กสิกรไทยแนะกลยุทธ์ลงทุนแดนมังกรแบบ "ไม่เจ๊ง-ไม่ถูกโกง"-หลังจีนผ่อนปรนกฎ M&As


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะโอกาสลงทุนในบริษัทจีนหลังตลาดหลักทรัพย์จีนประกาศผ่อนปรน M&As เน้น Small SMEs เพราะเสี่ยงต่ำ-ไม่ถูกพาร์ทเนอร์โกง ขณะเดียวกันใครอยากซื้อหุ้น บริษัทใหญ่ในจีน ควรซื้อหุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮั่งเส็ง-แนสแด็ก เพราะโปร่งใส แต่หากอยากซื้อหุ้นในตลาดหุ้นจีน ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษา-วิจัยการตลาด ก่อนตัดสินใจ

ทั่วโลกต่างจับตาหลังจีนประกาศผ่อนปรน M&As หรือ กฎระเบียบควบรวมและซื้อกิจการบริษัทจดทะเบียนจีน โดยเริ่มจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์จีน ( ซีเอสอาร์ซี ) ประกาศผ่อนปรนกฎระเบียบว่าด้วยการควบรวมและซื้อกิจการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุน ตลอดจนลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อกิจการให้มากขึ้น

โดยกฎนี้จะเริ่มวันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจีนก็ได้อนุมัติร่างกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการซื้อและควบรวมกิจการที่นำเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์สด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะมีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทำสวอปหุ้น (แลกหุ้น) กับบริษัทจีนได้ ซึ่งต่างชาติจะใช้หุ้นแทนเงินสดในการซื้อหุ้นธุรกิจจีน กฎใหม่นี้จะมีผลบังคับวันที่ 8 กันยายนเช่นกัน

อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวด้านการเงินการลงทุนในจีนจึงเป็นการเปิดประตูมังกรเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้นำเงินเข้าไปลงทุนในจีนมากขึ้น แน่นอนว่าข่าวนี้นับเป็นข่าวดีของนักลงทุนทั่วโลกที่เตรียมทะลักเข้าไปขุดทองในเมืองจีน แต่สำหรับประเทศไทยข่าวดีนี้เป็นโอกาสหรือไม่!?

ผ่อนปรน M&Asมุ่งขยายธุรกิจทั่วโลก

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยอาวุโสเอเชียตะวันออก (จีน-ญี่ปุ่น) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จีนมีแนวโน้มเปิดประตูการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น โดยจีนมีความชัดเจนว่าต้องการมุ่งหาผู้ร่วมทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มาร่วมทุนในวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน เพื่อดันให้เป็นองค์กรนานาชาติที่สามารถขยายกิจการธุรกิจไปได้ทุกที่ทั่วโลก

"เวลานี้จีนไม่ได้มุ่งแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่มุ่งทำธุรกิจทั่วโลก ที่สำคัญคือจีนต้องการปรับโครงสร้างการแข่งขันของวิสาหกิจของจีน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจีนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้น การขายสินค้าได้มากขึ้น ไปจนถึงขยายช่องทางการลงทุน"

ทั้งนี้เพราะ จีนไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน วิสาหกิจจีนมีเงินทุนจำนวนมาก รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การโอนเงิน ฯลฯ การระดมทุนจีนก็ทำได้ง่าย โดยธนาคารใหญ่ ๆ ในจีน เช่น แบงค์ออฟไชน่า ก็มีการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็งของประเทศฮ่องกง และตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนของจีนอยู่แล้ว ฉะนั้นการผ่อนปรน M&As ครั้งนี้จึงมุ่งขยายอาณาจักรธุรกิจจีนเต็มที่

แนะควบ SMEsจีน-ขจัดปัญหาหุ้นส่วนโกง

อย่างไรก็ดี การเปิดประตูด้านการเงินของจีนครั้งนี้ สำหรับนักธุรกิจไทยยังถือว่าเป็นโอกาส แม้ว่าธุรกิจของคนไทยส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับจีนแล้ว ยังถือเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และศักยภาพยังมีจำกัด แต่ธุรกิจไทยก็สามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับวิสาหกิจขนาดเล็ก หรือ small SMEs ของจีนได้

โดยในอดีตนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในจีน จะต้องลงทุนแบบการร่วมทุน โดยการหาผู้ร่วมทุน หรือ joint venture เพราะนอกจากจีนจะมีกฎหมายบังคับให้ต่างชาติต้องทำธุรกิจแบบร่วมทุนแล้ว นักธุรกิจไทยยังต้องอาศัยคอนเน็กชั่นของนักธุรกิจจีน หรือคนท้องถิ่นในการเอื้ออำนวยประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตเช่าที่ดิน หรือขอไลเซ่นการทำธุรกิจที่มีหลายไล่เซ่นและมีหลายขั้นตอน ปรากฏว่าปัญหาสำคัญของนักธุรกิจไทยในการไปร่วมทุนคือ ไม่มีข้อมูลผู้ร่วมทุนดีเพียงพอ และส่วนมากได้คู่ร่วมทุนไม่ดี มักจะโกง ทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ หรือ เจ๊งไป

