'ธนชาติ' กับแนวรบทั้งสองด้าน…เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

โดย ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หุ้นบงล.ธนชาติมีราคาต่ำลง ๆ หลังมีข่าวลือหนี้เสียของ บมจ.สมประสงค์แลนด์ฝรั่งเทขาย ตามติดด้วยรายย่อย นี่เป็นเพราะอิทธิพลข่าวลือหรือมีสิ่งใดแอบแผงมากกว่านั้น ในขณะที่ผู้บริหารยืนยันแน่ชัด ธนชาติไม่มีหนี้เสีย เพราะยังรักษาแนวคิดอนุรักษนิยมตลอดมาเป็นแนวทางที่จะยึกถือต่อไป

พลันพลันที่ข่าวการตกแต่งบัญชีอขง บมจ.สมประสงค์ แลนด์หรือ SOMPR กระหึ่มไปทั่วตลาดหลักทรัพย ์เมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ราคาหุ้น SOMPR ที่ดิ่งลงฟลอร์เท่านั้น แต่หุ้นของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ (มหาชน) หรือ NFS ก็ขานรับข่าวในทางเดียวกันแทบจะทันที

ไม่แปลกอะไรที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ NFS จะกระหน่ำเทขายหุ้นเช่นนี้ เพราะการที่ NFS เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ซึ่งปล่อยกู้ให้กับโครงการของ SOMPR ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นหวั่นใจว่า NFS ย่อมจะได้รับผลกระทบจากสถานะการเงินที่ง่อนแง่นจาก SOMPR

หากให้ความเป็นธรรม และมองลึกไปถึงความรู้สึกของผู้ถือหุ้นรายย่อยก็คงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

ย้อนหลังไปเมื่อต้นปีนี้ ข่าวหนี้เสียจาก SOMPR และ บริษัทวิทยาคม จำกัด (มหาชน) หรือ VK ซึ่งเป็นลูกหนี้อีกรายของ NFS ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นของรายย่อยมาแล้ว

รวมทั้งในกลางปีที่ผ่านมา ข่าวหนี้เสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็สาดซัด NFS อีกระลอก ซึ่งในครั้งนั้นผู้บริหาร NFS โดย ศุภเดช พูนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ออกโรงปฏิเสธไปแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ยังไม่วางใจเท่าใดนัก เมื่อเกิดกรณีของ SOMPR ในรอบนี้จึงกลายเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อเดิม ๆ ว่า NFS ประสบปัญหาหนี้เสียจริง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ผลประกอบการที่ตกต่ำลงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นคลางแคลงใจมากขึ้นถึงสถานะทางการเงินของบริษัท

ทว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นมีมูลความจริงมากน้อยแค่ไหน คุณภาพลูกหนี้ของ NFS และสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน เป็นเช่นไร

คำถามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รุกและเร้าให้ผู้บริหารอย่างบันเทิง ตันติวิทประธานกรรมการบริหาร ต้องยอมเปิดปากเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมานานหลายปี

หนี้ SOMPR-หลักประกันคุ้มทุน

ในฐานะของผู้บริหารที่อยู่กับ NFS มาตั้งแต่ปี 2523 อันเป็นปีที่ NFS สลัดคราบจาก บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แคปปิตอลทรัสต์ จำกัด มาเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ อย่างไรปัจจุบัน ทั้งบันเทิงและศุภเดชจึงรู้ตื้นลึกหนาบางใน NFS เป็นอย่างดี การตอบรับกระแสข่าวดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างเยือกเย็นและสุขุมเป็นอย่างยิ่ง

"ราคาหุ้นตกมัน เพราะผลกำไรตก และกำไรในอดีตที่ดีมาก ๆ มันก็มาจากการขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเงินทุน พอตลาดไม่ดี มีข่าวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มันก็โยงถึงธุรกิจเงินทุน ผลมันก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น ๆ กัน " บันเทิงโยงภาพกว้าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ

