สนง.ทรัพย์สินชู "4 บริษัท"ต้นแบบ ขับเคลื่อนศก.พอเพียง-บริษัทมีกำไร-พนักงานแฮปปี้ !


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนขานรับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง หลังประเมินพบไม่ขัดหลักสร้างกำไรสูงสุดทางธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพบริษัทในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ด้านคณะทำงานชุด "ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา" เดินหน้าขับเคลื่อนสู่องค์กรธุรกิจ ชู "4 Case study" ปูนซิเมนต์ไทย-แพรนด้า จิวเวอร์รี่-บ้านอนุรักษ์กระดาษสา-ชื่อไทย.คอม" เป็นต้นแบบที่น่าติดตาม!

เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่อยู่แต่ในภาคเกษตร ตามหลักของการผลิตเพื่อกิน เหลือจึงขายเท่านั้น แต่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักที่จะทำให้สังคมมีความสุขได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งในภาคส่วนของการทำงานในภาคธุรกิจเอกชน!

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชนขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน พร้อม ๆ กับการรณรงค์ให้บริษัทเอกชนเหล่านั้นบริหารธุรกิจตามหลัก ธรรมาภิบาล เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ นอกจากจะทำให้สังคมไทยมีความสงบสุขแล้ว ยังจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย

นักธุรกิจพร้อมปรับนโยบายองค์กรเน้นศก.พอเพียง

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ในภาคธุรกิจเอกชนนั้นถือเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ แต่ปัจจุบันยังไม่เข้าใจมากนักว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะนำมาใช้ในภาคธุรกิจได้อย่างไร ตรงนี้จึงต้องเผยแพร่ โดยคณะทำงานขับเคลื่อนในภาคธุรกิจเอกชนที่มี ดร.อาชว์ เตาลานนท์ เป็นประธานคณะทำงานนั้นได้แปลงหลักปรัชญาดังกล่าวออกมาเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ได้แก่ การทำกำไรอย่างพอเพียง ยอมรับกำไรอย่างพอประมาณ และมีเหตุผล การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร คือมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility : CSR ด้านการมีส่วนร่วมของสังคม ความเสี่ยงของภาคธุรกิจ การเพิ่มทุนอย่างพอเพียง การลงทุนหรือร่วมทุนกับต่างประเทศอย่างพอเพียง ฯลฯ

"เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย เช่น มีธุรกิจ 1000 ล้าน จะไปลงทุนก็ควรลงทุน 1000 ล้าน ไม่ใช่ไปกู้มา 10000 ล้าน หรือไม่ก็ลงทุนแค่ 10 ล้าน แบบนี้ไม่พอดี ไม่พอเพียง หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงนำมาใช้ในนโยบายการระดมทุนของบริษัทได้ คือพอประมาณ ไม่เสี่ยงเกินไป ใช้ความรอบคอบ การระดมทุนจากต่างประเทศก็เช่นกัน ทุนจากต่างประเทศต้องมาเทียบกับการระดมทุนภายใน ไม่พึ่งต่างประเทศมากเกินไป และถ้าพึ่งเทคโนโลยีหรือทุนต่างประเทศเพื่อให้บริษัทแข่งขันในตลาดโลกได้ ก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คือไม่ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ ที่สำคัญคือต้องไม่เกินกำลังขององค์กร"

ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดการประชุม Director Forum ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และหลังจากมีการพูดคุย ได้มีการให้ CEO ของแต่ละบริษัทลงคะแนนว่ามีความคิดเห็นแต่ละเรื่องอย่างไร

สรุปได้ว่าร้อยละ 80 เข้าใจและเห็นว่าแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการทำกำไรสูงสุดในทางธุรกิจ ร้อยละ 71 เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้บริษัทจะสามารถแข่งขันได้ โดยร้อยละ 90 เชื่อมั่นว่า การนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในบริษัทจะทำให้บริษัทสามารถก้าวทันโลกาภิวัตน์ได้ ส่วนร้อยละ 80 เห็นว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้การระดมทุนของบริษัทดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 84 เห็นว่า มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้น และร้อยละ 88 เชื่อว่าจะทำให้บริษัทสามารถดึงดูดผู้ลงทุนได้ดีขึ้นด้วย

