หุ้นธุรกิจบันเทิงผลประกอบการผงาดเริงร่าทำกำไรเรียงแถวขยายการลงทุน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงเวลาบันเทิงของหุ้นกลุ่มบันเทิงหลังอุตสาหกรรมนี้ฟื้นตัวดีขึ้น ด้วยการผลประกอบการที่โตเกินคาดทำกำไรเรียงแถวแซงหน้าภาพรวมตลาด นักวิเคราะห์คาดสัญญาณการฟื้นตัวยังดีต่อเนื่อง คาดว่าภาคธุรกิจบันเทิงจะขยายการลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้ไตรมาส3-4 ผลประกอบการยังดีต่อเนื่อง ผนวกกับเป็นช่วงที่หลายธุรกิจเริ่มใช้จ่ายค่างบโฆษณา ยิ่งเป็นแรงผลักให้หุ้นกลุ่มกลุ่มบันเทิงโต

จากรายงานผลประกอบการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 พบว่าหุ้นกลุ่มบันเทิงสามารถขยายตัวได้อยู่ราว 33% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้หุ้นกลุ่มบันเทิงยังมีระดับค่าพีอีที่สูงถึง 18 เท่า ในขณะที่ภาพรวมของตลาดมีค่าพีอีเฉลี่ยเพียง 9 เท่า

ผลประกอบการที่ปรากฏพบว่า บมจ.บีอีซีเวิลด์ มีการเติบโตของกำไรที่น่าประทับใจมากสุด คือ มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 จำนวน 464.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102.92% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 229.13 ล้านบาท และเมื่อดูผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกปีนี้แล้ว พบว่ามีกำไรสุทธิ 901.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135.72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการเงิน บีอีซี เวิลด์ กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลจากบริษัทมีรายได้จากการขายโฆษณาที่ปรับพื้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ทำให้ บีอีซี เวิลด์ มีอัตราการใช้นาทีโฆษณาเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากในขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเริ่มอยู่ตัวไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้กลุ่มบีอีซีเวิลด์ อัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้น

ด้านต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายโดยรวม เริ่มอยู่ตัวและไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากอย่างปีก่อน หลังจากที่การขยายงานของกลุ่มเสร็จสิ้นกลับสู่ภาวะปกติ ต้นทุนการจัดคอนเสิร์ตและโชว์ได้ลดต่ำลงมามากเนื่องจากไม่ได้รวมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในส่วนของการจัดการแสดงในต่างประเทศของธีมสตาร์ ซึ่งเปลี่ยนสภาพจากบริษัทย่อยไปเป็นบริษัทร่วมตั้งแต่ช่วงท้ายของปีก่อนแม้เมื่อเปรียบเทียบในฐานเดียวกันก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามสภาวะเงินเฟ้อเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ยังมี อาร์.เอส.ที่มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างมากไตรมาสที่ 2 มีรายได้ 757.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 35.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลประกอยการในช่วง 6 เดือนของปีนี้ มีรายได้รวม 1,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 43 ล้านบาท

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. อาร์.เอส. กล่าวว่าสาเหตุที่รายได้และกำไรของอาร์เอสเพิ่มขึ้นมาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ รายได้จากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น 30.3% โดยเฉพาะมาจากสื่อวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ 2.รายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น 49.7% จากธุรกิจดาวน์โหลดและภาพยนตร์ 3.รายได้ภาพยนตร์เพิ่มขึ้น 25.5 ล้านบาท จากการฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ รักจังและไทยถีบและ 4.รายได้จากการรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น 31.8%

สำหรับภาพรวมของแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงตอกย้ำโมเดลธุรกิจใหม่ ในการเป็นผู้นำทางด้าน Entertainment Content Provider ด้วยการนำคอนเทนต์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลง ละคร ภาพยนตร์ รายการทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ อีเว้นต์มาร์เก็ตติ้ง ฯลฯ มาต่อยอดธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นการบริหารสินทรัพย์ทำรายได้ 360 องศารอบตัว

"คาดว่ารายได้รวมในปีนี้จะยังเป็นไปตามป้าหมาย คือ อยู่ที่ 3,200-3,300 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2.7 พันล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนรายได้มาจาก ธุรกิจเพลงหรือคอนเทนต์ 45% ธุรกิจสื่อ ได้แก่ ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ 45% และธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ รับจ้างผลิต รับจ้างจัดงานอีก 10% แม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนทางด้านการเมืองก็ตาม"

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 อาร์.เอส.จะมีการล้างงขาดทุนสะสมด้วยการใช้เงินทุนสำรองและส่วนเกินมูลค่าหุ้นบางส่วน เพื่อที่จะนำกำไรที่เกิดขึ้นจาก หลังจากนั้นมาพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอีกด้วย

ส่วน แกรมมี่ ซึ่งผลประกอบการไตรมาสแรกมีกำไรเพียง 500,000 บาทเท่านั้น ไตรมาสนี้ก็มีผลประกอบการที่กระเตื้องขึ้นโดยรายได้รวมของไตรมาส 2 มีจำนวน 1,694.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับรายได้รวมของไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรของไตรมาส 98.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 97.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรของไตรมาสก่อนหน้า ส่วนรายได้งวด 6 เดือนรวม 3,132.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นจำนวนเงิน 295.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวน 98.6 ล้านบาท ลดลง 21% จากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 125.3 ล้านบาท

