สตง.แฉสัญญาฮัทช์ CDMA ดูดกสท.หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(24 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สตง. ทำหนังสือถึงประธานบอร์ด กสท ขอให้ชี้แจงตามข้อมูลบอร์ดชุดเก่า ชี้ชัดสัญญาทำการตลาดฯ CDMA ที่ทำกับ "ฮัทซ์" เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คาด "ฮัทซ์" ตั้งบริษัทลูก "BFKT" มาดูดเลือด กสท ปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน สตง.ขอคำตอบภายในสิ้นเดือนนี้

รายงานข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงประธานบอร์ด กสท เพื่อให้ชี้แจงโครงการ CDMA ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากมีความสงสัยว่า การดำเนินโครงการส่อแววไม่โปร่งใส และทำให้ กสท เสียประโยชน์เอกชนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งอาจจะเป็นการเลี่ยงพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

จากการที่บอร์ด กสท ชุดที่เพิ่งลาออกได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสัญญาทำการตลาด CDMA และสัญญาเช่าโครงข่าย ขึ้นมาตรวจสอบ และได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติแล้วว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ซึ่งมีผลทำให้ไม่ผูกพันตามกฎหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยตีความไว้ และ กสท ได้แจ้งให้บริษัทเอกชนทราบแล้ว

กสท ได้ทำสัญญาเช่าเครือข่ายจาก BFKT รวมทั้งว่าจ้างบริษัทดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงดูแลรักษาเครือข่าย และทำสัญญาให้บริการ CDMA กับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ เป็นผู้ทำการตลาดในส่วนกลาง และรับภาระค่าใช้จ่ายแทน กสท ทั้งหมด กับประกันรายได้ขั้นต่ำแก่ กสท เป็นรายปี ตลอดอายุสัญญา เป็นเงิน 7,986 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งในประเด็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ นั้นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนจะต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันฝ่ายละ 50% แต่สัญญาดังกล่าว กลับให้ฮัทช์จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ กสท เพียง 20% ของกำไร และที่ผ่านมาฮัทช์ขาดทุนโดยตลอด รวมทั้งไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก BFKT ที่มีข้อมูลระบุว่าเป็นบริษัทลูกของฮัทช์เลย ทั้งๆ ที่ กสท ควรจะได้รับค่าประกันรายได้ขั้นต่ำ 7,986 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ BFKT ได้รับกำไรมากกว่านี้

สตง. ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 โดยสตง. ต้องการทราบว่า เมื่อ กสท ได้มีหนังสือบอกกล่าวฮัทช์ ที่ระบุว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแล้ว ได้มีการดำเนินการต่อไปอย่างไรหลังจากนั้น และเหตุใดฮัทช์จึงยังคงดำเนินโครงการอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง กสท จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ และเมื่อ กสท ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแล้ว จะมีการสอบสวนดำเนินการทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ หรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด

ปัจจุบัน BFKT ได้ทำการปรับปรุงระบบเครือข่ายในส่วนกลาง 25 จังหวัด ให้เข้ากับระบบของ กสท แล้วหรือไม่ และทาง กสท ได้ประเมินความเสียหายหรือผลกระทบต่อโครงข่าย CDMA ในส่วนภูมิภาคของ กสท อย่างไร ในกรณีที่ BFKT ไม่ดำเนินการปรับปรุงเครือข่าย

สตง. ต้องการให้ กสท ตอบคำถามและจัดส่งเอกสารการพิจารณาของบอร์ดกสท ที่ได้อนุมัติให้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง รวมถึงสำเนาเอกสารการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาสัญญาฯ ที่บอร์ด กสท แต่งตั้ง พร้อมด้วยความเห็นที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบอร์ด กสท มาให้อย่างเร่งด่วน ภายในวันที่ 31 ส.ค. 2549 นี้ เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ สตง. สงสัย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.