|
AIS ปรับโครงสร้างรับอนาคตเชื่อปี 2010 ประชากรมือถือถึง 80%
ผู้จัดการรายวัน(22 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เอไอเอสเชื่อปี 2010 คนใช้มือถือกว่า 80% ของประชากร จากปัจจุบันที่ประมาณ 50กว่า% ปรับโครงดันวิเชียร เมฆตระการ เป็นกรรมการผู้อำนวยการ หวังสร้างความเชื่อมั่นด้านเครือข่าย เพื่อรักษาสมดุลระหว่างคุณภาพกับโปรแกรมการตลาด ดึงฮุย เวง ชอง ผู้บริหารสิงเทล มาประสานทีมการตลาดตั้งแต่บริการแมสแบบพื้นฐาน ไปสู่บริการล้ำหน้าอย่างโมบายไลฟ์ และบริการซับซ้อนอย่างเอ็มเปย์
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงและโครงสร้างการทำงานใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต จากปัจจุบันที่ประชากรโทรศัพท์มือถือมีอยู่ประมาณ 50กว่า% และคาดว่าภายในปี 2010 คนใช้โทรศัพท์มือถือจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
เอไอเอสแต่งตั้งนายวิเชียร เมฆตระการ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ (President) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาหลังจากใช้เวลาประมาณ 5 เดือนครึ่งในการคัดเลือกทั้งผู้บริหารภายในและผู้บริหารภายนอก
เป้าหมายแรกกู้ชื่อเครือข่าย
นายวิเชียรกล่าวว่าถึงแม้จะไม่เชี่ยวชาญด้านการตลาดแต่สิ่งสำคัญคือการทำงานในเอไอเอสจะทำงานเป็นทีม ทำงานประสานร้อยเรียงกันตั้งแต่บริการระดับพื้นฐานจนถึงบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
“ในอนาคตการให้บริการและการแข่งขันของเอไอเอสจะต้องรักษาความสมดุลระหว่างคุณภาพเครือข่ายกับโปรแกรมด้านการตลาด”
เขาย้ำว่าเป้าหมายแรกในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการคือการสร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่น พร้อมทั้งคุณภาพเครือข่ายให้กลับมาอยู่ในใจลูกค้าอีกครั้ง ซึ่งเอไอเอสลงทุนเครือข่ายปีนี้ทั้งหมด 355 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งด้วยปริมาณการใช้งานขณะนี้ เครือข่ายจะรองรับการใช้งานได้มากถึง 20 ล้านราย จากปัจจุบันที่เอไอเอสมีลูกค้าอยู่ในระบบทั้งหมด 17.5 ล้านราย
“เป้าหมายลูกค้าใหม่ทั้งปี 1.2 ล้านรายขณะนี้เอไอเอสได้แล้ว 8 แสนราย ซึ่งด้วยคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น หากได้ลูกค้ามากกว่าอีก 4 แสนรายเพื่อให้เกินเป้าหมายก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้”
กทช.ยันจัดสรรความถี่ได้
ส่วนกรณีเรื่อง 3G นั้น เอไอเอสก็พร้อมที่จะยื่นขอความถี่ไปยังกทช.รอเพียงให้กทช.ประกาศเงื่อนไขอย่างเป็นทางการก่อน ในขณะที่นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกทช.ระบุว่าหากกทช.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ตามที่กฤษฎีกาวินิจฉัย ก็น่าจะเป็นไปตามนั้น โดยไม่จำเป็นต้องให้กทช.ทุกคนเห็นชอบด้วยหมด
ด้านนายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกทช. กล่าวว่า เงื่อนไขใบอนุญาต 3G น่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้และเปิดให้เอกชนยื่นขอจัดสรรความถี่ได้ในกลางปีหน้า
“เอไอเอสเตรียมพร้อมเรื่อง 3G เสมอและมีการเตรียมเงินไว้ขั้นต้นสำหรับ 3G ประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ” นายสมประสงค์กล่าว
เอไอเอสยังแต่งตั้งนายฮุย เวง ชอง ผู้บริหารจากสิงเทล เข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ แทนนายลีออง ชิน ลุง รองประธานกรรมการบริหารเอไอเอสที่หมดวาระลงในวันที่ 1 ต.ค. โดยช่วงก่อนที่นายฮุย เวง ชองจะรับตำแหน่ง นายวิเชียรในฐานะกรรมการผู้อำนวยการจะทำหน้าที่รักษาการไปก่อน
“การแต่งตั้งฮุย เวง ชอง ไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของผู้ถือหุ้นของเทมาเส็กแต่อย่างใด เป็นการแต่งตั้งตามวาระปกติซึ่งมีสัญญาระหว่างเอไอเอสกับสิงเทลตั้งแต่ปี 2542” นายสมประสงค์กล่าวย้ำพร้อมทั้งชี้แจงว่าในกรณีบริษัท กุหลาบแก้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาสถานะว่าเป็นกิจการสัญชาติไทยหรือไม่นั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอไอเอสต้องแยกกัน 2 ส่วนระหว่างผู้บริหาร บริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งในส่วนของบริษัท ไม่มีอำนาจในการควบคุมผู้ถือหุ้นใดๆ เอไอเอสทำได้แต่เพียงดำเนินธุรกิจบนหลักการและความถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับในส่วนของผู้ถือหุ้น การที่เอไอเอสเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเกิดได้ตลอดเวลา ในลักษณะนี้ยังเป็นการถือหุ้นซ้อนกันอีกทอดหนึ่งซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ถูกหรือผิดคุณสมบัติ ไม่ใช่อำนาจของบริษัทที่จะชี้หรือตัดสิน
