ร้อยรัดกันเป็นสายเคเบิ้ลหนึ่งสาย
มีขนาดเท่ากับเส้นผมมีสมรรถนะในการส่งผ่านข้อมูลได้เป็นหนึ่งพันเท่าของประสิทธิภาพคลื่นวิทยุ
ถ้าใช้สำหรับโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ใช้แถบความถี่ไปเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ยังเหลืออีก 98 เปอร์เซ็นต์ที่จะนำไปใช้ส่งสัญญาณรูปแบบอื่น ๆ ได้
สัญญาณที่จะถูกส่งผ่านไปตามสายใยแก้วนี้จะถูกแปลงเป็นคลื่นแสงก่อนซึ่งทำให้ส่งได้รวดเร็ว
และมีคุณภาพชัดเจน ไม่ถูกรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอากาศเพราะมีฉนวนหุ้มอยู่
และไม่ถูกกีดขวางจากตึกรามบ้านช่องเพราะไม่ได้ผ่านอากาศ
ส่วนระบบดิจิตอล คือระบบที่แปลงสภาพข้อมูลทั้งเสียงภาพ และข้อความให้อยู่ในรูปของเลข
1 และ 0 ทำให้ง่ายต่อการส่ง เก็บและแปรรูป ทั้งยังสามารถบีบให้ข้อมูลมีขนาดเล็กลง
จึงไม่เปลืองเนื้อที่ในการเก็บและส่ง
ทั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงและระบบดิจิตอล เมื่อประกอบกันเข้า ก็จะเป็นหัวใจสำคัญของระบบเครือข่ายที่สามารถส่งข้อมูลได้ทั้งภาพ
เสียงและข้อความในเวลาพร้อม ๆ กันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ
ISDN (INTEGRETED SERVICES DIGITAL NETWORK) คือ การส่งภาพเสียงและตัวหนังสือพร้อมกันโดยใช้สายโทรศัพท์เพียงสายเดียว
แถบความถี่ของใยแก้วนำแสงที่กว้างมหาศาลยังทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลในลักษณะโต้ตอบ
(INTERACTIVE) กันได้ด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทย หน่วยงานที่นำระบบใยแก้วนำแสงมาใช้คือ เครือข่าย CUNET
ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยี่สารสนเทศ
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ที่หลักสี่กับระบบคอมพิวเตอร์และเอทีเอ็มทุกสาขา
ส่วนโครงการขนาดใหญ่ได้แก่ โครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายของทีที แอนด์ที
โครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงตามทางรถไฟ ของ ทศท. ซึ่งบริษัทคอมลิงค์ได้สัมปทานไป
โครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในกรุงเทพเข้ากับโครงข่าย
1 ล้านเลขหมายในต่างจังหวัดเฉพาะภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกรวม
33 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่เหลือในภาคใต้จนถึงชายแดนมาเลเซีย เป็นการวางสายเคเบิลใต้น้ำจากจังหวัดระยองข้ามอ่าวไทยมาขึ้นฝั่งภาคใต้ลงไปจนถึงนราธิวาส
โดยบริษัทจัสมิน
เฉลียวเปิดเผยว่า ในเงื่อนไขข้อกำหนดหรือ TOR ของโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายนั้น
ไม่ได้กำหนดให้ใช้โครงข่ายใยแก้ว จะใช้สายทองแดงธรรมดาก็ได้ แต่ซีพียอมลงทุนกับสายใยแก้วเพราะจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าอย่างมหาศาล
คนที่เดินทางรอบโลกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนอย่างธนินท์เข้าใจและรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยี่ใหม่
ๆ บวกกับภาพพจน์ความยิ่งใหญ่ของซีพีที่จะระดมทุนจากทุกมุมโลกได้ง่าย ๆ เพื่อลงทุนในเทคโนโลยี่เหล่านี้ย่อมมองทะลุโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมายเข้าไปถึงธุรกิจที่จะเกิดจากเทคโนโลยี่ที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงข่ายได้อย่างไม่ยากเย็น
การลดขนาดของโครงการ ยอมจ่ายผลประโยชน์เพิ่มให้รัฐ จึงเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองที่จำต้องยืดหยุ่นเพื่อรักษาเป้าหมายสุดยอดเอาไว้ให้ได้
นั่นคือการเป็นผู้สร้างและบริหารโครงข่ายข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยที่สุดของโลกเป็นระยะเวลาถึง
25 ปี
โฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ของ ทีเอ. นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
จนถึงบัดนี้ล้วนแต่รวมศูนย์อยู่ที่ธุรกิจและบริการเสริมที่เกิดจากโครงข่าย
2 ล้านเลขหมายทั้งสิ้น
โทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของ ทีเอ. จึงไม่ใช่โทรศัพท์ธรรมดา ๆ แน่นอน
สำหรับเรา การทำ 2 หรือ 3 ล้านเลขหมายก็ไม่แตกต่างกัน ใครเข้ามาก่อนก็ได้ประโยชน์กว่าคนที่เข้ามาทีหลังแน่นอน
เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า INHERITED ADVANTAGE" วัลลภกล่าว
การลงทุนในโครงการ 2 ล้านเลขหมายของ ทีเอ. ครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อโทรศัพท์
แต่เป็นการสร้างพื้นฐานการโทรคมนาคมในกรุงเทพ
โครงข่าย 2 ล้านเลขหมายประกอบด้วยเครือข่าย 3 ชั้น
ชั้นแรก เป็นการต่อเชื่อมโยงระหว่างชุมสายหลักหรือสถานีแม่ (CENTRALIZED
