บีเอสเอ โปลีศจับขโมยที่ไม่จบสิ้น

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ตราบใดที่การละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่หมดสิ้นไป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็ยังต้องวิ่งไล่กวดผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้อย่างไม่รู้จักจบเช่นกัน

การปกป้องพิทักษ์สิทธิ์ของบรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์มักจะอยู่ในรูปของการรวมพลังจัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือองค์กร เช่นเดียวกับธุรกิจเทปเพลงหรือวิดีโอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากกว่าต่างคนต่างทำ

บิสซีเนส ซอฟต์แวร์ อะไลแอนซ์ (BUSINESS SOFTWARE ALLIANCE) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า บีเอสเอ ซึ่งเกิดมาจากการร่วมมือกันระหว่าง ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชื่อดังของโลก 8 ราย ประกอบไปด้วย ไมโครซอฟท์, โนเวลล์, อะโดบี ซิสเต็มส์, ออโตเดสก์, เบนท์เลย์, โลตัส ดีเวลลอปเม้นท์, เดอะซานตา ครูซ โอปะเรชั่น, ไซเมนเทค ที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิ์จากการขาย แจกจ่าย และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ผิดกฎหมายทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันบีเอสเอได้เข้าไปดำเนินการแล้วใน 60 ประเทศ

ภารกิจของบีเอสเอคือ ให้ความรู้ และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายซึ่งบีเอสเอมักจะเข้าไปมีส่วนในการผลักดันให้เกิดมีกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นในประเทศต่าง ๆ วิธีการของบีเอสเอจึงต้งคอยสอดส่องสืบหาผู้กระทำผิดและดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้น

สำหรับในไทย บีเอสเอจัดกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาปกป้องสิทธิ์ตั้งแต่หลายปีมาแล้ว และเคยแจ้งจับดำเนินคดีกับผู้ค้าซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ไปแล้วหลายรายตั้งแต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 ประกาศใช้ คดีความส่วนใหญ่หากไม่มีการยอมความกัน หรือไม่ก็อยู่ในชั้นการรอฟ้องศาล

การดำเนินงานของบีเอสเอในไทย ไม่มีการตั้งสาขาเช่นในบางประเทศแต่ใช้วิธีการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายเบเคอร์แอนด์ แมคเคนซี่ ให้เป็นตัวแทนทางกฎหมาย ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 จึงเท่ากับเป็นการเปิดทางสะดวกให้กับบีเอสเอที่จะกวาดล้างซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายที่เป็นหนามทิ่มตำมาตลอด และก็เป็นดังคาดเมื่อบีเอสเอได้ออกมาเคลื่อนไหวดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นระยะ ๆ ด้วยการแจ้งจับดำเนินคดีกับผู้ค้าคอมพิวเตอร์ ในงานแสดงสินค้าคอมพิวเตอร์ ไอทีวีค ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงต้นปี

คริสโตเฟอร์ ออสติน ตัวแทนของกลุ่มบีเอสเอ ยอมรับว่า 50% เป็นกลุ่มผู้ใช้เนื่องจากกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และซื้อเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากกลุ่มผู้ใช้ประเภทนี้ยังนิยมซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ ย่อมกระทบกับซอฟต์แวร์ของแท้ที่ไม่สามารถขยายตัวได้

กลุ่มบีเอสเอ จึงได้นำโครงการโทรศัพท์สายด่วน หรือฮอทไลน์ ที่บีเอสเอทำขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ มาใช้ในไทยเมื่อต้นปีนี้ เพื่อเปิดรับสายจากผู้ที่รู้เบาะแสว่ามีองค์กรใดที่มีการนำซอฟแวร์ก๊อบปี้มาใช้งาน โดยจะให้รางวัลนำจับถึง 1 แสนบาท หากคดีความที่ได้รับจากผู้แจ้งโทรฯ เข้ามาสามารถดำเนินคดีจนถึงการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งผู้ที่โทรฯมาแจ้งจะต้องถูกกันเป็นพยาน

เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบีเอสเอเอาจริงกับเรื่องนี้ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้กลุ่มบีเอสเอ ได้แจ้งจับดำเนินคดีกับบริษัท แอ๊ดวานซ์ เจ็มส์ แอนด์ จิวเวลรี่ ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป้นผลที่เกิดมาจากโครงการโทรศัพท์สายด่วนของบีเอสเอ

