ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้เวลาต้องเกิดเสียที

โดย จารุสุดา เรืองสุวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 21 ปีที่แล้ว แนวคิดตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยได้รับการหยิบยกขึ้นมา กล่าวถึงเป็นครั้งแรกภาย หลังตลาดหลักทรัพย์ก่อกำเนิดขึ้นได้ไม่นาน ทว่าก็ต้องมีอันล้มพับไปด้วยเหตุผลทางการเมืองและข้อกฎหมาย จนกระทั่งปี 2537 ยุคที่โลกกำลังย่างเข้าสู่ระบบการค้าเสรีตามข้อบังคับของแกตต์ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเจ้าของเรื่องจึงหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่พร้อมดับเครื่องชนเต็มที่ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายกลางปี 2541 หลังตกเป็นรองเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ที่คิดทีหลังแต่เกิดก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเกษตรและผู้ส่งออกไทย

แนวความคิดที่จะจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของกระทรวงพาณิชย์ขณะนี้ นับว่ามีความคืบหน้า และมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้า ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีช่วยการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์การเกษตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตร และสหกรณ์ทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงกษตร และสหกรณ์การเกษตร ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย ์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประธานหอการค้าไทย อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะกรรมการเลขานุการ และรองอธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการผู้ช่วยเลขานุการ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่ปงระเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ที่ผ่าน

ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน นี้เสร็จสิ้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้งก่อนจะได้นำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

"ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เราได้ปรุงแต่งโดยอาศัยร่างก.ม.ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าต่างประเทศและดูเค้าโครงก.ม.ที่ถูกต้องตามแบบของประเทศไทย และยังดูก.ม.ที่เกี่ยวเนื่องที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535 เป็นต้น เมื่อเสนอเข้าไปยังครม.ก็ผ่านมารับหลักการด้วยดี เพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนหลายฝ่ายในคณะกรรมการฯ แล้วจึงส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาแต่ในระหว่างที่กฤษฎีกาจะเสนอร่าง ก.ม.ฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนฯก็เกิดมีการยุสภาฯเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกฝ่ายจึงเห็นร่วมกันที่จะให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาต่อไปเลยเพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก ต่อเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงจะส่งกลับเข้าสู่ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นชอบด้วยเหตุผลและประโยชน์ที่เกิดขึ้นและส่งเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาลง

มติในที่สุด" ศิริพล ยอดเมืองเจริญ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผู้ซึ่งมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าเกษตรกรชาวไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งยวดจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรเหมือนอย่างเกษตรกรต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทสเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ในร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งหมด 107 มาตรา 8 หมวด ได้กำหนดรายละเอียด และประเด็นสำคัญ ๆ คือตลาดล่วงหน้าที่จะจัดตั้งขึ้นนี้จะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นโดยจะเรียกว่า 'ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย' ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริการและซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าและเป็นสำนักหักบัญชีเพื่อชำระราคาและส่งมอบทันที ซึ่งตลาดนี้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรและบริหารงานในรูปของเอกชนมีผู้จัดการตลาดทำหน้าที่บริหารกิจการของตลาด

ในส่วนของการกำกับดูแลตลาดได้กำหนดให้ มี'คณะกรรมการกำกับสินค้าเกษตรล่วงหน้า' (ก.ส.ล.) จำนวน 12 ท่านทำหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริม และพัฒนาตลอดจนกำกับและควบคุมดูแลตลาดคณะกรรมการชุดนี้จะมีรมว.กระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งร่วมด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงการคลังผู้ว่าการธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย การพาณิชย์ การบัญชี และการเงินตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีก 5 คนเป็นกรรมการ ซึ่งลักษณะอำนาจหน้าที่ของก.ส.ล. นี้จะคล้ายคลึงกับ ก.ล.ต.ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นเอง