ต่อคำถามกรณีสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นที่มาหลักของความตกต่ำของราคาหุ้น NFS บันเทิงก็ยังใจเย็น เช่นเดิม ด้วยเพราะ NFS ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% ของพอร์ตทั้งหมดหรือเพียงประมาณ 6-7 พันล้านบาทเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เขารู้ถึง "แก่น" ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีวงจรขึ้น และลงสลับกันไป บางคราวภาวะเศรษฐกิจดี ธุรกิจดำเนินไปได้ ลูกหนี้ก็สามารถชำระคืนหนี้ได้ แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจนี้ตกต่ำ ลูกหนี้ก็อาจติดขัดบ้าง

"มันก็มีเป็นช่วง ๆ ที่ลูกหนี้พวกนี้จะค้างชำระบ้าง (NON-PERFORMING LOAN) แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้รับชำระคืน ตั้งแต่ที่ทำธุรกิจมา ธนชาติไม่เคยมีหนี้เสียสักบาทเดียว"

ทั้งนี้เพราะการปล่อยกู้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทบทุกราย ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าหากเกิดกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ NFS มีสิทธินำสินทรัพย์ค้ำประกันไปขายและนำเงินมาชำระเป้นค่าหนี้สิน และดอกเบี้ย

ดังนั้นไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร NFS ย่อมได้รับเงินกู้คืนอย่างแน่นอน การปล่อยกู้ให้ธุรกิจนี้จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยกู้ในธุรกิจอื่นที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยซ้ำ

กรณีของ SOMPR ก็ไม่แตกต่างกันเป็นการกู้ยืมที่มีหลักประกัน โดย SOMPR กู้เงินจาก NFS ไปเป็นจำนวน 632 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับโครงการบ้านพิมาน-ชะอำ ซึ่งก่อสร้างเสร็จไปแล้วและอยู่ระหว่างการขายพร้อมโอน เป็นจำนวน 32 ล้านบาท และเงินกู้สำหรับโครงการบ้านพิมาน-พุทธมณฑล ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นจำนวน 600 ล้านบาท

เงินกู้ทั้งสองรายการมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นบ้าน และที่ดินในวงเงิน 63 ล้านบาทสำหรับโครงการที่ชะอำและ 1,090 ล้านบาท สำหรับโครงการพุทธมณฑล หรือวงเงินกู้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 51.54% และ 55% ของโครงการแรกและโครงการที่สองตามลำดับ

"เรามีหลักประกันแน่นอนอยู่แล้ว มันมีค่าแน่ ๆ ไม่มีทางเป็นศูนย์ไม่ว่าสมประสงค์จะล้มหรือไม่ล้มก็ตาม แต่เราหวังว่าจะไม่ล้ม ผมมั่นใจว่าธนชาติได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างรับคืนแน่นอน" บันเทิงกล่าวอย่างเชื่อมั่น

นอกจากนี้ เมื่อมองในมุมกลับ ถ้าหนี้ของสมประสงค์เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและกลายเป็นหนี้สูญไปจริง สิ่งที่ NFS ต้องสูญเสียไปก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

"ถ้าเราเสียหนี้ของ SOMPR มันก็จะกระทบ NFS น้อยมาก เพราะเราสามารถนำหนี้สูญไปหักภาษีได้ ซึ่งจะทำให้เรา สูญไปประมาณ 420 ล้านบาท ซึ่งถ้าหารด้วยจำนวนหุ้นทุนของเรามันก็จะตกประมาณหุ้นละบาทกว่าเท่านั้น"

กระนั้นก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการมีหนี้อย่าง SOMPR ก็ส่งผลถึงภาพพจน์และทำให้ NFS มีต้นทุนเพิ่ม "แม้หนี้สมประสงค์จะไม่ใช่หนี้สูญ แต่ธนชาติก็จะมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งเป็นค่าเสียโอกาสทั้งในการนำดอกเบี้ยค้างรับไปลงทุนอย่างอื่นและการำนเงินที่ให้สมประสงค์กู้ไปให้บริษัทอื่นกู้ ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า" นักการเงินรายหนึ่งระบุ


