บตท.เร่งปรับโครงสร้างNPLโยกหนี้เน่า 710ล้านขายAMC


ผู้จัดการรายวัน(22 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"สศค."เผยผลการดำเนินงานล่าสุดเดือนกรกฎาคม บตท.มีเอ็นพีแอลเกือบ 2 พันล้านบาท แต่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้กว่า 1 พันล้านบาท ส่วนอีก แย้มลูกหนี้ไม่สามารถติดตามหรือเจรจาแก้ไขหนี้ได้อีก 710 ล้านบาท รอการขายให้แก่เอเอ็มซีในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ขณะเดียวกันหนี้ที่เกิดจากการทุจริตในโครงการเอกสยามและพนารี จะใช้วิธีแก้ไขแบบพิเศษ

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานกรรมการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบตท. ว่า ณ สิ้นเดือนก.ค. 2549 บตท.มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ทั้งหมด 1,997.94 ล้านบาท หรือประมาณ 44% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีอยู่ 4,200 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ประมาณ 1,063 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ที่ปัจจุบันสามารถชำระได้ตามปกติ จำนวน 430 ล้านบาท และลูกหนี้ที่ยังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 606 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือด้วยการปรับลดดอกเบี้ยค่าปรับให้ โดยคาดว่าจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

สำหรับลูกหนี้ที่บตท.ไม่สามารถติดตามหรือเจรจาแก้ไขหนี้ได้อีก 710 ล้านบาท ก็จะดำเนินการขายหนี้ดังกล่าวให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ซึ่งขณะนี้บตท.ได้เตรียมกระบวนการไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการขายให้เอเอ็มซีได้เสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ย. 2550 อย่างแน่นอน ส่วนหนี้ที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตในโครงการเอกสยามและพนารี อีกจำนวน 267.64 ล้านบาทนั้น บตท. จะดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีพิเศษอาทิ นำบ้านที่ยังมีสภาพดีมาจัดทำเป็นโครงการพิเศษ

“หากสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามแผน ก็จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากกรณีการทุจริตได้มาก ซึ่งทางบตท.ก็จะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้มากที่สุด เพราะการขายให้เอเอ็มซีจะขาดทุนมากกว่า” นายนริศกล่าว

นายนริศ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตว่า บตท.ได้ดำเนินคดีกับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พนักงานบตท. จำนวน 6 คน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพนารี และโครงการเอกสยาม ในกรณีที่มีส่วนรู้เห็นการให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ใช้เอกสารปลอมประกอบการขอสินเชื่อ 2.สถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อให้กับบตท. คือ ไทยเคหะ ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทุจริต และ 3.ลูกค้าที่ขอสินเชื่อโดยใช้เอกสารปลอมประกอบการขอสินเชื่อ จำนวน 119 คน

โดยล่าสุดพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องและสำนวนคดีทั้งหมดไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แล้ว นอกจากนี้ทางบตท. ยังได้ดำเนินคดีทางแพ่งเพิ่มขึ้นด้วยเนื่องจากทำให้บตท. เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามคาดว่าการดำเนินคดีจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บตท. กล่าวยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยุบ บตท. เพราะทางคณะกรรมการบตท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าควรจะมีบตท. ไว้เพื่อเตรียมพร้อมและรองรับสถานการณ์วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น ขณะนี้บตท.ได้เร่งสร้างความเข้มแข็ง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการสรรหากรรมการผู้จัดการบตท.คนใหม่ คาดว่าจะหาข้อสรุปได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตกลงผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม บอร์ดได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ให้กรรมการผู้จัดการคนใหม่ โดยได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งสามารถแบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 ส่วน คือ 1. ฝ่ายอำนวยการ 2.ฝ่ายสนับสนุน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และ 3. ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของรองกรรมการผู้จัดการ และภายหลังจากที่กรรมการผู้จัดการคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก็คือ การพัมนาระบบไอทีของบตท. เพราะถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน

ส่วนการบริหารงานของบตท. นั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีทุนเหลืออยู่ 1,000 ล้านบาท แต่มองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการเพิ่มทุนในขณะนี้ เนื่องจากบตท.มีศักยภาพที่จะบริหารงานต่อไปได้ และจะใช้วิธีการระดมเงินด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (ซิเคียวริไทเซชั่น) โดยโครงการล่าสุดคือ การทำซิเคียวริไทเซชั่นในโครงการบ้านเอื้ออาทร ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.