|
แบงก์พึ่งใบบุญ“ซิเคียวริไทเซชั่น”สร้างทุนหมดห่วงปัญหาอนาคตสภาพคล่อง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดตราสารหนี้ ชี้ทางออกแบงก์หลังสถาบันประกันเงินฝากกำเนิด หนุนทำซิเคียวริไทเซชั่น ทางเลือกใหม่ในการระดมทุนยุคเงินฝากถูกลดกรอบการค้ำประกัน เพราะการทำซิเคียวริไทเซชั่นจะช่วยให้แบงก์ได้แหล่งเงินต้นทุนต่ำไว้ปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันลดปัญหาความเสี่ยงสภาพคล่องจากยอดเงินฝากที่อาจตกลง เพราะผู้ออมโดยเฉพาะรายใหญ่ไม่ประสงค์เก็บเงินไว้ในแบงก์อย่างเดียว หากแต่ต้องการออมในรูปแบบอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ระยะยาวเตรียมชักจูง กฟผ. ธอส. ปตท. ร่วมมือ ด้านตลาดตราสารหนี้รับผลพลอยได้ฐานนักลงทุนรายย่อยเพิ่ม จากหลักทรัพย์หลากหลายให้เลือกลงทุน วางแผน 5 ปีได้เห็นมูลค่าการออกเพิ่ม 1.5 ล้านล้านบาท
เป็นธรรมดาที่ธุรกิจมักจะถูกผลักดันให้ก้าวหน้าเจริญเติบโตด้วยอธิพลของนวัตกรรมนวัตกรรม ยิ่งมีนวัตกรรมก็ยิ่งมีความทันสมัย ยิ่งมีความทันสมัยก็ยิ่งมีช่องทางให้เลือกมาขึ้น และยิ่งมีทางเลือกมากขึ้นขนาดตลาดก็จะยิ่งขยายตัวขึ้นตาม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการสร้างหนี้โดยใช้วิธีหลากหลายรูปแบบ และสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่แล้วซิเคียวริไทเซชั่นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความทันสมัยจากนวัตกรรมของตลาดตราสารหนี้ซึ่งมีแผนว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ตลาดนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ดร.สันติ กีระนันท์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (BEX) กล่าวว่าหลังจากที่จะมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นในปี2551 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของเงินฝากมากขึ้น เนื่องจากสถาบันประกันเงินฝากจะค่อย ๆ ลดการค้ำประกันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้การฝากเงินโดยเฉพาะผู้ฝากรายใหญ่มีความเสี่ยงจนต้องกระจายเม็ดเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่นมากขึ้น ซึ่งการกระจายความเสี่ยงดังกล่าวทำให้แหล่งทุนจากการฝากเงินลดลง ทางตลาดตราสารหนี้จึงได้เสนอแนวทางใหม่ให้ธนาคารพาณิชย์ ด้วยการผลักดันให้ธนาคารออกตราสารหนี้ด้วยกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือระดมเงินฝากรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพต้นทุนต่ำให้เป็นทางเลือก
“หลังจากมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากในปี 2551 มองว่าธนาคารพาณิชย์จะให้ความสนใจออกตราสารหนี้ด้วยกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) มากขึ้น เพราะประชาชนต้องหาช่องทางใหม่ๆในการออมเงินกระจายความเสี่ยง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ออกมารองรับโดยการทำซีเคียวริไทเซชั่นที่มีความเหมาะสม สามารถสร้างสภาพคล่อง และเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีคุณภาพ เนื่องจากหุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ จะต้องผ่านการจัดเรตติ้ง จึงเป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดี”
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าในไตรมาส 1 ของปีหน้าบริษัทเอกชนต่าง ๆ คงจะต้องเริ่มระดมทุนในการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองที่คาดว่าน่าจะถึงจุดผ่อนคลายแล้ว อีกทั้งในปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ก็ใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับที่สูงมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าปีหน้าจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ๆเกิดขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องที่ล้นระบบในขณะนี้จะถูกดูดซับไป จนทำให้สภาพคล่องลดลงและธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มหาช่องทางในการเพิ่มสภาพคล่องใหม่
