"ตลาดศิลปะเกมลงทุนเพื่ออนาคต"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ทัศนะต่อ "งานศิลปะ" ได้กลายเป็น "สมบัติผลัดกันชม" ที่เศรษฐีผู้มีอันจะกินแข่งกันให้ราคาสูงหลักแสนถึงหลักล้าน จนก่อให้เกิดกระบวนการสร้างราคา และเปลี่ยนมือสู่คนในแวดวงการธุรกิจสะสมศิลป์ โดยทอผันว่าพรุ่งนี้สมบัติที่ครอบครองอยู่นี้จะมีค่ามหาศาล พุทธิปัญญาของคนสะสมศิลป์เพื่อเก็งกำไร จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตา !!

"คุณเขียนไปเลยนะ ผมไม่กลัว มีคนสร้างข่าวทำนองว่า ผมปั่นรูปช่วยบอกเขาด้วยว่ารูปเขียนปั่นไม่ได้เหมือนปั่นหุ้นหรอก "ชัชวาล บุญยรังสฤษฎ์ หรือ "เฮียเช็ง" ชายร่างขาวสูงวัยสี่สิบสามกล่าวด้วยเสียงอันดังที่ก้องกังวานไปทั่วชั้นสองของสุริวงศ์แกลเลอรี ที่ประดับด้วยภาพเขียนระดับมาสเตอร์พีซ ในกรอบทองประกายเจิดจ้าเมื่อต้องแสงไฟ

ชื่อเสียงอันเก่าแก่ และสถานอันโอ่อ่างดงามที่ตั้งของสุริวงศ์แกลเลอรีเป็นที่รู้จักกันดีของชนชั้นเศรษฐีอย่างเช่นคนในตระกูลโสภณพนิช ที่จะซื้อสะสมภาพเขียนระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินอาวุโส เช่นภาพเขียนของเฟื้อ หริพิทักษ์ ภาพดวงอาทิตย์สีเหลืองอังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ตั้งราคาเผื่ออนาคตไว้ล้านบาทและภาพ "ดอกไม้ทิพย์" ของสวัสดิ์ ตันติสุขซึ่งชดช้อย โสภณพนิชซื้อไปด้วยราคา 2 แสนบาทเป็นต้น

ศิลปะสุนทรียภาพอันล้ำค่านับร้อยนับพันชิ้นที่จัดวางไว้บนชั้นหนึ่งถึงชั้นสาม ทางเจ้าของสุริวงศ์แกลเลอรีแห่งนี้ ต้องประกันความเสี่ยงไว้ด้วยทุนประกันภัยถึงสี่สิบล้านบาท !!

"ภาพเขียนศิลปะมันมีมูลค่าเหมือนที่ดิน แต่ราคามันขึ้นอยู่กับตัวอาร์ทติส สมมติเขาเขียน รูปหนึ่งขายสองแสน กว่าจะได้รูปก็ 3-4 เดือน เมื่อเอามาทำเฟรมออกแบบให้สวย เสร็จแล้วแขวน เราก็รู้มูลค่ามันแล้วว่า ควรจะอยู่ที่สี่หรือห้าแสน" เฮียเช็งเล่าให้ฟัง

มูลค่าภาพเขียนหายากที่ยิ่งเก็บยิ่งมีราคา จึงเป็นการลงทุนของเศรษฐีใหม่ที่มีความเชื่อว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ไม่สูญ ดังนั้นคตินิยมยุคเศรษฐกิจฟองสบู่นี้ จึงได้เกิดกระบวนการสร้างราคาภาพบางภาพได้สูงระหว่าง 300,000-500,000 บาทตามกลไกการตลาดที่ความต้องการมีมากขณะที่ผลงานศิลปินอาวุโสนามอุโฆษมีน้อยและหายากเช่นเฟื้อ หริพิทักษ์ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ จำรัส เกียรติก้อง หรือศิลปินมือเอกที่ยังทำงานศิลปะอยู่ เช่น ถวัลย์ดัชนี จักรพันธ์ โปษยกฤต ประเทือง เอมเจริญ เฉลิม นาคีรักษ์ สวัสดิ์ ตันติสุข ปรีชา เถาทอง ช่วง มุลพินิจ วราวุณ ชูแสงทอง

"ผมเป็นคนค่อนข้างไม่เชื่อเรื่องเงินสด ผมเชื่อในของที่สะสม และมีราคาเพิ่มขึ้นทุกวัน…สิ่งเหล่านี้ถ้ามองในแง่นักธุรกิจ มันก็มีมูลค่าอินเตอร์เนชั่นแนล ภาพเขียนเฉพาะศิลปินดัง ๆ สิบคนขายให้ชาวญี่ปุ่นได้ทันที….ยิ่งของอาจารย์เฟื้อ ญี่ปุ่นเขากว้านซื้อ เพราะเขามีแนวโน้มจะทำโตเกียวเป็นศูนย์ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์ทั่วโลก เป็นการซื้อใบประกันภัยใบใหญ่ว่าไม่มีใครบอมบ์มิวเซียมญี่ปุ่นอีกเพราะศิลปะของโลกอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อในสิ่งที่สะสมว่ามันมีมูลค่า ไม่สูญหาย" นี่คือความเห็นของบุญชัย เบญจรงคกุลแห่งบริษัทยูคอม นักสะสมรายใหญ่ของไทยที่มีดำริจะสร้าง "ไพรเวทมิวเซียม" แห่งแรกใจกลางกรุงเทพในอนาคต

ปัจจุบันสะสมงานศิลปะส่วนตัวทั้งหมดประมาณ 200 ชิ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งประดับในสำนักงานบริษัทและในเครือไม่ต่ำกว่า 300 ชิ้น ไม่นับงานแกะสลักสำคัญ ๆ เช่น บุษบกของเรือสุพรรณหงส์ซึ่งเป็นเรือพิธีที่สะสมได้ครบ 51 ลำตามกาพย์เห่เรือนอกจากนี้บุญชัยได้สั่งต่อเรือสุพรรณหงส์ยาว 3 เมตรกว่าในราคา 1,500,000 บาท

"ผมเปิดบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่งชื่อ ศุภสินเพราะผมเกิดวันศุกร์เลยตั้งชื่อนี้ ให้ลูกและภรรยาถือหุ้นแต่ขายหุ้นไม่ได้ เพราะเราไม่ต้องการให้ของสะสมแตกกระจายไป บริษัทนี้จะเป็นเจ้าของถ้าเช่าที่จากหลวงได้ ก็จะเปิดให้คนชม เคยคิดจะเช่าที่รถไฟจตุจักรระยะเวลา 30 ปี แต่ตอนนี้ยังหาที่ไม่ได้" บุญชัยวาดแผนอนาคตที่ฝันได้ไกลแต่ยังไปไม่ถึง

ฝันสีรุ้งของเศรษฐีนักสะสมงานศิลป์เมืองไทยที่คิดจะสร้างหอศิลป์ส่วนตัว มีชดช้อย โสภณพนิชอยู่คนหนึ่งที่ปรารถนาจะสร้างมิวเซียม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงบิดาคือชิน โสภณพนิชผู้ล่วงลับไปแล้ว

"งานนี้ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะบ้านเราผลงานศิลปินกระจัดกระจาย มิวเซียมที่ดีต้องมีการแสดงผลงานศิลปินแห่งชาติคนสำคัญๆ เช่น ผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เฟื้อ หริพิทักษ์และงานนักเขียนเก่า ๆ ที่ตายไปแล้ว อย่างน้อยคนละ 5-6 รูป" ชัขวาลย์ให้ความเห็นในฐานะแกลเลอรีเก่าแก่ที่มีผลงานหายากหลายชุด

สองชั่วอายุคนของสุริวงศ์แกลเลอรีเพิ่งจะเริ่มมีนโยบายทางธุรกิจใหม่ในสมัยชัชวาลย์ ที่เน้น "เก็บ" มากกว่า "ซื้อมาขายไป" ดังรุ่นพ่อทำ "กี้เอ็ก แซ่ลิ้ม" พ่อของชัชวาลย์เป็นชาวจีนที่เริ่มต้นกิจการจากร้านกรอบรูป "ลิ่มเหลียงฮะ" ที่พลับพลาไชยแห่งแรก ต่อมาเมื่อปี 2500 ร้านโดนไฟไหม้หมดจึงย้ายมาเปิดร้านใหม่ที่สะพานพุทธ หน้าโรงหนังเอ็มไพร์ ปากคลองตลาด แต่เจอปัญหาน้ำท่วมและที่จอดรถลำบากเพราะใกล้ตลาด จึงย้ายมาปักหลักลงฐานที่สุริวงศ์ ทั้งรับออกแบบทำกรอบรูปและซื้อขายภาพเขียน

"ในระยะหลัง ๆ เป้าหมายระดับนี้เราซื้อมาเก็บเราได้ประสบการณ์จากรุ่นเตี่ย รูปเขียนศิลปะนั้นพอถึงจุดหนึ่ง จะถามว่าเท่าไหร่ไม่ได้ แต่อยู่ที่ค่าความพอใจ จะคุยกันหลักล้านหนึ่ง สองล้านหรือสามล้าน ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อและผู้ขาย" นี่คือทัศนะของคนกลางอย่างเฮียเช็ง

กรณีราคาที่ช็อคคนทั้งโลกคือ การประมูลผลงานศิลปะ "ดอกทานตะวันสิบสองดอก" ของวินเซนท์แวนโก๊ะศิลปินเอกผู้อาภัพ ปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นได้ผลงานชิ้นนี้ไป ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเท่ากับ 1,500 ล้านบาท

"หากประวัติศาสตร์ 30 ปีที่แล้ว อเมริกาเอาอำนาจเงินไปกว้านซื้อรูปจากพิพิธภัณฑ์ศิลป์ในยุโรป… ตอนนี้มาถึงญี่ปุ่นซึ่งมีเศรษฐีใหม่เยอะก็ย้อนรอยเช่นกัน เช่นซื้อรูปวาดแวนโก๊ะราคา 60 ล้านเหรียญยูเอส. เขาดูไม่ออกแต่เขาดูเฉพาะชื่อศิลปิน ของเมืองไทยเริ่มสัก 4-5 ปีที่แล้วเศรษฐีใหม่มีเยอะจากที่ดินและตลาดหลักทรัพย์ และนักบริหารมืออาชีพได้เงินเดือนสูงขึ้นคนพวกนี้เริ่มออกมาซื้อรูปแพงไปหน่อย..ซึ่งดีสำหรับศิลปินที่ดังแล้วแต่ศิลปินรุ่นจบใหม่ ๆ..ตั้งราคาสูงเพื่อศักดิ์ศรี ซึ่งผมกลัวว่าจะขายรูปไม่ออก จะหมดกำลังใจทำต่อแล้วทิ้ง ตรงนี้น่าเป็นห่วง" นี่คือทัศนะต่อการสะสมและราคาของ ชัย โสภณพนิช

ค่าของความพอใจไม่มีหน่วยชั่งตวงวัดจะดีความออกมาได้ จุดนี้จึงทำให้การสร้างราคาของภาพเขียน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ศิลปินเป็นที่ตั้ง แล้วผ่านกระบวนการจัดการทางการตลาดของแกลเลอรีก่อนถึงมือผู้บริโภค ทำให้มูลค่าของงานศิลปะแตกต่างกันในแต่ละช่องทางเลือกที่ลูกค้าเข้าหาซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว มีอยู่ด้วยกัน 3 ช่องทางคือ

หนึ่ง-ราคาในแกลเลอรีชั้นนำ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจการค้าที่บวกค่าจัดการและต้นทุนเข้าไปถือเป็นราคานำตลาด กลุ่มเป้าหมายย่อมเป็นเศรษฐีที่ต้องการความมั่นใจไม่เสี่ยงในการทุ่มเงินซื้องานเขียน "รูปของศิลปินดัง ซึ่งเก็งกำไรมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