กระนั้นก็ดี การดำเนินการของกลุ่มบีเอสเอถูกจับตามองจากผู้ค้าซอฟต์แวร์ว่าไม่เอาจริงเอาจังเท่าที่ควร ไม่มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้ร้านค้าที่ขายซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ก็ยังมีอยู่ ในขณะที่ผู้ใช้ก็ยังก๊อบปี้ซอฟต์แวร์กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไมโครซอฟต์ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของบีเอสเอต้องออกมาลงมือดำเนินคดีกับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเอง ยิ่งตอกย้ำให้เกิดข้อสงสัยว่า บีเอสเอเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้เพียงใด

แต่สำหรับบีเอสเอแล้ว คริสโตเฟอร์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาบีเอสเอทำดีที่สุด แม้ว่าซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจะลดน้อยลงจากเดิมเพียงแค่ 12-2% ก็นับว่าพอใจแล้ว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การละเมิดลิขสิทธิ์จะลดลงฮวบฮาบ ซึ่งในเวลานี้ไทยไม่ได้จัดอยู่ในประเทศที่เป็นปัญหาในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มากเท่ากับ อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งมีซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายถึง 99% ของมูลค่าซอฟต์แวร์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ กลุ่มบีเอสเอยังไม่สามารถเปิดเผยถึงตัวเลขของซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในไทยในปี 2538 และจนถึงปี 2539 ว่ามีตัวเลขเท่าใด ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากปี 2537 ซึ่งมีซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอยู่ถึง 98% เพียงใด

คริสโตเฟอร์ชี้แจงว่า การรวบรวมตัวเลขนี้ค่อนข้างยุ่งยากต้องมีสูตรในการคำนวณ โดยต้องรวบรวมยอดนำเข้าเครื่องพีซีและยอดที่จำหน่ายไปให้ลูกค้าว่ามีเท่าใด หลังจากนั้นจะต้องสำรวจว่าในพีซีแต่ละตัวนั้น มีการใช้ซอฟต์แวร์กี่ประเภทและอะไรบ้าง จากนั้นจะต้องนำยอดของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานบนพีซีทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับยอดขายซอฟต์แวร์ของแท้ จึงจะรู้ว่ายังมีซอฟต์แวร์เถื่อนที่อยู่ในตลาดอีกเท่าใด

แม้การลงมือดำเนินคดีของไมโครซอฟต์ บีเอสเอจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ไมโครซอฟต์ หรือบรรดาสมาชิกของบีเอสเอสามารถกระทำได้ เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ส่งผลกระทบซอฟต์แวร์ของผู้นั้นโดยตรง เพราะหากรอให้กลุ่มบีเอสเอทำ อาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้บีเอสเอต้องออกมาวิ่งไล่กวด ผู้ละเมิดซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอีกครั้ง

ในครั้งนี้เป้าหมายของบีเอสเอ คือบรรดาผู้ค้าฮาร์ดแวร์ที่นิยมก๊อบปี้ซอฟต์แวร์เถื่อนแถมฟรีให้กับลูกค้า ซึ่งมี 4 ราย ที่บีเอสเอแจ้งจับดำเนินคดีไปแล้ว และอีก 20 รายอยู่ในบัญชีดำที่รอดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม การเอาแต่ไล่จับซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างเดียวดังเช่นที่ทำมาตลอด ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีคดีที่อยู่ในมือถึง 20 คดี เพราะทุกวันนี้ร้านค้าซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ยังเปิดกิจการกันอย่างดาษดื่น ไม้แข็งอย่างเดียวจึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร สิ่งที่บีเอสเอทำ คือหันไปให้ความรู้ในเรื่องลิขสิทธิ์แก่ผู้ใช้และพุ่งเป้าไปที่องค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่บีเอสเอมองว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงของการละเมิดลิขสิทธิ์ในเวลานี้

แน่นอนว่าตราบใดที่การละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่เห็นผลบีเอสเอไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ เพราะเส้นทางของบีเอสเอนั้นยังยาวไกล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.