90 ปี วชิราวุธวิทยาลัย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ความรู้อันตกผลึกมานานถึง 90 ปี ในวชิราวุธวิทยาลัย น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับระบบการศึกษาของไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

ทฤษฎีการศึกษา ที่สนับสนุนให้เด็กได้แสวงหาความรู้อย่างมีความสุข ของศ.ดรชัยอนันต์ สมุทรวณิช ผู้บังคับการคนปัจจุบันของวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาล ที่6) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ เมื่อ90ปีก่อนนั้น ได้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ประกาศไปเมื่อปี 2542 เพื่อให้มีผลในปี 2545 อย่างไม่น่าเชื่อ

ท่ามกลางความสับสนของครูไทย ที่ไม่มั่นใจว่าในปี2545นั้น ระบบการศึกษา ที่เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุขตามพรบ.ใหม่นั้น จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และท่ามกลางความกังวลใจของผู้ปกครองคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญอย่างมากๆในการเลือกโรงเรียนให้กับลูก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในรั้ววชิรา

วุธวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจอย่างมากๆ

ตั้งแต่ผู้บังคับการคนปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี2539 ได้มีการพัฒนาหลักสูตร และพัฒนาบุคคลากรอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.ชัยอนันต์ เลือก ที่จะใช้Constructivism ทฤษฎีการศึกษา ที่พัฒนาขึ้นโดยSeymou Papert แห่งสถาบันMIT ซึ่งเชื่อมั่นว่าความรู้เกิดจากการสร้างขึ้นโดยตัวเด็ก การศึกษาจะประกอบด้วยการจัดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ การคิดของเด็กสอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการ และความเป็นไปได้ของพวกเขา การให้การศึกษาแก่เด็ก จึงต้องคำนึงถึงการคิดของเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาความรู้ และโลกของเด็กจะถูกสร้างขึ้น และสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ส่วนตัวของเขา

ทฤษฎีLearn to learn เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์ การเรียนรู้นี้ให้ความสำคัญกับสมอง และการใช้สมองอย่างทั่วด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับลีลาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

ทั้งสองแนวทางเป็นทฤษฎี ที่ศ.ดรชัยอนันต์ นำมาใช้อบรมครู อาจารย์ ตั้งแต่ปีที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นต้นมา

และ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทฤษฎีดังกล่าวให้เป็นจริง และมีมีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อปี2540 ศ.ดร.ชัยอนันต์ ได้ทำรายงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือ "สู่การศึกษา ที่มีคุณภาพอย่างรอบด้าน" (Towards Holistic Quality Education) รายงานชิ้นนี้ได้แสดงให้ห็นถึงแผนการต่างๆของแนวทาง และวิธีการจัดการศึกษา ของวชิราวุธวิทยาลัย ทั้ง ที่เป็นภาพระยะสั้น กลาง และยาว และเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในแผนคือ แผนการรับนักเรียนในระยะยาว เพราะหากปล่อยให้มีการรับนักเรียนเพิ่มขึ้นๆอย่างที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ยาก เพราะปริมาณเด็กต่อห้องมากเกินไป และครูเองก็ต้องไปสอนหลายชั้นเกินไป

ปัจจุบันสัดส่วนของนักเรียนต่อครูวิชาการที่วชิราวุธวิทยาลัยนั้น อยู่ในระดับที่ดีอย่างมากคือ นักเรียน10คนต่อครู1คน ส่วนในชั้นเรียนเฉลี่ยแล้วมีนักเรียนเพียงประมาณ 20คนต่อห้อง ซึ่งช่วยให้ครูสามารถเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง

ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ1,000คน คน แต่ตามแผนที่วางไว้จะลดเหลือเพียง800คนในปี2545 และจะเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมปีที่6 ขึ้นไปเท่านั้น

จำนวนนักเรียนต่อครู นับว่าเป็นจุดที่แตกต่าง ของวชิราวุธวิทยาลัยกับโรงเรียนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชน(ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติ) โรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนสาธิต จะมีนักเรียนต่อห้องแล้วประมาณ 40คนขึ้นไป บางโรงเรียนมากกว่า50คนต่อห้อง ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคอย่างมากกับการสอนตามพ.ร.บ.การศึกษาใหม่

เมื่อเดือนพฤกษภาคม 2543 ที่ผ่านมา วชิราวุธ ยังได้เปิดอาคารเรียนหลังใหม่ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความล้ำหน้าทางด้านวิชาการคือ อาคาร "การออกแบบ และเทคโนโลยี่" เพื่อเปิดสอนวิชาออกแบบ และเทคโนโลยี ทั้งระดับประถม และมัธยม

