สิทธินักแสดงไทย ถึงเวลาต้องหัดให้รู้จักทวง


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

"สิทธิของนักแสดง เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ที่ทำให้กฎหมายของไทยฉบับนี้ ได้ชื่อว่ามีความล้ำหน้ามาก เพราะนอกจากจะกำหนดให้งานทุกอย่างเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว ยังกำหนดให้การแสดงออกถือเป็นงานลิขสิทธิ์ด้วย"

วีรวิทย์ วีรวรวิทย์ ผู้อำนวยการกองวิชาการ และแผนงานกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวพร้อมกับอธิบายความหมายถึงสิทธิของนักแสดงง่าย ๆ ว่า

สิทธิของนักแสดง เกิดจากเมื่อนักแสดงมีการแสดงใด ๆ ให้ดูว่ามีสิทธิอะไรที่เกี่ยวข้องด้วย คือ หนึ่ง เวลาแสดงแล้วตัวเองมีสิทธิจะให้บุคคลอื่นอัดหรือบันทึกการแสดงของตนหรือไม่ก็ได้

สอง มีสิทธิที่จะให้ หรือไม่ให้บุคคลอื่นเอาเทปที่บันทึกไปแสดง และสาม มีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้บุคคลอื่นนำเทปที่ถูกบันทึกไปจำหน่ายนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของนักแสดง ยังระบุไว้เป็นประโยชน์ต่อนักแสดงด้วยว่า เมื่อมีใครนำงานอันเป็นลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงไปแสดง ต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับนักแสดง ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ สามารถเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทนให้กับนักแสดงได้ตามกฎหมาย

"ปัญญามีอยู่ว่าถ้านักแสดงไม่มาหาเรา ไม่มีการเจรจากันทางกรมทรัพย์สินฯ ก็จะไม่สามารถกำหนดอะไรได้ และที่ผ่านมาก็ไม่มีการเจรจาตกลงอะไรกันเลยในส่วนนี้" ผู้อำนวยการฯ กล่าว

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัญหาใหญ่ของนักแสดงไทยคือ การขาดอำนาจต่อรองกับกลุ่มผู้สร้างสรรค์ประเภทผู้ประกอบการหรือนายทุน ซึ่งมองจากสภาพแล้วเป็นผู้ที่ทำให้นักแสดงมีสิทธิแจ้งเกิดในวงการ และกลายเป็นผู้มีบุญคุณต่อนักแสดงให้ได้มีผลงาน เกินกว่าที่นักแสดงจะมีโอกาสสร้างเงื่อนไขใด ๆ ได้ ก่อนจะมีงานลิขสิทธิ์อันเป็นสิทธิของตนเอง

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทางกรมทรัพย์สินฯ เองก็เล็งเห็น และทราบมาตลอดเช่นเดียวกับคนทั่วไปว่า นักแสดงไทยขาดอำนาจต่อรอง เพราะมาจากสาเหตุใหญ่อีกประการ คือ นักแสดงบ้านเราจะไม่พึ่งพากฎหมายในแง่ของที่ปรึกษา แต่จะไปหาเมื่อเกิดปัญหาแล้วเท่านั้น

จึงไม่มีการทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ก่อนเกิดงานอันเป็นสิทธิของนักแสดง โดยอาศัยเพียงความเชื่อถือในการตกลงก่อนเริ่มงาน แต่เป็นเรื่องที่สวนทางกับความเชื่อถือในโลกของสิทธิที่มีหลากหลายทางเศรษฐกิจ ทำให้นักแสดงต้องเสียสิทธิทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองไปโดยปริยายเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น