สอง-ราคาในงานนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัยซึ่งระดับราคาปัจจุบันอยู่ระหว่าง 10,000-80,000 บาท ซึ่งวิโชค มุกดามณีให้ความเห็นว่า

"ผมคลุกคลีในวงการมานาน ผมขอแย้งว่าศิลปะมีราคาแพง เราเพ่งเล็งแต่เฉพาะศิลปินดังบางคนหรือบางชิ้นงาน แต่โดยความเป็นธรรม ผมมองศิลปินว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้เวลา 10-20 ปีเขียนรูปที่จะแสดง 20 ชิ้นนี้ ทั้ง ๆ ที่เขาเขียนภาพเป็นร้อยชิ้น อย่างนี้ถือว่าเป็นการลงทุนไหม?" เป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่ในตัวเองอย่างขื่น ๆ

กลุ่มผู้สะสมซื้อภาพเขียนของศิลปินในงานนิทรรศการจัดเป็นผู้ที่ตัดสินใจเสี่ยงสูง แต่ต้นทุนการสะสมจะต่ำ เพราะเริ่มต้นตั้งแต่เลือกซื้อผลงานมีรางวัลและคอยติดตามเก็บงานของศิลปินคนนั้น จนกว่าเขาจะมีแววอนาคตก้าวหน้า ภาพที่เก็บไว้จะมีราคามาก และเป็นการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ให้มีโอกาสเกิดด้วย ดังเช่นผลงานสีน้ำ " ชาวประมง" ของสมวงศ์ ทัพพรัตน์ ซึ่งชัยได้เลือกซื้อ 2 รูปราคาเพียง 60,000 บาท

สาม-ราคาที่บ้านศิลปิน ขึ้นอยู่กับ "ความพึงพอใจ" ทั้งสองฝ่ายหรือสุดแท้แต่ "ความสะใจ" ของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน

ดังเช่น สมัยเมื่อธนาคารศรีนครเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะชั้นเยี่ยม อังคาร กัลยาณพงศ์ได้เอารูปชุด ปาดเครยอง ช่อกนกมาแสดง และตั้งราคารูปละ 3,000,000 บาทแบบไม่ขายแต่สะใจ ทำให้ผู้บริหารแบงก์ต้องหาบอดี้การ์ดและตำรวจยืนเฝ้ารูปนั้นจ้าละหวั่น และได้กลายเป็นจุดโปรโมทให้ทุกคนต้องการมาดูว่า นี่นะหรือ…รูปเขียนรูปละสามล้าน !?

หากมองในมุมกลับ บรรดาเศรษฐีกำลังสะสมอะไรกัน? คุณค่าความงามแห่งศิลป์หรือความอวดมั่งมีด้วยอำนาจเงินตราที่คิดแต่ว่า "จะซื้อรูปศิลปินดัง ๆ" โดยไม่มีศิลป์วิจักขณ์ในเรื่อง สุนทรียศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์

ความต่อเนื่องยาวนานของกิจการร้านกรอบรูปที่สร้างสายสัมพันธ์กับศิลปินรุ่นอาวุโส ได้กลายเป็นความได้เปรียบเชิงธุรกิจของสุริวงศ์แกลเลอรีที่ยุคต้นๆ ของกิจการสามารถลงทุนซื้อภาพเขียนรุ่นเก่าได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายใหม่ แต่สามารถทำกำไรมหาศาลในยุคปัจจุบันที่ราคาหลักแสนขึ้นไปของภาพเขียนพร้อมกรอบทองสวยงาม

"สมัยก่อนนั้น เวลาอาร์ทติสมาทำกรอบ ยังไม่ต้องจ่ายเงินก่อนก็ได้ เพราะรู้จักกัน พอจบการแสดงนิทรรศการจึงค่อยมาเคลียร์กัน ราคาคิดกันแบบกันเอง บางครั้งผมก็ช่วยซื้อรูปแปดรูปในราคาพิเศษ เพราะอาร์ทติสไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงผลงาน เขาจะเอาเงินที่ไหนมาทำกรอบแม้ค่ากรอบสมัยนั้นจะ 200-300 บาทแต่ทำกันที 30 รูปเพื่อแสดง" ชัชวาลย์ย้อนอดีตให้ฟัง ปัจจุบันกรอบรูปไม้สักลงทองคำเปลวอย่างงดงามราคาไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

ถึงกระนั้นก็ตาม บทบาทของแกลเลอรีในไทยถูกมองว่าเป็น "พ่อค้าคนกลาง" มากกว่าบทบาทของผู้ส่งเสริมงานงานศิลปะแท้จริงเหมือนในยุโรปหรืออเมริกา ไม่มีการลงทุนทำห้องแสดงภาพศิลปะแบบมืออาชีพ ไม่พิมพ์เอกสารเผยแพร่ความรู้ผลงานและเกียรติประวัติศิลปินอย่างต่อเนื่อง และไร้บทบาทของ "แมวมอง" ที่จะส่งเสริมอุปถัมภ์ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแววรุ่งโรจน์

แกลเลอรีเก่าแก่ที่สุดอย่าง "บางกะปิแกลเลอรี" เคยพยายามทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ยุทธวิธีการจัดการธุรกิจศิลป์ (COMMERCIAL ART MANAGEMENT) เป็นเรื่องยากมาก ภายใต้เงื่อนไขอันจำกัดทางเศรษฐกิจสังคม ที่ทั้งตัวศิลปินชั้นดีซึ่งทำงานศิลปะเพื่ออุดมคติมากกว่าการค้า ผู้สะสมภาพเขียนซึ่งกระจุกตัวอยู่ในหมู่เศรษฐีหรือผู้ที่เรียนจบจากต่างประเทศและคุ้นเคยกับการเสพงานศิลปะ ขณะที่กลไกราคาที่ศิลปินถูกกดราคาเพื่อไม่มีทางเลือกอื่น ๆ เช่น ภาพเขียนของประเทือง เอมเจริญเมื่อยี่สิบปีที่แล้วแกลเลอรีแห่งหนึ่งได้ซื้อขาดในราคาสี่พันบาท แต่พอใส่กรอบตั้งราคาใหม่เป็นหมื่นห้า หรืออย่างกรณีภาพเขียนสีน้ำมันของสุเชาว์ ศิษย์คเณศซึ่งสมัยต้นเคยแบกรูปที่เขียนเสร็จฝากเพื่อนไปขายที่แกลเลอรีเพียง 300-400 บาท แต่ราคาที่แกลเลอรีขายหน้าร้านสมัยนั้นฟันราคาที่ 3,000 ถึง 10,000 บาท

