|

เลี่ยง 'นอมินี' ฟอกกุหลาบแก้ว ทนงชี้นำผลสอบ-ขู่ตปท.เผ่น
ผู้จัดการรายวัน(24 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เริ่มแล้วปฏิบัติการฟอกกุหลาบแก้วป้องชินคอร์ป แถลงประชุมคณะกรรมการชุดใหม่นัดแรกกำหนดกรอบการทำงานพิลึก เบี่ยงประเด็นนอมินี ไปนับหนึ่งใหม่ “ยรรยง” อ้างที่ผ่านมาลืมคำถามอื่นๆ ที่มีการร้องเรียน เผยใช้เวลาอีก 2 เดือน “สมคิด” ฟุ้งยึดความเป็นธรรม โยน “ปรีชา” เปิดผลสอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วน "ทนง" เล่นบทลูกจ้างชินฯ ออกโรงอุ้ม ระบุการใช้นอมินีถือหุ้นเป็นประเพณีปฏิบัติ ใครๆ ก็ทำ พร้อมชี้นำคณะกรรมการสอบฯ ถ้าผลตัดสินกุหลาบแก้วผิด ต่างชาติจะไม่เข้ามาลงทุน ขณะที่กฤษฎีกาตีความ สตง.มีอำนาจสอบสรรพากรกรณีละเว้นภาษีขายชินคอร์ป
วานนี้ (23 ส.ค.) นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญประชุมคณะทำงานพิจารณาและกำกับการตรวจสอบการถือหุ้นและการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ครั้งที่ 1/2549 โดยมีกรรมการจากหน่ายงานต่างๆ มาร่วมประชุม ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียน ก.ล.ต. นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา น.ส.สุภาภรณ์ ใจอ่อนน้อย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายขจิต สุขุม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ 8 กรมทรัพย์สินทางปัญญา
นายยรรยงกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดกรอบการพิจารณาว่าจะมุ่งไปประเด็นใดบ้าง และจะสอบเพิ่มเติมประเด็นใด โดยได้นำเอาข้อร้องเรียนจากกลุ่มต่างๆ ที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ สมาพันธ์ประชาธิปไตย และของวุฒิสภา มาสอบให้ครบทุกประเด็น เพราะข้อร้องเรียนไม่ใช่เฉพาะแค่ประเด็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือชินคอร์ป แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็นที่มีการร้องเรียนมา ซึ่งต้องตรวจสอบให้ครบทุกประเด็น
“ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มุ่งสอบแต่ประเด็นนอมินี เพราะเขาเห็นว่าเป็นประเด็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว คนร้องเรียนเขาร้องเรียนให้สอบในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นแทน การได้รับการสนับสนุนจากคนต่างด้าว การซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะหรือไม่ รวมถึงการให้สอบบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ซีดาร์ โฮลดิ้ง ไซเพรส โฮลดิ้ง และแอสเพน โฮลดิ้ง รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่อาจจะเข้าข่ายนอมินีของคนต่างด้าว โดยการตรวจสอบครั้งนี้ ไม่ใช่การสอบตามธง แต่เป็นการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนที่มี”
แนวทางการสอบสวน จะดำเนินการโดยแยกการสอบออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเชิญผู้กล่าวหา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สมาพันธ์ประชาธิปไตย และวุฒิสภา มาให้ข้อมูล เพราะการกล่าวหาผู้ที่กล่าวหาต้องมีข้อมูลและข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ส่วนที่สอง จะเชิญผู้ที่ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะรายที่มีการระบุว่ายังส่งข้อมูลไม่ครบให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางรายที่สงสัยว่าเป็นนอมินี ก็จะมีการสอบให้ชัดเจนว่าเป็นนอมินีของใคร ไม่ใช่การกล่าวหาลอยๆ ว่าเป็นนอมินี ทั้งนี้จะสอบถึงธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนที่สาม ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกลต. ซึ่งแต่เดิมมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว ให้ส่งผลการตรวจสอบมาว่ามีแนวทางอย่างไร ครบถ้วนหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา และส่วนที่สี่ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นคนนอกให้เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยพิจารณาผลการสอบสวน
“ที่คิดไว้จะประชุมทุกสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 2 สัปดาห์ 1 ครั้ง โดยคาดว่าน่าจะสรุปเรื่องได้ภายในกรอบเดิมคือ 2 เดือน” นายยรรยงกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวแล้ว และมีข้อสรุปออกมาว่าบริษัท กุหลาบแก้ว เข้าข่ายเป็นนอมินี แต่ไม่ทันที่จะประกาศผลสอบออกมา ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบใหม่