“การแก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าผู้ถือหุ้นผิดทำให้ถูก ก็ไม่มีผลกระทบกับลูกค้า แต่ถ้ามีการกระทำอะไรให้เกิดผลกระทบกับบริษัท ก็ย่อมส่งผลกระทบกับลูกค้าแน่นอน ซึ่งผู้มีวิจารณญาณคงเข้าใจ”นายสมประสงค์กล่าว
ประสานทีมการตลาด
การเลือกฮุย เวง ชอง มารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส เป็นความเห็นของสิงเทล ที่บอร์ดบริหารเอไอเอสและนายสมประสงค์เห็นด้วย เพราะฮุย เวง ชอง จะเข้ามามองหารายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเน้นหนักในเรื่องบริการเสริม (VAS) ทั้งในส่วนของวอยซ์ และนอนวอยซ์ โดยเขาจะเข้ามาเชื่อมต่อและทำให้การตลาดของเอไอเอสเป็นเนื้อเดียวกัน โดยขึ้นตรงกับกรรมการผู้อำนวยการ
สมประสงค์อธิบายว่า ความเป็นเนื้อเดียวกันเริ่มจากการทำตลาดแบบแมส หรือมวลชนทั่วประเทศ เป็นหน้าที่ของนายชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด ที่มีหน้าที่สร้างฐานรายได้จากบริการพื้นฐานด้านเสียงเป็นหลัก แต่ถัดขึ้นมาจะเป็นบริการที่ล้ำหน้าขึ้นมาอย่างบริการเสริมต่างๆของโมบายไลฟ์ ที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจสื่อสารไร้สาย ที่จะทำให้เกิดการใช้งานมากขึ้น เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่ตลาดมวลชนแบบแมส แต่จะเป้าหมายจะอยู่ในกลุ่มลูกค้าของชำนาญที่มีความเข้าใจและใช้โทรศัพท์มือถือดีขึ้น ถัดขึ้นมาจากบริการล้ำหน้าของโมบายไลฟ์ ไปสู่บริการที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือเอ็มเปย์ของนายคมสัน บุพนิมิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ ซึ่งต้องมองหาลูกค้าเป้าหมายจากกลุ่มที่เป็นลูกค้าโมบายไลฟ์เป็นหลัก โดยที่โครงสร้างการทำงานใหม่ ได้โอนย้ายเอ็มเปย์ให้มาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของฮุย เวง ชอง
“หน้าที่คุณฮุย เวง ชองจะช่วยทำให้ทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวเกิดการประสานงานที่ราบรื่น โดยที่มีลูกค้าองค์กรซ่อนอยู่ภายใต้ทีมการตลาดของคุณชำนาญ”
นอกจากนี้ ฮุย เวง ชอง ยังมีคุณสมบัติเด่นอีก 2 ประการคือมีความเข้าใจเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นผู้บริหารสิงเทลในด้าน Product Development ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างให้เกิดบริการที่มีความแตกต่างจากบริการมาตรฐานของผู้ผลิตหรือเวนเดอร์ทั้งหลาย มีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเอไอเอส รวมทั้งการที่เขาเคยเป็นผู้บริหารโฟนลิ้งค์นานถึง 3 ปีครึ่งทำให้มีความรู้และความเข้าใจในตลาดและลูกค้าคนไทย ซึ่งแนวโน้มบริษัทข้ามชาติ มักจะส่งตัวแทนผู้บริหารที่เคยมีประสบการณ์ในประเทศนั้นๆ กลับมาเป็นผู้บริหารอีกครั้ง
“ต่อไปจะเกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างการตลาดภายใน และเชื่อมโยงกับด้านเทคนิค ไอทีโซลูชันต่างๆ”สมประสงค์กล่าว
นายฮุย เวง ชองกล่าวว่าจะให้ความสำคัญในเรื่องการตลาดเป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่เป็นผู้บริหารจากสิงคโปร์แล้วเข้ามาทำงานในเอไอเอส โดยแนวทางพัฒนาการตลาดและบริการของเอไอเอสจะยึด 3 แพลตฟอต์มเป็นหลักคือบรอดแบนด์ โมบายและฟิกซ์ไลน์ มารวมกันเพื่อพัฒนาให้เกิดบริการในเอไอเอส
นายสมประสงค์กล่าวถึงการตลาดครึ่งปีหลังว่า ขนาดของเครือข่ายที่ขยายตัวมากขึ้นก็จะส่งผลให้รายได้ดีขึ้น จะทำให้ลูกค้าสนใจบริการที่พลิกแพลงมากขึ้น รายได้ของบริการเสริมจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าบริการพื้นฐาน
“เอไอเอสไม่ได้เริ่มสงครามราคา แต่จำใจทำเพื่อป้องกันตัวเองทุกครั้ง ซึ่งหากมีการนำค่าเชื่อมโครงข่ายมาใช้ก็จะส่งผลดีกับภาพรวม เพราะการแข่งขันจะเป็นในเชิงสร้างสรรค์ ป้องกันการดัมป์ราคา หรือดัมป์ทราฟิกจากเครือข่ายหนึ่งไปสู่เครือข่ายหนึ่ง ต่อไปราคาจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|