จูนมือถือ ยุทธการปล้นไฮเทค

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

จูนมือถือ ยุทธการปล้นไฮเทค ระเบิดเวลาลูกใหม่ที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล วันดีคืนดีผู้ใช้ต้องเจอบิลเรียกเก็บเงินหฤโหดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้โทร หรือแม้กระทั่งต้องเจอความเสี่ยง ชนิดเดินไปห้างสรรพิสินค้าก็ยังไม่ได้ เหตุใด เอไอเอส-แทค เพิ่มตื่นแก้ปัญหา ต้นตอของปัญหามาจากไหน จะกลางเป็นปัญหาเรื้อรังจนเกินเยียวยา หรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตาม

จู่ ๆ สมชาย พนักงานของธนาคารแห่งหนึ่ง ก็ได้รับบิลเรียกชำระเงินโทรศัพท์มือถือที่เขาใช้เฉพาะติดต่อธุระปะปัง หรือโทรฯหาเพื่อฝูงเป็นครั้งคราว เป็นเงินถึง 1 แสนกว่าบาท ซึ่งล้วนแต่เป็นค่าโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ มีทั้งอินเดีย ไนจีเรีย บังกลาเทศ ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่เคยแม้แต่คิดที่จะโทรฯไป

เช่นเดียวกับพจนีย์ ด้วยอาชีพอาจารย์ เธอซื้อโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อกับลูก ๆ และสามีเวลาที่เธอติดธุระซึ่งค่าโทรฯ ไม่เคยเกินพันบาท แต่เมื่อเดือนที่แล้ว เธอกลับต้องเจอบิลเรียกเก็บค่าโทรศัพท์มือถือที่แพงหฤโหดถึง 5 แสนบาท ล้วนแต่เป็นโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ

เธอจำได้ว่าไม่เคยให้ใครหยิบยืมใช้โทรศัพท์มือถือ เว้นแต่เมื่อไม่นานนี้เธอและครอบครัวใช้เวลาในช่วงวันหยุดไปที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง และเพียงแต่เดินไปสอบถามราคาแบตเตอรี่ก้อนใหม่ ที่เธอเห็นว่าถูกกว่าที่เคยซื้อจากศูนย์บริการเกือบเท่าตัวเท่านั้น

เช่นเดียวกับสมชายที่ให้ร้านค้าบนห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ซ่อมแซมโทรศัพท์มือถือ เพราะมีราคาถูกกว่าเดิมเท่าตัว เมื่อเทียบซ่อมที่ศูนย์บริการ

แต่ทั้งสมชาย และพจนีย์ หรือใครอีกหลายคนที่แสวงหาของดีราคาถูกทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัวว่า กำลังเดินเข้าไปสู่ปัญหาการถูกลักลอบจูนมือถือ ที่ทำให้ทั้งเขา และเธอต้องเจอบิลเรียกเก็บเงินหฤโหด

ที่จริงแล้ว ปัญหาการลักลอบจูนมือถือไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่มีมานานแล้วตั้งแต่ 3-4 ปี ที่แล้วในช่วงที่เมืองไทยใช้ระบบอนาล็อก เพียงแต่ในช่วงแรก ๆ ปัญหาการจูนยังจำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ใช้ ยังไม่ได้ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่โตเช่นในเวลานี้

จุดแรกเริ่มนั้นมาจากตัวผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องการเปลี่ยนจากเครื่องเก่าเป็นเครื่องใหม่ ที่ซื้อมาจากต่างประเทศแต่ใช้เลขหมายเดิม แต่ผู้ให้บริการ คือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นไม่ทำให้เพราะทั้งสองรายนี้ก็นำเข้าโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว จึงนำไปให้ร้านค้าโทรศัพท์มือถือตามห้างสรรพสินค้าจูนเบอร์จากเครื่องเก่ามาใส่เครื่องใหม่

ลูกค้าอีกประเภท คือ ต้องการโทรศัพท์มือถือไว้ใช้งานพร้อมกัน แต่ต้องการประหยัดค่าใช้บริการรายเดือนซึ่งตกเดือนละ 500 บาทต่อเดือน หากซื้อมาใช้ 2 เครื่องก็ต้องเสียเดือนละ 1,000 บาท ก็หันไปใช้วิธีซื้อเครื่องถูกกฎหมาย 1 เครื่อง และไปซื้อจากต่างประเทศ หรือซื้อจากร้านค้าตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะมีบริการจูนเลขหมายใส่เครื่องใหม่และใช้เบอร์เดียวกันเหมือนกับการใช้โทรศัพท์พ่วง

