|
เคล็ดไม่ลับความสำเร็จ 'ศุภาลัย'
Positioning Magazine(21 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- เบื้องหลังความคิด กว่าจะมาเป็นฐานรากธุรกิจยิ่งใหญ่ มูลค่านับหมื่นล้านของจักรวรรดิ "ศุภาลัย"
- เคล็ดไม่ลับที่นำมาสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ : บริหารจัดการความเสี่ยง ผนวกสมการสร้างความยืดหยุ่นและคล่องตัว
- วิถีผู้นำ "ประทีป ตั้งมติธรรม" ยึดมั่นหลักการ สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
- "คุณภาพ-ยึดมั่นความต้องการของลูกค้า" สูตรความสำเร็จธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
"ศุภาลัย" เป็นองค์กรแถวหน้าในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ความเชี่ยวชาญหลากหลายในตลาดที่อยู่อาศัยทุกประเภท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่ครอบคลุมทุกมิติของการจัดการองค์กรได้อย่างดี
กว่าครึ่งของความสำเร็จมาจากการวางรากฐานผู้นำ ที่เป็นทั้งนักสู้ นักคิด นักปฏิบัติอย่าง "ประทีป ตั้งมติธรรม"
"งานใดๆ ของคนหมู่มาก จะดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการบริหารงานและบริหารคนอย่างถูกต้อง ต้องใช้ความเป็นธรรมในการปกครอง"
ถือเป็นหลักไมล์ความคิดที่ทำให้คฤหาสน์หลังงามอย่างศุภาลัย มีร่มเงาแห่งความเย็นและความสุขถ่ายเทพัดหมุนเวียนตลอดเวลา
ประทีปใช้หลักการไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่ทุกคนต้องชนะ-ชนะไปด้วยกัน สร้างเสริมเป็นเบ้าหลอมแห่งวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดไม่ลับความสำเร็จของศุภาลัย สะท้อนวิธีคิดของยักษ์ใหญ่ที่อิงหลักการง่ายๆ สไตล์ไทยๆ ทำดีก็ต้องได้ดี แต่เมื่อไหร่คิดไม่ดี ทำไม่ดีก็ต้องก้มหน้ารับสภาพกันไป
เก็บไข่หลายตะกร้า
ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บอกเล่าแนวทางบริหารจัดการกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า การวางจุดยืนทางธุรกิจเป็นผุ้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยทุกประเภท ทั้งบ้าน คอนโด และออฟฟิศ อาจจะเหนื่อยในแง่ของการทำงาน เพราะการลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องคิดหลายด้าน แต่มีข้อดีในแง่ที่ว่าสามารถเติบโตเร็ว และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
"บางช่วงน้ำมันขึ้นราคา บ้านจัดสรรศุภาลัยแถบชานเมืองจะไม่มีปัญหา เพราะเรายังมีโครงการหลายแห่งที่อยู่ใจกลางเมืองแล้วขายดี จะได้อานิสงค์ตลอด ทำให้ยังเติบโตสูง ความเสี่ยงน้อย แล้วสามารถทำผลประกอบการได้ดีสม่ำเสมอและต่อเนื่อง"
จุดเด่นของศุภาลัยคือ การบริหารจัดการต้นทุน นับตั้งแต่ค่าถมดิน ค่าก่อสร้างและค่าวัสดุ การที่สามารถควบคุมรายจ่ายได้ดี เป็นผลพวงมาจากประสบการณ์ทำงานยาวนาน ทำเป็นจำนวนมากจนสามารถแยกแยะจุดอ่อนจุดแข็งได้ว่า อะไรที่ทำแล้วไม่ดี ไม่เหมาะ ก็จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำจนกระทั่งทุกอย่างมีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพกลายเป็นกลยุทธ์การจัดการต้นทุน ที่สามารถส่งผ่านความพึงพอใจทำให้ลูกค้าได้รับในสิ่งที่ดีมีราคาถูก
กลยุทธ์การบริหารที่อยู่อาศัยหลายประเภทเพื่อลดทอนความเสี่ยง ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางต้นทุนน้ำมันที่พุ่งพรวด เขายังมองว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มตามต้นทุนที่ขยับขึ้นไป ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ หากบริษัทสามารถคงการจัดการต้นทุนได้ดี
"ถ้าต้นทุนขึ้นเราต้องจ่ายทุนมากขึ้นในแต่ละธุรกิจที่จับ? มันแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องขึ้น แต่เราไม่ห่วงเรื่องต้นทุนขึ้นเท่าไหร่? เพราะบริษัทเราบริหารต้นทุนได้ดีมาก คือผู้บริหารหลักที่อยู่มานานจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารหลักอยู่ในสายผลิตเป็นวิศวกรมาก่อนเป็นช่างมาก่อนก็จะรู้ลึก ผู้บริหารหลักบางคนเก่งการเงินก็จะมีทางออกเรื่องของเงิน บางคนก็เก่งเรื่องหุ้นก็จะทำหน้าที่อีกแบบหนึ่งทางการลงทุน การตลาดก็จะมีพิสดารการตลาดอยู่เรื่อยๆ วิธีทำการตลาดของเราคือ ทำตามความต้องการของลูกค้าและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง"
ศุภาลัยสร้างแบรนดิ้ง ความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อาศัย บนยุทธศาสตร์การจัดการที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทุก 5 ปี โดยปัจจุบันอยู่ในแผนแม่บทช่วง 5 ปีของปีที่ 4