ในที่สุดบางกะปิแกลเลอรีก็ต้องปิดกิจการลงไป ขณะที่แกลเลอรีรุ่นหลังที่ยึดเอาทำเลธุรกิจที่มีเศรษฐีอยู่ย่านบางกะปิ สุขุมวิท ซอยอโศก ถนนเกษรและสีลมหลายแห่งทะยอยเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รอดต้องปิดกิจการหรือหยุดบทบาทไป เพราะผลตอบแทนช่วงนั้น "ไม่คุ้ม" กับภาระค่าใช้จ่าย เช่น บางกอกอาร์ต ไฟน์อาร์ตแกลเลอรี หอขวัญแกลเลอรี ทรีโอแกลเลอรี 20 หอศิลป์ เกษร วิณวลธรรมแกลเลอรี สีลมมาสเตอร์พีช เดอะอาร์ทติสท์ แกลเลอรี

ระดับราคาของภาพเขียนในช่วงปี 2520 ที่วางขายในแกลเลอรีจะอยู่ระดับหลักพัน ยกเว้นผลงานของจิตรกรมือเอกอย่างเช่น ภาพเขียนของ "ปุ่ม มาลากุล" ที่ชัยซื้อไป โดยเริ่มต้นซื้อภาพเขียนต้นไม้หุบเขาภาพแรกในราคาประมาณ 20,000-25,000 บาทปัจจุบันราคาในตลาดว่ากันเป็นหลักแสนหลักล้านแถมมีภาพเขียนปลอมอีกต่างหาก

"อาจารย์ปุ่มเสียชีวิตยี่สิบกว่าปีแล้ว ผลงานของท่านตอนนี้เบาะ ๆ ขึ้นต้นด้วยเลขสามแสนถึงล้านแล้วแต่ขนาดใหญ่เล็ก เมื่อแปดปีก่อนโดนก๊อปปี้ขายในตลาดมาก ผมเห็นกับตาตัวเองและเจอการเสนอขายแค่แสนเดียวด้วยแต่ผมไม่ซื้อ เพราะผมชำนาญดูออกถึงความแห้งของสี ความตึงของผ้าใบ" เล่ห์กล ของโจรศิลปะที่ชัชวาลย์เจ้าของแกลเลอรีเจอนั้นเป็นเรื่องที่แกลเลอรีใหม่อาจจะโดนหลอกได้ถ้าไม่รู้จริง

น่าเสียดายที่บทบาทของแกลเลอรีใหม่ ๆ เช่นวิณวลธรรมแกลเลอรีที่เป็นเวทีส่งเสริมการแสดงภาพศิลปะร่วมสมัยของศิลปินรุ่นใหม่อย่างกลุ่มไวท์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของศิลปินสีน้ำ เมื่อเปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องยุติลงเพราะปัญหาเรื่องทุนรอน

"ถ้าเรามุ่งด้านพาณิชย์การค้า เราจะไปแสดงที่ศูนย์การค้าหรือโรงแรม ซึ่งขายได้ แต่เราไม่เคยไปแสดงที่นั่น ยกเว้นการแสดงนิทรรศการเดี่ยวแต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ไป ไม่ใช่รังเกียจแต่ที่เหล่านี้ไม่มีห้องแสดงศิลปะจริง ๆ" ปัญญา วิจินธนสาร ประธานกลุ่มไวท์ปี 2536 ให้ความเห็น

ส่วนกิจการที่ดำเนินการอยู่ยงคงกะพันก็คือ เพชรบุรีแกลเลอรีของอารีย์ ตตินนท์ชัยและสุริวงศ์แกลเลอรี ที่จับตลาดนักสะสมภาพศิลปินอาวุโสโดยไม่สนใจนักเขียนใหม่

ยุคต้น ๆ กลุ่มผู้สะสมซื้องานศิลปะส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งดอลลาร์สะพัดในตลาดไทย ฝรั่งนิยมงานภาพวิวทิวทัศน์แบบไทย ๆ พระและตลาดน้ำวัดไทร ลักษณะการเขียนมีลีลาคล้ายกันคือเอาเกรียงเขียนเป็นกระท่อมริมน้ำ มีต้นมะพร้าว วิว ดังนั้นธุรกิจของแกลเลอรีได้แปรสภาพจากการขายงานศิลปะเป็นตลาดขายรูป

ชัชวาลย์ก็คลุกคลีในตลาดขายรูปนี้ในยุคต้น ๆ โดยมีโชว์รูมขายรูปชื่อ "พรนิมิตแกลเลอรี" ที่เจริญกรุงขายส่งภาพเขียนเหล่านี้แก่ค่ายพีเอ็กซ์ของทหารอเมริกันด้วย

แต่พอถึงจุดหนึ่งที่อยู่กับงานศิลปะมาก ๆ ก็ทำให้ชัชวาลย์เกิดความสนใจงานศิลปะ และเริ่มเสาะแสวงหางานศิลปะของคนที่มีชื่อเสียงมาไว้ในแกลเลอรี โดยสมัยก่อนบางภาพจะมีลักษณะการซื้อขาดจากเจ้าของงานในราคาไม่สูง ซึ่งคนทำงานศิลปะยุคเก่ายังจำเป็นต้องขายงานออกไปในราคาต่ำเพื่อเอาเงินมายังชีพให้อยู่ได้