SWITCHING NODE : CSN) ซึ่งมีอยู่ 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑลได้แก่
สถานีหลักสี่ แจ้งวัฒนะ ลาดหญ้า พระโขนง เพลินจิต-1 และเพลินจิต-2
ชั้นที่สอง เชื่อมโยงระหว่างชุมสายหลักกับชุมสายย่อย (REMOTE CONCENTRATOR
UNIT : RCU) ซึ่งมีอยู่ 800 กว่าแห่งกระจายทั่วกรุงเทพในพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร
ระหว่างชุมสายใหญ่กับชุมสายย่อยคือสถานีสื่อส่งสัญญาณ
(TRANMISSION NODE : TN) ทำหน้าที่ควบคุมการส่งสัญญาณระหว่างชุมสายต่าง ๆ
สถานีสื่อส่งสัญญาณนี้เชื่อมโยงกับชุมสายย่อยหลาย ๆ ชุมสาย ดังนั้นเมื่อต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนคู่สายในชุมสายย่อยเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ที่สถานีสื่อส่งสัญญาณ
โดยไม่ต้องขุดเจาะถนน
การเชื่อมโยงจากสถานีแม่จนถึงสถานีสื่อสัญญาณเรียกว่า CORE NETWORK หรือระบบหลัก
สถานีชุมสายย่อยจะตั้งกระจายอยู่ตามเขตชุมชนของกลุ่มผู้ใช้ประเภทธุรกิจรายใหญ่
และชุมชนกลุ่มลูกค้าผู้อยู่อาศัย ในการเลือกสถานที่เพื่อติดตั้งสถานีชุมสายบริษัทซัพพลายเออร์
จะเป็นผู้ทำการสำรวจถึงความต้องการใช้ที่หนาแน่น ในแต่ละเขตพื้นที่พร้อมทั้งสรุปเสนอแนะต่อ
ทีเอ. ว่า เขตพื้นที่ใดควรติดตั้งสถานีชุมสายกี่สถานี และที่ใดบ้าง
การสำรวจความต้องการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนติดตั้งสถานีชุมสาย
ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีปริมาณความต้องการใช้โทรศัพท์ที่น้อย ไม่คุ้มต่อการลงทุน
และเพื่อให้บริษัทสามารถมีรายได้จากการติดตั้งคู่สายให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ทีเอ. ใช้ซัพพลายเออร์ 3 รายคือ ซีเมนส์ รับผิดชอบการตั้งชุมสายในเขตตะวันออกของกรุงเทพและสมุทรปราการ
เอทีแอนด์ทีติดตั้งชุมสายฝั่งชุมสายในเขตตอนเหนือของกรุงเทพ นนทบุรีและปทุมธานี
ทีเอ. เคยเสนอที่จะใช้ร้านเซเว่น-อีเลเว่นเป็นที่ตั้งของชุมสายย่อย เพื่อประหยัดการลงทุนในเรื่องที่ดินและตัวอาคาร
เพราะเซเว่น-อีเลฟเว่นนั้นก็เป็นเครือข่ายคอนวีเนียนสโตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพอยู่แล้ว
แต่ทาง ทศท.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องกรรมสิทธิ์ของที่ตั้งชุมสายหลังจากที่อายุสัมปทาน
25 ปีของทีเอสิ้นสุดลง
การสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ตั้งแต่สถานีสื่อสัญญาณจนถึงชุมสายย่อย เรียกว่า
SERVER NETWORK
ชั้นที่สามคือ การโยงเครือข่ายขั้นสุดท้ายจากชุมสายย่อยเข้าไปยังบ้านของผู้ใช้บริการ
เมื่อแต่ละชุมสายในโครงการ 2 ล้านเลขหมายถูกติดตั้งแล้ว ที.เอ. ก็จะเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งหมดกับโครงข่ายเดิมของ
ทศท. โดยผ่านชุมสายที่เรียกว่า ชุมสายต่อผ่าน (TANDEM) จำนวน 5 ชุมสาย ชุมสายต่อผ่านแต่ละชุมสายจะเชื่อมต่อกับชุมสายใหญ่ทั้ง
6 ชุมสาย เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย 2 ล้านเลขหมายกับโครงข่าย
ทศท.
ระหว่างชุมสายหลักมาถึงชุมสายย่อย เชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยแก้วนำแสง แต่จากชุมสายย่อยไปถึงบ้าน
ยังคงใช้ลวดทองแดงอยู่ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ใช้บริการเป็นประเภทธุรกิจขนาดใหญ่
มีความต้องการโทรศัพท์จำนวนมากและบริการที่ทันสมัยอื่น ๆ ทีเอ. จึงอาจจะเชื่อมโยงโดยใช้ใยแก้วนำแสง
"แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังไม่กล้าทำเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก
ไม่ใช่เป็นเพราะเทคโนโลยี่" กรรมการผู้จัดการใหญ่เทเลคอม โฮลดิ้งอธิบายถึงสาเหตุที่เครือข่ายขั้นสุดท้ายยังคงใช้ลวดทองแดงอยู่
สิ่งที่แพงไม่ใช่เคเบิลใยแก้ว ซึ่งขณะนี้ราคาตกลงมาเท่ากับสายทองแดงแล้ว
แต่เป็นอุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนคลื่นแสงดิจิตอลที่วิ่งมาตามสายให้กลับเป็นสัญญาณเสียงที่เครื่องรับปลายทาง
หากเดินสายใยแก้วไปถึงบ้านแล้ว ก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้ซึ่งยังเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้
ประสิทธิภาพในการส่งผ่านข้อมูลของสายทองแดงนั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ต้องการ
หากไม่เกิน 64,000 บิตต่อวินาที สายทองแดงก็สามารถรองรับได้
หากเปรียบโครงข่าย 2 ล้านเลขหมายนี้กับถนนโครงข่ายชั้นแรกก็คือ ซุปเปอร์ไฮเวย์รูปวงแหวนรอบกรุงเทพ
ชั้นที่สองคือ ทางขึ้นลงซุปเปอร์ไฮเวย์ส่วนชั้นที่ 3 คือถนน ตรอก ซอยที่ต่อจากทางขึ้นลง
และหากต้องการจะออกนอกเมืองอย่างสะดวกรวดเร็ว ก็ยังมีทางหลวงสายในแก้วตามรางรถไฟ
ซึ่งบริษัทคอมลิงค์ เป็นผู้รับสัมปทาน หรือใยแก้วใต้น้ำของจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