นอกจากนั้นในร่าง พ.ร.บ. ยังได้บัญญัติให้จัดตั้ง 'คณะกรรมการตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า' เพื่อทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของตลาดฯ รวมถึงการออกกฎระเบียบ เพื่อความเรียบร้อยของตลาดด้วย ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากการแต่งตั้งของ ก.ส.ล. และสมาชิกตลาดจำนวน 10 คน โดยมีผู้จัดการตลาดเป็นเลขานุการซึ่งคล้าย ๆ กับรูปแบบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎระเบียบในตลาดฯ นั่นทางกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเป็นผู้ศึกษาและเตรียมยกร่างขึ้นมา
"เรากำลังจะหาตัวผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการตลาดฯ คนแรก เพราะตอนนี้เรากำลังจะจัดวางกฎระเบียบโครงสร้างต่าง ๆ ของตลาดฯ ให้เรียบร้อย ดังนั้นเราจึงอยากจะให้ผู้จัดการตลาสดได้เข้ามาช่วยกับเราก่อนที่จะมีการจัดตั้งตลาดฯ เรื่องนี้เป็นดำริของท่านปลัดกระทรวงสมพล และท่านอธิบดีกรมการค้าภายในสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ซึ่งที่เรากำหนดไว้คร่าว ๆ ก็คือผู้จัดการคนแรกนี้จะต้องเป็นคนในแวดลงและเป็นคนที่มีความรอบรู้ในเรื่องตลาดหุ้น ระบบของการซื้อขายหุ้นพอสมควร ซึ่งจะสามารถช่วยในเรื่องการซื้อขายหุ้นพอสมควร ซึ่งจะสามารถช่วยในเรื่อง การซื้อขาย และป้องกันในในสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้ เพราะเรื่องนี้เป็น Tactic ที่จะต้องหาคนที่รู้ จากนั้นเราจึงจะอบรมความรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตร" รองอธิบดีสมพล กล่าวถึงผู้จัดการตลาดฯในจินตนาการ พร้อมทั้งเปรยว่าได้มองเห็นผู้ที่เหมาะสมแล้วหลายท่าน และจะเข้าไปทาบทามหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาเป็นที่เรียบร้อย และมีงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการอย่างจริง ๆ ก่อน พูดกันง่าย ๆ ก็คือต้องมองเห็นความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม และต้องผ่านพ้นปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ เสียก่อน

'คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์' เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านก.ม. การพาณิชย์ การบัญชีและการเงินไม่เกิน 7 คน คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ 2 อย่างคือ พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของก.ล.ส. ที่เกี่ยวกับการห้ามสมาชิกทำการซื้อขายเป็นการชั่วคราว การเพิกถอนสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การสั่งให้สมาชิกกระทำการหรืองดเว้นการกระทำ การไม่อนุญาตให้สมาชิกมีสำนักงานสาขา การสั่งให้สมาชิกแก้ไขการบริหารงาน และการเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า รวมทั้งหน้าที่ในการกำกับดูแลขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พนักงาน

เมื่อมีตลาดฯ แล้วก็ต้องมีคนที่จะเข้ามาซื้อขายสินค้าในตลาด ตามข้อกำหนดที่เขียนไว้ในร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็น Players ในตลาดห้องเป็นสมาชิกที่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการการตลาด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้จำแนกสมาชิกของตลาดออกเป็น 3 ประเภท คือสมาชิกที่ซื้อขาย เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ตัวเอง หรือ Dealer สมาชิกที่ซื้อขายเพื่อทั้งตนเอง และผู้อื่น หรือ Broker และสมาชิกสมทบ หรือ Associate member ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่มีคนไทยถือหุ้นส่วนน้อยต่ำกว่า 51% ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเชื่อมโยงลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ


แน่นอนว่าการเข้ามาลงทุนของสมาชิกทั้ง 3 ประเทศนั้นโดยพื้นฐานย่อมมีความแตกต่างกัน ซึ่งก็มีหมายความว่าผลประโยชน์ที่สมาชิกแต่ละประเภทคาดหวังย่อมแตกต่างกันไปด้วย เพราะบางรายอาจจะเป็นผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง (Hedger) ขณะที่บางรายต้องการเข้ามาหากำไร และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อตลาดได้ไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นในวิธีการปฏิบัติต่อสมาชิกทั้ง 3 ประเภทจึงจำเป็นต้องแตกต่างกันแม้ว่าในตัวบทกฎหมายจะกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกันก็ตาม ดังที่ศิริพล ได้อธิบายให้ฟังว่า

"ในกฎเกณฑ์ที่เราวางไว้ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ขั้นตอนของการปฏิบัติดูแลคงจะไม่เหมือนกัน สำหรับโบกเกอร์เราจะต้องดูแลไม่ให้เขาเอาเปรียบลูกค้า ส่วนดีลเลอร์เราต้องดูในเรื่องของโอกาสที่จะเอื้ออำนวยให้เขาเข้ามาปั่นตลาด และสมาชิกสมทบก็ต้องดูว่ามีอะไรผิดปกติในตลาดต่างประเทศบ้างและมีเหตุผลอันใดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดฯ เรา" พร้อมกันนั้นยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงความยากง่ายในการแจกแจงประเภทของนักลงทุนเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นว่า

"การ Classify นักลงทุนในตลาดล่วงหน้าจะสามารถกระทำได้ในเบื้องต้นตามบรรทัดฐาน (Norm) ที่ได้กำหนดไว้ว่าใครที่เป็น Hedger เป็น Speculator ต่างจากตลาดหุ้นที่แยกแยะไม่ค่อยได้ชัดเจนนัก นอกจากนี้การจำกัดการซื้อขายรวมถึงการให้สิทธิหรือการอนุญาตให้แก่สมาชิกแต่ละรายนั้นต้องมีการลงทะเบียนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการติดตามตรวจตราในเรื่องนี้หากตลาดใหญ่ขึ้นจะต้องมีระบบดูแลที่ดีขึ้นด้วย"

สำหรับผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกของตลาดแม้ว่าที่นั่งของสมาชิกจะจำกัดจำนวน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะถูกปิดกั้นมิให้เข้าไปในตลาดได้ เพราะสามารถซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ ทั้งนี้ทางคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้กำหนดที่นั่งและค่าธรรมเนียมในการเป็นสมาชิกไว้เป็นที่แน่นอนชัดเจนแต่จาการหยั่งเสียงของคณะทำงานที่นั่งของสมาชิกจะมีจำนวนมากกว่า และค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นแน่นอน ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มีสมาชิกทั้งสิ้น 50 ราย และค่าสมาชิกประมาณ 300 ล้านบาท

"ขณะนี้เรากำลังพิจารณาว่าค่าสมาชิกของตลาดจะเป็นระบบใดระหว่างระบบแบบการประมูลใครเสนอมากก็ได้รับ กับระบบที่กำหนดราคาที่นั่งไว้ตายตัว เรียกว่าระบบ Selective โอกาสที่จะเป็นไปได้มากคือแบบที่ 2 เหมือนกับตลาดหลักทรัพย์แต่ราคาจะถูกกว่าตลาดหุ้น ในเรื่องของจำนวนสมาชิกถ้าเราดูที่ตลาด CBOT สมาชิกที่เทรดคอมมอดิตี้ล้วน ๆ มีประมาณ 600 รายใน CME (Chicago Mercantile Exchange) ประมาณ 400 ราย ใน Minneapolis Grain Exchange มีราว 4-500 ราย ในตลาด TOCOM ประมาณ 200 ราย ขณะที่ตลาดหุ้นเรามีเพียง 50 ราย สำหรับตลาดฯ ของเราเพื่อเป็นการสนองตอบเจตนารมณ์ เราต้องการให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในตลาดเรากว้างไกล เราไม่ต้องการให้ใครเข้ามามีอิทธิพลเหนือตลาดมาก ดังนั้นเราคาดว่าสมาชิกในเบื้องต้นจะมากกว่าตลาดหุ้น เพราะค่าที่นั่งของเราไม่แพงเราต้องการให้เกษตรกรถูก Charge น้อยที่สุด" ศิริพล ยืนยันอย่างแข็งขัน

สำหรับ สินค้าที่เข้ามาซื้อขายในตลาดจะต้องเป็นสินค้าเกษตรนั้น ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะต้องเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายในตลาดจริงมาก มีการแข่งขันสูงมีราคาผันผวนมากจนเกิดความเสี่ยงสามารถจัดชั้นคุณภาพได้ และเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายตามกลไกของตลาดปราศจากการแทรงแซง ซึ่งสินค้าที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดได้แก่ ข้าว และ ยางพารา เป็นต้น เพราะในใบสัญญา (Contract) จะต้องมีการระบุถึงเกรดของสินค้าด้วย

และเพื่อเป็นการป้องปราม และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดฯ ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงได้กำหนดบทลงโทษไว้โดยได้กำหนดโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดได้รับ

"บางครั้งการกระทำผิด อาจจะเป็นเรื่องการปั่นตลาด หรือทำให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้อื่นขึ้นมา เราก็จะดูที่ผลประโยชน์ที่เขาได้รับ และจะปรับเป็น 2 เท่า นั่นคือเจตนาของเรา เพราะเวลาที่คนใดคนหนึ่งทำผลเสียหายเขาจะต้องเล็งเห็นผล ที่จะได้อยู่ก่อนแล้ว อาจจะเป็นเรื่องของกำไร (Gain) ที่จะเกิดขึ้น เช่นผมมีเจตนาว่าจะซื้อหุ้นเพื่อให้ได้กำไรสัก 100 ล้านบาท เราก็ต้องมีการวินิจฉัยว่าผลนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ส่วนรายละเอียดของการกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดนั้นต้องขอสงวนไว้ก่อน" ศิริพล ขยายความถึงเรื่อผลประโยชน์ที่จะนำมาคิดคำนวณเปรียบเทียบปรับ

จากการเรียนรู้ประสบการณ์ของตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ และตลาดหุ้นของไทย ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะต้องมีการจัดตั้ง 'กองทุนทดแทนความเสียหาย' ซึ่งก็ได้มีการร่างขึ้นมาเป็นหมวดเฉพาะ โดยกองทุนนี้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดแทนความเสียหายให้แก่สมาชิก หรือลูกค้า ไม่ว่าในกรณีที่เกิดขึ้นจากการบิดพลิ้วไม่ส่งมอบสินค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือไม่มีหลักทรัพย์หรือสินค้าตามสัญญา โดยถือหลักจ่ายตามความเป็นจริง นอกเหนือจากนั้นกองทุนนี้ยังจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ เช่น การติดตามฟ้องร้องหนี้ การบังคับคดีตามกฎหมาย รวมถึงเรื่องของการส่งเสริม และพัฒนาด้านต่าง ๆ ด้วย
สำหรับเงินกองทุนขั้นต้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอน เพียงแต่ร่างถึงแหล่งที่มาของเงินกองทุน ซึ่งจะมาจากสมาชิกจ่ายสมทบ เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ เงินหรือหลักทรัพย์ที่มีผู้อุทิศให้ ดอกผลที่งอกเงยจากกองทุนและรายได้อื่น ๆ ที่กองทุนจัดหาด้วยวิธีที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม รองอธิบดี กรมการค้าภายใน ได้ยืนยันว่า กองทุนนี้ไม่ได้มีหน้าที่ในการพยุงตลาด หรือสร้างสภาพคล่องให้ตลาดอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนก็ เพื่อปกป้องความเสียหายในขั้นพื้นฐาน และเพื่อให้กระบวนการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายมีความสมบูรณ์ในตัวเองเท่านั้น