นอกจากผลงานดรออิ้งและรูปเขียนของอังคาร กัลยาณพงศ์ แล้ว ผลงานภาพเขียนสีน้ำมันของศิลปินที่ชัชวาลย์เก็บสะสมได้มากที่สุดขณะนี้คือ สุจริต หิรัญกุล ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 12 ปี โดยวิธีการอุปการะเกื้อกูลครอบครัวอาจารย์สุจริต ทำให้ชัชวาลมีผลงานของสุจริตตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนกระทั่งวาระสุดท้ายจำนวน 70 กว่ารูป ปัจจุบันภาพที่แพงที่สุดของสุจริตคือภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่เป็นรูปดอกทานตะวันเขียนไว้ในปี 2521 ราคาที่ร้านตั้งไว้ 3 ล้านบาท

"รูปเขียนโดยอาจารย์สุจริตจะมีแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ ใช้อารมณ์ถ่ายทอดผ่านเกรียงเขียนรูปด้วยสีหนา ๆ สมัยนั้นใครรู้ไหมว่ารูปนี้หนักกี่กิโล รูปของคน ๆ นี้ฝรั่งนิยมซื้อมาก ภาพเขียนตอนนี้ราคาเป็นล้านแต่ตอนซื้อจริง ๆ ไม่ถึง" เจ้าของสุริวงศ์แกลเลอรีเล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้ชัชวาลย์รวยเงียบ ๆ กับมูลค่ากว่าสี่ร้อยล้านบาทของสินทรัพย์ที่เขาซื้อเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนศิลปะอันล้ำค่ำของศิลปินอาวุโสไทยประติมากรรมยุโรปที่งดงามกว่า 300 ชิ้นและพระเครื่องพระบูชากับของเก่าสมัยรัชกาลที่ห้าซึ่งหายากยิ่งและเป็นที่สักการะบูชาของคนไทย

สายตาอันแหลมคมของพ่อค้าคนกลางอย่างชัชวาลย์บวกกับการบูมของภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจของสุริวงศ์แกลเลอรีขยายกิจการได้ยิ่งกว่าสมัยพ่อสร้างมาอีก ครอบคลุมพื้นที่การค้าอีกสองสาขา คือสาขาริเวอร์ซิตี้ชั้น 3 และ 4 ซึ่งจะขายรูปเขียนแนวตลาดและประติมากรรมยุโรปกับสาขาธนิยะชั้น 3 ซึ่งเซ้งพื้นที่ 30 ปี ใช้เป็นห้องเก็บแสดงประติมากรรมยุโรป

"ในอนาคตสุริวงศ์แกลเลอรีจะเปลี่ยนโฉมใหม่โดยจะทำแกลเลอรี่ระดับไฮคลาสเกิดขึ้นที่จิวเวอรี่เซนเตอร์ บนถนนสีลม จะแขวนรูปที่ดีที่สุดเพียง 25 ภาพ ถ้าซื้อก็ซื้อ ถ้าไม่ซื้อก็เก็บ" นี่คือแผนการอนาคตของเจ้าเก่าอย่างสุริวงศ์แกลเลอรี

ขณะที่สไตล์ของสุริวงศ์แกลเลอรีที่จับตลาดระดับบนที่เล่นรูปหายากระดับราคาหลักแสนถึงล้านขึ้นไป ก็มีตลาดขายรูปที่คนเล่นรูปนิยมมาชอปปิ้งซื้อและกล่าวขวัญมากที่สุดในปัจจุบันนี้ คือ "สมบัติ แกลเลอรี่"

เจ้าของแกลเลอรีนี้คือ "สมบัติ วัฒนไทย" ผู้หญิงเก่งแห่งยุค พ.ศ. นี้ที่เริ่มต้นจากแกลเลอรีเล็ก ๆ ชื่อ "โฟรอาร์ต" ข้างอาคารสีลมเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่เริ่มผงาดขึ้นในยุทธจักรธุรกิจนี้ ด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้าที่สุริวงศ์แกลเอลรีเมินคือ กลุ่มอินทีเรียตกแต่งหมู่บ้านจัดสรรและออฟฟิศ คอนโดมิเนียม เช่น บริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ เลคไซด์ บริษัทเบ็ญศิวารินทร์

ส่วนลูกค้าเศรษฐีนักสะสมที่สมบัติติดต่อเป็นขาประจำเช่นบุญชัย เบญจรงคกุลแห่งบริษัทยูคอมตัวแทนขายผลิตภัณฑ์โมโตโรล่า เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์แห่งแบงก์กรุงเทพฯ พณิชยการ ประกิต ประทีปเสนแห่งแบงก์ไทยพาณิชย์และ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นต้น

ประสบการณ์ธุรกิจที่ล้มคลุกคลานในสามปีแรก เพราะจับจุดขายไม่ถูกทำให้ผู้หญิงอย่าง สมบัติต้องโดดลงมาบริหารเองเต็มตัวแทนที่จะจ้างคนอื่นทำยุคนั้นแกลเลอรีจะมีตลาดหลักอยู่ที่โรงแรมเพื่อขายชาวต่างประเทศ สมบัติจึงย้ายร้านมาเปิดที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์ แต่ก็เจ๊งจนต้องเปิดใหม่ที่ริเวอร์ซิตี้โดยปิดที่สีลมซึ่งไม่มีที่จอดรถบริการลูกค้า

ปัจจุบันร้านสมมติแกลเลอรี่มีทั้งหมดสามร้าน คือที่ริเวอร์ซิตี้ โรงแรมรอยัล ออคิดและดุสิตธานี นอกจากนี้ยังมีคอลเลคชั่นเฮ้าส์ "บ้านสมบัติ" ที่จรัลสนิทวงศ์อีกด้วย

"ในช่วงปี 2527-28 ตลาดศิลปะในบ้านเรายังเงียบช่วงนั้นดิฉันออกไปต่างประเทศและจัดแสดงภาพเขียนในงานนิทรรศการสินค้าที่จัดโดยเอกชน เวลาไปแต่ละครั้งดิฉันจะขนภาพไปประมาณ 400-600 ภาพ ก็ขายหมด แต่พอถึงปี 2530 ตลาดเมืองไทยเริ่มดีขึ้น ก็เลยไม่ค่อยได้ออกไป" เจ้า ของสมบัติแกลเลอรีเล่าให้ฟังถึงแนวโน้มตลาดคนไทยที่พุ่งขึ้นจาก 20% เป็น 50% ในปัจจุบัน