การจูนเลขหมายและใช้พร้อมกันสองเครื่องได้รับความนิยมจากผู้ใช้ค่อนข้างมาก เพราะถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้บริการรายเดือน และราคาเครื่องก็ถูกกว่ามากซึ่งส่วนใหญ่จะจูนใช้งานภายในครอบครัว

สำหรับแหล่งรับจูนมือถือนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าย่อยที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ตามห้างสรรพสินค้า แต่แหล่งใหญ่ที่สุด และทำกันยาวนานเป็นล่ำเป็นสันคือห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง

บรรดาร้านค้าเหล่าน ี้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าย่อยที่เช่าพื้นที่ และตู้หน้าร้านขายโทรศัพท์มือถือหลายยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การขายอะไหล่ และรับซ่อมโทรศัพท์มือถือ สนนราคาสินค้า และค่าบริการของร้านค้าเหล่านี้จะถูกกว่าซื้อจากตัวแทนจำหน่ายค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสินค้าให้เลือกหลายประเภท ทั้งหนีภาษีและผลิตขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้นิยมของถูกค่อนข้างมาก

ส่วนการรับจ้างจูนเลขหมายของผู้ค้าเหล่านี้มีหลายลักษณะ คือ ให้ลูกค้าเอาโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ที่จำหน่ายในร้าน ซึ่งจะมีทั้งเครื่องที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายเครื่องที่รับมาจากตัวแทนจำหน่ายและเครื่องที่หนีภาษี ซึ่งมักจะแอบขายให้กับลูกค้าที่คุ้นหน้าคุ้นตาโดยผู้ค้าจะจูนเบอร์ให้ตรงกับเครื่องเก่าเป็นบริการแถม

หากลูกค้าหาเครื่องใหม่มาเอง ผู้ค้าจะรับจูนให้แต่จะต้องมีเครื่องเก่า และเบอร์ที่ถูกต้องมาด้วย ซึ่งจะคิดค่าจูนในช่วงแรกประมาณ 500-2,000 บาท และใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น

ในช่วงที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือยังจัดอยู่ในช่วง "บูม" ราคาสินค้ายังไม่ได้ลดฮวบฮาบเช่นในปัจจุบัน กิจการของบรรดาร้านค้าบนห้างสรรพสินค้าก็เฟื่องฟูตามไปด้วย เพราะในช่วงนั้นการแข่งขันยังไม่มากนัก

จนกระทั่งเมื่อปีสองปีมานี้ การแข่งขันดุเดือดขึ้น ราคาโทรศัพท์มือถือลดลงมาฮวบฮาบ บรรดาผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หันมาใช้กลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาด โดยเฉพาะระบบเงินผ่อนที่เข้ามาเจาะกลุ่มลูกค้าในระดับล่าง

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการ คือ เอ.ไอ.เอส และแทค ซึ่งทำธุรกิจแบบครบวงจรมีธุรกิจนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ก็หันมาขยายร้านค้าปลีกที่อยู่ในรูปของร้านแฟรนไชส์ไปทั่วทุกหัวระแหง เช่นเดียวกับบรรดาผู้ค้ารายใหญ่ ๆ ก็เปิดร้านแฟรนไชส์ขายโทรศัพท์มือถือกันเป็นว่าเล่น ทำเอาร้านค้าปลีกบนห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน

เพื่อความอยู่รอด บรรดาร้านค้า บนห้างสรรพสินค้า จึงต้องหันไปหาวิธี "นอกระบบ" ด้วยการเน้น ขายเครื่องผิดกฎหมายมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนของโทรศัพท์มือถือ ที่ลักลอบซื้อมาจากต่างประเทศ จะถูกมาก ราคาเพียงแค่ 3,000-4,000 บาทเท่านั้นในขณะที่เครื่องถูกกฎหมายที่ซื้อจากตัวแทนจำหน่ายจะอยู่ในราวเกือบ 20,000 บาท

เมื่อตัวเลขส่วนต่างของผลกำไรที่ได้รับแตกต่างกันเช่นนี้แน่นอนว่าผู้ค้าเหล่านี้ต้องเลือกหนทางที่ทำกำไรให้มากกว่า

ทางด้านของผู้ใช้บริการเป็นเรื่องปรกติที่ย่อมต้องการสินค้าและบริการราคาถูกกว่าที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับราคา

แหล่งข่าวในวงการโทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า สินค้าหนีภาษีเหล่านี้ทะลักมาจากฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในปี 1997 ฮ่องกงจะยกเลิกการใช้ระบบอนาล็อก และเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งปัญหาการจูนมือถือในเวลาน ี้เกิดขึ้นกับระบบอนาล็อก จึงทำให้บรรดาผู้ขายโทรศัพท์ระบบอนาล็อกในฮ่องกงต้องเร่งระบายสินค้าออกให้เร็วที่สุด ผู้ค้ารายย่อยของไทยจึงไปขนซื้อมาจำหน่าย

ผู้ซื้อรายหนึ่งเล่าว่า เขาสามารถหาซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือบนถนนนาธานย่านชอปปิ้งของฮ่องกงได้ในราคาไม่กี่พันบาทมีให้เลือกหลายรุ่นหลายยี่ห้อ จึงเป็นที่นิยมของบรรดานักชอปปิ้งของไทยทั้งหลายที่จะต้องมีติดไม้ติดมือเข้ามากันคนละเครื่องสองเครื่อง และนำมาให้ร้านค้าบนห้างสรรพสินค้าจูนให้

เช่นเดียวกัน มีร้านค้า "หิ้ว" โทรศัพท์ มือถือเถื่อนจากฮ่องกงเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจค้ามือถือเถื่อนเฟื่องฟูเพียงใด ดูได้จากมีข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม เมื่อกรมศุลกากรจับกุมโทรศัพท์มือถือเถื่อนที่หิ้วมาจากฮ่องกงจำนวน 300 เครื่องไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ซึ่งว่ากันว่าเพราะเกิดความผิดพลาดบางประการ จึงทำให้การลักลอบครั้งนี้ไม่เป็นไปตามแผนจึงต้องถูกจับกุม ได้ต้องพูดถึงการขนข้ามชาติในครั้งก่อนหรือหลังว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

เมื่อเครื่องเถื่อนราคาถูกทะลักเข้ามามากขึ้น บรรดาผู้ค้าต้องเร่งทยอยออกสู่ตลาดให้มากที่สุดเช่นกันเพื่อสร้างรายได้ แต่การมีเครื่องแต่ไม่มีเลขหมายก็ไม่มีประโยชน์เพราะใช้งานไม่ได้

ดังนั้นการจูนเลขหมายในระยะหลัง จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ต้องมีเครื่องเก่าและเลขหมายที่ถูกต้องเท่านั้น แต่เป็นใครก็ได้ที่ต้องการจูนมือถือ ยิ่งไปกว่านั้นร้านค้าก็เริ่มหันมาขายเครื่องเถื่อนพร้อมแถมเลขหมายให้เสร็จสรรพเพื่อต้องการขายสินค้าให้เร็วที่สุด จึงกลายเป็นที่นิยมของผู้นิยมของฟรีราคาถูกไป และบานปลายออกไปอย่างคาดไม่ถึง

แต่คำถามคือ ผู้ค้าเอาเลขหมายมาจากไหน หากไม่ได้จากการขโมยมา

เมื่อโทรศัพท์มือถือจะใช้งานได้ต้องมีเลขหมาย ร้านค้าเหล่านี้จึงต้องเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็น "ผู้รับจูนมือถือ" เป็น "ผู้ลักลอบจูนมือถือ" คือแทนที่จะรับจูนมือถือให้กับลูกค้าเช่นเคยก็แอบเอาข้อมูลคือรหัสประจำเครื่อง หรือ (ESN) หรือพาสเวิร์ดของลูกค้าและนำไปจูนใส่เครื่องมือถือเถื่อนที่นำเข้ามาเอง เพื่อนำไปขายต่อให้กับลูกค้ารายอื่นอีกครั้ง ทำกำไรเข้ากระเป๋าสบายไปซึ่งลูกค้าที่ซื้อเครื่องเถื่อนเหล่านี้จะได้ทั้งเครื่องราคาถูกแถมได้โทรฟรีอีกต่างหาก เพราะเลขหมายเหล่านี้เป็น เลขหมายที่ถูกลับปลอบมาใช้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้