ทั้งสองบริษัทที่ว่านี้ ทีเอ. ล้วนแต่เข้าไปมีเอี่ยวด้วยเรียบร้อยแล้ว
โดยผ่านเทเลคอม โฮลดิ้ง ซึ่งถือหุ้น 20% ในคอมลิงค์ ส่วนจัสมิน ก็เป็นพันธมิตรโดยการเข้ามาถือหุ้น
20% ในบริษัทเรดิโอโฟนที่เทเลคอม โฮลดิ้งถือหุ้นอยู่ 59.99%
ถนนอิเล็คโทรนิคส์สายนี้ไม่ได้ลาดยางมะตอยหรือปูคอนกรีต แต่สร้างขึ้นมาจากสายในแก้ว
ถนนสายนี้ไม่มีสี่แยกไฟเขียวไฟแดง มีแต่ชุมสายระบบดิจิตอลทำหน้าที่จัดระบบจราจรให้รถแต่ละคันไปในทิศทางที่ต้องการ
และถนนสายนี้ไม่ได้เปิดให้วิ่งฟรี ๆ ใครจะใช้บริการต้องจ่ายค่าผ่านทางให้กับ
ทีเอ. จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ว่ารถที่จะนำขึ้นมาวิ่งเป็นรถประเภทใดมีสัมภาระที่บรรทุกมาอย่างไรบ้าง
ตามแผนการของ ทศท. จะต้องมีการติดตั้งโทรศัพท์เพิ่มในเขตกรุงเทพอีก 6 ล้านเลขหมาย
ทีเอ. ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขในสัญญาไม่ให้เข้าประมูลรับสัมปทานโครงการ 2 ล้านเลขหมายถัดไป
ปมเงื่อนไขสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ทีเอ. จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่
แต่อยู่ตรงจุดที่ ณ วันนี้ และต่อจากนี้ไปอีก 24 ปีจนถึงสิ้นปี 2560 ทีเอ.
คือผู้บริหารโครงข่ายใยแก้ว 2 ล้านเลขหมายโครงข่ายแรก ใครจะเป็นผู้รับสัมปทานอีก
6 ล้านเลขหมายที่เหลือ ก็จะต้องใช้โครงข่ายแบบเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งจะลงทุนสร้างขึ้นมาเองก็จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
แต่ถ้าจะใช้โครงข่ายที่มีอยู่แล้วของทีเอก็ย่อมทำได้ เพราะได้ออกแบบให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการใช้งานเพิ่มอีก
6 ล้านเลขหมายแล้ว โดยใช้เส้นใยแก้ว 24 เส้น ในหนึ่งสายเคเบิล เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวจากที่เงื่อนไขทางเทคนิคกำหนดไว้
แต่แน่นอนว่า จะใช้ฟรี ๆ ย่อมไม่ได้
"ถ้าเช่าในส่วนที่ทีเอทำเองแล้วยกให้กับองค์การฯ ก็จะเป็นไปตามสัญญาข้อ
12 คือ คนที่จะเช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอัตราเดียวกับที่ ทศท. เก็บ ซึ่งทีเอต้องคุยกับ
ทศท. ว่าจะแบ่งกันเท่าไร เพราะเป็นการเขียนชัดเจนว่า สมบัตินั้นเป็นของ ทศท.
แต่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี สิทธิการใช้ทีเอยกให้เป็นของ ทศท. ผู้เดียว มีเขียนชัดเจนว่าใครฟรี
ใครเสีย" วัลลภอธิบาย
สัญญาระหว่าง ทีเอ. กับ ทศท. ข้อที่ 12 ว่าด้วยสิทธิของบริษัทหลังการโอนกรรมสิทธิ์
ระบุไว้ในข้อที่ 12 (ก) (2) ว่า "ตลอดอายุสัญญานี้ ทศท. และบุคคลอื่นสามารถนำโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน
(BASIC TELEPHONE NETWORK) เข้าเชื่อมต่อกับโครงข่ายบริษัทได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใด
ๆ"
ถ้าจะตีความตามลายลักษณ์อักษรแล้วบุคคลอื่นที่จะมาเชื่อมต่อก็จะต้องมีโครงข่ายโทรศัพท์ขั้นพื้นฐานของตัวเองอยู่แล้ว
ซึ่งจะต้องลงทุนสร้างขึ้นมา ในกรณีนี้เชื่อมต่อได้ฟรี ๆ
แต่ถ้าไม่สร้างขึ้นมาเอง จะขอใช้โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานที่มีอยู่แล้ว
ในกรณีนี้ สัญญาข้อ 12 (ก) (5) เขียนไว้ว่า "ทศท. จะไม่จำหน่ายจ่ายโอนให้เช่า
ให้ใช้หรือจำนอง ทั้งจะไม่ยินยอมให้ผู้ใดทำให้ส่วนหนึ่ง ส่วนใดของอุปกรณ์ในระบบ
ที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินอื่นใดที่บริษัทได้จัดหามาและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่
ทศท. หรือโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้แก่ ทศท. เสียหาย หรือทำให้เพิ่มภาระของบริษัทในการบำรุงรักษา
ทั้งนี้เว้นแต่การเพิ่มภาระเพราะกรณีตาม (2) ข้างต้น"
สัญญาข้อ 12 (ก) (2) และ(5) อธิบายคำพูดของวัลลภที่ว่า จะทำ 2 ล้านหรือ
3 ล้านเลขหมายก็ไม่แตกต่างกัน ใครมาก่อนก็ย่อมได้เปรียบคนมาทีหลัง ได้อย่างชัดเจน
และไม่ว่าผู้มาทีหลังจะลงทุนสร้างโครงข่ายเอง หรือใช้ของ ทีเอ. ปัญหาก็ยังมีอยู่ว่า
หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดตั้งเพิ่มขึ้น มาเป็นล้าน ๆ เลขหมายนั้น จะมีความต้องการใช้ที่มากพอต่อการลงทุนหรือไม่
การวางโครงข่ายในขั้นที่ 1 และ 2 ของ ทีเอ. นั้น กระจายไปครอบคลุมทุกพื้นที่ใน
กทม. และปริมณฑลแล้ว ส่วนโครงข่ายขั้นที่ 3 ที่โยงจากชุมสายย่อยไปสู่ผู้ใช้นั้น
ถ้าย้อนกลับไปอ่านวิธีการวางสถานีชุมสาย ย่อยแล้ว จะพบว่า ทีเอ. มอบหมายให้ซัพพลายเออร์
สำรวจความต้องการในแต่ละพื้นที่ว่ามากน้อยเพียงใด เพื่อกำหนดว่าจะตั้งชุมสายย่อยที่ใดบ้าง
และที่ละกี่ชุมสาย
แปลว่า ทีเอ. ใช้กลยุทธ์เจาะเข้าไปในตลาดที่มีความต้องการสูง ๆ ก่อน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาเร็ว