ลักษณะการดำเนินธุรกิจที่สมบัติแกลเลอรีทำคือการซื้อเงินสดที่จะไม่รับฝากขาย อันเป็นนโยบายของค่ายใหญ่ที่นิยมทำกัน แทนที่จะชักค่านายหน้า 30-50% เหมือนแกลเลอรีหรือศูนย์แสดงศิลปะบางแห่ง

"เรามีผลงานของอาร์ทติสในร้านกว่าหนึ่งร้อยคนหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกซื้อภาพ เราจะดูที่สีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อการตกแต่ง จากนั้นจึงดูรายละเอียดแต่ถ้าเป็นรูปของศิลปินที่มีชื่อเสียง ก็ไม่จำเป็นต้องดูรายละเอียด" ผลงานในสต็อกนับสองหมื่นชิ้นที่สมบัติซื้อเก็บโชว์ขายตามสาขาสามแห่งจึงมีเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว

ระดับราคาที่มีตั้งแต่ 450 บาทจนถึงหลักแสนๆ เป็นกลยุทธ์ราคาสำคัญที่ทำให้ยอดจำหน่ายของทั้งสามสาขาในแต่ละเดือนสามารถขายภาพใหญ่น้อยได้นับพันรูป

"จะเห็นได้ว่าสินค้าในสต็อกเรามีมากจริง แต่ไม่มีปัญหาในการระบายรูปออกไป ในแต่ละเดือนเราจะขายได้เร็วมาก อย่างเช่นอินทีเรียแต่ละคนจะใช้ประมาณ 20-30 รูป เมื่อเราขายรูปได้สมมติ 500,000 บาท เราก็เอาไปซื้อของมาเข้าร้านอีก 400,000 บาท ทำอย่างนี้ทุกๆ เดือน" นี่คือหลักการบริหารทุนและการตลาดของนักธุรกิจศิลป์อย่างสมบัติที่ดำเนินธุรกิจนี้นับทศวรรษหนึ่ง

ท่ามกลางกระแสธุรกิจศิลป์ที่บูมพร้อมภาวะเศรษฐกิจ จังหวะและโอกาสทองในช่วงเรียลเอสเตทบูมและตลาดหุ้นร้อนเป็นกระทิงเปลี่ยวเช่นนี้ ได้สร้างอาชีพคนกลางอิสระที่เป็นอาร์ตดีลเลอร์ขึ้นมา

ปรากฏว่าได้มีแกลเลอรีเกิดใหม่ตั้งขึ้นมากในปี 2534 เช่นอาร์ตฟอรั่ม สีลมปาวกาศ คอนเทปัส ไดอะลอกแกลเลอรีซึ่งยุคแรกได้ "นำทอง แซ่ตั้ง" อาร์ตดีลเลอร์ที่คลุกคลีเป็นที่เรียกว่าใช้ของศิลปินดัง ๆ เวลาจัดแสดงงานนำทอง เคยทำงานที่สีลมมาสเตอร์พีซได้แปดเดือนกับตัวเลขขายงานศิลปะได้เป็นหลัก 1,600,000 บาทแต่ก็ไม่เป็นที่พอใจของหุ้นส่วนจึงลาออก

ผลงานที่โดดเด่นของอาร์ตดีลเลอร์อย่างนำทองคืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการขายภาพเขียนของนิติ วัตุยา" ขายเกลี้ยง 400,000 บาทภายในเวลา 3 อาทิตย์

แต่ประสบการณ์ที่เจ็บปวดของนำทองคือ ข้อกล่าวหาที่ว่าทำเพื่อลูกค้ามากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์บริษัท ในกรณีที่ลูกค้ารายใหญ่รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้รับการเสนอผลงาน "ก. เอ๋ย ก. ไก่" ของคามิน เลิศชัยประเสริฐ เพื่อประดับในห้องแสดงศิลปะร่วมสมัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งมีตระกูลโอสถานุเคราะห์เป็นเจ้าของ

"ผมต้องเป็นตัวกลางระหว่างศิลปินกับแกลเลอรีและลูกค้าเพื่อให้ยอมกันได้ ตอนแรกผมตั้งราคาแพงมาก แล้วผมลดไปเยอะมาก ซึ่งแกลเลอรีก็ไม่พอใจศิลปินเองก็ไม่ได้เท่าที่ผมบอกไว้ ทุกวันนี้ยังเสียใจอยู่เลย แต่ตอนหลังศิลปินก็ยอมรับเพราะ เขาเห็นว่าลูกค้ามีความตั้งใจดี สำหรับผมงานชิ้นนี้มีความสำคัญมาก ถ้าผมทำให้งานชุดนี้ไม่ผ่านคุณรัตน์อาจไม่สามารถทำให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพยอมรับแนวทางนี้จริง จริงอยู่แกเป็นเจ้าของ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับบอร์ด เพราะฉะนั้นตัวเลขสำคัญมาก" นำทองเล่าอดีตให้ฟังแบบยิ้มทั้งน้ำตา

ปัจจุบันนำทองลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการไดอะล็อกแกลเลอรีที่กินเงินเดือนห้าหลักเล้ว หันมาเปิดคอลเลคชั่น เฮ้าส์ และบ่อยครั้งจะเห็นนำทองในชุดกางเกงขาสั้นหรือสวมสบาย ๆ พาเศรษฐีที่นิยมซื้อรูปเก็บมาชมผลงานของศิลปินไทยและเทศตามงานนิทรรศการศิลปะต่าง ๆ

สมัยก่อนคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่จะเรียนจากศิลปากร เพาะช่างและโรงเรียนช่างศิลป์ และตามประวัติศิลปินเอกจะเรียนไม่จบแล้วออกมาทำงานของตัวเอง เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์และช่วง มูลพินิจ หรือผู้ที่จบก็มุ่งรับราชการหรือไปเสริมความรู้ที่ต่างประเทศ