ลูกค้าที่นิยมใช้ของฟรีราคาถูกเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศที่อยู่เมืองไทยเป็นครั้งคราวและไกด์ทัวร์ที่หารายได้ ด้วยการซื้อไปให้ลูกทัวร์ใช้โทรไปต่างประเทศโดยคิดค่าโทรราคาถูกกว่าปกติเรียกว่าทำเงินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แหล่งข่าวจากกสท.เล่าว่าเท่าที่สืบพบ ผู้แอบลักลอบใช้มือถือเถื่อนเหล่านี้จะเป็นแก๊งค์มิจฉาชีพข้ามชาติปะปนอยู่ด้วย จะเห็นได้จากการจับกุมมักเป็นชาวต่างประเทศที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย มีทั้งชาวไนจีเรีย ปากีสถาน

การลักลอบจูนแพร่หลายไปจนขนาดที่ว่า ผู้ค้ามือถือเถื่อนบางรายถึงกับมีเลขหมายพร้อมไว้ให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเนื่องจากในระยหลังโอปเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ จะมีระบบตรวจจับหากพบว่ามีการใช้งานผิดปรกติจะทำากรปิดเลขหมายนั้นทันที

ในช่วงหลัง ๆ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น และธุรกิจค้ามือถือเถื่อน พร้อมเลขหมายเฟื่องฟูขึ้น บรรดาร้านค้าเหล่านี้แทนที่จะรอขโมย รหัสข้อมูลจากเครื่องลูกค้าที่มาซ่อม หรือมาใช้บริการจูนเลขหมายเดียว ใช้สองเครื่อง ก็เปลี่ยนไปหาวิธีใหม่ ๆ ด้วยการนำอุปกรณ์ดูดคลื่นมาใช้ เครื่องชนิดนี้จะสแกนหาคลื่น โทรศัพท์มือถือที่เปิดอยู่ในรัศมี 5 เมตร และนำรหัสข้อมูลที่อยู่ในเครื่องมาถอดรหัสด้วยเครื่องอ่านข้อมูล และนำมาจูนใส่เครื่องใหม่เรียกว่าแค่เดินถือโทรศัพท์มือถือที่เปิดเครื่องเอาไว้เข้าไปในรัศมีก็มีสิทธิถูกจูนได้

อุปกรณ์ในการจูนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีการลักลอบนำเข้ามาจากไต้หวัน อุปกรณ์เหล่านี้จะมีสนนราคาเพียง 50,000 บาท

ปัญหาของการจูนมือถือในเวลานี้เกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือระบบอนาล็อกเนื่องจากระบบนี้เมื่อเปิดเครื่อง และโทรออกหรือมีคนโทรเข้ามาเครื่องจะส่งเลขหมายและรหัสประจำเครื่องไปที่สถานีฐานจึงทำให้สามารถสแกนหาคลื่นได้

สำหรับระบบดิจิตอล คือ จีเอสเอ็ม 900 และพีซีเอ็น 1800 ยังไม่พบว่ามีการจูนเกิดขึ้น เนื่องจากมีระบบป้องกันหลายชั้นทั้งจากเครือข่ายเองและจากตัวเครื่องมือถือ ซึ่งจะมีซิมการ์ดที่บรรจุรหัสส่วนตัวเอาไว้แต่ยังไม่มีใครออกมายืนยันว่า ระบบดิจิตอลยังไม่มีการจูนได้ เพียงแต่เวลานี้อาจจะยังยากอยู่และต้องใช้เงินลุงทนสูงเท่านั้น

ช่วงแรกของการจูนมือถือ จะเป็นระบบแอมป็ 800 เป็นส่วนใหญ่ เพราะจูนได้ง่ายกว่าระบบเซลลูลาร์ 900 ซึ่งจะมีระบบการถอดและเข้ารหัสยากกว่าระบบแอมป์ 800

แต่มาในระยหลังปรากฏว่าระบบเซลลูลาร์ 900 กลับเจอปัญหาถูกจูนมากขึ้นจนกลายเป็นข่าวคราวเกรียวกราวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเซลลูลาร์ 900 ได้รับบิลค่าโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศหฤโหด

มีการยืนยันจากผู้ค้าโทรศัพท์มือถือว่าสาเหตุมาจากพนักงานของบริษัทเอไอเอสได้ขดมยฐานข้อมูลสำคัญของลูกค้าซึ่งบรรจุรหัส หรือพาสเวิร์ดประจำเครื่องของลูกค้าถึง 1 แสนราย ก็อบปี้ใส่แผ่นดิสก์ออกมาขาย ให้กับร้านค้าที่ลักลอบจูนมือถือ ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ไปจูนใส่เครื่องใหม่ก็ใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องใช้วิธีดูดสัญญาณเช่นเดียวกับระบบแอมป์ 800 ด้วยเหตุนี้ปัญหาการจูนมือถือลุกลามมากขึ้น

