TPI เร่งรีไฟแนนซ์หนี้ระยะสั้นพร้อมจ่ายปันผลหากเงินเหลือ


ผู้จัดการรายวัน(28 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีพีไอ เร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น 900 ล้านเหรียญ เพื่อการบริหารงานที่สะดวกขึ้น พร้อมพิจารณาจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นหากมีเงินเหลือจากการรีไฟแนนซ์ ขณะที่การลงทุนเพิ่มโรงไฟฟ้า-โรงกลั่นอยู่ระหว่างศึกษา

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงการปรับโครงสร้างหนี้ในบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า บริษัทจะเร่งดำเนินการกู้เงินระยะสั้น (BID LOAN) เพื่อชำระเจ้าหนี้ระยะสั้นเดิมซึ่งมีอยู่หลายรายซึ่งจะทำให้สะดวกในการบริหารงาน โดยเจ้าหนี้ใหม่ที่บริษัทจะกู้เงินระยะสั้นอาจจะเป็นเจ้าหนี้รายเดิมที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก็ได้ แต่จะต้องมีการเปลี่ยนเงื่อนไขในการกู้เงิน

ทั้งนี้ ภายหลังจากการรีไฟแนนซ์ในหนี้ส่วนระยะสั้นซึ่งน่าจะมีสัญญาในการชำระคืนไม่เกิน 1 ปี และจะมีการศึกษาเพื่อเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาวอีกครั้งอาจจะด้วยการออกหุ้นกู้ หรือการกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินแทนหนี้ที่เป็นอยู่ซึ่งมีวงเงินประมาณ 900 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ภายหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นของบริษัทเรียบร้อย บริษัทจะมาพิจารณาในเรื่องการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น โดยบริษัทมีเงินสดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้วมีเงินเหลือบริษัทก็พร้อมที่จะจ่ายเงินปันผล

สำหรับการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจของบริษัทขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาในเรื่องการลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าและโรงกลั่น เนื่องจากบริษัทไม่อยากให้เกิดปัญหาในเรื่องธุรกิจรวมถึงภาระหนี้สินของบริษัทเหมือนก่อนหน้านี้

ในส่วนของเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น ปัจจุบันปตท.เป็นผู้ถือหุ้น 31% ซึ่งจะมีการถือเพิ่มขึ้นหรือไม่จะต้องมีการหารือกับพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารออมสิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. และผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ร่วมถือหุ้นก่อนว่าจะขายหุ้นหรือไม่

อนึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2549 ได้อนุมัติให้จัดหาเงินเพื่อชำระหนี้ (รีไฟแนนซ์) ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินก่อนกำหนดมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นการออกหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ วงเงินไม่เกิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าเงินสกุลต่างประเทศหรือเงินบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2549 – 2552) ส่วนที่เหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการกู้จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าขั้นตอนการดำเนินการออกหุ้นกู้และกู้เงินจากสถาบันการเงินจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2549 นี้

สำหรับรายละเอียดของการออกหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอายุหุ้นกู้ประมาณ 10 ปี หลังจากนี้จะให้สถาบันจัดอันดับแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ และสถาบันจัดอันดับมูดี้ส์ เป็นผู้จัดอันดับเครดิต ก่อนที่จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ต่างประเทศทันที

ส่วนการกู้เงินจากสถาบันการเงินมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกประมาณ 30% จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระยะเวลาประมาณ 8 ปี ที่เหลือสัดส่วน 70% กู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ระยะเวลาประมาณ 7 ปี โดยเงินกู้วงเงินดังกล่าวจะเป็นเงินกู้แบบไม่มีหลักประกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.