ธุรกิจส่อเค้าเจ๊งระนาว!แบงก์ไม่ปล่อยกู้-เครื่องใช้ไฟฟ้า-sme กระอัก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะเศรษฐกิจประเทศส่อเค้าขาลง นักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ แบงก์ส่งสัญญาณไม่ปล่อยเงินกู้ และเรียกหลักประกันเพิ่มขึ้น ด้านสภาอุตฯ แนะภาคเอกชนดิ้นรนช่วยตัวเองไปก่อน ชี้ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจ sme อยู่ลำบาก ส่วนธุรกิจรถยนต์-อสังหาฯยอดขายลดฮวบฮาบ ด้านธุรกิจปั้นน้ำมันปิดตายจำนวนมาก "ปิโตรนัส-คาลเท็กซ์" ไล่ซื้อปั้มที่มีโอกาสรอดมาปัดฝุ่นใหม่ ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ตกงานแน่

สภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด และมีการคาดการว่าหากน้ำมันขยับไปถึง 100 เหรียญต่อบาเรล จะทำให้ภาคการค้า การลงทุนและการบริโภคประสบปัญหาอย่างรุนแรง หากรัฐยังไม่มีมาตรการรองรับหรือมองหาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้แทน

เพราะนอกจากปัญหาน้ำมันแล้ว ยังมีปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นถึงร้อยละ 8ซึ่งเป็นสัญญานอันตรายสำหรับผู้ประกอบการ โดยแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงิน ไม่มีนโยบายให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายใหม่ ส่วนธุรกิจเดิมหากต้องการขยายวงเงินสินเชื่อจะมีการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป อีกทั้งมีคำสั่งให้ขอหลักประกันเพิ่มจากผู้ประกอบการเดิมและผู้ที่ต้องการขยายวงเงินด้วย

"ตอนนี้แบงก์รัดกุมมาก เพราะเงินในระบบของสถาบันการเงินไม่คล่อง พวกที่ธุรกิจส่อเค้าขาดทุน และมีต้นทุนทำธุรกิจสูง ก็ส่งสัญญานออกมาด้วยการผิดสัญญาในการชำระหนี้กับแบงก์ จากนี้ไปเราจะเห็นแบงก์เข้มงวดมากขึ้น พร้อม ๆกับการบีบบังคับให้มีการขายสินทรัพย์ค้ำประกันกันให้เห็นในอนาคต หากไม่สามารถแก้วิกฤตแต่ละบริษัทได้"

แหล่งข่าว ระบุด้วยว่าธุรกิจที่เห็นชัดมากที่สุดขณะนี้ คือธุรกิจปั้นน้ำมัน ที่มีการปิดตัวเองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปั้นน้ำมันเล็ก ๆหรือปั้นน้ำมันอิสระ ส่วนปั้มที่จะอยู่รอดได้มีเพียงปั้นขนาดใหญ่

"ตอนนี้ปั้มน้ำมันที่เป็นของยักษ์ใหญ่ เช่นคาดเท็กซ์ ก็ไล่ซื้อปั้นขนาดกลางที่มีศักยภาพไว้แล้ว ส่วนปิโตรนัส เล็งซื้อปั้มน้ำมันในทำเลดี ๆ ที่เห็นว่าจะไปไม่รอด แต่มีโอกาสในการอยู่รอดได้ หากปิโตรนัสเข้าไปดำเนินการ เพราะต้นทุนน้ำมันของปิโตรนัสต่ำกว่าที่อื่น" แหล่งข่าว กล่าว

ด้านสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้มีการชะลอตัวการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเกิดวิกฤติรอบใหม่ได้ เชื่อว่าภายหลังได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตอนนี้ที่เห็นชัดที่สุดคือ ผู้รับเหมากับโครงการของภาครัฐในเรื่องต่างๆ เพราะต้องรองบประมาณจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแทนรัฐบาลรักษาการ

ขณะที่ธุรกิจด้าน consult สวนทางกับธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากปัจจุบันได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆมากขึ้นเพราะบริษัทconsult ที่ดีและเก่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถพยุงธุรกิจและสร้างประโยชน์ได้ท่ามกลางภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทที่มีคู่ค้ากับต่างประเทศ จะมีรายละเอียดในทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะภาคเอกชนจะหวังพึ่งภาครัฐคงจะลำบาก การจะหันไปพึ่งพาบริษัทเหล่านี้จึงมีมากขึ้น

"ภาคเอกชนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันไปก่อน นโยบายที่ภาครัฐที่ส่งเสริมให้ความมั่นใจนักลงทุนยังไม่มี ทางสภาอุตฯก็พยายามดูแลอย่างใกล้ชิด"

เครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อย่างไรก็ดียังมีธุรกิจที่คาดว่าจะประสบปัญหา เช่นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมีการแข่งขันกันสูงมากแต่ราคาเพิ่มขึ้นไม่ได้ กลับกันต้นทุนการผลิตสูงมากขึ้นธุรกิจแบบนี้จึงอยู่ลำบาก อีกอย่างก็จะเป็นพวกเสื้อผ้าเกรดต่ำ เสื้อโหลพวกนี้ได้รับผลกระทบแน่นอนเพราะมีการนำเข้าจากประเทศจีน จากเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยสู้ไม่ได้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันภาคแรงงานในประเทศยังขาดอีกจำนวนมาก ที่บอกว่ามีการลดคนงานลงก็แค่บางส่วน แต่ภาพกว้างแรงงานในประเทศยังขาดอยู่มากในทั้งภาคใต้-ภาคตะวันออก-ภาคกลาง ในด้านสิ่งทอ หรือโรงงานที่ใช้คนงานมากๆ ทางสภาอุตฯยังปวดหัวอยู่ว่าจะหาแรงงานมากจากไหน ส่วนพวกวิชาชีพที่จบวิศวะ ปวช. ปวส. ด้านต่างๆมีงานรองรับอยู่ที่ว่าจะเลือกงานหรือไม่

รถยนต์-อสังหาฯยอดขายวูบ

ด้านดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดวิกฤติอีกครั้งว่า ต้องรู้ก่อนว่าการเกิดภาวะเศรษฐกิจปี40ที่ผ่านมาเกิดจากการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เกินความจำเป็นแต่ตอนนี้ไม่ใช่ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ตามจากที่ทางศูนย์ฯทำการสำรวจพบว่าแม้ไม่มีการลดคนงานลง แต่ก็ไม่มีการจ้างงานเพิ่มเพราะมีการชะลอการลงทุน ส่วนบริษัทที่ต้องขยายการขยายเพิ่มยังไม่มี ธุรกิจประเภทที่ใช้คนงานเยอะๆ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีแทนคนงานที่ชัดเจนอีกธุรกิจประเภทแบงค์ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น จะเห็นได้ว่าคนทำงานที่เคาต์เตอร์ธนาคารมีแค่4-5คนเท่านั้นในส่วนภาครัฐก็จะมีโครงการเออรี่รีไทน์เกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นนโยบายลดจำนวนคนลง

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาฯ คือธุรกิจตอกเสาเข็ม ทางศูนย์ฯสำรวจพบว่าเริ่มลดลงอย่างมาก และต่ำกว่าเกณฑ์เดิมที่มีการคาดการณ์ไว้ และยังพบว่ายอดจองบ้าน และยอดขายธุรกิจยานยนต์ชะลอตัวลงมาก ส่วนภาคการก่อสร้างรับเหมาสัมปทานจากภาครัฐไม่ขยับ

SME-ธุรกิจขนาดเล็กอยู่ลำบาก

เกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้ดีหรือไม่ดี ไม่มีใครรู้หรอก ขนาดรองนายกฯสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ยังพูดไม่ตรงกันเลยไปหาดูได้ตามหนังสือพิมพ์สองเดือนก่อนพูดอย่าง มาเดือนนี้พูดอีกอย่างไม่ตรงกัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกระทรวงพาณิชย์ตัวเลขก็ไม่ตรงกัน แล้วจะให้มองยังไงกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

หากมองเป็นประเภทกิจการก็ไม่ชัดขนาดที่ว่า หมวดอุตสาหกรรมไหนที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่บอกได้แต่เพียงว่าบริษัทขนาดเล็กต่างๆและพวกSMEที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือในส่วนต่างๆกำลังมีปัญหา หันมองการลดคนงานของบริษัทต่างๆก็ยังลดไม่มาก แต่มีผลกระทบแน่ เพราะเด็กที่จบมาใหม่จะไม่มีงานทำ ขณะที่คนเก่ายังอยู่ในตำแหน่งงาน ดังนั้นจะมีตำแหน่งว่าง ได้อย่างไร ส่งผลให้เด็กจบใหม่ต้องว่างงานแน่

"ตอนนี้ที่ชัดๆ คือทุกอย่างนิ่งเพราะการจ้างงานไม่ขยับ"เกียรติพงษ์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.