ยนตรกิจ บทเรียนการค้าขายกับฝรั่ง


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การจะดำรงสถานะความเป็นผู้ค้ารถยนต์จากยุโรปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับยนตรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังบีเอ็มดับบลิว ซึ่งค้าขายร่วมกันมานานกว่า 30 ปี ต้องการจะเข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง สิ่งที่ยนตรกิจต้องดิ้นเอาตัวรอด คือ การเฟ้นหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามา ซึ่งสุดท้ายก็ลงเอย ที่โฟล์คสวาเกน

ปี 2543 เป็นปีที่ยนตรกิจ ค่อนข้างแอคทีฟ มีกิจกรรมทางการตลาดปรากฏอย่างต่อเนื่อง มาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา

โดยเฉพาะภายหลังการประกาศความร่วมมือทางด้านการตลาดกับกลุ่มโฟล์คสวาเกน จากเยอรมนี มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ที่ชื่อว่ายนตรกิจ โฟล์คสวาเกน มาร์เก็ตติ้ง ขึ้น เพื่อดูแลด้านการทำตลาดรถโฟล์คในประเทศไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับยนตรกิจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนทางธุรกิจ ที่น่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจกับคู่ค้า ที่มาจากต่างประเทศ อย่างกรณีของยนตรกิจ กับบีเอ็มดับบลิว

มีการวิเคราะห์กันว่า ความแอคทีฟของยนตรกิจในปีนี้ เป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำ เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากลูกค้าให้คืนมาโดยเร็วที่สุด หลังจากเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก่อน ที่ยนตรกิจ จะมาลงเอยกับโฟล์คสวาเกน ข่าวคราว ที่ปรากฏผ่านออกมาตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับค่ายรถยนต์สัญชาติไทย ที่เหลืออยู่เพียงเจ้าเดียวแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิง ที่ไม่ส่งผลดีต่อภาพพจน์

โดยเฉพาะการสิ้นสุดการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ของรถยนต์บีเอ็มดับบลิวในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทแม่ของบีเอ็มดับบลิวจากเยอรมนีได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน และทำการตลาดในประเทศไทยเอง

_การเข้ามาทำตลาดเองของบีเอ็มดับบลิวครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียน ที่เจ็บปวดมากของยนตรกิจ_คนในวงการรถยนต์วิเคราะห์

ความสัมพันธ์ระหว่างบีเอ็มดับบลิวกับยนตรกิจ มีมายาวนานถึงกว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ในปี 2504 ที่ยนตรกิจยุคบุกเบิก ภายใต้การนำของอรรถพร และอรรถพงษ์ ลีนุตพงษ์ ได้เริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยการสั่งจากบริษัทผู้นำเข้า ที่สิงคโปร์

หลังจากนั้น ในปี 2506 ยนตรกิจ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากบีเอ็มดับบลิว เอจี ประเทศเยอรมนี ให้เป็นผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยนำรถบีเอ็มดับบลิว รุ่น 700 เข้ามาขายเป็นรุ่นแรก

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ก่อน ที่จะแยกจากกันในปี 2541 ยนตรกิจได้เน้นยอดขายจากรถยนต์บีเอ็มดับบลิวเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 60% ของยอดขายรวมของรถยนต์ทุกยี่ห้อ

หากนับรวมจาก ที่เริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายครั้งแรกในปี 2506 จนกระทั่งสิ้นสุดการเป็นตัวแทนจำหน่ายในปี 2541 ยนตรกิจได้ขายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวไปแล้วเป็นจำนวนถึง 50,000 คัน

_แต่ก่อนไป ที่ไหนคนเขาก็มองว่าบีเอ็มดับบลิวคือ ยนตรกิจ แต่พอฝรั่งเขามาทำเองเราก็ต้องยอมรับความจริง_วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหาร ยนตรกิจกรุ๊ป ทายาทรุ่นลูก ที่มีบทบาทสูงที่สุดของยนตรกิจในขณะนี้กล่าว

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 เอกชนไทย ที่เคยเป็นคู่ค้ากับต่างชาติมีการแตกคอกัน คล้ายคลึงกับกรณีของยนตรกิจ กับบีเอ็มดับบลิวอีกหลายราย บางรายจบลงด้วยการที่ต้องปล่อยให้บริษัทแม่จากต่างชาติเข้ามาฮุบกิจการในไทยไปดำเนินการเอง