นายยรรยงกล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาอย่างไร เพราะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่สอบสวน เป็นเพียงแค่ผู้กำกับดูแลกฎหมาย ส่วนใครจะผิดหรือไม่ผิด ก็ต้องส่งเรื่องให้ตำรวจทำตามขั้นตอน ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินของเงินที่นำมาลงทุนนั้น เพราะในคณะกรรมการชุดนี้ มีผู้แทนจากกระทรวงการคลังแล้ว และลักษณะการทำงานก็คล้ายๆ กัน สามารถที่จะตรวจสอบได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเชิญผู้แทนธปท.เข้ามา
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล ในฐานะที่กำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ก็ได้กำชับว่าต้องให้ความเป็นธรรม และหากผลสอบเสร็จเมื่อใด ก็ให้รีบประกาศต่อสาธารณชน หรือระหว่างการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม หากมีประเด็นใดเพิ่มเติม ก็ควรประกาศให้ทราบเช่นเดียวกัน
“การตั้งกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องให้ความเป็นธรรม ส่วนการเปิดเผยข้อมูลผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ไปถามนายปรีชาเอาเอง” นายสมคิดกล่าว
ทนงแส่ป้อง-อ้างนักลงทุนหนี
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการถือหุ้นแทนกัน (นอมินี) ในหลายๆ บริษัทของไทยนั้น สุดท้ายแล้วข้อสรุปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับคำตัดสินของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ แต่สุดท้ายแล้ว ต้องมีการออกประกาศอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า ไทยควรจะใช้วิธีการคิดสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ ของนักลงทุนต่างชาติแบบใด จะคิดแบบยึดตามกฎหมายที่ระบุให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% ในบริษัทนิติบุคคลในไทย หรือจะคิดแบบสะสม คือ รวมกับสัดส่วนหุ้นที่ต่างชาติถือหุ้นนิติบุคคลโดยมีการถือผ่านบริษัทอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการตรวจสอบ ควรจะต้องคำนึงถึงประเพณี หรือวิธีการปฏิบัติที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นแบบใด โดยกรณีการมีนอมินีถือหุ้นแทน ด้วยการถือไขว้ไปมานั้น ที่ผ่านมาถือว่าเป็นประเพณีที่มีวิธีการปฏิบัติกันมานานพอสมควร ในหลายๆ บริษัท อาทิ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งที่ตนเป็นประธานกรรมการอยู่ก็มีลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีบริษัท กุหลาบแก้ว เพียงแห่งเดียว ซึ่งหากผลสรุปบอกว่าทำไม่ได้ ก็ต้องออกประกาศให้ชัดเจนว่า จะบังคับใช้ย้อนหลังหรือจะเริ่มใช้กับกรณีบริษัทใหม่ๆ ก็สามารถทำได้
โดยที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการเรียกร้องไทยมาโดยตลอด ว่าให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไม่ให้เกิน 49% แต่ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข จึงมีการถือหุ้นไขว้ในลักษณะนอมินีมาตลอด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้และทำกันมาตลอด จนเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว แต่ถ้าคนไทยไม่ต้องการแบบนี้ ก็จะต้องแก้ไขว่าจะเลือกใช้แบบใด หรือจะเลือกแบบประเทศเวียดนาม ที่ยอมเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 51% ไปเลย ข้อสรุปที่ออกมาจะต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ บริษัท ไม่ใช่เฉพาะกรณีบริษัท กุหลาบแก้ว เท่านั้น
นายทนง กล่าวว่า ถ้าหากข้อสรุปเลือกคิดสัดส่วนการถือหุ้นสะสมด้วยนั้น อาจจะส่งผลให้นักลงทุนสนใจลงทุนในไทยน้อยลง โดยขณะนี้นักลงทุนเหล่านี้ก็กำลังรอดูรายละเอียดที่จะสรุปออกมา ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของบริษัท กุหลาบแก้ว ได้ทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกไม่สบายใจ เพราะจะได้รับผลกระทบ
"เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะต้องไปดูว่า วิธีปฏิบัติหรือประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาเป็นอย่างไร ต่างประเทศเขาเคยขอมาตลอดว่า ให้ไทยยกเลิกกฎหมาย ที่ให้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% เพราะทำให้เขามีอำนาจในการบริหารงานได้ไม่เต็มที่ และที่ผ่านมาก็มีการถือหุ้นไขว้ในหลายๆ บริษัท ถ้าไปดูจะเจอเยอะมาก เพราะเขาต้องการมีอำนาจในการบริหาร ถ้าเราจะเปลี่ยนก็ต้องดูว่าจะคิดแบบใดจึงจะยอมรับได้ ผมเองไม่ได้ต้องการให้แก้หรือไม่แก้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนไทย ว่าอยากได้แบบไหน" นายทนง กล่าว