"เราเชื่อว่าวิธีการที่เราคิดนี้จะทำให้ตลาดสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได ้เราไม่อยากจะให้เกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเช่นทุกวันนี้ที่เมื่อตลาดซบเซาก็ต้องระดมเงินมาจากธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทย หรือธปท. เพราะนั่นอาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างระบบการเงินในประเทศ และในเนื้อหาของกองทุนนี้เราไม่ได้กล่าวถึงหน้าที่ในการเข้าไปพยุงตลาดเพื่อสร้างสภาพคล่อง เพราะเจตนาในการตั้งกองทุนก็เพื่อปกป้องความเสียหาย ถ้าทุกฝ่ายได้รับการปกป้องในขั้นพื้นฐานเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น"

20 ปีที่รอคอย
21
หากจะกล่าวถึงแนวความคิดเกี่ยวกับตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในประเทศไทย
'เหล้าเก่าในขวดใหม่' คงจะเป็นคำพูดที่นำมาใช้ได้ไม่ผิดเพี้ยนนักเพราะเรื่องนี้ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2518 หลังจากจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่นานนักในขณะนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน กรมทะเบียนการค้า และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน กรมทะเบียนการค้า และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรจะให้มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพียงแต่ขาดกฎหมายที่จะเข้ามารองรับเท่านั้น ซึ่งทางกรมทะเบียนการค้าได้พยายามแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ที่ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ 2 ประการ คือควบคุมสินค้าและควบคุมการประกันภัย โดยให้เพิ่มเติมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเข้าไปอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาใช้เป็นกฎหมายรองรับการจัดตั้งและดำเนินงานของตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่กำหนดจะจัดตั้งในปี 2522 ทว่าเรื่องก็ต้องชะงักงันไปเพราะเกิดการยุบสภาขึ้นมาเสียก่อน

จนกระทั่งปี 2531 กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้มี
ดำริให้จัดตั้งขึ้นมาก่อนแล้วจึงหากฎหมายมารองรับในภายหลัง ซึ่งเป็นผลให้ภาคเอกชนจำนวนประมาณ 30 รายรวมตัวกันขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทบางกอกคอมมอดิตี้ เอ็กซ์เซ้นต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการซื้อขายข้าวโพดล่วงหน้า แต่เนื่องจากยังติดขัดในเรื่อของกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลควบคุมโดยตรง อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวของประเทศ ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้ส่งเรื่องให้ครม.พิจารณาให้กระทรวงการคลังใช้อำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ที่ระบุให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลควบคุมกิจการการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ทว่าจากการพิจารณาของครม.ได้มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ระงับการรับจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว ซึ่งก็เป็นอันว่าความพยายามนี้ต้องล่มไปอีกครั้งหนึ่ง

"แนวคิดการจัดตั้งตลาดล่วงหน้าเกิดขึ้นมาราวปี 2518 และเรามาเริ่มทำกันจริงจังถึงขนาดจ้างที่ปรึกษาออกร่าง พ.ร.บ. ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยขึ้นมาในปี 2526 แต่ไม่ได้ผลเพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้อะไรเลย เราทำเรื่องเสนอเข้าไปในครม.เพื่อจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้า ครม.ก็บอกให้เราไปทำตลาดซื้อขายจริง (Cash Market) ที่ท่าโรงโม่ซึ่งจริง ๆ ตลาดซื้อขายจริงมันมีอยู่แล้วประกอบกับตอนนั้นระบบภาษียังไม่ค่อยดีจึงไม่สำเร็จ หลังจากนั้นก็เลิกรากันไปแล้วจึงกลับมาใหม่ในปี 2537" รองอธิบดีกรมการค้าภายในคนใหม่ ที่เพิ่งถูกโยกย้ายจากกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เท้าความถึงความยากลำบากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7(2535-2539) ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบตลาด รวมถึงตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures Market) เฉพาะประเภท โดยให้มีมาตรการทางการเงินและการคลังเข้ามาสนับสนุนตลอดจนออกกฎหมายการกำกับดูแลที่ชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับพันธกรณีของแกตต์ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2538 ซึ่งไทยในฐานะประเทศสมาชิกจะต้องลดการแทรงแซงลงจากเดิมที่นิยมใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลมักจะนิยมใช้วิธีการตั้งกำแพงภาษี หรือให้กรมการค้าต่างประเทศควบคุมการนำเข้าพืชผลที่ไทยผลิตได้เอง หรือไม่ก็ใช้วิธีการเข้าแทรกแซงตลาดรับซื้อ โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) หรือใช้วิธีการรับจำนำพืชผล ซึ่งวิธีการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น จะเห็นว่าในแต่ละปีจะมีม็อบของเกษตรกรรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเป็นประจำทุกปีจนกลายเป็นความเคยชิน
แนวคิดเรื่องตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแจ้งเกิดอีกครั้งในปี 2537 กลับมาคราวนี้ได้รับการตอบรับจากภาครัฐเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังก็มีแนวคิดที่จะจัดตั้งตลาดล่วงหน้าทางการเงิน หรือที่เรียกกันติดปากว่าตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivatives Market ขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าขึ้นมาเพื่อทำงานนี้โดยเฉพาะเจาะจง

