LANNA ไฟเขียวให้บริษัทย่อยอัดงบ 1,100 ล.สร้างโรงผลิตเอทานอลคาดเสร็จปลายปี 51


ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ด LANNA ไฟเขียวให้บริษัทย่อย "ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่" ลงทุน 1,100 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ด้วยกำลังการผลิต 2 หมื่นลิตรต่อวัน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) โดยเงินลงทุนครั้งนี้ LANNA คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย 335 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยไม่เกิน 2 ต่อ 1

นายอนันต์ เล้าหเรณู กรรมการบริหาร บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (LANNA) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 5/2549 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติเห็นชอบให้บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 75.75 ของทุนที่ชำระแล้ว) ลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (สายการผลิตที่ 2) ในพื้นที่ต่อเนื่องกับโรงงานปัจจุบัน (สายการผลิตที่ 1) ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 1,100 ล้านบาท นั้น

ปัจจุบันบริษัทย่อยได้ยื่นเรื่องขออนุมัติลงทุนในโครงการนี้ต่อคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่ กชช.กำหนดคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้างผู้รับเหมา เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามโครงการประมาณปลายปี 2549 และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2551 ซึ่งบริษัทย่อยอยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาออกแบบก่อสร้างและจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับโครงการใหม่ โดยผู้รับเหมาดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย

สำหรับรายการดังกล่าวเป็นการทำรายการประเภทที่ 2 ตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ.2547

โดยรายการที่ได้มาคือสินทรัพย์ที่ได้มาจะประกอบด้วยที่ดิน อาคารและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน โดยจะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องกับโรงงานผลิตเอทานอลในปัจจุบัน (สายการผลิตที่ 1) ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

สำหรับรูปแบบและวิธีการชำระเงินจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับคู่สัญญา ซึ่งจะแบ่งชำระเป็นงวดตามความคืบหน้าของงานที่ทำ โดยจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 24 เดือน ซึ่งบริษัทย่อยกำลังดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาโดยวิธีการประกวดราคาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความโปร่งใสให้ได้ราคายุติธรรมและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

การลงทุนครั้งนี้ LANNA คาดว่าจะได้รับคือการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลแห่งใหม่ของบริษัทย่อย ที่ต่อเนื่องกับโรงงานปัจจุบันที่มีอยู่ อันจะมีผลประโยชน์ร่วม (SYNERGY) จากการใช้ระบบไบโอก๊าซ ระบบการเก็บและการขนถ่ายเอทานอล รวมทั้งการใช้กำลังคนและการบริหารงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดเงินลงทุนบางส่วน

การเพิ่มกำลังผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจากเดิมวันละ 150,000 ลิตร เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 350,000 ลิตร จะทำให้บริษัทย่อยมีกำลังผลิตที่เหมาะสม สามารถสนองตอบความต้องการของตลาด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ภายในปี49 ซึ่งจะทำให้มีการใช้เอทานอลเพื่อผสมเป็นน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดการขาดดุลการค้าของประเทศให้น้อยลง เนื่องจากมีการใช้น้ำมันนำเข้าลดลง และยังช่วยลดมลพิษทางอากาศให้น้อยลงด้วย

โดยเงินลงทุนครั้งนี้ LANNA คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยจำนวน 335 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน โดยจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยไม่เกิน 2 ต่อ 1

สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าโครงการลงทุนของบริษัทย่อยดังกล่าวข้างต้นนั้นมีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ บริษัทย่อยและผู้ถือหุ้นรวมทั้งส่งผลดีต่อประเทศในอนาคต โดยมีมติอนุมัติเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งหรือแตกต่าง

พร้อมกันนี้ บอร์ดบริษัทยังได้มีมติแต่งตั้งนายผดุง เตชะศรินทร์, นายสมหมาย มีทรัพย์หลาก และนายอดุลย์ ตัณฑรัตน์ กรรมการตรวจสอบที่ออกตามวาระให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจต่อไปอีกวาระหนึ่งมีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.