ๆ และมากพอต่อการลงทุนตั้งชุมสายย่อยตลาดที่ความต้องการน้อยจะอยู่ในลำดับหลัง
ๆ
กว่าที่ ทีเอ. จะติดตั้งโทรศัพท์ครบ 2 ล้านเลขหมายในเดือนพฤษภาคม 2540
และกว่าที่โครงการใหม่จะเริ่มต้น มีคำถามที่ผู้มาทีหลังจะต้องคิดหนักว่า
ในตลาดเดียวกันคือ พื้นที่กรุงเทพทั้งหมด คนที่มาก่อนเลือกหยิบชิ้นปลามันไปก่อนแล้ว
จะเหลืออะไรให้คนที่มาทีหลังบ้าง
ซุปเปอร์ไฮเวย์สายเดิมยังดีอยู่ เครือข่ายกว้างไกล พื้นผิวกว้างขวาง รองรับรถได้อีกหลายล้านคัน
เจาะเข้าไปทุกพื้นที่ที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนหนาแน่นคนที่มาใหม่คงจะต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะสร้างไฮเวย์ที่เป็นของตนเองขึ้นมาใหม่ดี
หรือจะขอใช้สายเก่าโดยยอมจ่ายค่าผ่านทางให้เจ้าของที่ชื่อว่า ทีเอ.
อย่างนี้จะเรียกว่า "ผูกขาด" ได้หรือไม่ ?? ผูกขาดด้วยเทคโนโลยี
!!!
พร้อม ๆ กับการสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์อิเล็คโทรนิคส์ขึ้นมา ซีพีก็ขยายตัวเข้าไปในธุรกิจโทรคมนาคมที่จะใช้ประโยชน์จากโครงข่าย
2 ล้านเลขหมาย โดยใช้บริษัทเทเลคอม โฮลดิ้งเป็นหัวหอก
เทเลคอม โฮลดิ้งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2534 ไม่กี่เดือนหลังจากการเซ็นสัญญาโครงการ
2 ล้านเลขหมาย โดยมีเทเลคอมเอเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระ
1,800 ล้านบาท
ภาระกิจของเทเลคอม โฮลดิ้งคือ ลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง
ๆ อีกทีหนึ่ง ในบรรดาบริษัททั้งหมดที่มีอยู่ 2 แห่งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ
2 ล้านเลขหมายโดยตรง คือ ไลน์ส เทคโนโลยี่ เจ้าของสัมปทานวิดิโอเท็กซ์ของ
ทศท. ซึ่งถือหุ้นอยู่ 89.77% และไทยเคเบิล วิชั่น ผู้รับสัมปทานเคเบิลทีวี
ตามสายโทรศัพท์ จากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
การลงทุนในโครงการ 2 ล้านเลขหมาย ซีพี ไม่ได้มุ่งหวังรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว
แต่ตั้งใจจะ "รีด" เม็ดเงินออกจากสายเคเบิลใยแก้วให้ได้มากที่สุด
ด้วยบริการเสริม ซึ่งมีทั้งบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์ และบริการเสริมที่ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของใยแก้นำแสง
ตัวอย่างของบริการอย่างแรกนั้นได้แก่ บริการรับสายเรียกซ้อน (CALL WAITING)
คือส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ที่กำลังใช้โทรศัพท์อยู่รู้ว่า มีอีกสายหนึ่งเข้ามา
ผู้ใช้สามารถพักสายที่กำลังพูดอยู่ ไปคุยกับสายใหม่ที่เข้ามา แล้วกลับมาพูดต่อได้โดยไม่ต้องหมุนโทรศัพท์ใหม่
บริการเปลี่ยนเลขหมาย (CALL FORWARDING) คือบริการที่สามารถโอนสายโทรศัพท์จากที่หนึ่งไปฝากไว้อีกที่หนึ่ง
บริการประชุมทางโทรศัพท์ (CONFERENCE CALL) เป็นบริการที่เปิดโอกาสให้สามารถเปิดการประชุมพร้อมกันทีเดียว
3 เลขหมายและยังสามารถสลับการสนทนาระหว่างบุคคลได้ด้วย
บริการโทรศัพท์ด้วยเสียง (VOICE DIALING) สามารถติดต่อโทรศัพท์โดยไม่ต้องกดเลขหมาย
แต่ใช้เสียงเรียกชื่อผู้ที่จะคุยด้วย เครื่องจะทำหน้าที่เรียกเบอร์ให้
ส่วนตัวอย่างบริการเสริมประเภทที่สองคือ วิดิโอเท็กซ์ และเคเบิลทีวี
การได้สัมปทานเคเบิ้ลทีวีจาก อสมท. นับเป็นรูปธรรมแรกในความหมายของ "2
ล้านเลขหมายไม่ใช่แค่โทรศัพท์ธรรมดา"
แผนการให้บริการเคเบิ้ลทีวีของ ทีเอ. ซึ่งดำเนินงานในนามของบริษัทไทยเคเบิ้ล
วิชั่นในขั้นต้นนี้จะแบ่งเขตให้บริการเป็น 3 เขต เช่นเดียวกันแผนขยายโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย คือเขตตะวันออกและส่วนกลาง เขตตอนเหนือและเขตตะวันออกและส่วนกลาง
เขตตอนเหนือและเขตตะวันตกของกรุงเทพ ช่องรายการทั้งหมดจะมี 10 ช่อง ซึ่ง
5 ช่องแรกจะเป็นช่องสำหรับสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้วคือ 3,5,7,9 และ 11
ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายสามารถรับชมได้ฟรี เพียงแต่คลื่นโทรทัศน์ที่เคยผ่านอากาศเข้าเสาอากาศก็จะเปลี่ยนเส้นทางเดินมาเป็นการส่งผ่านสายโทรศัพท์แทน
ซึ่งจะให้ความคมชัด และปราศจากคลื่นรบกวน
อีก 5 ช่องที่เหลือจะเรียกเก็บเงินจากคนดูที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก ในระบบเคเบิ้ลทีวีเหมือนอย่างไอบีซีและไทยสกาย
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เคเบิ้ลทีวีของทีเอ จะไม่ใช่ทีวีที่ผู้ชมมีสิทธิเลือกเพียงจะดูช่องไหนเท่านั้น
แต่สามารถเลือกได้ว่าในแต่ละช่องนั้นจะดูภาพนยตร์เรื่องไหน ในเวลาใด ๆ ก็ได้
นี่คือความน่าตื่นตาตื่นใจของเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า ทีวีแบบโต้ตอบ หรือ
INTERACTIVE TV.