"เมื่อเราเห็นว่าบทบาทขององค์การการค้าโลกในการที่จะเปิดกว้างโลกให้มากขึ้นไปจนถึงขั้นไร้พรมแดนมันจะทำให้ทุกอย่างแคบขึ้น จุดนี้เองที่ทำให้เราคิดว่าถึงเวลาที่เราควรจะมีตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในฐานะที่เราเป็นประเทศผู้ผลิต (Producer) ที่เกษตรกรอยู่ในตลาดสินค้าจริง (Cash Market)" ศิริพลกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิดตลาดนี้ขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในกลางปี 2541 นี้ ซึ่งกรมการค้าภายในถือเป็นหัวหอกสำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้

จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกของกรมการค้าภายใน ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นของผู้ผลิต หรือ (Producer Market) เช่นสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกข้าวโพด และถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลกก็จะมีตลาด Chicago Broad of Trade (CBOT) เป็นแหล่งซื้อขายกัน มาเลเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของโลกก็จะมีตลาด Kaula Lumpur Commodity Exchange เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกมะพร้าวรายใหญ่ของโลก

ประเภทต่อมาเป็นตลาดของเทรดเดอร์ เป็นตลาดของผู้ค้ารายใหญ่ ๆ ของโลก ตลาดที่คึกคักได้แก่ ตลาด London Commodity Exchange มีกาแฟ น้ำตาล ข้าวสาลี น้ำตาล และโกโก้ เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันมากที่สุด และตลาด Singapore Commodity Exchange ที่โดดเด่นในเรื่องของการซื้อขายยางพารา

สุดท้ายเป็นตลาดของผู้ใช้ (User Market) ที่โดดเด่นที่สุดคือตลาดญี่ปุ่น Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) ซึ่งยางพาราเป็นสินค้าที่มีการเทรดกันมากที่สุด เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้ายางพารา เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นการมีตลาดล่วงหน้าจึงสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องของราคา และซัปพลายได้เป็นอย่างดี

"สำหรับประเทศไทยเรา define ว่าเป็นตลาดของผู้ผลิต ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าเรามีสินค้าอะไรที่ผลิตและส่งออกมา ที่เห็นก็มีข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กุ้งกุลาดำ ที่เราเป็นผู้นำอยู่ในตลาดโลกอย่างข้าวเราผลิตได้เป็นที่ 4 ของโลก ยางพาราเราผลิตเป็นที่ 1 ของโลก มันสำปะหลังเราก็ผลิตได้เป็นที่ 4-5 ของโลก กุ้งกุลาดำเราผลิตเป็นอันดับ 1 ของโลก และสินค้า 4 ชนิดนี้เราพบว่ายางพารามีตลาดซื้อขายล่วงหน้าจริง ๆ อยู่ในสิงคโปร์ โตเกียวและโกเบ ถ้าเป็นกุ้งกุลาดำมีเทรดที่ตลาดนิวยอร์ก นิวออร์ลีน สหรัฐฯ แต่สำหรับข้าวยังไม่ปรากฎตลาดที่มีการซื้อขายกันโดดเด่นจริง ๆ นัก ทั้ง ๆ ที่มีการเทรดอยู่ที่ CBOT สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จทีเดียว เพราะสหรัฐผลิตแค่ 6 ล้านตัน ส่งออก 2 ล้านตัน ไทยผลิตกว่า 20 ล้านตันส่งออก 5-6 ล้านตัน" รองอธิบดีศิริพลในฐานะกรรมการผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวถึงแนวทางของตลาดล่วงหน้าไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า กรทรวงพาริชย์ได้มีการเดินทางไปดูงานตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ของโลกหลายแห่งทั้งนี้ก็เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับตลาดของไทย ขณะเดียวกันก็ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการให้คำปรึกษา เช่นประธานของตลาด Minneapolis Grain Exchange เจ้าหน้าที่จาก JICA ของญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติ เพื่อการค้าและการพัฒนา (United Nation Conference on Trade and Development : UNCTAD)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมาคณะทำงานของกรมการค้าภายใน นำโดยรองอธิบดีศิริพล นี่เอง ได้เดินทางไปพบกับรองอธิบดีสำนักงบประมาณ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงบประมาณรวม 25 ท่าน เพื่อนำเสนอแผนงานจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้ทางสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ 2541 ซึ่งงบประมาณที่เสนอไปนั้นจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยจะนำมาใช้ในการวางระบบคอมพิวเตอร์ ค่าเช่าสถานที่ และเป็นค่าจ้างพนักงาน ในระยะเริ่มต้นในการจัดตั้งตลาด ซึ่งในด้านของสถานที่ ทางกระทรวงพาณิชย์มี 3 ทาง เลือกด้วยกันคือเช่าพื้นที่ต่อจากตลาดหลักทรัพย์ในอาคารสินธร หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ย้ายไปยังอาคาร Exchange Square ของตนเอง หรือเช่าพื้นที่ในอาคาร Exchange Square ของตลาดหลักทรัพย์ หรือเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ทว่าคำตอบที่ชัดเจนยังไม่ปรากฏ