"จริง ๆ แล้วข้อมูลในแผ่นดิสก์ถูกลักลอบออกมาเป็นปีแล้ว และนำไปขายต่อไปตามศูนย์การค้าต่าง ๆ แห่งละพันสองพันบ้างจนกระจายไปทั่ว จนกลายเป็นปัญหาลุกลามไปทั่ว" แหล่งข่าวในวงการโทรศัพท์มือถือเล่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ เอไอเอส และแทค จึงไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เมื่อเจอการกดดันจากลูกค้าที่เจอบิลเถื่อนที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตบนหน้าหนังสือพิมพ์

สิ่งที่ปรากฏคือ การกวาดล้างครั้งใหญ่ของกรมตำรวจ อันเกิดมาจากการผลักดันของเอไอเอสและแทค ซึ่ง แหล่งข่าวในวงการกล่าว่า แทคและเอไอเอสต้องร่วมกันลงขันกวาดล้างร้านค้าที่รับจูนมือถือและค้ามือถือเถื่อนจำนวน 600 แห่งทั่วประเทศ เพราะเวลานี้ปัญหาการจูนมือถือได้กระจายออกไปถึงต่างจังหวัดแล้วในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการจับกุมร้านค้าบนห้างสรรพสินค้ามาบุญคอรง และห้างสรรพสินค้าบริเวณรอบ ๆ นอก เช่น ซีคอนสแควร์ เดอะมอลล์ท่าพระ เป็นระลอกใหญ่

แม้สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนแผนงานการตลาดของเอไอเอส จะแบ่งรับแบ่งสู้เมื่อถูกถามถึงกรณีที่พนักงานเอไอเอสลักลอบนำรหัสลูกค้ามาขายให้ผู้ค้ามือถือเถื่อน บอกแต่เพียงว่าอาจเป็นได้แต่ไม่ขอยืนยันว่าจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เอไอเอสก็ได้ลงมือแก้ไขปัญหา ด้วยการลงทุน 200 ล้านบาท ติดตั้งระบบ SIS (SUBSCRIBER IDENTITY SECURITY) ซึ่งเป็นระบบป้องกันการจูนภายในประเทศ โดยอาศัยหลักการนำรัสมาเปรียบเทียบระหว่างรหัสประจำเครื่องและรหัสประจำฐานข้อมูลว่าตรงกันหรือไม่หากมีผู้ลักลอบนำเครื่องของลูกค้าของเซลลูลาร์ 900 ไปใช้ เครื่องจะทำการปิดเลขหมายมันที

นอกจากนี้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน เครื่องในระบบเซลลูลาร์ 900 ที่จดทะเบียนใหม่ทุกเครื่องจะไม่สามารถโทรไปต่างประเทศได้ และในอีก 1 เดือนถัดไปลูกค้าในระบบเซลลูลาร์ 900 ทั้งหมดจะถูกล็อกไม่ให้โทรออกต่างประเทศ เรียกว่า ระบบ BARRING ALL OUTGOING CALLS หากลูกค้ารายใดต้องการโทรฯ ไปต่างประเทศจะต้องติดต่อขอรหัสผ่าน ซึ่งเป็นเลข 4 หลักเหมือนกับรหัสบัตรเอทีเอ็มเมื่อกดรหัสถูกต้องจึงสามารถติดต่อไปยังปลายทางได้ และจะถูกบันทึกไว้ เมื่อมีการเรียกครั้งต่อไปเครื่องจะต่อผ่านไปโดยไม่ต้องกดรหัสอีก แต่หากกดรหัสผิดจะทำการตัดสายทันที ซึ่งรหัสนี้ผู้ใช้บริการสามารถกำหนดได้ และเปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการ

ระบบป้องกันการโทรไปต่างประเทศนี้ผู้ให้บริการได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะการจูนส่วนใหญ่จะโทรไปต่างประเทศดังนั้นทางด้านการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบแอมป์ 800 แบนด์เอ และรับผิดชอบเรื่องโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ได้นำระบบเซลลูลาร์ พินมาใช้ ซึ่งมีการทำงานในลักษณะเดียวกับระบบของเอไอเอส เช่นเดียวกับบริษัทแทคจะมีการติดตั้งระบบประเภทเดียวกัน แต่ใช้ชื่อเรียกว่า พินนัมเบอร์ ในต้นปีหน้า

