ซีพี ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

จากอุตสาหกรรมเก่าแก่ ที่มีการขยายตัวอย่างไม่เป็นระบบ ณ วันนี้ ซีพีกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวสอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการค้ายุคใหม่ได้อย่างผสมกลมกลืนที่สุด

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนินทร์ เจียรวนนท์ ได้ใช้เวลาในการคิด เพื่อหาบทสรุปที่ลงตัวสำหรับเครือซีพี ที่เขาเป็นประธานอยู่ ว่าจะมีทางออกอย่างไร ในภาวะที่ธุรกิจของไทยมีการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา

บทสรุปที่เขาค้นพบ นำมาสู่การตัดสินใจจัดกระบวนทัพของกลุ่มซีพีใหม่ทั้งหมด ให้เน้นหนักไปใน 3 ธุรกิจหลัก คือ อาหาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม

การตัดสินใจของเขาแม้ว่าจะดูยาก เพราะเครือซีพีเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการแตกแขนงธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวาง และบริษัทในเครือหลายแห่ง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร มีการฝังรากที่ลึกมาอย่างยาวนาน

แต่มาถึง ณ วันนี้ ภาพโครงสร้างใหม่ของกลุ่มซีพี เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น

ในธุรกิจอาหาร แกนนำหลักอยู่ที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร : CPF (เดิมชื่อเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์)

ในธุรกิจค้าปลีก ธงนำอยู่ที่เซเว่น อีเลฟเว่น

และธุรกิจโทรคมนาคม มีเทเลคอมเอเซีย เป็นแกนนำ

ทั้ง 3 ธุรกิจ มีองค์ประกอบรวมกันอยู่ระหว่างธุรกิจดั้งเดิมของเครือซีพี คือ อุตสาหกรรมการเกษตร กับธุรกิจใหม่ อย่างค้าปลีก และโทรคมนาคม ซึ่งดูอย่างผิวเผิน ธุรกิจทั้ง 3 น่าจะแยกกันอย่างเอกเทศ ไม่สามารถเชื่อมโยงนโยบายไปด้วยกันได้

แต่ภายใต้แนวคิดใหม่ที่ธนินท์ได้ใช้เวลาศึกษาอย่างยาวนานจนตกผลึก ทั้ง 3 ธุรกิจ มีจุดที่สามารถผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนที่สุด

ธุรกิจอาหาร เป็นธุรกิจที่ซีพีมีการปรับตัวให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากการให้เจริญโภคภัณฑ์อาหารเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

"Kitchen of the World"คือ คอนเซ็ปต์ที่ธนินท์ตั้งความหวังให้ซีพีต้องทำให้ได้

เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถใช้ระดมเงินทุนได้หากมีความจำเป็น

การปรับโครงสร้างครั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่า เพื่อเป็นการจัดองค์กรให้เกิดความชัดเจน ไม่สับสน เพราะก่อนหน้านี้ ซีพีมีการขยายกิจการออกไปเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์ของนักลงทุน และสถาบันการเงิน ที่มีความสามารถจะให้เงินกู้

การที่นำบริษัทลูกทั้งหมด มารวมอยู่ภายใต้องคาพยพเดียวกันในเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ทำให้ภาพของซีพี ดูมีความโปร่งใสมากขึ้น เป็นการสร้างความได้เปรียบสำหรับการแสวงหาเงินทุน ที่สถาบันการเงินในยุคนี้จะเน้นความชัดเจนขององค์กรเป็นหลัก

"บริษัทต่างๆ เอามารวมอยู่ใต้ CPF เพื่อให้คนติดภาพ CPF ว่าเป็นเรื่องอาหาร ทำให้คนที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะกองทุน เราจะแยกให้ชัดออกไป" ธนินท์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในธุรกิจค้าปลีก ซีพีได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในห้างโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ออกไปให้กับกลุ่มเทสโก้จากประเทศอังกฤษ และยังคงลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 10%

แต่ซีพีกลับไปเน้นการขยายสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาในประเทศไทยมากถึงกว่า 1,000 สาขา ถือเป็นเครือข่ายการค้าที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เพราะทุกสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งเครือข่ายนี้ก็จะมีส่วนสำคัญในการเป็นช่องทางกระจายสินค้าประเภทอาหาร ที่ผลิตโดยซีพีลงไปถึงผู้บริโภค และซีพียังสามารถใช้เครือข่ายดังกล่าว เชื่อมโยงเข้ากับรูปแบบการค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับอินเตอร์เน็ต

"เซเว่นอีเลฟเว่น จะเป็นตัวสำคัญตัวหนึ่งของอินเตอร์เน็ต เพราะเงินออนไลน์ในอากาศได้ แต่ของออนไลน์ไม่ได้ ของที่จะไปถึงบ้านต้องผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะเรามีอยู่ 1,000 กว่าสาขา ตัวนี้เป็นตัวสำคัญพื้นฐาน คุณจะไปซื้อขายกันอย่างไรก็ตาม ผมมารับจ้างบริการ" เขาอธิบายถึงแนวคิด

ส่วนธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่ซีพีเข้าไปเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพราะทั้งเทเลคอมเอเซีย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 3 ล้านเลขหมาย และยูไนเต็ดบรอดคาสติ้ง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายใหญ่รายเดียวของประเทศไทย มีการจัดองค์กรที่ชัดเจน และทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

แต่โดยส่วนตัวของธนินท์ กลับให้ความสำคัญ โดยเมื่อปลายปี 2542 ที่ผ่านมา เขาได้ตัดสินใจย้ายห้องทำงานอย่างเป็นทางการของเขา จากอาคารซีพีทาวเวอร์ ถนนสีลม มาอยู่ที่อาคารเทเลคอมทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก

ที่อาคารแห่งนี้ เป็นตึกสูง 30 ชั้น มีการจัดทำระบบสื่อสารภายใน เพื่อให้เป็นอาคารอัจฉริยะ โดยมีห้องหนึ่งในอาคาร ที่ถูกใช้เป็นห้องปฏิบัติการควบคุม และบริหารเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นหัวใจของกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดของซีพี

เครือข่ายดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญ เมื่อการค้าโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ตเริ่มถูกใช้แพร่หลายมากขึ้น

ทั้งธุรกิจอาหาร ซึ่งผลิตโดย CPF ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นเครือข่าย และโทรคมนาคม ที่มีเทเลคอมเอเซียเป็นผู้ควบคุมระบบ ถูกกำหนดบทบาทให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้อย่างกลมกลืน

ธนินท์ต้องทุ่มเทเวลาและสมองไปเป็นอันมาก กว่าจะตกผลึกแนวคิดดังกล่าวออกมาจะสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม

แต่แนวคิดนี้ ก็สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่บีบบังคับให้กลุ่มอุตสาหกรรมเก่าแก่อย่างซีพีจำเป็นตัองปรับตัวตาม เพื่อรักษาสถานะของตนเองเอาไว้ให้ได้

ถือเป็นบทเรียนทางธุรกิจที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.