"ผลที่ออกมาน่าทึ่งมาก เพราะเป็นการลงคะแนนลับ คนที่มาประชุมก็เป็นระดับ CEO ทั้งนั้น คุยกันรู้เรื่อง แค่ 10-15 นาที"

จากนั้นคณะทำงานชุดนี้ได้มีการไปจัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกว่า 400 บริษัท และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีบริษัทกว่า 85% จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปทำนโยบายองค์กรด้วย

อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า นอกจากคณะทำงานฯ จะเผยแพร่ข้อมูลให้กับบริษัทใหญ่ ๆ แล้ว คณะทำงานยังมีเป้าที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปให้กับบริษัทในส่วนนิติบุคคลที่มีอยู่กว่าแสนราย โดยคณะทำงานได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร ในการหาองค์กรตัวอย่าง หรือ case study เพื่อเป็นตัวอย่างกับบริษัทขนาดเล็กในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปปรับใช้กับบริษัทของตัวเองด้วย

ศก.พอเพียงตั้งแต่ CEO ถึงพนักงาน

ขณะที่ สันติ วิลาศศักดา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชน กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก และหลายบริษัทได้ทำอยู่แล้วแต่ไม่รู้ว่าเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง หลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริษัทเอกชน สามารถทำทั้งในส่วนของเจ้าของบริษัท และพนักงานบริษัท

ในด้านของเจ้าของบริษัท ควรจะตั้งบริษัทเล็ก ๆ ค่อย ๆ ทำจากบริษัทเล็กไปบริษัทใหญ่ ไม่ก้าวกระโดดข้ามขั้นไปทำธุรกิจที่ใหญ่เกินตัว คือไม่ก้าวกระโดด ซึ่งบริษัทก็จะมีความเสี่ยงน้อย ซึ่งกว่าบริษัทจะเติบโตอาจใช้เวลา 10-20 ปี แต่บริษัทจะมีความมั่นคง มีรายได้แน่นอน และมีปันผลให้พนักงาน

ขณะที่ฝ่ายพนักงานก็จะต้องมีการส่งเสริมความพอเพียง มีการทำงานในบริษัทอย่างมีความสุข วัดผลด้วยการย้ายงานที่น้อยลง หรือไม่มีการย้ายงาน และสามารถก้าวขึ้นมาสู่ระดับบริหารได้

"พนักงานต้องมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ คิดแบบพอดี ผลตอบแทนพอดีกับสถานะบริษัท เข้าใจว่าขณะนี้บริษัทมีสถานะอย่างไร เข้าใจ และมีส่วนร่วม ไม่ใช่คิดแต่จะลาออกไปอยู่กับบริษัทที่ให้เงินเดือนมากกว่า ตรงนี้จะทำให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่อบริษัท ขณะที่เจ้าของบริษัทก็ต้องจริงใจกับพนักงาน เมื่อบริษัทมีรายได้มากขึ้น หรือมั่นคงแล้ว ผลตอบแทนที่ให้พนักงานก็ต้องสมน้ำสมเนื้อ"

สำหรับบริษัทที่เติบโตมั่นคงแล้ว ก็จะมีการเน้นให้มีการจับมือร่วมกับทำธุรกิจแบบคลัสเตอร์ ไม่แข่งขันกันเองในตลาดโลก ขณะเดียวกันต้องมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ทั้งนี้ ทางคณะทำงานได้คัดเลือกบริษัทที่ดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่น ๆ ได้ศึกษา 4 บริษัท คือบริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย,บริษัทแพรนด้าจิวเวอร์รี่ จำกัด,บริษัทบ้านอนุรักษ์กระดาษสา, และบริษัทไทย.คอม ซึ่งทำการศึกษาโดยอดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดลล้วน ๆ