สมยศ วรปรีชาพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเวิลด์โฟน 800 กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีมานี้แทคได้แก้ไขปัญหาเรื่องการจูนมือถือในระบบแอมป์ 800 มาตลอดเพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะหากแพร่งพรายออกไปจะทำให้มิจฉาชีพหาวิธีใหม่ ๆ มาแก้ไขให้ลักลอบจูนได้อีก

ระบบป้องกันของแทคมีทั้งหมด 4-5 วิธี เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรหัสลูกค้ารั่วไหล เพราะจะไม่มีเอกสาร และไม่สามารถเก็บข้อมูลใส่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้อีก 2 ปีถัดมาให้ลูกค้าระงับการใช้โทรทางไกลได้ฟรี

ระบบต่อมาคือ FORCE MONITRO SYSTEM ระบบการตรวจจับการลักลอบใช้เมื่อพบว่ามีความผิดปรกติจะระงับการใช้เลขหมายนั้นทันที และให้ลูกค้าเปลี่ยนรหัสใหม่ ล่าสุด คือ ระบบเครดิตลิมิต คือให้ลูกค้าจำกัดวงเงินในการใช้แต่ละเดือนเช่นเดียวกับบัตรเครดิต และในปีหน้าจะติดตั้งระบบพินนัมเบอร์

"คงมีคนสงสัยว่าเราลงทุนไปตั้งเยอะแต่ทำไมทุกวันนี้ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ ผมบอกได้เลยว่า เราป้องกันไป พวกมิจฉาชีพเขาก็พัฒนาตาม เขาไม่หยุด" สมยศเล่า

ด้วยระบบต่าง ๆ เหล่านี้ สมยศ เชื่อว่าจะทำให้การจูนลดน้อยลง จากเดิมที่เคยมีปัญหาอยู่ถึง 1% ปัจจุบันปัญหาลดลงเหลือยู่เพียง 0.5% เท่านั้น

"หากผู้ใช้ให้ความร่วมมือ คือ เมื่อไม่ใช่โทรศัพท์ทางไกลก็ควรจะปิดเสีย ตั้งวงเงินจำกัดการโทรในแต่ละเดือน และไปซ่อมร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรงปัญหาการจูนจะหมดลงไป"

ทางด้านกสท. ซึ่งต้องสูญเสียเงินไป 10 กว่าล้านบาท อันเกิดจากปัญหาการจูนโทรศัพท์มือถือที่มักจะใช้โทรไปต่างประเทศโดยที่กสท.จะไม่สามารถตามจับไปถึงต้นตอของผู้ลักลอบได้ เนื่องจากมิจฉาชีพเหล่านี้จะเป็นชาวต่างประเทศที่ลักลอบเข้าเมือง หรือ ทำผิดกฎหมาย

"เมื่อมีปัญหาเรื่องการจูนเกิดขึ้นทางกสท.จะต้องตรวจสอบว่า ใครเป็นคนโทรฯเราจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้กระทำผิดเหล่านั้น ซึ่งก็ทำได้ยากเพราะจะอยู่ในต่างประเทศ ส่วนผู้ใช้หากไม่ได้ทำผิดเราก้ไม่ได้ให้เขารับภาระ" ประสาทพร สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการโทรคมนาคมทางเสียง กสท. ชี้แจง

ทว่า มาตรการทางเทคนิคก็อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นและผู้เชี่ยวชาญต่างก็ออกมายืนยันว่าไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะถอดรหัสได้ จึงมีการผลักดันให้ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กันด้วย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการผลักดันให้มีการ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบจูนมือถือ โดยให้เพิ่มโทษกับผู้ลักลอบจูนโทรศัพท์มือถือ จากเดิมปรับ 10,000 บาท จำคุก 5 ปี เพิ่มเป็น 100,000 บาท จำคุก 5 ปี

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายวิทยุคมนาคม ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อให้มีการระบุคำนิยามเกี่ยวกับอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่ผิดกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น เครื่องมือที่ใช้จูนมือถือ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำงานสะดวกยิ่งขึ้น และควรระบุให้การลักลอบจูนมือถือเป็นความผิดในแง่การลักทรัพย์ด้วย