VK เหลือหนี้แค่ 30 ล้านบาท

นอกจาก SOMPR แล้ว ข่าวของ VK ก็เป็นสิ่งที่โยกคลอนภาพพจน์ของ NFS ไม่แพ้กัน โดย VK กู้เงินจาก NFS ไปร่วม 200 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ NFS จึงต้องบังคับขายหลักประกันเงินกู้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้

ลูกหนี้อย่าง VK อาจสร้างความลำบากใจให้ NFS มากกว่า SOMPR เพราะมีหลักประกัน เป็นหุ้นของบริษัท แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) (PA) หรือ บมจ.เฟิร์สท์ แปซิฟิคแลนด์ ในอดีต จำนวน 13% ของทุนจดทะเบียน เพราะแม้ว่าการมีหลักประกันเป็นหุ้นจะดีกว่าที่ดินตรงที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่เมื่อพิจารณาหุ้น PA แล้ว ภาวะความเสี่ยงกลับมีสูงขึ้น เพราะฐานะทางการเงินและภาพพจน์ของบริษัทก็มิได้สวยงามไปกว่าบริษัทแม่อย่าง VK โอกาสขายเพื่อเก็บเม็ดเงินชำระหนี้ก็ยากอยู่แล้ว การหวังกำไรจากหุ้นล็อตนี้จึงไม่ต้องพูดถึง

ดังนั้นในการตีมูลค่าหุ้นที่เป็นหลักประกันจึงต้องคิดถึงเรื่องความไม่แน่นอนของราคาที่จะเกิดขึ้น เรียกว่าต้องงัดรายการสินทรัพย์ในงบดุลมากถกกันใหม่ รายการไหนไม่แน่ใจว่าควรมีมูลค่าแค่ไหนก็ตัดออกไปและบางรายการก็ตีมูลค่าเหลือเพียงครึ่งเดียวของตัวเลขในงบดุล ซึ่งเท่ากับว่าเป็นราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (DISCOUNT)

"ตัวเลขที่เราตำนวณออกมามันต้องมีควาหมายและบอกมูลค่าของสินทรัพย์นั้นได้จริง ๆ และต้องปลอดภัยสำหรับธนชาติ ถ้าเราบอกว่ามีค่า 100 บาท ก็ต้องมีค่า 100 บาทหรือมากกว่านั้น" บันเทิงกล่าวอย่างหนักแน่น

แต่การขายหุ้น PA ได้ในราคาหุ้นละประมาณ 7 บาท กลับเป็นราคา 'ดี' อย่างผิดคาดในสายตานักสังเกตการณ์ทางการเงินเพราะว่าเป็นการซื้อโดยบริษัทในเครือของ NFS เอง

การซื้อขายดังกล่าวจึงไม่ผิดกับการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายไปให้กระเป๋าขวานั่นคือเอาเงินจากบริษัทในเครือ NFS มาชำระหนี้ให้กับ NFS แม้เป็นการเคลียร์ภาพ NFS ให้ "ดูดี" ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มองในภาพรวมแล้ว NFS ก็ยังมิอาจสบัดภาระ VK ออกไปได้ เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้ไปเป็นเจ้าของบริษัทในเครือของ VK เท่านั้น อีกทั้งยังถูกมองว่าเข้าไปเทกโอเวอร์ PA

อย่างไรก็ตาม บันเทิงกล่าวว่าเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะทำให้ VK ลดภาระหนี้ ซึ่งหลังจากการขาย PA ออกไปทำให้หนี้สินของ VK เหลืออยู่ใน NFS เพียงแค่ 30 ล้านบาทเท่านั้น ขณะเดียวกัน PA ก็ดูเหมือนมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการมีผู้ถือหุ้นรายใหม่ ๆ เข้าไป

"เราไม่ได้ต้องการเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทหรืออะไร เพราะตกลงกับบริษัท VK ไว้ว่าภายในเวลาพอสมควรเช่น 3 ปี หรือ 5 ปี หากเขาต้องการซื้อหุ้นคืน เราก็ยินดี แต่ระหว่างนี้เมื่อเราเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเข้าไปช่วยทำให้บริษัทดีขึ้น" นั่นก็เพื่อความมั่นใจว่าเรื่องหนี้สินที่ยังค้างคากันจะมีโอกาสได้รับการชำระที่แน่นอนขึ้นนั่นเอง