"การปฏิบัติอย่างที่เคยด้วยระบบไว้ใจกัน คงทำไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนองานมีรูปแบบงานลิขสิทธิ์และสื่อที่ใช้หลากหลายชนิดขึ้น และต่อไปยังต้องมีการเสนองานข้ามพรมแดน ถึงแม้จะมีการรอมซอมกันในประเทศ แต่ในส่วนของต่างประเทศ เช่น การที่ผลงานของนักร้องไทยโดนเพื่อนบ้านนำไปอัดซ้ำ ขายต่อ เราจะมีสิทธิเรียกร้องอะไรได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว" ผู้อำนวยการ กล่าว

ที่สำคัญ แม้ทางกรมทรัพย์สินฯ จะมีกฎหมายรองรับอำนาจสิทธิไว้ให้นักแสดง แต่ถ้านักแสดงไม่ใส่ใจที่จะอ้างสิทธิของตนเองอย่างที่แล้วมา สิทธินี้ก็จะเปล่าประโยชน์เช่นเดิมแต่ถ้านักแสดงพร้อมจะอ้างสิทธิก็ทำได้เลย เพราะกฎหมายรองรับไว้แล้ว

ปัญหาอีกประการที่ยังต้องพึงระวังคือ ไม่ว่ากฎหมายจะให้สิทธิและลิขสิทธิ์แก่เจ้าของผู้สร้างสรรค์หรือนักแสดงมากเพียงใด ถ้าฝ่ายนายทุนอยากได้กำไรมาก ๆ อันเป็นเรื่องปกติของการประกอบธุรกิจ ก็ยังสามารถใช้สัญญาจัดการเอาสิทธิทุกอย่างมาเป็นของนายทุนได้

"วิธีที่นายทุนจะทำได้ ก็ต้องมีรูปแบบวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เอาไปได้เฉย ๆ เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐก็ตระหนักเพราะถูกด่ามามาก เพราะการเกิดปัญหาบางทีก็มาจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ปัญหาที่ผู้สร้างสรรค์หรือนักแสดงไม่รวมตัวกันเท่านั้น" ผู้อำนวยการ กล่าว

เพื่อให้เป็นทางออกที่สวยงาม ทางกรมทรัพย์ฯ จึงเสนอความเห็นในการจัดการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในทุก ๆ ส่วน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนผู้บริโภคได้เสียเงินซื้องานลิขสิทธิ์ไปเสพ หรือรวมถึงค่าลิขสิทธิ์ต่อการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาไม่เคยเก็บได้และควรจะเก็บได้ในอนาคตอันใกล้นั้น ให้ถูกแบ่งไปยังทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างยุติธรรม

"ใครเป็นเจ้าของอะไรก็แบ่งกันไป แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์เทปผู้บันทึกเสียง ไม่อยากจะได้ในส่วนของตัวเองก็ไม่เป็นไร แต่ในส่วนของนักแต่งเพลงก็จะมีส่วนของตัวเองก็ไม่เป็นไร แต่ในส่วนของนักแต่งเพลงก็จะมีส่วนของเขา คือ คนที่เล่นมีทำนองที่เขาแต่งออกมา เขามีสิทธิและอยากรักษาสิทธิก็ทำได้โดยไม่ควรมีใครไปสละสิทธิ์แทนเขา รวมทั้งนักดนตรี นักแสดง เมื่อเขาอยากอ้างสิทธ์แทนเขา รวมทั้งนักดนตรี นักแสดง เมื่อเขาอยากอ้างสิทธิก็ต้องจัดการให้เขาเช่นกัน

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บสิทธิทั้ง 3 อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นของนักแสดง ทางกรมทรัพย์สินฯ ก็ยังหาข้อสรุปที่ดีที่สุดไม่ได้ ตอนนี้จึงต้องศึกษาตัวอย่างการจัดเก็บจากประเทศที่เจริญแล้ว ไปพร้อมกับเจรจาปรึกษากับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เหมาะกับการจัดเก็บสำหรับนักแสดงไทย

