ภาพลวงตาและหลุมพรางตลาดหุ้นไทย

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงสิ้นปีเช่นนี้ นักลงทุนในตลาดไทยส่วนมากรวมทั้งนักวิเคราะห์ และสื่อสารมวลชนเองก็ตาม จะมีประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจติดตามข้อมูล นั่นคือการคาดหมายหรือทำนายภาวะตลาดหุ้นในปีหน้า เพื่อที่จะดูว่าจะลงทุนอย่างไรต่อไป

ปกติการทำนายภาวะตลาดก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รวมถึงการคาดหมายภาวะเศรษฐกิจด้วย และสื่อมวลชนจะรายงานรายละเอียดเช่นนี้ตลอดเวลา แต่ประเด็นที่ควรต้องคำนึงถึงมากกว่า คือคนที่ฟังเรื่องเหล่านี้ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากคำทำนายและคำแนะนำเหล่านั้น

ในสหรัฐอเมริกา มีคนทำนายภาวะตลาดเยอะมาก เยอะจนกระทั่งไม่มีใครนั่งฟังคนทุกคนทำนายได้หมด และคำทำนายนั้นมีที่ขัดแย้งกัน มีทั้งผิดและถูกเต็มไปหมดในตลาดสหรัฐฯ คนบรรลุนิติภาวะการลงทุนไปแล้วแต่ประเทศไทยนักลงทุนไทยยังไม่อยู่ในระดับนั้น

ดร.ธวัช อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการบลจ.บัวหลวง ซึ่งบริหารกองทุนเปิดรายใหญ่ที่สุดในประเทศเวลานี้ให้ทัศนะว่า "หากมีคนเขียนเรื่องทำนายตลาดหุ้น ผมคิดว่าควรจะเขียนหรือพูดเรื่องแนวคิดและความเข้าใจในการลงทุนอย่างถูกต้องมากกว่า มันเป็นเรื่องที่จะทำนายได้ยากมากกว่าตลาดหรือความสัมพันธ์ของราคาจะเป็นอย่างไร แต่ว่าสื่อมวลชนอาจจะไม่เข้าใจตรงจุนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ว่าไม่ได้เพราะกระทั่งผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักก็ยังไม่เข้าใจจุดนี้เช่นกันคนที่เข้าใจอย่างนี้มีน้อย นับนิ้วได้"

"ผมจะไม่มีการทำนายภาวะตลาดในอนาคต แม้ว่าผมจะทำบ้างโดยส่วนตัว แต่ผมจะไม่มีการแนะนำเพราะว่ามันมีหลุมพรางมาก และจริงแล้วการทำนายตลาดหุ้นเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์" ทั้งนี้เขาเปรียบเทียบว่าการจัดการกองทุนคล้ายกับการขับรถ มันมีปัจจัยที่จะเข้ามามีผลบกระทบเยอะมาก คนขับรถที่เก่งจะมองไปข้างหน้าไกลกว่าคนอื่น ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจว่าข้าหน้าสั้น ๆ จะมีอะไร คนที่จัดการกองทุนเก่งไม่ต้องทำนายอันนี้เป็น แต่เขาต้องมีข้อมูลเพียงพอ มีความสามารถในการจำแนกแยกแยะข้อเท็จจริง มีเงินลงทุน และมีการโต้ตอบเก่งพอ

ทั้งนี้หน้าที่ในอาชีพของผู้บริหารกองทุนไม่ใช่การจับผิดแต่เขาต้องพยายามที่จะดูว่าอะไรคือข้อเท็จจริง และอะไรที่ไม่ใช่ต้องพยายามแยกแยะออกมาให้ได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ทำนายตลาดอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย มีผู้ที่มองว่าตลาดจะผงกหัวกลับขึ้นมาได้ถึงระดับ 1,000 ซึ่งผู้บริหารกองทุนบางท่านก็รู้สึกอยู่เช่นกัน เพราะนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเริ่มขายไม่เยอะแล้ว

แต่หากกล่าวโดยรวม ดร.ธวัชมองว่าราคาได้ลงมาเยอะแล้ว "จากประสบการณ์ทั้งหมด มันต้องมี rebound หรือราคาต้องดีดตัวกลับ แต่ปัญหาคือที่ตรงจุดนี้ หรือตรง 850 หรือ 800 มันก็แล้วแต่แนวทางที่ลงทุน ว่าเป็นสั้นหรือยาว หากถือยาวก็ยังรับมือกับการลงได้ เพราะใช้วิธีซื้อถัวเฉลี่ย ไม่ใช่ซื้อราคาเดียวเพราะว่าข้อมูลก็มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ"

นอกจากว่าการทำนายภาวะตลาดจะเป็นเรื่องที่ยากและไม่ควรทำแล้ว ประเด็นที่นักลงทุนควรสนใจทำความเข้าใจให้ถ่อนแท้เพื่อให้เกิดภาพลวงตาอีกอย่างคือเรื่องการวดัผลการดำเนินงาน ซึ่งปรากฏว่าการวัดผลไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามในสังคมไทยนั้น เช่น การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวม การวัดผลการดำเนินงานของรัฐบาลดร.ธวัชให้ทัศนะว่า "ในสังคมเราขาด perspective หรือการมองเปรียบเทียบกว้าง ๆ และเราก็ขาด long term view ที่จะมองย้อนไปไกล ๆ และ anticipate ข้างหน้าไกลหน่อย นี่เป็นวัฒนธรรมที่แย่มากสำหรับการพัฒนาประเทศ

ประเด็นนี้เป็นเชื่อโรคร้ายสำคัญของประเทศไทยในแง่ที่ว่าเราไม่สามารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม เหมือนกับผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งคนที่สามารถควบคุมได้ก็จะวัดเป็นรายไตรมาสไป แต่ข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไร

ในการเปรียบเทียบการบริหารกองทุนนั้น อาจจะนำเอาอัตราผลตอบแทนในอดีตที่กองทุนทำได้มาเป็นตัวตัดสิน แต่การเปรียบเทียบเช่นนี้จะมีความน่าเชื่อถือเพียงใดควรพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการเปรียบเทียบด้วย

ช่วงเวลาในการวัดผลที่สั้นไป เช่น การวัดผลรายไตรมาส หรือรายปี อาจบิดเบือนความสามารถในการบริหารของบางกองทุนได้ ถ้าขยายเวลาที่ใช้วัดผลให้กว้างขึ้นจะได้ผลการวัดที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เช่น การเปรียบเทียบผลงานระหว่างกองทุน ก. และ กองทุน ข. ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งพร้อมกัน

นักลงทุนระยะยาว จึงควรให้ความสำคัญกับการวัดผลที่ใช้ช่วงเวลายาว ๆ เพราะข้อมูลจะน่าเชื่อถือถือมากกว่า ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับวัดกองทุนหุ้นทุน ควรจะประมาณ 3-5 ปี

การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นประเด้นที่มีการโต้เถียงกันมากในช่วงหนึ่งในบรรดากองทุนรวมทั้งหลาย 8 รายในประเทศเวลานี้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนจะพึ่งได้คือการพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของตนขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้แยกแยะหลุมพรางหรอืภาพลวงตาออกจากข้อเท็จจริงได้เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.