พอร์ตสินเชื่อ-อนุรักษนิยมทุกกรณี

ไม่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ต้องมีหลักประกัน การปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอื่นก็ทำอย่างรัดกุมเช่นเดียวกัน ดังนั้นแม้จะเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ในเชิงส่วนตัวหรือการร่วมธุรกิจกันก็ตาม บันเทิงก็ย่ำหนักแน่นว่าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแม้แต่กลุ่มแปลน อะคิเทค ซึ่งผู้บริหารคุ้นเคยกันตั้งแต่รุ่นพ่อและทำธุรกิจร่วมกันในนาม บริษัทแปลน เรียล เอสเตท โดยมี NFS และบริษัทในเครือเข้าถือหุ้น 50% ก็ไม่อยู่ในข่ายยกเว้น

"ยิ่งบริษัทที่รู้จักกันและสนิทกันเท่าไรก็ยิ่งต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น" บันเทิงย้ำ

มีเพียง 3-4 บริษัทเท่านั้นที่ NFS ยอมปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกัน เขาให้ข้อมูลว่า "บริษัทเหล่านี้เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี เรามีความเชื่อมั่นว่าไม่มีทางเบี้ยวหนี้เราแน่ แต่เราคงเอ่ยชื่อที่นี่ไม่ได้"

โดยเฉลี่ยแล้ววงเงินกู้จะไม่เกิน 60-70% ของมูลค่าหลักประกัน แต่วงเงินที่ปล่อยเงินกู้อาจจะมากหรือน้อยกว่าระดับนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อีก เช่น บุคคลล้ำประกัน บุคคลที่ขอกู้

นอกจากหลักประกันแล้ว สิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากการเกิดหนี้สูญก็คือการตั้งสำรองหนี้สูญไว้ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายของสถาบันการเงินต่าง ๆ

โดย NFS จะตั้งสำรองหนี้สูญ 2 แบบ คือตั้งสำรองทั่วไปและตั้งสำรองพิเศษซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

"นโยบายเราตอนนี้ตั้งสำรองทั่วไปไว้ประมาณ 1% ของยอดสินเชื่อ แต่คิดว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มเพื่อประโยชน์ทางด้านภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรอนุญาตให้ตั้งสำรองโดยสามารถนำยอดไปหักภาษีได้ถึง 3%"

ตัวเลขเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 บริษัทมียอดกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 856 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.47% ของยอดสินเชื่อและมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสุญ 94 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ จากการรับรู้รายได้จากยอดลูกหนี้ค้างชำระ 2-3 เดือนเป็นยอดค้างชำระ 6 เดือน

"อย่างกรณี SOMPR เมื่อรับรู้รายได้ 6 เดือน แม้ว่าเรากจะมีหลักประกันก็ตามเราก็ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ เพราะคนนอกมองว่ามันเป็นปัญหา เราจึงตั้งสำรองเต็ม 100% ดังนั้นยอดดอกเบี้ยค้างรับที่เพิ่มขึ้นเมื่อไปหักลบกับการตั้งสำรองมันก็เท่ากับว่าไม่มียอดดอกเบี้ยค้างรับของ SOMPR มาเป็นรายได้"

ขณะที่ศุภเดชเสริมว่าเมื่อใดก็ตามที่บริษัทไม่แน่ใจในยอดดอกเบี้ยค้างรับก็จะตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญทันที

"เราพยายามยึดแนวทางอนุรักษนิยมให้มากที่สุด" ศุภเดชย้ำ

กระนั้นก็ตาม บันเทิงยอมรับว่าปัญหาเรื่องการค้างชำระหนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น การแก้ปัญหาก็คือต้องเจรจากับลูกหนี้และหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป

"เวลาหนี้มีปัญหาไม่ใช่ว่าเราจะฟ้องร้องเลย เราจะคุยกับเขาก่อนว่าปัญหาเขาคืออะไร มีทางช่วยเหลือหรือไม่ ช่วยได้ก็จะประนีประนอมกัน ไม่ใช่ว่ามีปัญหานิดหน่อยก็ฟ้องลูกหนี้ แล้วใครจะมาทำธุรกิจกับเรา"

นับเป็นการยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ตาม NFS ไม่ยอมปล่อยให้เกิด (ลูก) หนี้สูญง่าย ๆ อย่างแน่นอน

กำไรลดเพราะหลักทรัพย์ซบเซา

นอกจากปัญหาลูกหนี้ ฐานะทางการเงินของบริษัทซึ่งสะท้อนออกมาในผลประกอบการก็เป็นอีกปัญหาที่ก่อให้เกิดความสงสัย เพราะกำไรสุทธิของบริษัทตกต่ำจากปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

NFS มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนเพียง 977 ล้านบาท ต่ำลง 17% เมื่อเทียบกับกำไรในงวดเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งทำได้ 1,172 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรทั้งปีของปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 1,465 ล้านบาทเศษ กำไรงวด 9 เดือนของปีนี้คิดเป็นแค่ 67% เท่านั้น ทำให้พอมองออกว่าในปีนี้โอกาสที่ NFS จะรักษากำไรไว้ได้ในระดับเดิมเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เช่นนี้ ส่วนการมีกำไรเติบโตจากเดิมนั้นปิดประตูคิดไปได้เลย ยกเว้นแต่จะทำกำไรทางลัด ด้วยการขายหุ้นในพอร์ตออกมาเท่านั้นที่จะทำให้ NFS มีกำรกระโดดขึ้นในไตรมาส 4 อย่างผิดหูผิดตา

กล่าวสำหรับ NFS การเติบโตในช่วงปี 2536-2538 ที่ผ่านมา ล้วนมีที่มาหลัก ๆ จากกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพอร์ตลงทุน และค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (BROKERAGE FEE) จะเห็นว่าเมื่อรายได้ทั้งสองส่วนลดลง ย่อมทำให้กำไรสุทธิรวมของบริษัทลดลงไปด้วย ดังเช่นในปี 2538 ที่มีรายได้ค่านายหน้าลดลง 22% ก็ทำให้กำไรสุทธิลดลง 13%

ดังนั้น ในปีนี้ เมื่อภาวะตลาดหลักทรัพย์ซบเซา รายได้จากค่านายหน้าและกำไรจากพอร์ตหดหายตามไป ยิ่งกว่านั้นรายได้ค่านายหน้าที่ลดลงยังเป็นผลมาจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเพราะมีโบรกเกอร์เพิ่มอีก 5 ราย

นอกจากนี้ รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นเพิ่มทุนหรือตราสารหนี้ต่าง ๆ ก็ลดลง ทั้ง ๆ ที่ในปีที่แล้ว NFS มีรายได้ด้านนี้โดดเด่นกว่าไฟแนนซ์อื่น ๆ โดยมีจำนวนดีลของหุ้นสามัญใหม่ (IPO) มากที่สุด และมีรายได้ค่าธรรมเนียมมากเป็นอันดับสองของอุตสาหกรรม แต่ในปีนี้ บริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ล้มพับโครงการไปหลายราย ด้วยเหตุความซบเซาของตลาดรอง รายได้ค่าธรรมเนียมจึงลดลงไปด้วย

ทว่า ผลประกอบการที่ลดของ NFS กลับไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของผู้บริหาร ตรงกันข้ามกลับเป็นผลประกอบการที่อยู่ในภาวะที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง "เรื่องที่ไม่ปกติคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามากกว่า เพราะช่วงนั้นสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะ NFS มีมาร์จินสูงถึง 40-50% ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอนจริง ๆ แล้วธุรกิจการเงินมันควรมีกำไรอยู่ระหว่าง 10-20% คือในช่วงที่แย่ที่สุดก็ไม่น่าต่ำกว่า 10% แต่ในช่วงที่ดีที่สุดก็ไม่ควรเดิน 20%"