ทั้งนี้การที่จีนเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยมีการผ่อนปรนระเบียบการควบรวมและซื้อกิจการ หรือ M&As ครั้งนี้ จึงเป็นข้อดีสำหรับนักธุรกิจไทย ที่จะแก้ปัญหาการถูกโกงจากผู้ร่วมทุน โดยสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้หลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทดี ๆ ในตลาดหลักทรัพย์จีน (Portfolio Invesment) หรือเข้าไปซื้อกิจการ โดยควบกิจการในบริษัทที่มีอยู่แล้ว เช่น ธนาคารเล็ก ๆ ในจีน แม้ว่าจะไม่ใช่หุ้นใหญ่ แต่สามารถซื้อในระดับที่เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายในบริษัทนั้น ๆ ได้

"มันดีสำหรับธุรกิจใหญ่ ๆ ของไทยเพราะว่าไม่ต้องไปเปิดสาขาเอง ซึ่งไม่ต้องกลัวถูกโกง ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และไม่เหนื่อยกับการทำการตลาดด้วยตัวเอง อาจจะเริ่มจากแฟรนไชส์ เหนื่อยน้อยหน่อย แต่อาจต้องใช้เงินทุนมากขึ้น แต่สำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ควรเข้าไปทำแบบซื้อมาขายไป "

ที่สำคัญต้องศึกษากฎระเบียบในจีน ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอด และเนื่องจาก SMEs จีนมีการแข่งขันสูงมาก ผู้ประกอบการเยอะ ต้องศึกษาสภาพตลาดให้ดีก่อนลงทุน

จ้างบ.ที่ปรึกษา-วิจัยตลาดก่อนซื้อหุ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทของไทยที่ต้องการไปซื้อหุ้นหรือสวอปหุ้นกับบริษัทจีน ควรเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีธุรกิจมั่นคง และคุ้นเคยกับธุรกิจที่จะเข้าไปสวอปหุ้น

นอกจากนี้ในการเลือกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน ต้องเริ่มจากการดูจุดแข็งของธุรกิจ ดูศักยภาพธุรกิจ ประเมินคู่แข่งในจีนว่าเป็นใคร เป็นคนจีน หรือ ต่างชาติ ศึกษาตลาดจีน และต้องชัดเจนว่าจะเข้าไปรูปแบบไหน เช่น ต้องการขยายตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคไปจีน หรือต้องการร่วมทุนเพื่อมีเอี่ยวในผลกำไรของบริษัทจีน

โดยในการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีน ต้องศึกษาข้อมูลการเงินของบริษัทนั้น ๆ ให้ดี ทั้งผลประกอบการ statement ระบบบัญชี ฯลฯ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ไปจดทะเบียนในฮ่องกง และในสหรัฐอเมริกานั้น จะมีข้อมูลที่โปร่งใสมาก สำหรับในตลาดหุ้นจีนที่ผ่านมาจนถึงปี 48 การควบคุมของตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ดีมากนัก ระบบบัญชีของแต่ละบริษัทยังไม่ได้มาตรฐาน มีการแต่งตัวเลขผลประกอบการ มี NPL หลายบริษัท แต่เมื่อปลายปี 48 จนถึงบัดนี้ จีนได้มีแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว โดยมีการพัฒนาระบบควบคุมตรวจสอบในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% การลงทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนจึงมีความน่าสนใจ

ดังนั้นนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนควรจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อตรวจสอบว่าระบบบัญชีของบริษัทนั้น ๆ ดีจริงหรือไม่ ยอดขายที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์เป็นยอดขายจริงหรือไม่ รวมถึงต้องจ้างบริษัททำวิจัย เพื่อดูว่าทิศทางราคาสินค้าของบริษัทนั้นจะทำกำไรได้ดีไหม จะมีการ over supplied หรือไม่ ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด

"สุดท้ายต้องบอกว่าตลาดจีนไม่หมู ตลาดทั่วโลกเข้าไปหมดแล้ว การแข่งขันสูงมาก แต่ถ้าไทยไม่เข้าไป จีดีพีของไทยก็โตไม่ได้ ขณะนี้ของไทยแค่ 4% แต่ของจีนจีดีพีโตปีละ 9-10% การมุ่งเข้าไปลงทุนในจีน โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 4% ก็มี"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.