"ในฐานะ CEO เราจะพัฒนาให้หลากหลายมากขึ้น เน้นพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เช่น เปิดโครงการสำนักงาน โรงแรม รีสอร์ท ขายให้คนต่างชาติมากขึ้น เพิ่มสินค้าที่หลากหลาย และมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา"
ทักษะ "คล่องตัว+ยืดหยุ่น"
ศุภาลัยยืนอยู่บนฐานความคิดที่ว่า 2+2 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 4 แต่สามารถแปลงสมการออกมาได้แตกต่างกันถึง 7 แบบ เช่นว่า 2+2 = 2x2, 2+2 = 3+1, 2+2 = 1+1+1+1, 2+2 = 22 เรียกว่า "ความคล่องตัวและยืดหยุ่น" ที่ผลักดันองค์กรไปสู่การจัดการล้ำสมัย
"วัฒนธรรมองค์กรของศุภาลัย คือคล่องตัวยืดหยุ่นมีส่วนร่วม เราพยามยามให้ทุกคนมีส่วนร่วมและพร้อมรับฟังความคิดเห็น ถ้าความเห็นต่างกัน เราก็เดินทางสายกลาง ถ้าความเห็นนั้นก้ำกึ่งไม่สามารถเลือกทางใดทางหนึ่งได้ เราก็ครองหลักความเป็นธรรม เข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน
เช่น ศาสนาที่แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างกัน เช่น เพศ อายุ ส่งเสริมการทำดีแล้วได้ดี ความก้าวหน้าในงาน เราก็จะบอกว่าแต่ละคนสามารถก้าวหน้าได้เท่าไหร่? ซึ่งเราก็มีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จมาให้ศึกษา"
ประทีปเล่าว่า องค์กรศุภาลัยจะเน้นให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส พนักงานต้องอ่อนนอก แข็งใน โดยหลักการต้องแข็ง แต่เวลาคุยกับคนอื่นต้องอ่อนน้อม ถือว่าเป็นสไตล์ของคนศุภาลัย ไม่ใช่เป็นน้ำที่พัดพาไปไหนก็ไป ทุกอย่างต้องแข็งแรงด้วยหลักการ เช่น หลักของระบบคุณภาพ ISO หรือแม้แต่คุณธรรมก็ถือเป็นหลักการที่ต้องยึดมั่นอีกอันหนึ่ง
ปรัชญาศุภาลัยยืนอยู่บนเสาเข็ม 3 ตัวอักษรคือ S : superiority ความเป็นเลิศในด้านสินค้าบริการและการจัดการ P : Profitability กำไรสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งลูกค้า พนักงาน ผู้รับเหมา สังคม และผู้ถือหุ้น และ L : Longevity ความยั่งยืนถาวร ประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความมั่นคง
"ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จล้วนยืนอยู่บนรากฐานปรัชญา SPL นักบริหารที่จะประคองธุรกิจอยู่ได้ ต้องยืนอยู่บนแนวคิดการจัดการสมัยใหม่ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือคุณภาพ ซึ่งไม่ได้เริ่มจากการก่อสร้างเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการออกแบบที่เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้มากกว่า หรือประหยัดพลังงานได้มากกว่า
พูดให้เข้าใจง่ายคือ เราต้องใส่ใจเข้าไปด้วย เหมือนเข้าไปอยู่บ้านแทนลูกค้า ทุกวันนี้เราพยายามทำอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100% เพราะสินค้าเรายังเป็น Mass จะเข้าไปอยู่ในใจลูกบ้านทุกคน ถูกใจไปหมดไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราก็พยายามทำให้ถูกใจคนส่วนใหญ่เท่านั้นเอง"
เขามองว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5-10 ปีจากนี้ไปจะยังคงเติบโตต่อไปได้ไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ถ้าเทียบกับการทำประมง ก็ยังคงจับปลาหากินต่อไปได้ ตั้งแต่ระดับคนตกปลาระเรื่อยไปจนถึงเรือเดินสมุทร ที่ไปจับปลาใหญ่ในทะเลลึก
การจัดการสู่ความเป็นเลิศของศุภาลัย เดินทางไกลมาถึงการเทปูนเสริมใยเหล็กแห่งคุณภาพและความเชื่อมั่น "เวลาคนคิดถึงศุภาลัย ถ้าเป็นลูกค้าจะนึกถึงคุณภาพและบ้านที่ดี ถ้าเป็นผู้ประกอบการหรือนักลงทุน จะนึกถึงบริษัทที่มีผลประกอบการอยู่ในระดับแนวหน้า"
วิธีคิดของ CEO ที่จะนำพาอาณาจักรศุภาลัยให้อยู่รอด มั่นคง เขายืนยันว่าต้องรักษาระดับการมีผลประกอบการที่ดี แต่ต้องไม่เสี่ยง ถึงกระนั้นการไม่คิดจะเสี่ยงเลยก็ดูเหมือนเป็นความเสี่ยงได้เหมือนกัน ดังนั้นการเลือกทางเดินต้องยอมเสี่ยงในบางเรื่อง แต่ต้องไม่กระทบกับบริษัท
"เราจะสร้างของใหม่เป็นจุดหนึ่งที่เสี่ยง แต่เราก็ต้องทำ ต้องปรับตัว ก่อนที่สินค้าใหม่จะออกสู่ตลาด เราจะทดลองโดยคนภายใน ดีหรือไม่ดี เราจะนำมาปรับปรุงให้ดีเสียก่อนที่จะปล่อยออกไป
เรากล้าที่จะลองของใหม่ แต่เราก็มีวิธีกระจายความเสี่ยงโดยการมีสินค้าที่หลากหลาก พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา ผิดไม่เป็นไร แก้ไขได้"
ทั้งหมดนี้คือเคล็ดไม่ลับของผู้นำที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 30 ฝน แต่คงยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้ร่มเงาของศุภาลัย สถานที่อยู่อันเป็นมงคล...