วิธีการอย่างย่นย่อก็คือ การแปลงภาพและเสียงในภาพยนตร์แต่ละเรื่องให้เป็นข้อมูลระบบดิจิตอล
แล้วเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของบริษัท สมาชิกต้องการดูหนังเรื่องใดก็สามารถเลือกผ่านปุ่มบังคับบนตัวเครื่องรับทีวี
ซึ่งจะเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ทางสายโทรศัพท์ได้ ในทำนองเดียวกับการไปเดินเลือกเช่าวิดิโอตามร้าน
แต่สะดวกและรวดเร็วกว่ากันหลายเท่า
คอมพิวเตอร์ที่เก็บภาพยนตร์ในระบบดิจิตอลไว้ก็คือ ฐานข้อมูลอันหนึ่งที่สมาชิกสามารถเรียกใช้ข้อมูลชุดเดียวกันได้ในเวลาเดียวกัน
แต่ฐานข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลแห่งความบันเทิงที่มีทั้งภาพและเสียง
ปัญหาสำคัญของระบบนี้ที่ยังไม่สามารถพัฒนาถึงขั้นใช้งานได้เต็มที่ก็คือ
ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่จะใช้แปลงข้อมูล จัดเก็บและส่งออกไปตามสายโทรศัพท์ในทันทีทันใดที่
จะต้องมีขีดความสามารถสูง ซึ่งขณะนี้ธุรกิจคอมพิวเตอร์ในสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนาระบบอยู่
"ขีดความสามารถที่จะให้คนดูหนังพร้อม ๆ กัน 1,000 คนขณะนี้ทำได้แล้ว
แต่มากกว่านี้ยังพัฒนาไปไม่ถึงมีความพยายามกันให้ถึง 30,000-50,000 คนก่อน"
วัลลภพูดถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยี่ที่จะมาใช้กับระบบอินเตอร์แอคทีฟทีวี
ล่าสุดบริษัทไทม์ วอร์เนอร์ ประกาศว่า การพัฒนาในเฟสที่ 1 ของระบบ DIGITAL
INTERACTIVE MULTIMEDIA COMMUNICATION SYSTEM ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะนำระบบนี้มาใช้กับบริการ
MOVIE ON DEMAND ในเดือนเมษายนนี้
สมมุติว่า เทคโนโลยีนี้สมบูรณ์แล้ว ทีเอ. สามารถซื้อตึกแถวติด ๆ กับร้านเซเว่น-อีเลเว่นทุกแห่งในกรุงเทพเพื่อทำเป็นมินิเธียเตอร์
แล้วต่อสายโทรศัพท์เข้าไปที่ฐานข้อมูลภาพยนตร์ ซึ่งจะเป็นภาพยนตร์ใหม่ล่าสุดจากฮอลลีวู๊ดที่ส่งผ่านดาวเทียมแทนที่จะเป็นหนังเก่ามนสต็อค
อะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ในบ้านเรา ??
นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของบริการเสริมที่เกิดขึ้นจากประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูลสารสนเทศที่
ทีเอ. สร้างขึ้นมาได้
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โฮมช้อปปิ้ง-การเลือกซื้อสินค้าผ่านทางจอทีวี โดยผู้ซื้อนั่งอยู่ที่บ้านกดรีโมทคอนโทรลเลือกดูสินค้าคำบรรยายสรรพคุณ-ราคา
ทางหน้าจอ แล้วก็สั่งซื้อโดยกดรีโมทคอนโทรลตัวเดิม
หากคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งที่จะต้องให้เห็นตัวสินค้าจริง ๆ ที่จะซื้อเสียก่อนที่จะตัดสินใจแล้ว
และหากเครือข่ายค้าส่งและค้าปลีกของซีพีอย่างสยามแม็คโครหรือเซเว่น-อีเลเว่นผนวกกับไลน์ส
เทคโนโลยีเจ้าของสัมปทานวิดิโอเท็กซ์ ซึ่งก็เป็นของเทเลคอม โฮลดิ้งอยู่แล้ว
ใช้โฮม ช้อปปิ้ง เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าด้วยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรา
??
"เรามองตัวเองเป็นโอเรเตอร์ของซุปเปอร์ไฮเวย์นี้ แล้วเชิญให้คนที่สนใจเข้ามาลงทุน
การที่เราทำเองอย่างเรื่องเคเบิ้ลทีวี ก็เพื่อเป็นตัวอย่างทำให้เกิดธุรกิจนี้ขึ้นมา
เราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเข้าไปแข่งขันกับผู้มาใช้บริการของเครือข่ายด้วย"
วัลลภพูดถึงนโยบายของ ทีเอ. ในการลงไปทำบริการเสริมเช่นนี้ เพื่อลบภาพการ
"กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว" ของ ทีเอ.
ในขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไอย่างรวดเร็ว และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการในภาคเอกชนก็ไปไกลแล้ว
กฎ กติกาของรัฐในการควบคุมกลับย่ำอยู่กับที่ ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง
ในสหรัฐอเมริกา มีกฏหมายห้ามไม่ให้เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ทำบริการเสริมอย่างเช่นเคเบิ้ล
ทีวีหรือโฮม ช้อปปิ้งด้วย เพื่อป้องกันการผูกขาดและไม่ให้เกิดความได้เปรียบต่อธุรกิจบริการเสริมที่ไม่มีเครือข่ายของตนเอง
เพิ่งจะมีการผ่อนคลายกฎนี้เมื่อเร็วๆ นี้เอง โดยยินยอมให้บริษัทโทรศัพท์ซื้อหรือรวมกิจการเคเบิ้ลทีวีได้
เนื่องจากทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์และเคเบิ้ลทีวีต่างก็มีอยู่มากรายด้วยกันจึงทำให้เกิดการแข่งขันกันโดยปริยาย
สำหรับประเทศไทยที่เทคโนโลยี่การสื่อสารสมัยใหม่เพิ่มจะเป็นรูปเป็นร่าง
มี ทีเอ. เพียงเจ้าเดียวที่เป็นเจ้าของเครือข่าย องค์กรของรัฐยังล้าหลังเกินกว่าที่จะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
กฎ กติกาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่
กรณีสัมปทานเคเบิ้ลทีวี เป็นเรื่องที่ ทีเอ. ช่วงชิงจังหวะอาศัยช่องว่างของกฎหมายเข้าไปยึดกุมโอกาสทางธุรกิจก่อน
การเข้าสู่ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีผ่านสายโทรศัพท์เป็นเรื่องที่ ทีเอ. จ้องอยู่นานแล้ว
อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่เทเลคอม โฮลดิ้งจะตัดสินใจขอสัมปทานเคเบิ้ลทีวีจาก
อสมท. นั้น ได้ติดต่อเจรจากับกรมประชาสัมพันธ์ก่อน
"เขาเรียกหนักเกินไป เรารับไม่ไหว" แหล่งข่าวรายหนึ่งใน ทีเอ.
พูดสั้น ๆ ถึงสาเหตุของการเลิกล้มความพยายามในการขอสัมปทานเคเบิ้ลทีวีจากกรมประชาสัมพันธ์
"เขา" ที่ว่าก็คือ นักการเมืองที่ควบคุมดูแลกรมประชาสัมพันธ์อยู่
ทีเอ. จึงหันมาทาง อสมท.โดยอาศัยความมักคุ้นกันมาก่อนระหว่างเฉลียวกับแสงชัย
สุนทรวัฒน์ผู้อำนวยการ อสมท. เป็นข้อต่อที่สำคัญที่ทำให้ในที่สุดเทเลคอม
โฮลดิ้งได้สัมปทานเคเบิ้ล ทีวีตามสายโทรศัพท์จาก อสมท.ไปสมความตั้งใจ
ความจริงแล้ว เทเลคอม โฮลดิ้งไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขอสัมปทานจาก อสมท. ก็ได้
เพียงแต่รอให้พ้นวันที่ 13 มกราคม 2537 ซึ่งตามกฎกระทรวงหลังจากวันนี้แล้ว
เอกชนรายใดก็สามารถดำเนินการธุรกิจเคเบิ้ลทีวีได้โดยเสรี ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐด้วย
เหตุผลมีอยู่นิดเดียว ทีเอ. ต้องการเคเบิ้ลทีวีมาช่ายดันราคาหุ้นซึ่งกำลังจะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
!!
สำหรับฝ่าย อสมท. แสงชัยนั้นต้องการ "ล็อค" ทีเอ. เอาไว้ เพราะคนที่ใช้ชีวิตกว่า
20 ปีในสหรัฐฯ และมีประสบการณ์ในงานสื่อสารมวลชน มองทะลุโครงข่าย 2 ล้านเลขหมายได้ชัดเจนและลึกไม่แพ้คนของซีพี
ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง อสมท. กับเทเลคอมโฮลดิ้ง เทเลคอมโฮลดิ้งตั้งบริษัทไทยเคเบิล
วิชั่นขึ้นมาดำเนินงานภายใต้สัมปทาน โดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และจะโอนหุ้นให้
อสมท. ฟรี ๆ 10% นอกเหนือจากแบ่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าให้ปีละ 6.5% ตลอดเวลา
22 ปี ของสัมปทาน
เงื่อนไขสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ ในฐานะเจ้าของสัมปทานและหุ้นส่วนของบริษัทไทยเคเบิล
วิชั่นไม่ว่าเทเลคอม โฮลดิ้งจะทำอะไรเกี่ยวกับเคเบิ้ล ทีวี อสมท. จะต้องรับรู้ด้วย
เท่ากับว่า รัฐโดยผ่าน อสมท. ได้ก้าวล่วงเข้าไปอยู่ในโครงข่ายซุปเปอร์ไฮเวย์
อิเล็คโทรนิคส์นี้แล้ว แม้จะเป็นเพียงส่วนที่เป็นบริการเสริมอันหนึ่งของเครือข่ายทั้งหมด
แต่ก็เป็นส่วนของการแพร่ภาพกระจายเสียงซึ่งเป็นบริการหลัก และเป็นสื่อที่มีความสำคัญมากต่อสังคม
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของ อสมท. ที่จะใช้โครงข่ายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายนี้
เป็นปัจจัยในการพัฒนาคุณภาพสื่อมวลชนของรัฐอย่างไม่มีขีดจำกัดถ้าหากใช้เป็น
การดำเนินธุรกิจเคเบิ้ล ทีวีของเทเลคอมโฮลดิ้ง ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า
ทำได้หรือไม่ตามสัญญา เพราะถือเป็นบริการเสริม ที่ควรจะต้องขออนุญาตใช้เครือข่ายจาก
ทศท. ที่เป็นเจ้าของเครือข่ายก่อนที่จะไปขอสัมปทานจาก อสมท.