เช่น ตัวอย่างการจัดเก็บของประเทศสวิตเซอร์แลนด์สิทธิทั้ง 3 อย่าง จะใช้ระบบเก็บทีเดียว แต่ในหลายประเทศที่ยอมรับสิทธิเหล่านี้ จะแบ่งกันเก็บโดยให้ลิขสิทธิ์มีองค์กรหนึ่งเก็บ สิทธิของผู้บันทึกเสียงกับนักแสดงก็จะเก็บโดยอีกองค์กรหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย การจัดเก็บอย่างใดจะเหมาะสม ผู้อำนวยการฯ กรมทรัพย์สินฯ กล่าวว่า โดยความคิดเห็นส่วนตัว ตนยังเห็นถึงความอ่อนแอของผู้สร้างสรรค์ไทยในขณะที่ในประเทศตะตัวตนกรู้จักรวมตัวกันแล้ว ทำให้มีอำนาจต่อรองที่แข็ง พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ไทยรวมตัวกันไม่ได้ เพราะการรวมตัวอาจจะเป็นคอนเซ็ปต์ของการก่อให้เกิดเรื่องของสหภาพหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ

"บางทีผู้สร้างสรรค์อยากจะรวมตัวกันแล้ว แต่มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือไม่ ที่ป้องกันไม่ให้เขารวมตัวกัน เป็นสิ่งที่ทางกรมทรัพย์สินฯ กำลังจับตามอง และเป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอควร เพราะมีปัจจัยหลายด้าน"

อีกสาเหตุที่ทำให้กฎหมายลดความศักดิ์สิทธิ์ลง เพราะผู้สร้างสรรค์นอกจากยังไม่รวมตัวกันแล้ว ยังไม่ค่อยรักษาสิทธิของตัวเอง ชอบประนีประนอม ไม่จำเป็นไม่ฟ้องร้อง ใครลอกก็ปล่อยไป ซึ่งผิดกับโลกตะวันตก ที่นิยมการอ้างสิทธิ์ให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของโดยบางครั้งไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่เป็นการประกาศให้รู้ว่างานที่ถูกนำมาเผยแพร่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นจุดที่คนไทยขาด และยังต้องปลูกฝังให้รู้จักเรียกร้อง และทวงสิทธิก่อนที่จะมีปัญหาใหญ่ อย่างปัญหาข้ามชาติตามมาในอนาคตได้

ทั้งนี้ในกฎหมายเองก็กำหนดว่าผู้สร้างสรรค์ควรจะรวมตัวกัน และถ้าไม่สามารถรวมกันได้อย่างทีเห็น จึงเป็นเรื่องรัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยจัดตั้งกลไกขึ้นมาสอดส่องดูแสในรูปการจัดตั้งองค์กร และให้ผู้สร้างสรรค์มั่นใจว่า จะเป็นองค์กรที่ทำเพื่อผู้สร้างสรรค์อย่างจริงจัง ไม่ใช่เหมือนองค์กรการกุศลหลาย ๆ แห่งที่ใช้เงินส่วนใหญ่ในการบริหารองค์กรอย่างที่ผู้สร้างสรรค์กลัวกัน

การดูแลของรัฐก็คงจะวางมือได้ เมื่อมีองค์กรที่ต้องการเกิดขึ้นทำหน้าที่เก็บเงินแทนสมาชิกได้อย่างสมบูรณ์ รัดกุมและให้ผู้สร้างสรรค์สบายใจว่า เงินที่ตนควรได้ตกถึงมืออย่างถูกต้องในขั้นสุดท้าย

เมื่อถึงเวลานั้นสิทธิของนักแสดง หรืออาจจะเรียกให้เก๋ไก๋ว่า ผู้สร้างสรรค์ความบันเทิง ก็คงจะได้ประโยชน์กลับสู่นักแสดง ให้มีกำลังใจทำงานท่ามกลางความยุตธรรมและสบายใจ ในสังคมที่รู้จักคุณค่าของ "สิทธิ" และ "ลิขสิทธิ์" ที่ถูกต้อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.