สุเมธ ดำรงชัยธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า รายได้จากธุรกิจเพลงใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทปรับแผนการตลาดและปรับปรุงแนวเพลงเพื่อรองรับสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภค ถึงแม้จะมีวิกฤติทางการเมืองตลอดระยะเวลาครึ่งปีแรก ส่วนธุรกิจภาพยนตร์มีรายได้ลดลง เนื่องจากในครึ่งปีแรกการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไปต่างประเทศลดลง ขณะที่ภาพยนตร์ใหม่ที่ออกฉายมีเพียง 1 เรื่อง เช่นเดียวกับปี 2548 แต่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า มีผลทำให้กำไรของธุรกิจภาพยนตร์ลดลงจากปีก่อน 24 ล้านบาท

ส่วนรายได้ธุรกิจวิทยุงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ลดลงร้อยละ 29 เป็นผลมาจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจวิทยุที่รุนแรง ขณะที่ต้นทุนค่าเช่าสถานีซึ่งเป็นต้นทุนคงที่อยู่ในอัตราสูง มีผลทำให้เกิดผลกระทบต่อการขยายตัวของรายได้และกำไร อีกทั้งกลุ่มบริษัทได้ขยายคลื่นวิทยุประเภทสถานีข่าวเพิ่มอีก 1 คลื่น ซึ่งอยู่ในช่วงการดำเนินการ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงเริ่มต้น จึงมีผลทำให้กำไรของธุรกิจวิทยุโดยรวมลดลง

สำหรับรายได้ธุรกิจวิทยุไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เพิ่มจากไตรมาสที่ 1 ปี 2549 ร้อยละ 19 เนื่องจากบริษัทปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจวิทยุ โดยลดหน่วยงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และได้คืนสัมปทานคลื่นวิทยุจำนวน 2 คลื่น รวมทั้งปรับคลื่นสถานีข่าวเพื่อเป็นคลื่นบันเทิง

ขณะที่งบของ มีเดีย ออฟ มีเดยส์ ก็แสดงผลกำไรเช่นกันในรอบ 3 ปีหลังปรับโครงสร้างธุรกิจ ครึ่งปีแรกบริษัทฯมีกำไรสุทธิ 85.25 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 62.44%

ชาลอต โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มีเดีย ออฟ มีเดียส์ กล่าวว่า กำไรที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการที่บริษัทฯให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนในด้านต่างๆลง เช่น มีการเปลี่ยนสัมปทานจากลาวไปเขมรแทน โดยสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน รวมไปถึงการปรับการผลิตรายการที-ชันแนล จาก 12 ชั่วโมง รัน 2 รอบ มาเป็นเป็น 8 ชั่วโมง รัน 3 รอบใน 1 วันแทน ส่งผลให้ในไตรมาสสอง บริษัทฯมีกำไรเพิ่มขึ้น 30% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 42.9 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทฯจะมีการเพิ่มรายการอีกประมาณ 10 รายการ ซึ่งจะป้อนให้กับช่อง 7 เท่านั้น โดยรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือได้ว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 9 รายการ แต่คาดว่าปีนี้รายการทุกรายการที่เสนอไปจะทำกำไรให้ทุกรายการ โดยคาดว่าทั้งปีบริษัทฯจะมีรายได้ตามที่ประมาณการณ์ไว้ หรือไม่ต่ำกว่า 62% ของครึ่งปีแรกออย่างแน่นอน

สำหรับ เมเจอร์ ซีนีเพลกซ์กรุ๊ป รายงานผลประกอบการในไตรมาส 2 ปีนี้ว่า มีกำไรสุทธิ 243.22 ล้านบาท หรือ 0.33 บาทต่อหุ้น ดีขึ้นจาก 116.92 ล้านบาท หรือ 0.16 บาทต่อหุ้น ส่วนครึ่งแรกปีนี้ กำไรสุทธิรวม 389.41 ล้านบาท หรือ 0.53 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 57% เนื่องจากรายได้รวมเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ในทุกๆ หน่วยธุรกิจ และมีกำไรจากการขายหุ้น บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์

นักวิเคราะห์จาก บล.เคจีไอ กล่าวว่า รายได้จากการฉายภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เป็นเพราะไตรมาสก่อนหน้านี้มีรายได้ที่อยู่ระดับต่ำ โดยรายได้จะเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบต่อต่อไตรมาส หรือ 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และที่น่าสนใจคือ โดยปกติไตรมาสสองจะมีหนังฝรั่งฟอร์มใหญ่เข้ามาและหนังไทยมักไม่ได้รับความสนใจนัก แต่ในไตรมาส 2/49 นี้แตกต่างกันเนื่องจากมีหนังไทยอย่าง ก้านกล้วย และโหน่ง-เท่ง ติดอยู่ใน 5 อันดับหนึ่งที่ทำเงินสูงสุดด้วย ซึ่งจะเข้ามาทำให้ยอดรายได้จากหนังไทยจะขยับขึ้นมาเป็น 40% จากระดับเพียง 20% กว่าๆ ในช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้านั้น และการตอบรับที่ดีขึ้นต่อหนังไทยนี้ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์อย่าง MAJOR และผู้ผลิตเนื้อหาที่หันมาทำภาพยนตร์ด้วยอย่าง WORK อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าหุ้นกลุ่มบันเทิงมีผลประกอบการที่โตมากกว่าที่คาด โดยบริษัทส่วนมากมีผลประกอบการดีขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมบันเทิงที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้หลังจากที่ซบเซาไปในปีที่แล้วประกอบกับบริษัทส่วนมากมีการลดค่าใช้จ่ายเป็นการปรับตัวและมีการขยายตัวให้ครบวงจรมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายและเปิดรับรายได้ใหม่เข้ามามากขึ้น

ในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้คาดว่าหุ้นกลุ่มบันเทิงก็ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและการรุกธรกิจประเภทใหม่ให้กว้างขึ้นนอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของทุกปียังถือได้ว่าเป็นฤดูกาลที่มักมีการใช้จ่ายงบโฆษณาเพิ่มขึ้นอีกด้วย อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เติบโตยิ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.