ทาง ทีเอ. อ้างว่า มีสิทธิที่จะทำบริการเสริมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก
ทศท. ตามสัญญาข้อที่ 12 ที่ตีความออกมาได้ว่า ทีเอ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ร่วมจึงไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว
ขออนุญาตก่อน แต่จะต้องแบ่งปันรายได้ให้
สัญญาข้อ 12 (ก) (1) ระบุว่า ตลอดอายุสัญญานี้ภายใต้บังคับเงื่อนไขการแบ่งเงินค่าบริการหรือผลประโยชน์ใด
ๆ หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ในสัญญานี้ บริษัทมีสิทธิที่จะใช้ ครอบครอง (เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือสัญญา)
และบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบ ที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินอื่นใด ที่บริษัทได้จัดหามาและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่
ทศท. หรือโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้แก่ ทศท. แล้วแต่กรณี ตลอดจนมีสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากอุปกรณ์ในระบบ
ที่ดิน อาคารและทรัพย์สินอื่นใดดังกล่าวตามเงื่อนไขสัญญานี้
ก่อนที่คณะกรรมการของ อสมท. จะตัดสินใจให้สัมปทานแก่เทเลคอม โฮลดิ้ง ก็ได้มีการตรวจสอบสัญญาว่า
ทีเอ. มีสิทธิทำได้หรือไม่ด้วย แต่สัญญาเป็นเพียงลายอักษร ที่เมื่อถึงเวลาจะบังคับใช้กันจริง
ๆ แล้ว หากมีข้อขัดแย้งกัน ก็ต้องมีการตีความ
ธนินทร์ถูกตั้งคำถามว่า ถ้าหากต้องมีการตีความข้อกฎหมายในสัญญากันแล้ว
จะสามารถทำให้ทศท. ตีความให้ ทีเอ. ทำเคเบิ้ลทีวีได้หรือไม่
"ผมทำได้" คือคำตอบสั้น ๆ ของธนินทร์
หลังจากที่โต้แย้งกันอยู่พักหนึ่ง ในที่สุด จุมพล เหราบัตย์ ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ก็ยอมรับว่าทีเอสามารถทำได้ในหลักการ
แต่จะต้องมีการเจรจากันเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะแบ่งให้กับ ทศท.และการให้
ทศท. เข้าร่วมทุนด้วย
ทั้งเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ของการให้รัฐร่วมทุนเป็นสิ่งที่เข้า "ทาง"
ของซีพีอยู่แล้ว
กรณีเคเบิ้ล ทีวีนี้จะถือเป็นบรรทัดฐานในการเข้ามาทำบริการเสริมอื่น ๆ
ของ ทีเอ. อย่างเช่น วิดิโอเท็กซ์ได้หรือไม่ ?? ถ้าเป็นไปเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเจ้าของเครือข่ายหรือ
OPERATOR ก็สามารถเป็นผู้ให้บริการหรือ SERVICE PROVIDER ได้ด้วย
จะถือว่าเป็นการผูกขาดแบบหนึ่ง และเป็นข้อได้เปรียบที่ ทีเอ. มีต่อผู้ให้บริการรายอื่น
ๆ ได้ไหม ??
ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นช่องว่าง และความไม่ทันต่อพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี่ของกฎหมายทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ในเวลานี้
ช่วงเวลานี้ ทีเอ. จึงต้องรับทำทุกอย่างที่อยากจะทำเกี่ยวกับบริการเสริมให้เร็วที่สุด
ก่อนที่ช่องว่างของกฎหมายจะถูกอุด !!
เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้เวลา 20 กว่าปีในการสร้างอาณาจักรธุรกิจการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม
ความยิ่งใหญ่ของซีพีน่าจะใช้เวลาน้อยลงเกือบเท่าตัว และให้ผลกำไรที่มากกว่าธุรกิจฟาร์มไก่-อาหารสัตว์กลับคืนมาในเวลาอันรวดเร็ว
พื้นฐานความสำเร็จของอุตสาหกรรมเกษตรแบบครบวงจรคือ การรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยี่ที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด
แล้วปรับเทคโนโลยี่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
บทเรียนจากการใช้เทคโนโลยี่การเกษตรของอาร์เบอร์ เอเคอร์ถูกนำมาปรับใช้กับธุรกิจอื่น
ๆ ในกาลต่อมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าส่ง-สยามแม็คโคร ค้าปลีก-เซเว่น อีเลเว่น
จนถึงการลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในจีนที่ซีพีดึงเอาโตโยต้า ประเทศไทยไปร่วมทุนด้วย
นี่คือกลยุทธ์จับคนอื่นมาผูกขาเข้ากับตัวเองแล้วช่วยกันเดินไปข้างหน้าของคนชื่อธนินท์
เจียรวนนท์ ใช้มาตลอด
ในโครงการ 12 ล้านเลขหมาย ขาที่ซีพีจับมาผูกกับ ทีเอ. คือขาของไนเน็ก เน็ทเวิร์ค
ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยตรงใน ทีเอ. 15% และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน
โอเรียน เทเลคอม แอนด์ เทคโนโลยี โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด อีกจำนวนหนึ่ง
การจับคนอื่นมาผูกขาของซีพีนั้น ผูกกันแบบแน่นหนา เรียกกันว่า ถ้าไม่ประสานจังหวะก้าวในการเดินไปข้างหน้า
ก็ต้องล้มคว่ำไปด้วยกันทั้งคู่