เรียกว่าพ้นช่วงเวลาตักตวงของสถาบันการเงินไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม NFS ก็มิได้นอนใจกับผลงานที่อกมา แต่ยังหวังที่จะปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะมากขึ้นในอนาคต

ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของ สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจหลักทรัพย์ถือเป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน

NFS มีจุดอ่อนคือยังไม่มีโบรกเกอร์จากต่างแดนเป็นพันธมิตร ซึ่งจะเป็นปัญหาขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงินซึ่งภาวะการแข่งขันจะเข้มข้น การมีพลังผนึก (SYNERGY) เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของธุรกิจ

เพราะไม่เพียงพันธมิตรดังกล่าวจะช่วยในเรื่องการส่งผ่านวอลุ่มซื้อขายเท่านั้น แตยังหมายถึงการเกื้อกูลด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น งานวิจัย งานด้านวาณิชธนกิจ ดังนั้นการไม่มีพันธมิตรจึงขาดโอกาสในการเรียนรู้งานเหล่านี้

ในปัจจุบัน การมีจุดอ่อนนี้ทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ NFS ไม่โดดเด่นและมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนักโดยมีฐานลูกค้าสำคัญคือผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ 50-60% สถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ 30-40% สถาบันต่างประเทศมีเพียง 10% เท่านั้น

ปัญหาขาดพันธมิตรเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร NFS รับรู้มาโดยตลอดและเริ่มวางแนวทางปิดจุดอ่อนด้านนี้ไว้บ้างแล้ว โดยในปี 2538 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วอชิงตัน แอสเซทเมเนจเมนท์ ในสัดส่วน 20% ซึ่งมีนโยบายออกกองทุนเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ในตลาดเอเชีย รวมทั้งยังได้ลงทุนบริษัทแคสเปี้ยน โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ในสัดส่วน 10% ของทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท เพื่อหวังทำธุรกิจร่วมกันทั้งในด้านงานวาณิชธนกิจ การวิจัยบริการตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์

แม้ในวันนี้ บริษัททั้งสองแห่งยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัท ทว่าในระยะยาวก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ NFS ดังที่บันเทิงระบุว่า "ฌราหวังธุรกิจต่อเนื่องจากการลงทุน"

ยิ่งกว่านั้น การลงทุนนี้ยังสอดรับกับเป้าหมายระยะยาวในการขยายตัวสู่ภูมิภาคของ NFS ที่ศุภเดชย้ำว่าจะไม่ออกสู่ตลาดต่างแดนในนาม NFS แน่นอน แต่จะใช้แขนขาจากพันธมิตรที่มีอยู่เป็นตัวแทน

ขณะที่ผู้คลุกคลีแวดวงการเงินเสริมว่า "ลงทุนในบริษัทที่เพิ่งเริ่มประกอบการเช่นนี้ จะดีกว่าการร่วมทุนกับโบรกเกอร์ที่มีสถานภาพดีอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องเสี่ยงกรณีการถอนตัวออกไปหากเกิดความไม่พอใจกัน แต่จะผูกพันกันยาวนานเพราะต้องช่วยกันสร้างฐานลูกค้า ช่วยกันทำธรุกิจโอกาสที่จะตีจากมีน้อย"

งานวาณิชธนกิจเน้นตลาดตราสารหนี้

สำหรับธุรกิจวาณิชกิจ ส่วนแบ่งตลาดในการเป็นที่ปรึกษาและจัดจำหน่ายตราสารทุนอาจจะลดลงไป แต่ NFS จะเน้นงานด้านตราสารหนี้มากขึ้นตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องคงไว้ก็คือ "คุณภาพ"