กรณีของกลุ่มยานยนต์ ที่เห็นได้ชัด ได้แก่กรณีของวอลโว่ กับสวีเดนมอร์เดตอร์ส หรือกรณีของมาสด้า กับกลุ่มสุโกศล

หรือบางกรณี คู่ค้าฝ่ายไทยไม่ยินยอมต้องต่อสู้กันถึงในชั้นศาลเกิดเป็นความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เช่นกรณีของไมเนอร์กรุ๊ป กับกลุ่มไทรคอน โกลบอล เรสเตอรองส์ (Tricon Global Restaurant) เจ้าของแฟรนด์ไชส์พิซซ่า ฮัท ที่ยังคงเป็นคดีความกันอยู่ในศาลสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้

แต่กรณีของยนตรกิจ แม้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณีของไมเนอร์กรุ๊ป กับไทรคอน แต่ก็กล่าวกันว่าการเข้ามาทำตลาดในไทยด้วยตัวเองของบีเอ็มดับบลิว เยอรมนี ทำให้ยนตรกิจเสียความรู้สึกไม่น้อย

หลังสิ้นสุดการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ช่วงเวลา ที่ผ่านมา ยนตรกิจก็ยังคงมีฐานะเป็นดีลเลอร์รายหนึ่งให้กับบีเอ็มดับบลิว และโรงงานวายเอ็มซี ของยนตรกิจ ก็ยังประกอบรถยนต์บีเอ็มดับบลิว ซีรี่ส์ 5 อยู่ แต่จะประกอบต่อไปจนสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น

ทางออกของยนตรกิจ ที่ต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด คือ จำเป็นจะต้องเจรจาหารถยนต์ยี่ห้อใหม่ ที่อยู่ในระดับเดียวกับบีเอ็มดับบลิว เพื่อชูขึ้นไปเป็นสินค้าตัวนำแทนบีเอ็มดับบลิว

_หลังจากเราถูกบีเอ็มดับบลิวดึงหน้าที่การทำตลาดไป เราก็ต้องขยายแบรนด์เพิ่ม เพื่อให้องค์กรของเราอยู่ได้ เพราะว่าเราเป็นบริษัทครอบครัว ที่ไม่ lay off คน เราคิดว่าคนมีความสำคัญ ต้องหางานให้เขาทำ และคนของเราก็มีความรู้ความสามารถ ทำงานอยู่กับเรามานาน อีกอย่างหนึ่งคือ งานในธุรกิจรถยนต์ต้องใข้เวลาในการเทรนนานมากกว่าจะเป็น_วิทิตกล่าว

ก่อนหน้านี้ ในขณะที่ยนตรกิจยังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิว ยนตรกิจยังมีสายสัมพันธ์อยู่กับโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์จากเยอรมนีเช่นเดียวกันอยู่ด้วย โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้า และจำหน่ายรถตู้โฟล์คสวาเกนตั้งแต่ปี 2529 และได้เริ่มนำรถโฟล์คกอล์ฟ และ Vento เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยในปี 2536

โฟล์คสวาเกน ถือเป็นค่ายรถยนต์ของเยอรมนี ที่มีแบรนด์ ที่มีชื่ออยู่ในมือจำนวนไม่น้อย นอกจากโฟล์คสวาเกนแล้ว ยังมีออดี้ เซียท และสโกด้า และยังได้สิทธิการขายรถระดับหรูอย่างโรลส์รอยซ์ และเบ้นท์ลี่

โดยเฉพาะออดี้นั้น ถือเป็นรถระดับเดียวกันกับบีเอ็มดับบลิว

โฟล์คสวาเกนจึงถือเป็นคำตอบของยนตรกิจ มีการเจรจากันหลายรอบ จนในที่สุดโฟล์คสวาเกนได้ประกาศความร่วมมือในการทำตลาดรถโฟล์คในประเทศไทยกับยนตรกิจ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในปัจจุบัน นับว่ายนตรกิจสามารถหาแนวทางออกสำหรับตนเองได้แล้วในระดับหนึ่ง โดยได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โฟล์คสวาเกน ออดี้ เซียท สโกด้า และล่าสุดคือ โรลสรอยซ์ และเบ้นท์ลี่ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

สามารถคงสถานะความเป็นผู้แทนจำหน่าย และผู้ค้าปลีกรถยนต์จากยุโรปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับยนตรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียน ที่น่าศึกษา โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องทำการค้ากับต่างประเทศต่อไปในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.