"ที่เราไปสำนักงานงบประมาณครั้งนั้นก็เพื่อนำเสนอถึงความจำเป็น และเหตุผลในการจัดตั้งตลาดล่วงหน้าเทียบระหว่างมีกับไม่ม ีเพื่อให้ทราบว่ามีแล้วดีกว่า ประการที่สองคือเราได้พูดถึงว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 10 กว่าของโลกแล้วอันดับ 1-10 เขามีตลาดล่วงหน้าไปหมดแล้ว แต่ไทยยังไม่มี แม้แต่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน และประเด็นที่ 3 ก็คือตลาดล่วงหน้าที่เราจะจัดตั้งขึ้นนั้นตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรมากที่สุด และประเด็นสุดท้ายเราได้นำเสนอว่าเราได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปถึงขั้นไหนแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับได้แค่ไหน และในเรื่องนี้ต่างประเทศก็รับรู้กันหมดว่าไทยจะจัดตั้งตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรกลางปี 2541 นี้ ซึ่งเขาก็ให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายการสำคัญ ๆ ของโลก" ศิริพล กล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งสรุปผลการเข้าพบในวันนั้นภายหลังจากการซักถามอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม สำนักงบประมาณมีความเห็นว่าตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีความจำเป็นจึงเห็นชอบในหลักการที่จะให้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทตามที่เสนอมาในปีงบประมาณ 2541 แต่ยังจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณางบประมาณอื่น ๆด้วย

นัยลึกล้ำกว่าเทรดกระดาษหากำไร

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคลือบแคลงสงสัยถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากตลาดล่วงหน้าหากจัดตั้งเป็นผลสำเร้จ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าสังกัด ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า ตลาดนี้จะสามารถช่วยประกันความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคา (Hedging) ให้แก่เกษตรกรได้หากเกษตรกรเข้ามาซื้อขายผ่านตลาดโดยตรงซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตของตนได้ในราคาที่พอใจได้ล่วงหน้า ไม่ต้องกังวลกับการแกว่งตัวขึ้นลงของราคาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

แนวโน้มของระดับราคาสินค้าเกษตรหลังการจัดตั้งตลาด จะมีความผันผวนน้อยลง ราคาซื้อขายจะสะท้อนถึงภาวะตลาดที่แท้จริง เพราะแม้แต่ในภาวะที่ระดับราคาในตลาดจริง (Cash Market) ไม่สัมพันธ์กับระดับราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า การหากำไรส่วต่างระหว่างตลาดหรือที่เรียกว่า Arbitrage จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยดึงให้ระดับของราคากลับคืนสู่ภาวะปกติเพราะในสถานการณ์เช่นนั้นผู้สั่งซื้อจะเข้าไปสั่งซื้อในตลาดที่มีราคาต่ำกว่า ขณะที่สั่งขายในตลาดที่ระดับราคาสูงกว่า

นอกจากนี้เกษตรกยังได้ประโยชนืจากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่เกี่ยวกับภาวะตลดาและการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในและนอกประเทศจากตลาดฯ ตลอดจนโบรกเกอร์ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างถูกต้อง และยังช่วยให้เกษตรกรทำากรพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย พร้อมกันนั้นยังช่วยให้ทราบแนวโน้มและระดับราคาที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต อันจะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้วย