ปูนซิเมนต์ไทยตัวอย่าง HR พอเพียง

บริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย เป็นตัวอย่างของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี และมีการนำหลักเศรษฐกิจไปประกอบใช้จนประสบความสำเร็จ โดยเมื่อบริษัทมีความสามารถในการผลิต และเป็นบริษัทชั้นนำ ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้ว ทางผู้วิจัยจึงได้เน้นศึกษาไปที่การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของปูนซิเมนต์ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจ พบว่านโยบายหลักของเครือซิเมนต์ไทยมีการเน้นการรับคนที่เป็น "คนเก่ง และคนดี" เข้าเป็นพนักงาน

เมื่อเป็นพนักงานแล้วก็จะมีการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องแบบที่เรียกว่ามีการหล่อหล่อมบุคลิกภาพโดยให้ผู้บริหารเป็นตัวอย่าง เช่น ประหยัด โลว์โปไฟล์ ไม่เน้นสร้างชื่อเสียงส่วนตัวแต่เน้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จากนั้นเครือซิเมนต์ไทยยังมีการสนับสนุนการเติบโตของบุคลากรภายใน ไม่รับผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร เช่น กานต์ ตระกูลฮุน เป็นบุคลากรที่เครือฯ สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นเบ้าหลอมให้พนักงานอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านจริยธรรมขององค์กร ที่จะมีการสร้าง "คนเก่ง คนดี"ที่รับเข้ามาทำงานให้มีวัฒนธรรมองค์กรเดียวกัน

นอกจากนี้ในเรื่องคุณภาพชีวิตพนักงาน เครือซิเมนต์ไทยถือเป็นองค์หนึ่งที่มีผลตอบแทนให้พนักงานในอัตราค่าจ้างต่อหัวในระดับสูง มีเกณฑ์การให้เงินเดือนโดยดูจากค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile) 75 % ของกลุ่มบริษัทชั้นนำ ทำให้เงินเดือนของพนักงานไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป อีกทั้งเครือซิเมนต์ไทยยังมีคณะกรรมการสำรวจและเปรียบเทียบค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงานด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ และมีการสำรวจดัชนีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ได้แก่อัตราค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อ เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานโดยพนักงานไม่ต้องร้องขอด้วย

ดังนั้น เครือซิเมนต์ไทย จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ โดยเฉพาะในส่วนบริหารงานบุคคล ที่ทำให้พนักงานอยู่อย่างมีความสุข มีโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ขณะที่เงินเดือนและสวัสดิการก็เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย

แพรนด้าฯ -ลงทุนเสี่ยงปานกลาง

ด้านแพรนด้า จิวเวอร์รี่ เป็น Case study ในส่วนของบริษัทขนาดกลางที่น่าสนใจ โดยบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีมาตั้งแต่ปี 2516 จากนั้นต่อมาได้เติบโตและแปรรูปไปสู่บริษัทมหาชน ตั้งแต่ปี 2537 โดยบริษัทแพรนด้า ฯมีหลักในการบริหารองค์กรด้วยความสมดุลและสร้างความยั่งยืนของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ให้ความสำคัญในด้านผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน ตลอดจนสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นถือเป็นการสร้างระบบป้องกันตนเองทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยสามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาได้

หลักในการบริหารองค์กรของแพรนด้า จิวเวลรี่ ฯ ถือว่ามีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการยึดการลงทุนแบบมีความเสี่ยงปานกลาง เพื่อให้ได้กำไรในระดับปกติ แทนที่จะเลือกลงทุนด้วยความเสี่ยงสูง และได้ผลตอบแทนและกำไรที่สูง

พนักงานไม่กู้หนี้-ความคิดสร้างสรรค์พุ่ง

ส่วนบริษัทขนาดเล็ก ได้มีการทำ Case study เช่นเดียวกัน โดยคัดเลือก 2 บริษัทที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มบ้านอนุรักษ์กระดาษสา และบริษัท ชื่อไทย.คอม หรือ ThaiName.com