พร้อมกับการแบ่งบทลงโทษของผู้จูนมือถือไว้หลายประเภท กรณีที่จูนกันเองในครอบครัวจะมีโทษไม่หนัก แต่หากจูนเพื่อกิจการหรือโทรออกต่างประเทศจะต้องได้รับโทษเต็มที่

แม้ว่าการกวาดล้างร้านค้าจูนมือถือมีขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยมีห้างสรรพสินค้ามาบุญครองเป็นเป้าหมายใหญ่ แต่จากการสำรวจของ "ผู้จัดการรายเดือน" พบว่า ร้านค้าโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 แห่ง โดยเฉพาะบริเวณชั้น 4 ที่เป็นพื้นที่ใหญ่ ยังคงเปิดให้บริการตามปรกติ โดยเฉพาะร้านค้าที่ถูกจับกุมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับมาให้บริการแล้ว แต่บางร้านก็เปลี่ยนชื่อร้านใหม่มีการยืนยันว่ายังรับจูนและขายเครื่องหนีภาษีเช่นเดิม เพียงแต่ระมัดระวังตัวมากขึ้นจะขายให้กับคนที่รู้จักหรือคุ้นหน้าเท่านั้น เพราะอุปกรณ์ทั้งหมดที่ถูกจับได้ไม่ได้ถูกยึดไป

ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการนครบาลสืบสวนใต้ กล่าวว่า การปราบปรามไม่ได้ทำได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิค และร้านค้าเหล่านี้ก็มีวิธีหลบเลี่ยงมากขึ้น การค้นหาของกลางก็ทำได้ยากลำบาก

ร้านค้าบนห้างสรรพสินค้ามาบุญครองจะมีอยู่มากมาย แต่ร้านใหญ่ที่มีอุปกรณ์ในการจูนครบถ้วนจะมีอยู่ 4 ร้าน ตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 มี 3 ร้าน และชั้น 6 อีก 1 ร้าน ร้านค้าย่อยที่เหลือจะรับจากลูกค้าและส่งไปให้ร้านใหญ่เหล่านี้ทำการจูนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะคิดค่าบริการจากร้านค้าย่อยเหล่านี้เครื่องละ 300 บาท และร้านค้าย่อยเหล่านี้จะคิดค่าบริการจากลูกค้าอีกครั้งหนึ่งในราคา 500-1,000 บาท

"ร้านพวกนี้จะทำกันเป็นทีม และมีวิธีหลบเลี่ยง ซุกไว้ในถังขยะบ้าง ตามร้านขายเสื้อผ้าบ้าง เขาจะทำกันเป็นทีมบางทีอุปกรณ์ที่จูนจะไม่ได้อยู่ที่ร้าน แต่เขาจะมีบ้านพักอยู่ใกล้ ๆ กับห้าง พอมีลูกค้ามาให้จูนก็จะทำให้คนขับมอเตอร์ไซค์ขับไปจูน เพียงแค่ 10 นาทีก็ได้แล้ว" เจ้าหน้าทีตำรวจเล่า

หากวิเคราะห์ให้ดีแล้ว ปัญหาการจูนมือถือไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งเอไอเอสและแทคก็รู้เรื่องดี เพียงแต่ในช่วงแรกปัญหาเหล่านี้ไม่ได้กระทบมากนักเนื่องจากทั้งสองรายก็ผูกขาดธุรกิจค้ามือถือเป็นแบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้วตั้งแต่ให้บริการ นำเข้าเครื่องและขายเครื่องดังนั้นเงินที่สูญเสียไปจึงน้อยนิด เมื่อเทียบกับเม็ดเงินมหาศาลที่ได้จากธุรกิจทั้งระบบนี้ ซึ่งการแก้ไขอาจต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเริ่มลุกลามออกไปใหญ่โตจึงต้องออกมาวิ่งวุ่นแก้ปัญหากันเจ้าละหวั่น

ที่สำคัญมาตรการทั้งเทคนิค และกฎหมายเหล่านี้จะแก้ไขได้เพียงใด หากอัตราค่าบริการ และราคาเครื่องยังแพงเกินความเป็นจริงเมื่อเทียบกับคุณภาพของการให้บริการ แรงจูงใจที่จะหันมาพึ่งพาบริการนอกระบบก็ย่อมเกิดขึ้นอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่หันไปทบทวนตัวเองอาชญากรไฮเทคก็คงต้องเกิดขึ้นอีกและกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ที่รอวันปะทุขึ้นอีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.