"เรายังมีนโยบายอนุรักษนิยม เราไม่แข่งเรื่องราคา แต่เน้นคุณภาพ" บันเทิงระบุ

กระนั่นเขาก็ยอมรับว่าบางครั้งการควบคุมคุณภาพก็ทำได้ยากและเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นได้ นั่นคือการที่ราคาหุ้น IPO ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ซึ่ง NFS คาดไม่ถึง แต่เขาคิดว่ากรณีเช่นนี้จะเกิดน้อยลงเนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ซบเซาบริษัทที่ต้องการระดมทุนย่อมไม่กล้าตั้งราคารายที่สูงเกินไป เพราะกลัวว่าจะขายหุ้นได้ยากนั่นเอง

ส่วนการบริหารพอร์ตลงทุน ก็ยังคงนโยบายเดิมไว้ นั่นคือเน้นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (STRATEGIC INVESTMENT) ซึ่งคือการลงทุนที่หวังผลข้างเคียง เช่น การสร้างพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ การสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ดังเช่นการลงทุนใน บงล.เอกชาติการลงทุนใน บมจ. เอ็ม บี เค พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทประกันภัย ประกันชีวิตต่าง ๆ ร่วมกับการลงทุนแบบ VENTURE CAPITAL นั่นคือลงทุนในบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และขายทำกำไรเมื่อหุ้นเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น บมจ.ชินวัตรแซทเทลไลท์ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ NFS เป็นแกนนำจัดหน่ายทั้งสิ้น

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน (PORTFOLIO INVESTMENT) NFS ไม่เน้นหนัก โดยมีนโยบายว่าลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ไม่ใช่การเก็งกำไร แต่จะขายเมื่อมีอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15%

กระนั่นก็ตามอาจจะมีการขายทำกำไรก่อนระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้เมื่อโอกาสเปิดรวมทั้งยังมีการปรับพอร์ตทั้งสามประเภทเสมอ ๆ เมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนไป ตลอดจนก็จะดึงบริษัทในเครือมาร่วมลงทุนด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา NFS ดูจะมีพรสวรรค์ทางด้านนี้ เพราะมีกำไรจากพอร์ตลงทุนสูงทุกปี บันเทิงกล่าวอย่างถ่อมตนว่า "กำไรจากพอร์ตที่เราทำได้เยอะ ๆ อาจเป็นเพราะเราตัดสินใจถูก หรือเป้นเพราะโชคช่วยด้วย"

ปล่อยสินเชื่อสถาบัน 30%

สำหรับธุรกิจเงินทุนซึ่งแยกกันดำเนินงานเด็ดขาดกับธุรกิจหลักทรัพย์ ก็ยังคงนโยบายเติบโตเช่นเดิม ในอดีตการเติบโตสายเงินทุนค่อนข้างผันผวนโดยในปี 2536 มีอัตราเติบโตของสินเชื่อไม่ถึง 1% ปี 2537 เพิ่มขึ้น 27% และปี 2538 ขยายตัว 42%

ทิศทางที่ธนชาติต้องการไปก็คือการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นหลักแยกธุรกิจเงินทุนออกจากธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว เช่น การทำ TRADING FINANCE การค้าเงินตราต่างประเทศ โดย NFS เริ่มปูทางไว้บ้างแล้วทั้งในเรื่องบุคลากร และฐานลูกค้าด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจส่งออกมากขึ้น

ทว่าในเวลาอันใกล้นี้แนวทางใหม่ดังกล่าวก็ยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญแก่ NFS

"ถ้าอนุมัติเมื่อไรเราก็เริ่มเมื่อนั้นแต่ว่ามันก็ต้องค่อย ๆ ทำไป มันต้องเข้าไปในฐานลูกค้าเดิมของแบงก์ มันก็คงไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากให้กับธนชาติในระยะสั้น"

ส่วนในด้านแหล่งเงินทุน NFS ก็จะยังคงโครงสร้างเดิมนั่นคือมีที่มาจากฐานเงินฝากประชาชน 70% และอื่น ๆ อีก 30% ซึ่งในส่วนนี้มีที่มาจากเงินกู้ยืมสถาบันต่างประเทศถึงเกือบ 20%

ในปีที่แล้ว NFS ได้เซ็นสัญญากู้เงินจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) จำนวน 290 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,250 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นวงเงินสูงสุดที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของไทยได้รับจาก IFC