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากผลการสอบสวนออกมาเป็นอย่างไร เชื่อว่านักลงทุนจากต่างประเทศทั้งที่ลงทุนอยู่แล้ว หรือกำลังจะมาลงทุน จะมีความเข้าใจถึงผลการตัดสินที่ออกมา และในฐานะที่เคยเป็นประธานทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้มีการพูดถึงการกำหนดนิยามคำว่า “นอมินี” ด้วย แต่ตอนนี้เห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายทั้งฉบับ เพราะใช้มานานแล้ว
ยอม สตง.เข้าสอบสรรพากร
ส่วนกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียกผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร 5 ราย ไปชี้แจงเกี่ยวกับกรณี ที่กรมสรรพากรไม่เก็บภาษีการขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่า สตง. มีอำนาจเรียกสอบกรณีดังกล่าวได้นั้น ในส่วนของตนไม่จำเป็นต้องสั่งการใดๆ แต่จะปล่อยให้กรมสรรพากรดำเนินการไปตามขั้นตอน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ และในเมื่อ สตง. เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจตรวจสอบได้ ก็อยู่ที่กรมสรรพากรที่เป็นระดับปฏิบัติต้องไปดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวเอง
นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากนี้กรมสรรพากรต้องไปหารือกันให้เกิดความชัดเจน ว่าจะต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะถือว่าต้องทำตามกรอบของกฎหมาย โดยช่วงที่ผ่านมา การที่ต้องทำหนังสือไปหารือกับกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจของ สตง. นั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่ามีกรณีการเรียกสอบเฉพาะราย และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย จึงต้องขอหารือไปที่กฤษฎีกา
"การดำเนินการอะไร ถ้ากฎหมายห้าม ก็ไม่ทำ เขาก็อยากให้เกิดความชัดเจนกับทั้งสองหน่วยงาน ว่าอำนาจกรมสรรพากรในการเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีทำได้หรือไม่ และอำนาจของ สตง. ตามรัฐธรรมนูญ ถ้ากฤษฎีกาบอกว่ามีอำนาจทำได้ เรื่องก็จบ" นายไชยยศ กล่าว
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจกิจการพิเศษ สตง.เปิดเผยว่า ขณะนี้ สตง. ยังไม่ได้รับผลวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเบื้องต้นแนวการตอบข้อหารือของกฤษฎีกา ชี้ว่า สตง.มีอำนาจในการตรวจสอบข้อมูล เหตุเพราะกรมสรรพากร ได้ตอบข้อหารือของเอกชนมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการชี้นำเรื่องแนวทางการเสียภาษีของเอกชนด้วยว่าจำเป็นต้องเสียภาษีหรือไม่
"จากนี้ไปการตอบหนังสือข้อหารือของเอกชนของกรมสรรพากร จะต้องใช้วิจารณญาณในการตอบสูงมากขึ้น เพราะถือเป็นการชี้นำและผูกผันต่อองค์กร" นายพิศิษฐ์กล่าวและยืนยันด้วยว่า การตรวจสอบในกรณีนี้ของ สตง. ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร แต่เป็นการดำเนินงานไปตามบทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมาให้ข้อมูล สตง. แล้ว จำนวน 2 ราย และอีก 3 รายที่เหลือ ก็ไม่ได้มีการขอเลื่อนนัดอีก ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้เข้าให้ข้อมูลชี้แจงต่อ สตง. แล้ว และในวันนี้ (24 ส.ค.) น.ส.โมฬีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จะเข้าให้ข้อมูลจากนั้นจะเป็นคิวของ นางไพฑูรย์ พงษ์เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร ในวันที่ 25 ส.ค. และนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ ในวันที่ 29 ส.ค. ต่อไป
"หากทั้ง 5 ราย ชี้แจงหมดแล้ว สตง. จะได้รวบรวมสรุปข้อมูล เพื่อดูว่ายังมีประเด็นใดที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หรือยังไม่ชัดเจนอีก เพื่อที่จะได้ขอข้อมูลเอกสารเพิ่มหรือเชิญบุคคลมาชี้แจงเพิ่มเติม รวมทั้งอาจจะต้องเรียกพยานที่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการมาให้ข้อมูลด้วย หากพบว่าข้อมูลที่ได้ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องรอสรุปข้อมูลชี้แจงของ 5 ราย"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|