ผู้บริหารที่ดี
ผู้บริหารที่ดีคือ ผู้ที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ลูกน้องในระยะยาว แต่ไม่ใช่สร้างความพึงพอใจในระยะสั้น
"ผู้บริหาร" จำนวนมาก สร้างความนิยมต่อลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการตามใจและเอาใจ โดยให้ทำงานเบาๆ ง่ายๆ ผิดพลาด ออกนอกลู่นอกทาง ก็ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน แต่เวลาประเมินผลเพื่อพิจารณาขึ้นเงินเดือน และแจกโบนัสกลับช่วยให้ได้คะแนนสูงๆ โดยหวังว่าลูกน้องจะคิดและบอกว่าเขาเป็นนายที่ใจดี
การตามใจและเอาใจดังกล่าว คล้ายคลึงกับพ่อแม่ที่ปรนเปรอลูก โดยซื้อขนม ของเล่น เสื้อผ้า ของใช้ที่ลูกต้องการให้ เพื่อให้ลูกพอใจ แต่เมื่อลูกทำผิด รังแกเพื่อน โกหก ขโมย หนีโรงเรียน... กลับไม่ว่ากล่าว ลองคิดว่า เด็กคนนั้นโตขึ้นจะกลายเป็นคนอย่างไร?
"ผู้บริหาร" ที่ดี ควรจะช่วยให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด ตั้งแต่การสั่งงานที่ชัดเจน เพื่อที่คนทำจะได้ไม่ทำผิด แล้วต้องเสียเวลาทำใหม่ คอยถามและแนะนำวิธีการต่างๆ แจกงานมากขึ้นและยากขึ้น เพื่อให้ลูกน้องจะได้เรียนรู้จากงานได้มากๆ จะได้เก่งเร็ว
ส่งเสริมความก้าวหน้า โดยการสอน ถ่ายทอดความรู้ ฝึกฝนอบรม แนะนำให้อ่านหนังสือ และเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อผลงานออกมาดี ก็ประเมินผลให้คะแนนดีๆ ได้ตามเนื้องานจริงๆ เมื่อลูกน้องเก่งเร็ว ก็ส่งเสริมให้เลื่อนตำแหน่ง โดยไม่ห่วงว่าลูกน้องจะเลื่อนขึ้นมาเทียบเท่าตัวเองหรือแซงหน้า
เวลาผ่านไป... ผ่านไป จะเห็นชัดเจนว่า ใครก้าวหน้า ใครถอยหลัง ใครเป็น "ผู้บริหาร" ที่ดีจริง
จากหนังสือ เคล็ด (ไม่) ลับ... การบริหาร+การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย "ประทีป ตั้งมติธรรม"
18 บัญญัติอารยธรรมศุภาลัย
1. มุ่งสู่ความเป็นเลิศ
2. กำไรแก่ทุกฝ่าย
3. อยู่ยั่งยืนถาวร
4. ความเป็นมืออาชีพ
5. ยึดถือในหลักการ
6. เชื่อมั่นในคุณธรรม
7. ส่งเสริมให้สร้างสรรค์
8. การจัดการล้ำสมัย
9. ความคล่องตัวยืดหยุ่น
10. การให้มีส่วนร่วม
11. พร้อมรับฟังความเห็น
12. การเดินทางสายกลาง
13. ปกครองอย่างเป็นธรรม
14. เข้าใจในปัจเจกชน
15. ทำดีย่อมได้ดี
16. ความก้าวหน้าในงาน
17. ส่งเสริมเป็นเจ้าของ
18. ความมั่นคงในงาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|