|
ส่งออกทรุดฉุดจีดีพีภาคฯอุตดิ่งเหวแนะเอกชนปรับตัว-หากตลาดใหม่
ผู้จัดการรายวัน(22 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยซบเซาต่อเนื่อง ต้นปี 50 หนักสุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกอาจโตแค่ 1.4% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เหตุภาคการส่งออกอันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักโดนกระทบจากหลายปัจจัยเสี่ยง รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศลดลงจากราคาน้ำมัน-ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคการลงทุนยังชะงักรับผลการเมืองไม่นิ่ง-งบฯล่าช้า แนะเอกชนเร่งปรับตัวรับความผันผวน-แสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆที่ศักยภาพทดแทน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมโดยภาพรวมในช่วงครึ่งหลังปี 2549 ว่า ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจขยายตัวประมาณ 6.3% ชะลอตัวลงจาก 8.1%ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้การเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 7.1% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 9.1% ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม ระดับการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นไปมีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 74.5% ในปี 2549 จาก 72.1%ในปี 2548
ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของภาคอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งหลัง ปี 2549 อาจจะขยายตัวประมาณ 4.7% ชะลอลงจากที่คาดการณ์ว่าอาจขยายตัว 6.2% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของภาคอุตสาหกรรมของไทย ในปี 2549 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.72 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณ 5.4% เทียบกับที่มีมูลค่า 2.47 ล้านล้านบาทในปี 2548 และมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ที่ 5.5%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรมไทยนั้น เนื่องมาจากภาวะอุตสาหกรรมในไตรมาสสองชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของภาคการส่งออกอันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยคาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอาจมีอัตราการเติบโตชะลอลงในไตรมาสสองปี 2549 มาอยู่ที่ประมาณ 4.9% เทียบกับที่ขยายตัว 7.6% ในไตรมาสแรก
ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังแวดล้อมด้วยปัจจัยลบ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ตามระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่อตลาดสินค้าที่พึ่งพาสินเชื่อเพื่อการบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และที่อยู่อาศัย สำหรับในด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ อาจจะยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง และการชะลอตัวของตลาดผู้บริโภค และในด้านการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ อาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 โดยผลคงจะเริ่มปรากฏในไตรมาสสุดท้าย ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ แต่โดยปกติ ในช่วงดังกล่าว ยังมีการใช้จ่ายในส่วนของงบเหลื่อมจ่ายของปีงบประมาณก่อนหน้าเข้ามา ผลกระทบจึงอาจยังไม่มากนัก แต่จะรุนแรงขึ้นในไตรมาสแรก ปี 2550
และภาคส่งออก อาจชะลอตัวลง ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อันเป็นผลตามมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และธนาคารกลางในแต่ละประเทศดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยตึงตัว ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นได้ในสหรัฐและญี่ปุ่น ขณะที่จีนนั้นแม้ว่าในไตรมาสสองยังมีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้น แต่มาตรการที่ทางการจีนได้ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการเติบโตอย่างร้อนแรงของการขยายสินเชื่อและการลงทุน ซึ่งความพยายามล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น น่าจะนำไปสู่การบริหารเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) สำหรับสหภาพยุโรปการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องคงจะมีผลชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยลบดังกล่าวยังคงส่งผลกดดันถึงปี 2550 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศในปี 2550 มีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในปี 2549 ซึ่งเป็นส่วนที่น่าจะสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่สำคัญยังคงเป็นประเด็นทางการเมือง ขณะที่ผลกระทบของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ จะมีผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2550 ยังมีทิศทางชะลอตัว อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย น่าที่จะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 หลังจากที่รัฐบาลสามารถเริ่มผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนดีขึ้น ด้านปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันของโลก และแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก
ทั้งนี้ ปัจจัยลบต่างๆที่เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญในช่วงครึ่งปีแรกนั้น จะกดดันให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 อาจมีอัตราการขยายตัวต่ำเพียง 1.4% ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2545 ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสอง และเริ่มมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งหลังของปี ด้วยเหตุนี้ โดยภาพรวมทั้งปีของปี 2550 คาดว่า อัตราการเติบโตของของภาคอุตสาหกรรมอาจจะยังชะลอตัวลงมา มีอัตราการขยายตัวประมาณ 4.3% โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.94 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของขนาดเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังคงต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้าประกอบด้วย อาทิ ทิศทางของค่าเงินบาท ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออก ,ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ข้อขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมัน, การแข่งขันที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบความตกลงที่ไทยดำเนินการในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และมาตรการทางการค้า โดยประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯกำลังกังวลอยู่ในขณะนี้คือการพิจารณาทบทวนการห้สิทธิจีเอสพีให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา
ดังนั้น ท่ามกลางแนวโน้มปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่ส่งผลกดดันต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามศึกษาข้อมูล เพื่อแสวงหาแนวทางในการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนต่างๆทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในฐานตลาดเดิมเอาไว้ ขณะเดียวกันก็แสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพต่อไปด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|