|

นักการเมืองกลุ่มเสี่ยงสูงสมาคมโบรกฯตีกรอบเข้มหวั่นพัวพันฟอกเงิน
ผู้จัดการรายวัน(21 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมบริษัทหลักทรัพย์กำหนดเกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้า แบ่งกลุ่มระดับความเสี่ยงของลูกค้า 3 กลุ่ม "นักการเมือง-ทนายความ-ผู้ค้าทอง-ผู้ค้าเพชร-ผู้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงิน"ถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ขณะที่บริษัทจดทะเบียนและสถาบันการเงิน จัดอยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ คาดก.ล.ต.จะประกาศใช้ภายในเดือนก.ย.นี้ โบรกเกอร์หวั่นใจการจัดทำระบบตรวจสอบลูกค้าอาจจะไม่ทัน และอาจจะกระทบกับการซื้อขายในช่วงแรก
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้กำหนดเกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้า ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มระดับความเสี่ยงของลูกค้าเป็น 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ,กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งปรากฏว่านักการเมืองถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง สาเหตุที่กำหนดเช่นนี้ เนื่องจากเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งต่างประเทศก็ได้กำหนดให้นักการเมืองอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือปปง.กำลังพิจารณาว่านักการเมืองจะครอบคลุมไปถึงระดับใด เพราะจะต้องพิจารณาหลายประเด็น
นอกจากนี้ผู้ประกอบอาชีพบางประเภทก็ถูกกำหนดให้อยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ตามเกณฑ์ที่ปปง.กำหนดไว้ เช่นอาชีพทนายความ,ผู้ค้าทอง,ผู้ค้าเพชร และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพราะมองว่าอาชีพเหล่านี้มีโอกาสที่จะฟอกเงินได้ ซึ่งนักลงทุนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงนั้น จะเป็นกลุ่มที่ถูกขอเอกสารมากกว่ากลุ่มอื่น เพื่อยืนยันว่ามีตัวตนที่แท้จริง และไม่ได้เป็นนอมินีให้กับใคร รวมถึงจะถูกเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด
ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำนั้น จะได้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สาเหตุเนื่องจากบริษัทได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนได้รับรู้อยู่แล้วรวมถึงสถาบันการเงิน ก็จะจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เพราะมีหน่วยงานของทางการคอยดูแลอยู่แล้ว เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางนั้นถือเป็นกลุ่มใหญ่มีจำนวนมากสุด ซึ่งได้แก่นักลงทุนที่ซื้อขายทั่วไปด้านนักลงทุนที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งและได้สมัครเป็นลูกค้าของโบรกเกอร์ทางด้านออนไลน์นั้น ก็ได้วางแนวทางว่าต้องการให้นักลงทุนเหล่านี้เข้าสู่ระบบการตัดระบบบัญชีผ่านธนาคารพาณิชย์หรือ ATS เพื่อที่จะได้ตรวจสอบข้อมูลของนักลงทุนเหล่านี้จากระบบของธนาคารพาณิชย์ได้
"เกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้านั้น มีจุดประสงค์เพื่อจะได้รู้จักลูกค้าที่มาซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ว่าเป็นใคร ซึ่งไม่ใช่นอมินีของใคร ขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศมากขึ้น"แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้ส่งเกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งสาระสำคัญประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า (client due diligence : CDD) รวมถึงบุคคลที่ได้รับประโยชน์ และบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรม ,จัดกลุ่มลูกค้าตามระดับความเสี่ยงในการเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนการก่อการร้าย รวมถึงสอบยันข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้ากับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลูกค้าเปิดบัญชีจนกระทั่งยุติการทำธุรกรรมกับบริษัทหรือปิดบัญชี และจะต้องมีการจดบันทึกและจัดเก็บข้อมูลไว้ให้ครบถ้วน ซึ่งตามกรอบระยะเวลานั้นทางสำนักงานก.ล.ต.ต้องการที่จะประกาศใช้เกณฑ์ดังกล่าวภายในเดือนกันยายนนี้เป็นอย่างเร็ว
อย่างไรก็ตามโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่าอาจจะไม่ทันตามกำหนดเวลาที่สำนักงานก.ล.ต.กำหนดไว้ เนื่องจากจะต้องจัดทำระบบการตรวจสอบลูกค้า ซึ่งจะเป็นระบบรองรับกับเกณฑ์ที่จะประกาศใช้ แต่ระบบดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีการประกาศใช้ในช่วงแรกอาจจะกระทบต่อการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนบ้าง เพราะนักลงทุนอาจจะเกิดความสับสนต่อเกณฑ์ดังกล่าวที่เพิ่งจะประกาศใช้ แต่ก็เชื่อว่าในระยะยาวไม่น่าจะมีปัญหา เพราะสำนักงานก.ล.ต.และปปง.คงจะเข้ามาช่วยทำความเข้าใจกับนักลงทุนถึงสาเหตุที่กำหนดเกณฑ์ดังกล่าว
ทั้งนี้เกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้านั้น คาดว่าสำนักงานก.ล.ต.จะมีผลย้อนหลังต่อนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ แต่คงจะให้ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 3 ปีที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ไปจัดทำข้อมูลของลูกค้าและจัดแบ่งกลุ่มลูกค้าว่าจะอยู่ในระดับความเสี่ยงใด ซึ่งลูกค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็อาจจะต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนกลุ่มอื่น และเกณฑ์ดังกล่าวจะถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อนำไปใช้ต่อไป และถ้ามีบริษัทหลักทรัพย์รายใดไม่ปฏิบัติตามเชื่อว่าสำนักงานก.ล.ต.คงจะมีการกำหนดบทลงโทษขึ้นมาเพื่อคอยกำกับดูแล
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนเกณท์การกำหนดวงเงินที่จะให้กับลูกค้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ขณะนี้สมาคมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากจะต้องรอให้มีการนำเกณฑ์การรู้จักตัวตนของลูกค้าประกาศใช้ก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|