โดยกลุ่มบ้านอนุรักษ์กระดาษสา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มอาชีพ โดยมีนางฟองคำ หล้าปินตา เป็นเจ้าของและผู้บริหาร ธุรกิจนี้เริ่มจากการผลิตกระดาษสาในครอบครัว คือเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก จนปัจจุบันได้ขยายธุรกิจโดยมีการขยายตลาดไปขายต่างประเทศด้วย

บ้านอนุรักษ์กระดาษสาจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารงานที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในด้านความพอประมาณ มีการขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ลงทุนสูงเกินตัว ไม่มีการกู้ยืมเงินเพื่อขยายกิจการเพียงเพื่อสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มกิจการซึ่งไม่แน่นอน และมีความผันผวนสูง การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าก็ทำตามกำลังการผลิต ไม่โลภ

นอกจากนี้ยังมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประหยัด และใช้แรงงานและวัตถุดิบจากท้องถิ่นใกล้เคียงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประหยัดค่าขนส่ง อีกทั้งยังเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยมีการปลูกปอสาของกลุ่มเอง เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อเป็นการสร้างความคุ้มกันให้ธุรกิจและเน้นการพึ่งตนเอง

ส่วนพนักงาน มีการอบรมให้พนักงานมีคุณธรรม และไม่กู้เงินจนเกินตัวจนตัวเองต้องเดือดร้อน เพราะหนี้สินจำนวนมากย่อมส่งผลให้พนักงานไม่มีความสุข ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์กระดาษสาซึ่งเป็นหัวใจการแข่งขันของธุรกิจนี้ด้วย

ชื่อไทย.คอมขอกำไรพอประมาณ

ด้านบริษัท ชื่อไทย.คอม หรือ ThaiName.com ของพิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ และเพื่อน ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2542 ทำธุรกิจเปิดให้บริการจดทะเบียนในชื่อโดเมนภาษาไทยในอัตรา 800 บาทต่อปี นอกจากนั้นยังรับออกแบบและพัฒนาเว็บไซต? และพัฒนาโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยี่สารสนเทศ บริษัท ชื่อไทย.คอม ถือได้ว?าเป็นบริษัทแรกที่มีการบุกเบิกนําเอาชื่อภาษาไทยมาจดเป?น Domain Name ให?กับธุรกิจของคนไทยด้วย

บริษัทชื่อไทย.คอม ได้จัดตั้งชมรมไทยพัฒน์ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใน 3 ลักษณะคือ ร่วมทรัพย์ ร่วมแรง และร่วมใจ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากร่วมมือกับบริษัทอื่นในการแบ่งเงินจำนวน 10% ของกำไรเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อส่วนรวมโดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น วิจัยและสนับสนุนการวิจัยที่ส่งเสริมแนวทางแห่งการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ทางชมรมยังได้จัดตั้งกองทุนไทยพัฒน์-รัศมี เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยได้ตั้งโครงการ เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง "เพื่อนเสี่ยวเกลอ" มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง และสินค้าที่ผลิตต้องไม่ใช้สารเคมี โครงการนี้ขณะนี้มีสมาชิก 20 ชุมชนจากทุกภาคทั่วประเทศ

เมื่อมองถึงการบริหารจัดการของบริษัทชื่อไทย.คอม บริษัทยังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความพอประมาณ โดยบริษัทจะไม่รับโครงการที่มากเกินความจำเป็น แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของความอยู่รอดทางธุรกิจและไม่มีการกู้ยืมเงินจากภายนอก ตลอดจนไม่มีแผนในการขยายกิจการไปในด้านที่ไม่ใช่ความสามารถเฉพาะทางขององค์กร อีกทั้งในด้านกำไร บริษัทมีความพอใจที่จะได้รับกำไรในระดับพอประมาณ ไม่โลภ

ทั้ง 4 บริษัทนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่คณะทำงานฯ เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจให้กับบริษัทเอกชนทั้งหลายได้เห็นว่าจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในภาคธุรกิจอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ความมุ่งหวังที่ต้องการคือความสุขที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.