เงินกู้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินกู้ระยะยาว 6 ปี จำนวน 750 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย LIBOR บวก 1% ส่วนที่สองเป็นการปล่อยกู้ร่วมระหว่าง IFC กับสถาบันการเงินต่างประเทศอีก 17 แห่ง ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 6,250 ล้านบาท อายุสัญญา 3 ปี อัตราดอกเบี้ยสู่งกว่าระดับ LIBOR เล็กน้อย

ส่วนสุดท้ายเป็นเงินสนับสนุนของ IFC เพื่อซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพของ NFS จำนวน 250 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 7 ปี โดยมีสิทธิแปลงสภาพตั้งแต่ปีที่ 4 ของอายุหุ้นกู้ 5 ปีแรกกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ส่วน 2 ปี หลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิง LIBOR โดยขณะนี้ NFS อยู่ในระหว่างดำเนินการออกหุ้นกู้ดังกล่าว

เหตุผลที่ต้องมีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเข้ามานั้น บันเทิงย้ำว่าเพื่อต้องการคงสภาพคล่องของกิจการไว้ให้มากที่สุด "เราเชื่อว่าดอกเบี้ยมันจะไม่ต่ำลง และภาวะเงินตึงตัวจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดสิ่งนี้จึงทำให้เรามีนโยบายที่จะรับสถานการณ์อย่างนี้ดังนั้นเงินของเราจากการเพิ่มทุนหรือออกหุ้นกู้การกู้ต่างประเทศ เราจึงเน้นปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินด้วยกันโดยตรงและโดยอ้อมประมาณ 30% ของยอดสินเชื่อเราทั้งหมดเกือบ 20,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ามากที่สุดในอุตสาหกรรม"

ศุภเดชย้ำว่าการกู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ทำให้ NFS มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีเงินกองทุนสูงอยู่แล้วจากกำไรสะสมในอดีตนั่นเอง

"ฐานเงินทุนของเราใหญ่มาก เงินกู้ของเรามีน้อย ทำให้เรามีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 23% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม" ศุภเดชระบุชัด

นอกจากนี้เงินกู้ที่ว่ายังช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของ NFS ต่ำลง นอกเหนือไปจากการมีต้นทุนเงินฝาก (ตั๋ว P/N) ต่ำกว่าไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ประมาณ 0.25% แล้ว ดังนั้นผู้บริหารจึงมั่นใจว่าต้นทุนเงินของบริษัทสามารถแข่งขันได้กับไฟแนนซ์อื่น ๆ

สำหรับแนวโน้มของอุตสหากรรมเงินทุนที่จะมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นกันทั้งในด้านการระดมเงินออมซึ่ง NFS คาดว่าจะเติบโตเพียง 7-8% ในปีหน้า และการปล่อยสินเชื่อซึ่งอัตราเติบโต้ทั้งระบบเพียงประมาณ 10% จากที่เคยสูงถึง 18-20% นั้น สองผู้บริหารจาก NFS ก็ยังยืนแนวทางเดิมนั่นคือ "ไม่แข่งขันทางด้านราคา"

เมื่อมองภาพรวมแล้ว NFS ก็ยังเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่รัดกุม ทั้งในด้านหลักทรัพย์ที่เริ่มปูทางไปสู่การเป็นโบรกเกอร์ในระดับภูมิภาคไว้บ้างแล้ว และในด้านเงินทุนที่เน้นคุณภาพของลูกหนี้ควบคู่ไปกับการมีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยในเรื่องสภาพคล่องของบริษัทกระแสข่าว และราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงคลื่นลมลูกเล้ก ๆ ที่บังเอิญพัดผ่านมา ทว่าคลื่นลมดังกล่าวจะสงบอย่างถาวรหรือจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าแนวรบด้านธุรกิจหลักทรัพย์และเงินทุนที่จะสร้างขึ้นต่อไป เหมาะสมและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสยบคลื่นลมดังกล่าวหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.