แต่ปัจจุบัน ผู้เรียนศิลปะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดขยายสาขาวิชาชีพนี้มากขึ้น เช่นที่จุฬาฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา เซนต์จอห์น มศว. ประสานมิตร โดยเฉพาะที่ศิลปากรขยายรับเพิ่มจาก 30 คนเป็น 55 คนในปัจจุบัน

ความตื่นตัวในวงการประกวดศิลปกรรมปรากฏจำนวนศิลปินและชิ้นงานที่ส่งประกวดของธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติมีจำนวนน้อยลงในปี 2536 คือศิลปินส่งงาน 100 คน ส่งงาน 194 ชิ้น น้อยกว่าครึ่งของปี 2535 ซึ่งมีศิลปินถึง 152 คนและงานมากกว่าถึง 297 ชิ้น โดยแยกประเภทงานที่ส่งประกวดมากที่สุดคือ จิตรกรรมประมาณ 30% ของทั้งหมด รองลงมาคือภาพพิมพ์ 29% และประติมากรรมใกล้เคียงสื่อประสมคือ 11%

การเปรียบเทียบสองเวทีประกวดงานศิลปะนี้ได้สะท้อนให้เห็นคตินิยมของศิลปินยุคนี้ที่มีเปรียบเทียบทางเลือกระหว่าง "เกียรติ" กับเงินรางวัล เพราะผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองของงานศิลปกรรมแห่งชาติจะได้รับเงินรางวัลเพียง 50,000 บาท ขณะที่ทางสถาบันการเงินเช่นกสิกรไทยจ่ายให้แสนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมคนทำงานศิลปะก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดการขยายตัวของเมือง มีตึกอาคารคอนโดมิเนียมและโรงแรมผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทำให้เกิดตลาดความต้องการภาพเขียนจำนวนนับแสนชิ้นประดับฝาผนังตามคตินิยมแบบฝรั่ง

นักศึกษาที่เรียนศิลปะสามารถหาเงินเป็นกอบเป็นกำนับแสนบาทใช้เองได้จากการรับงานเขียนภาพเขียนเป็นร้อย ๆ ชิ้นให้กับคอนโดมิเนียมหรือโรงแรมเหล่านี้ มีเงินซื้อรถใหม่ป้ายแดงขับ จนเป็นที่อิจฉาของคณะอื่น ๆ จึงตั้งชื่อล้อคณะเป็นที่สนุกสนานว่า "คณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และป้ายแดง"

ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจฟองสบู่นี้ ได้ทำให้การเสพศิลป์ที่ไต่ระดับราคาจากเมื่อสิบห้าปีแล้วในระดับราคาชิ้นงานหลักพัน ทะยานแบบก้าวกระโดดในอีกห้าปีต่อมาในหลักแสน ก่อให้ความรู้สึกงงงันแก่ศิลปิน

ยกตัวอย่างปรีชา เถาทอง ซึ่งเคยผิดหวังมาก ๆ เมื่อครั้งปี 2522 แสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองหลังจากได้รับรางวัลเหรียญทองติดต่อกันสามครั้ง เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์จิตรกรรมขนาดใหญ่ กึ่งเหมือนจริง (SEMI-ABSTRACT) ที่เอาลักษณะศิลปะไทยเข้ามาผสมผสานด้วยแสงและเงา

แต่งานศิลป์ที่กลั่นกรองอย่างตั้งใจทุ่มเทกลับขายได้เพียงชิ้นเดียว โดยศิวะพร ทรรทรานนท์ซื้อไปในราคาเพียงเจ็ดพันบาท

"ผมเอางานศิลปนิพนธ์ปริญญาตรีและโทมารวมแสดงย้อนหลังทั้งหมดที่หอศิลป์พีระศรี ผมขายได้ชิ้นเดียว คุณศิวะพรซื้อรูปสีเทา ๆ ไปในราคาเจ็ดพันบาท เป็นเพนต์ออริจินอลนะ แล้วรูปอื่น ๆ ขายไม่ได้เลยทั้งงาน 15-20 วันที่แสดงอยู่ ผมก็งง เพราะผมบูมมากได้เหรียญทองสามเหรียญ เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ทำให้คนกลัวว่าแพง" ปรีชาย้อนความหลังให้ฟัง

แต่อีกสี่ปีต่อมา งานชุดนั้น 17-18 ชิ้นของเขามีคนไล่ตามกว้านซื้อ ปรีชา เถาทองต้องตะลึงงันกับราคาภาพเขียนที่มีผู้ซื้อด้วยราคาภาพละสามแสนบาท !!

เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว มีคนพูดว่า ซื้อรูปคุณปรีชาไปทำไมตั้ง 5-6 หมื่นบาท สู้ซื้อทีวี วีดิโอกับเครื่องเสียงดี ๆ ชุดหนึ่งไม่ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งคนเรามีเงินมากมายซื้อของพวกนี้ได้เป็นร้อย ๆ ชุดทีนี้ก็ต้องวัดกันด้วยรสนิยมรูปเขียน ถ้าไม่มีก็เสียฟอร์ม ตรงนี้เราต้องพัฒนาคนบริโภคอย่างให้ความรู้ ภาพที่แพงขึ้นอยู่กับคุณค่ากับประวัติศิลปิน" ปรีชา เถาทองซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเล่าให้ฟัง

กว่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ ศิลปินอย่างปรีชาเถาทองต้องผ่านชีวิตอันขมขื่นมาบ้างแล้ว หลังจากจบปริญญาตรีความฝันของหนุ่มที่ปรารถนาจะเปิดโลกทัศน์ด้วยการเดินทางไปต่างประเทศและทำหอศิลป์ส่วนตัว "ศูนย์ศิลป์แสงเงา" ที่บ้าน ได้เร่งเร้าให้เขากัดฟันทำงานเขียนรูปเพื่อจัดแสดงคนเดียวแล้วขายเอาเงินมาทอฝันให้เป็นจริง