"เรามีความจำเป็นมากที่จะต้องจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้า เพราะเราเป็นตลาดผู้ผลิตและผู้ส่งออก แม้ว่าการจัดตั้งตลาดนี้จะทำให้ผู้ส่งออกบางกลุ่มไม่มีความสุขแต่ในเวลาเดียวกันก็จะพบว่าบรรดาพวกโรงสี ผู้ค้าท้องถิ่น ชาวไร่ชาวนาเขาจะมีความสุขมากขึ้น เพราะข้อมูลที่เขาจะได้รับจะเร็ว ลึก และถูกต้องมากขึ้น นั่นคือเหตุผลง่าย ๆ แม้ว่าผู้ส่งออกบางรายจะไม่ชอบการเปิดเผยข้อมูล แต่กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และผู้ส่งออกเองก็ต้องพยายามพัฒนาตนเอง เราต้องการให้ตลาดการผลิตสินค้าของเราเป็นตลาดใหญ่พอที่จะเป็นศูนย์รวมได้" ศิริพล อธิบาย

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุด ในขณะที่กระทรวงการคลังก็อยู่ในระหว่างการจัดตั้งตลาดตราสารอนุพันธ์ทั้ง ๆ ที่ทั้ง 2 เป็นตลาดล่วงหน้าเหมือนกันมีการซื้อขายใบสัญญา และชำระเงินผ่านระบบคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน แต่ทำไม่จึงต้องแยกเพราะแม้แต่ในต่างประเทศอย่างตลาด CME ก็มีการเทรดทั้งตราสารทางการเงินและสินค้าเกษตร นั่นคือปมปัญหาที่เกิดขึ้น และยังไม่มีใครอกมาไขข้อข้องใจแต่อย่างใด

"การที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้นเพราะเรามีความเป็นห่วงในเรื่องของธรรมชาติการผลิต และการตลาด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เกี่ยวกันกับตราสารอนุพันธ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ธรรมชาติตัวนี้ต่างหากที่เป็นอำนาจที่มีอยู่จริงของกระทรวงพาณิชย์ เช่นบทบาทในการกำกับดูแลสินค้าเฉพาะตัว บทบาทในการเปิดปิดวาล์ลการนำเข้า โดยพ.ร.บ.ส่งออกและนำขเาของกรมการค้าต่างประเทศ รวมทั้งบทบาทในการกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกซึ่งกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งนี่ถือเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกต้องแล้ว" ศิริพล เฉลยคำตอบที่เป็นคำถามคาใจ

ศิริพล ได้อธิบายต่อไปว่า โดยทั่วไปโครงสร้างกฎหมายและระบบบริหารราชการแผ่นดินของต่างประเทศจะบัญญัติให้กระทรวงการคลังดูแลในเรื่องของการเงินกาวธนาคาร รวมถึงก.ม.ที่เกี่ยวกับตราสารทางการเงินต่าง ๆ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะดูแลในเรื่องของการค้าขาย และหากเป็นเรื่องของการผลิต จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงเกษตรฯยกเว้นกฎหมายของอังกฤษที่จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปคือการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ การออกใบอนุญาตที่เป็นลักษณะกระดาษทุกประเภทธุรกิจ จะอยู่ภายใต้ร่มเงาของกฎหมายฉบับเดียวกัน ทั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากยุคที่อังกฤษยังมีสถานะเป็นเจ้าอาณานิคม

"จากการศึกษากฎหมายและโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในต่างประเทศของเจ้าหน้าที่พบว่าแต่ละประเทศมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเราอย่างไร เราจึงออกแบบกฎหมาย และออกแบบตลาดซื้อขายล่วงหน้าของเราในเบื้องต้น โดยเราจะดูว่าตลาดเราเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าประเภทไหน ถ้าเป็นตลาดของผู้ผลิตเราต้องดูขั้นตอนวิธีการในการเทรดสินค้าในตลาดประเภทนั้น อย่างตลาด CBOT ตลาดมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเกิดก่อนเราและมีลักษณะกฎหมายบางอย่างคล้ายกับสหรัฐฯ บางอย่างคล้ายอังกฤษ ขณะเดียวกันเราก็ต้องมาดูโครงสร้างกฎหมายของเราเองด้วยว่าจะสามารถ Match ได้อย่างไรอันนี้เราดูเป็นอันดับแรก"

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การขาดทุนมหาศาลจากการเทรดทองแดง ซึ่งเป็น Commodity ชนิดหนึ่งในตลาดศูนย์กลางระหว่างประเทศอย่าง London Metal Exchange ของบริษัทซูมิโตโม่ ญี่ปุ่นที่เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อกลางปีนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลตลาดล่วงหน้าจะสามารถป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ได้หรือไม่ ทั้งในเรื่องของการปั่นตลาดด้วยการสร้างดีมานด์เทียมขึ้นมาซึ่งส่งผลต่อระดับราคาของสินค้าและกลายเป็นข้อมูลเท็จหลอกลวงผู้ผลิต หรือเกษตรกรให้หลงเชื่อว่ามีดีมานด์นั้นจริงในตลาดตลอดจนถึงการกระทำผิดโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ (Unauthorized Trading) ปลอมแปลงเอกสาร และปัญหาระบบการตรวจสอบภายในที่หละหลวม (Compliance Unit)