การระดมทุนด้วยซีเคียวริไทเซชั่นถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และประกอบด้วยข้อดีในหลาย ๆ ด้าน ทั้งตัวธนาคารพาณิชย์เองที่จะสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องได้ โดยไม่ต้องเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน และเงินที่ได้จากการระดมทุนนี้สามารถนำไปปล่อยสินเชื่อได้อีก นอกจากนี้ยังสามารถตัดขายลูกหนี้ออกไปทำให้ลดการสำรองเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงได้อีกด้วย
“คาดว่าในไตรมาส 1 ของปีหน้าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะกลับมาฟื้นอีกครั้ง เพราะในปัจจุบันกำลังการผลิตของในหลายอุตสาหกรรมได้ใช้กำลังการผลิตอยู่ประมาณ80%แล้ว การมีโครงการผลักดันให้ธนาคารออกตราสารหนี้นี้ขึ้นมาจึงเป็นการช่วยเสริมด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อีกทางหนึ่งได้นอกจากการพึ่งแต่เงินฝากของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเริ่มทำงานและเชื่อว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนในปี 2551-2552”
ทั้งนี้ แนวคิดการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ออกซิเคียวริไทเซชั่น เป็นการทำเพื่อให้ตลาดตราสารหนี้มีสินค้าที่ดีแก่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มปริมาณทางด้านการขายตามแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2
“การผลักดันแนวคิดให้ธนาคารพาณิชย์ออกซิเคียวริไทเซชั่นนี้คาดว่าจะเป็นการช่วยให้บรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนา 3 แผนพร้อมๆกันไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ระยะที่ 2 (2548-2551) ที่ต้องการเพิ่มขนาดมูลค่าของตราสารหนี้ให้ได้เท่ากับอัตราการเจริญเติบโตภายในประเทศในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ แผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทย (2549-2553)ที่ต้องการให้สัดส่วนของตลาดตราสรหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80% ต่อ GDP โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงแค่ 44% และสุดท้ายคือ แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 10 2549-2554) ที่ต้องการให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 46-48%ของGDP”
กฎเกณฑ์ในการทำซีเคียวริไทเซชั่นธนาคารพาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์ตามคุณสมบัติหลายประการ อย่างแรกคือ มีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีจำนวนมากซึ่งจะทำให้กองทรัพย์สินมีขนาดใหญ่เพียงพอ รวมถึงมีลักษณะของเครดิตที่เข้าใจง่ายและมีข้อมูลในอดีตเพียงพอที่จะประมาณความเสี่ยงได้นอกจากนี้แล้วยังต้องมีรูปแบบการชำระหนี้ที่แน่นอน และสามารถประมาณการกระแสเงินสดได้ มีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ต่ำ สุดท้ายคือมีวันครบกำหนดชำระที่เป็นงวดๆแน่นอน ซึ่งสินทรัพย์ที่เข้าข่าย เช่น ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ หรือ ลูกหนี้ยานยนต์
นอกจากนั้นแล้วตลาดตราสารหนี้ยังมีเป้าหมายในการชักชวนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หันมาระดมทุนด้วยวิธีซีเคียวริไทเซชั่นอีกด้วย เพราะจะช่วยให้มีทุนของเงินที่ต่ำ โดยขณะนี้ได้ให้ความสนใจไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นแห่งแรก เนื่องจาก กฟผ.กำลังระดมเงินในการขยายโรงไฟฟ้า 4 โรง ซึ่งแต่ละโรงไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย กฟผ. สามารถนำสัญญาขายไฟมาทำซีเคียวริไทเซชั่นเป็นทางออกได้ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายอื่นๆอีกเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งคงต้องเข้าไปหารืออย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
จากปัจจัยทั้งข้างต้นนั้นทำให้เชื่อได้ว่าภายใน 5 ปี ตลาดตราสารหนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าตราสารหนี้ที่ทำซีเคียวริไทเซชั่นให้ได้ 1.5 ล้านล้านบาทตามเป้าหมายที่ได้มีการวางเอาไว้ หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ33 และทั้งหมดนี้คือผลของพัฒนาการและความก้าวหน้าของตลาดตราสารหนี้ไทยที่สามารถบุกเบิกตราสารชนิดนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสภาพคล่องใหม่ให้กับธุรกิจได้เพื่อรองรับกับความเติบโตที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|