เพราะไม่ใช่เพียงซื้อเทคโนโลยี่มาใช้เฉย ๆ แต่ต้องมี EQUITY PARTICIPATION
ด้วย
"ไนเน็กซ์ เป็น STRATEGIC PARTNER ของเรา" วัลลภกล่าวและขยายความถึงเหตุผลที่เลือกไนเน็กซมาร่วมทุนว่า
เพราะไนเน็กซ์มีห้องทดลองที่เรียกว่า SCIENTIFIC TECHNOLOGY LAB ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่จะใช้กับโครงข่ายใยแก้ว
บริการเสริมอย่างเช่นการเรียกสายซ้อน การโอนย้ายสาย คือเทคโนโลยี่ของไนเน็กซ์ที่
ทีเอ. นำมาใช้ในโครงการ 2 ล้านเลขหมาย
ไนเน็กซ์ เน็ทเวิร์ค ซิสเท็มส์ เป็นบริษัทในเครือของไนเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น
ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีประสบการณ์ในการติดตั้งและบำรุงรักษาโครงข่ายโทรศัพท์ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างนิวยอร์คมาเป็นเวลากว่า
100 ปี
ไนเน็กซ์ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้งแบบมีสายและไร้สาย โดยติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐกว่า
15 ล้านเลขหมาย ผ่านบริษัทในเครือคือ นิวอิงแลนด์ เทเลโฟน และนิวยอร์ค เทเลโฟน
ส่วนบริการโทรไร้สายนั้นดำเนินงานในนามของ ไนเน็กซ์โมไบล์ คอร์ปอเรชั่น
ไนเน็กซ์ยังเป็นผู้บุกเบิกและลงมือติดตั้งเคเบิลใยแก้วทั่วรัฐนิวอิงแลนด์และนิวยอร์ค
สำหรับไนเน็กซ์ เน็ทเวิร์ค ซิสเท็ม มีความชำนาญในด้านการติดตั้งและบริหารเครือข่าย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไนเน็กซ์ ได้ประกาศที่จะพัฒนาเทคโนโลยี่ระบบอินเตอร์ แอคทีฟทีวี
นอกจากนี้ไนเน็กซ์ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทเวียคอมซึ่งเป็นเคเบิลทีวีด้านบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ
โดยเป็นเจ้าของรายการเอ็มทีวีที่มีชื่อเสียงด้วยเวียคอมเพิ่มจะประสบความพ่ายแพ้ในศึกเทคโอเวอร์พาราเมาท์พิคเจอร์แก่
QVC ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งยักษ์ใไหญ่ ๆ มาหยก ๆ
ไนเน็กซ์จึงเป็นทั้งแหล่งเทคโนโลยี่สายใยแก้วการบริหารเครือข่าย บริการเสริม
และซอฟต์แวร์ที่จะใส่เข้าไปในเครือข่ายของ ทีเอ.
แม้จะเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมทีหลังกลุ่มชินวัตรแต่แสนยานุภาพของ ทีเอ.
ในวันนี้เหนือชั้นกว่าชินวัตรมากนัก ดาวเทียมไทยคมที่เพิ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศของชินวัตรนั้น
แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ของใหม่อะไรเลยเพราะลำพังเพียงดาวเทียมเพียงอย่างเดียว
ไม่ใช่เครือข่ายการสื่อสารที่จะเข้าถึงตัว END USER ในลักษณะของ MASS ได้
ในขณะที่ชินวัตรส่งเครื่องบินลำเลียงขึ้นฟ้าเตรียมลำเลียงพลเข้ายึดหัวหาดตลาดผู้บริโภคบริการโทรคมนาคม
ทีเอ. ก็ปูถนนเตรียมส่งทหารราบบุกเข้าไปจ่อถึงหน้าประตูบ้านเรียบร้อยแล้ว
เทเลคอม โฮลดิ้งยังไปถือหุ้นในบริษัทเอพีที แซทเทิลไลท์ 14.3% เอพีทีเป็นบริษัทดำเนินกิจการด้านดาวเทียมของจีน
มีบริษัทสิงคโปร์ เทเลคอมร่วมถือหุ้นด้วย เอพีทีกำหนดจะส่งดาวเทียม 2 ดวงในปีนี้
ดวงแรกคือแอป สตาร์ 1 ซึ่งมีช่องสัญญาณแบบซียูแบนด์ 26 ทรานสปอนเดอร์ เคยูแบนด์
8 ทรานสปอนเดอร์ มีรัศมีทำการครอบคลุมจากจีนถึงไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนดาวเทียมแอปสตาร์ 2 มี 24 ช่องสัญญาณ ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของมองโกเลียถึงบางส่วนของรัสเซีย
ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตุรกี ซึ่งจะครอบคลุมประชากรถึง 2 ใน 3 ของโลก
เมื่อดาวเทียม 2 ดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ทีเอ. ก็จะมีเครื่องบินของตนบ้าง พอพลร่มกระโดดลงมาถึงพื้นก็เดินแถวผ่านไฮเวย์
อิเล็คโทรนิคส์เข้ายึดพื้นที่ได้เลย ดาวเทียมเอปสตาร์ 1และ 2 ขณะนี้มีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้ความสนใจเช่าช่องสัญญาณไปแล้วหลายรายเช่น
เทอร์เนอร์ บรอดคาสติ้ง เอชบีโอ แปซิฟิค ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนลและเวียคอมเป็นต้น
รายการของผู้ผลิตเหล่านี้ที่มากับช่องสัญญาณของแอปสตาร์ คือ แหล่งที่มาของซอฟต์แวร์ชั้นดีที่
ทีเอ. จะใส่เข้าไปในเคเบิล ทีวี ส่งผ่านสายใยแก้วนำแสงเข้าไปตามบ้านเรือนของผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวกที่สุด
ผลิตภัณฑ์ของซีพีนับวันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นไก่ซีพี
ห้างสยามแม็คโคร เซเว่น อีเลเว่น แต่สินค้าเหล่านี้ผู้บริโภคยังมีสิทธิเลือกกินเลือกใช้
แต่สำหรับฮัลโหลซีพีแล้ว ไม่มีสิทธเลือก เพราะ ทีเอ. จะเป็นฝ่ายบุกเข้าไปถึงห้องนอนเอง