"แต่ผมใจไม่เย็นพอ เขียนไปได้แค่รูปสองรูปก็มีแกลเลอรีเขาเขียนเช็ควางไว้ให้เลย 300,000 กว่าบาท ตอนนั้นปล่อยรูปเขียนขนาด 1.40 คูณ 1.40 เมตรไปรูปละ 50,000 บาท แต่พอเขาเอาไปแสดงที่โรงแรมธารา เขาเชิญผมไปยืนเป็นตุ๊กตาวันเปิดงานผมก็ยืนให้เขา จากรูปละห้าหมื่นเห็น ๆ เขาไปขายได้รูปละ 300,000 บาทในสมัยนั้น แต่เราก็ต้องยอมรับสัญญาลูกผู้ชาย" บทเรียนครั้งนั้นทำให้ปรีชาตระหนักดีว่าถ้าหากอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ชิ้นงานศิลปะที่เขาบรรจงสร้างนั้นคาดว่าจะให้ผลตอบแทนเขาไม่ต่ำกว่าหลายล้านบาท

งานเขียนของปรีชา ได้สะท้อนจากแนวความคิด บันดาลใจของแสดง และเงาที่ปรากฎขึ้นภายในสถาปัตยกรรมไทยได้ให้อารมณ์รู้สึกสงบ สมาธิและศักดิ์สิทธิ์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากรูปทรงที่เป็นรูปธรรม (REALISTIC FORM) แสดงได้เปลี่ยนให้กลายเป็นนามธรรม โดยต้องการที่จะให้รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา เป็นโครงสร้างหลักของการสร้างสรรค์ และใช้สีเรียบง่ายที่ไม่มี VOLUME ประกอบทฤษฏีเบื้องต้นทางทัศนศิลป์ทำให้แสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของไทยในจิตรกรรมร่วมสมัย

คอนเซปท์นี้เองทำให้เขาเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปี 2522 เพียงคนเดียวที่สามารถได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติติดต่อกันสามเหรียญตั้งแต่ครั้งที่ 23-25

"งานของผมโดยพื้นฐานค่อนข้างได้เปรียบกว่าเพื่อนเป็นงานกึ่งเหมือนจริงและเอกลักษณ์ไทยเข้ามา ทำให้เรียกลูกค้าได้ง่าย คนถึงบอกว่าผมค่อนข้างฉลาดในการหยิบเอาสื่อนี้มาทำและผมชอบทำภาพใหญ่โตเพื่อให้ช็อคคนดู ฟิกเกอร์เทพเทวดาต้องใหญ่ เวลาตัดเส้นจะสวย" ปรีชาเล่าให้ฟัง

ความอยากได้ของกลุ่มผู้ติดตามงานปรีชานานกว่าหกปี ที่เข้าทางแกลเลอรีที่ปรีชาเกรงใจ ทำให้เขาต้องทำงานรูปชุดเด่น ๆ ในลักษณะ REPRODUCTION อีกครั้งหนึ่งในขนาดที่เล็กลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่งทั้ง ๆ ที่ไม่อยากได้เงินตอบแทนรูปละ 150,000 บาท โดยแกเลอรีจะได้รับไปรูปละ 50,000 บาท

นอกจากนี้ปรีชายังได้ทำภาพพิมพ์จำนวนหนึ่งร้อยก๊อปปี้ในสนนราคารูปละ 5,000-10,000 บาทเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสะสมภาพชุดนี้ไว้

คอนเซปท์แสง และเงาดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ และได้กลายเป็นฐานสำคัญที่ทำให้ปรีชาพัฒนาจิตรกรรมสร้างสรรค์ในลักษณะโครงการใหญ่ ๆ มากมาย เช่น ผลงานที่สำนักงานใหญ่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในปี 2529 และเขียนจิตรกรรมประวัติซีพีลงบานประตูห้าบานของห้องประชุมของซีพมูลค่าสี่ล้านบาท ผลงานล่าสุดที่ปรากฏคือ โครงการอนุสาวรีย์สถานที่ดอนเมือง ซึ่งปรีชาพร้อมทีมงานได้สร้างสรรค์จิตรกรรมภาพเขียนประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนปัจจุบัน โดยแสดงพัฒนาการวิธีการนำเสนอคามยุคสมัย เช่นยุครัชการที่สามและสี่ มีอิทธิพลตะวันตกเข้ามา

"ช่วงหลังผมใช้เกณฑ์ง่าย ๆ คิดเป็นตารางเมตรละ 30,000 บาท ซึ่งมีซัพเจคซับซ้อนและละเอียดของฟิคเกอร์มาก ผมก็คิดราคาสูงหน่อยเพราะรูปใหญ่ ๆ เขาขายกันเป็นแสน หลักการอันนี้ผมเริ่มจากการที่ต้องรับงานใหญ่ ๆ เช่น แบงก์อาคารสงเคราะห์เป็นการประกวดแบบ เขาตั้งงบไว้สองล้านห้าเราชนะได้รับเงินมาทำเลย ส่วนภาพประวัติศาสตร์ไทยที่อนุสรณ์สถาน เราตั้งงบจากประมาณการงาน เวลาและค่าไอเดีย 15 ล้าน แต่เขาหาทุนไม่ได้ ศิลปินจึงไม่รับค่าคุมงานและค่าออกแบบ เราจึงสามารถทำได้ในราคา 5-7 ล้านบาท" ปรีชาเล่าให้ฟัง

ปรีชาเป็นตัวอย่างของศิลปินที่ไม่ปฏิเสธความจริงและกิเลสมนุษย์ โลกศิลปะที่เขาต้องเรียนรู้วิจัยค้นคว้ายังรอเขาอยู่ แผนการปลดเกษียณตัวเองจากอาชีพครูเมื่ออายุ 50 ปี เพื่อใช้ชีวิตและวันวารที่เหลืออยู่ทำงานศิลปะที่เชียงใหม่หรือแสดงภาพเขียนออกสู่การยอมรับของนานาชาติ

ในอนาคตอันใกล้ โลกธุรกิจศิลป์จะตีมูลค่าภาพเขียนรางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติของปรีชา เถาทอง เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาภาพเขียนชิ้นหนึ่งในปลายยุคสยามศตวรรษที่ยี่สิบ ที่สะท้อนพุทธิปัญญาของคนซื้อสะสมว่า สะสมไปเพื่ออะไร?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.