|
กทช.ไฟเขียวค่ายมือถือขอความถี่ หวังใช้ถกประเด็นกฤษฏีกาตีความ
ผู้จัดการรายวัน(21 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กฤษฎีกาตีความเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ระบุกทช.มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ อิงตามมาตรฐานสากล ITU ในขณะที่การจัดทำแผนคลื่นความถี่แห่งชาติจำเป็นต้องรอคณะกรรมการร่วมระหว่างกทช.กับกสช. ด้านประธานกทช.ชี้รอเอกชนยื่นขอความถี่ จึงจะนำเรื่องเข้าถกในที่ประชุมกทช. หลังเสียงส่วนใหญ่กทช.เห็นตรงกันว่าจัดสรรความถี่ได้ ด้านโอเปอเรเตอร์มือถือขยับรับลูกเตรียมยื่นขอความถี่ หลังไทยถูกเขมรแซงหน้าเรื่อง 3G ไปแล้ว
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ได้คลี่คลายลงในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นตามที่สำนักงานกทช.ร้องถามในประเด็นอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ว่ากทช.สามารถจัดสรรได้หรือไม่ ในขณะที่ไม่มีคณะกรรมการร่วมระหว่างกทช.และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งกทช.เสียงส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า กทช.สามารถจัดสรรคลื่นความถี่และอนุมัติคลื่นความถี่เกี่ยวกับด้านโทรคมนาคม และเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้ตามมาตรฐานสากลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้
แต่ในเมื่อกทช.ยังไม่มีความเห็นเป็นไปตามแนวทางเดียวกันทั้งหมด ก็จำเป็นต้องรอให้มีผู้ประกอบการยื่นเรื่องขอจัดสรรความถี่เข้ามาที่กทช. หลังจากนั้นบอร์ดกทช.ทั้ง 7 คนจะนำเรื่องดังกล่าวประกอบกับการตีความของกฤษฎีกา เข้าหารือในที่ประชุม เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนว่ากทช.จะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้หรือไม่
“หากมีเอกชนยื่นขอความถี่เข้ามา เราจะได้พิจารณาโดยอิงตามความเห็นของกฤษฎีกา ซึ่งหากกทช.จัดสรรความถี่ได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้”
แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกล่าวว่า หากพิจารณาตามการตีความของกฤษฎีกา กทช.ก็สามารถจัดสรรความถี่ได้แล้ว ขึ้นอยู่กทช.จะกล้าหรือไม่เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาบางเรื่องกทช.เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบหมด เหลือกทช.คนเดียวโวยวายขึ้นมา ก็ไม่กล้าทำอะไรแล้ว ซึ่งในส่วนของเอกชนก็เตรียมยื่นเรื่องขอความถี่เข้าไปยังสำนักงานกทช. เพื่อให้ทุกอย่างกระจ่าง
“ตอนนี้ไทยล้าหลังกว่าเขมรแล้ว เพราะเขมรเริ่มทำ 3G ในเมื่อกทช.มีความเห็นกฤษฎีกาอยู่แล้ว ก็น่าจะจัดสรรความถี่ได้โดยเฉพาะความถี่ 3G หรือไว-แมกซ์”
ทั้งนี้กฤษฎีกาได้ข้อวินิจฉัยกลับมาที่กทช.ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตามที่กทช.ถามไป 3 ประเด็นคือ ประเด็นที่1ในขณะที่ยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติ ยังไม่มีการจัดทำตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ และยังมิได้กำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคม โดยคณะกรรมการร่วม หากกทช.มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อกิจการวิทยุโทรคมนาคมจะกระทำได้หรือไม่และอาศัยบทบัญญัติใด
กฤษฎีกามีความเห็นว่าการจัดสรรคลื่นความถี่มี 2 นัยคือการจัดสรรคลื่นความถี่ ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการร่วม และอีกนัยหนึ่งคือการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการที่กทช.หรือกสช.รับผิดชอบ ซึ่งการที่กทช.จะอนุญาตหรือจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม กทช.จะต้องจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนแม่บทความถี่วิทยุ ตามมาตรา 51 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาอนุญาตหรือจัดสรรคลื่นความถี่ก่อน
แต่ข้อเท็จจริงปัจจุบันในเมื่อยังไม่มีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติเพราะยังไม่มีกสช. ก็มิได้หมายความว่ากทช.ไม่สามารถกำหนดแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุและดำเนินการใดๆในกิจการโทรคมนาคมที่รับผิดชอบตามมาตรา 51 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
ดังนั้นกทช.สามารถจัดทำแผนดังกล่าวได้ หากเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามข้อบังคับ ITU อันเป็นหลักการเดียวกับที่คณะกรรมการร่วมจะนำมาจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุ ก็สามารถนำมาเป็นหลักการในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 51 ได้ต่อไป
ประเด็นที่ 2 กทช.หารือว่าตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งชาติที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้จัดทำไว้เดิมและคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ให้ความเห็นชอบซึ่งมีผลใช้บังคับตามกฎหมายเดิมก่อนที่จะมีคณะกรรมการร่วม ซึ่งอ้างอิงแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ ITU สามารถนำมาใช้บังคับต่อไปได้หรือไม่
กฤษฎีกาวินิจฉัยว่าตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งชาติที่กรมไปรษณีย์โทรเลขจัดทำไว้เดิม ไม่สามารถใช้บังคับต่อไปได้ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมการร่วมเป็นผู้จัดทำ และนอกจากนี้ตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งชาติเดิมไม่มีความเหมาะสมและไม่เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากการจัดทำตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งชาติจะต้องกำหนดให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกับมาตรฐานสากลของ ITU ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากตารางเดิมที่กรมไปรษณีย์โทรเลขทำไว้
แต่อย่างไรก็ดีระหว่างที่ยังไม่มีตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในการปฏิบัติก็อาจนำตารางกำหนดกำหนดความถี่วิทยุแห่งข้อบังคับวิทยุของ ITU มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานเบื้องต้นกับกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไปพลางก่อนได้
ประเด็นที่ 3 กทช.หารือว่าคลื่นความถี่วิทยุที่ได้จัดสรรไว้เพื่อกิจการวิทยุโทรคมนาคมเป็นหลัก โดยให้ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นลำดับรอง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลระหว่างประเทศชัดเจนนั้น กทช.จะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุดังกล่าวได้หรือไม่
กฤษฎีกาได้ตอบในประเด็นนี้ว่าเมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|