การจำกัดการซื้อขายของสมาชิก (Limit Position) และการวางเงินประกัน (Margin) ที่สมาชิกจะต้องนำมาวางไว้กับตลาดเป็นมาตรการที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือป้องกันในเรื่องของการปั่นราคาในคลาด แต่อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วผู้ที่เข้ามาลงทุนในตลาดล่วงหน้าสามารถจำแนกออกได้ว่าควรเป็น Hedger และเป็น Speculator เพราะลูกค้าที่จะเข้ามาในตลาดจะต้องแจ้งชื่อความสามารถ และอาชีพให้ทราบเป็นเบื้องต้น

สำหรับเงินประกัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ในอัตราประมาณ 10% และจะได้รับคืนเมื่อมีการส่งมอบสินค้าเป็นที่เรียบร้อยในกรณีที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้เงินประกันมีมูลค่าต่ำกว่ากำหนด สมาชิกจะต้องเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มเพื่อให้ครบตามอัตราที่กำหนด ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแทบมองไม่เห็น

"ในการกำหนดมาร์จินเราต้องพิจารณาด้วยว่าสินค้านั้น ๆ มีราคาผันผวนมากน้อยเพียงไร ถ้าเป็นสินค้าที่ผันผวนมากมาร์จินก็ต้องต่ำลง หากจะให้มีการ vary มากเกินก็จะเกิดความสับสนต่อการปฏิบัติแต่ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ต้องขึ้นอยู่กับ norm ของสินค้านั้น อันนี้เรากำลังศึกษาอยู่และมาร์จินของตลาดล่วงหน้าเป็นการประกันมิให้คนผิดสัญญาต่างจากมาร์จินหุ้นที่ควบคุมมิให้ใช้สิทธิซื้อ/ขายมากไปเท่านั้นเอง" นั่นเป็นความเห็นของผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรของไทย ในขณะเดียวกันยังได้ให้ความเห็นถึงความเคลื่อนไหวของราคาในตลาดล่วงหน้าด้วย

"หากเราเทียบกับหุ้น ราคาของหุ้นมันมีลักษณะต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่มี Limit High เพราะโดย norm ของหุ้นไม่มีซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริง และเป็นสิ่งที่มองเห็นในส่วนที่มองไม่เห็น โดยทั่วไปตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้า จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น ฤดูกาลของมันมีระยะขวบปี และการซื้อขายส่วนใหญ่ก็จะไม่เกิน 18 เดือน และสัญญาที่ active จริง ๆ ก็ไม่เกิน 3 เดือน 6 เดือน นอกจากนี้ราคาจะไม่เดินไปต่อเนื่องเหมือนหุ้น เพราะสินค้าแต่ละตัวจะมีธรรมชาติราคาของมันเองถ้าเป็นสินค้าเกษตรมันจะมีราคาสูงสุด/ต่ำสุดในตัวเองโดยอัตโนมัติซึ่งตรงนี้สามารถป้องกันการปั่นรายได้ และเราเชื่อว่าเราทำได้"

ในกรณีเหตุการณ์ซูมิโตโม 'ศิริพล ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการปลอมแปลงเอกสาร และกระบวนการควบคุมภายในที่ไม่รัดกุมในฐานะที่กระทรวงพณิชย์เป็นผู้คุมกฎได้ให้ความสำคัญในสเรื่องนี้ไม่ยิ่งหย่อน และจะต้องมีการกวดขันอย่างรัดกุม โดยสมาชิกจะต้องมีการรายงานการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง และไม่สามารถซื้อขายด้วยการใช้สิทธิของสมาชิกรายอื่นในกรณีที่มีการซื้อขายเต็มวอลุ่มแล้ว'

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ของสินค้าแล้ว จะเห็นว่าทองแดง เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และสามารถใช้ไปได้อย่างต่อเนื่องหลายชั่วคน ไม่มีฤดูกาลเหมือนอย่างสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกเกษตร ซึ่ง ณ จุดนี้ก่อให้เกิดการปั่นตลาดได้

"กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดว่าเราจะทำากรซื้อขายในฐานะที่เราเป็นตลาดของผู้ผลิตในด้านการเกษตร ซึ่งมันจะมี norm ในเรื่องของฤดูกาลและราคาในตัวเอง ซึ่งตรงนี้จะเป็นด่านแรกในการป้องกันการสร้างราคาได้"

ฟังอย่างนี้แล้วก็ให้โล่งใจไปไม่น้อยหาก ตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรเกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง เชื่อว่าม็อบเกษตรกรหน้าทำเนียบที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ คงจะลดน้อยลงไปได้ระดับหนึ่ง ขณะที่รัฐเองก็สามารถนำเงินที่ต้องใช้ในการพยุงราคาพืชผลในแต่ละปีไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.