ศ.ดรชัยอนัต์ เคยให้สัมภาษณ์"ผู้จัดการ"เมื่อเดือนมีนาคม2543 เกี่ยวกับความคิดในการสร้างอาคารหลังนี้ว่า

"ผมก็มองว่าถ้าจะมีการลงทุน ผมจะลงทุนในเรื่องอะไร ผมคิดว่าเวลานี้เป็นสังคมความรู้ สังคมความรู้คือ ความคิด ความคิดขึ้นอยู่กับโนฮาว์ และความคล่องแคล่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็กำหนดวชิราวุธว่าเราอาจจะแข่งขันกับโลกนี้ไม่ได้ในส่วนของสังคมทั้งหมด แต่เราน่าจะแข่งกันได้ในเรื่องของความสามารถเฉพาะตัว ในเรื่องของความคิดต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมก็เลยมุ่งไปยังเรื่องศิลปะการออกแบบ และเทคโนโลยีระดับโรงเรียน"

อาคารหลังนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานงบประมาณการก่อสร้าง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวอาคารมีลักษณะเป็น2อาคารเชื่อมกัน ซึ่งมล.ชัยนิมิตร นวรัตน์ นักเรียนเก่าท่านหนึ่งเป็นผู้ออกแบบโดยคำนึงถึงความกลมกลืนกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมของอาคาร ที่มีอยู่ในโรงเรียน และสื่อถึงความทันสมัยด้วยวัสดุ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยกำหนดพื้นที่ใช้สอย คือ อาคารส่วนหน้าเป็นอาคาร3ชั้นประกอบด้วยห้องบรรยาย ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ กราฟฟิค ห้องเรียนจิตรกรรม ห้องปฎิบัติการไฟฟ้า และห้องสารสนเทศด้านการออกแบบ และเทคโนโลยี อาคารส่วนหลังเป็นอาคาร2ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียนประติมากรรม เซรามิค และภาพพิมพ์ และห้องปฎิบัติการด้านศิลปะ และการออกแบบ

ที่สำคัญมีอุปรณ์ ที่ครบครัน และทันสมัยอย่างมากโดยเฉพาะ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แมคอินทอช จี 4สำหรับการออกแบบถึง15 เครื่อง

ชั้นล่างของอาคารหลังนี้ยังมีภาพวาด ที่หาได้ยากจากจักรพันธ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป นักเรียนเก่าวชิราวุธ รุ่นเดียวกับศ.ดร.ชัยอนันต์ ประดับอยู่หลายภาพ รวมทั้งภาพวาดจากศิลปินอื่นๆอีกหลายท่าน นับเป็นแกลลอรี่ ที่มีภาพวาด ที่มีค่าแห่งหนึ่งโดยเปิดให้นักเรียนได้แวะเข้าชมได้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียน

สำหรับปี2543 ที่ผ่านมา ศ.ดรชัยอนันต์ ได้สรุปถึงบทบาทเด่นๆ และวิธีการเรียนการสอน ของโรงเรียนไว้ใน "มนูแถลงสาร" ซึ่งเป็นจดหมายข่าววชิราวุธวิทยาลัย ฉบับล่าสุด ในเรื่องต่างๆเช่น

วชิราวุธวิทยาลัยได้เน้นการเรียนรู้โดยมีประสบการณ์ตรง เช่น ให้ครูได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับเด็กนักเรียนม.1 ซึ่งไปใช้ค่ายวชิราวุธ ที่เขาใหญ่เป็นฐานในการเรียนรู้วิถีชีวิต เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา การเปลี่ยนแปลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการบรรยายในห้องเรียน

ในระหว่างการปิดภาควิสาขบูชา ได้มีการสัมมนาหัวหน้านักเรียนทุกคณะ โดยมีคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ผู้บังคับการ ผู้ช่วยผู้บังคับการที่ปรึกษาผู้บังคับการ ผู้กำกับคณะ และครูบางท่านเข้าร่วมด้วย การสัมมนานี้นักเรียนเป็นฝ่ายแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะสิ่งที่อยากให้โรงเรียนทำ หรือแก้ไขปรับปรุงง อีกทั้งยัง ตกลงวางกติกา และระเบียบ ที่นักเรียนจะปกครองกันเองด้วย

ผลจากการสัมมนาในครั้งนั้น ทำให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนมากขึ้น และได้มีความเข้าใจว่า วชิราวุธวิทยาลัยมุ่ง ที่จะเป็นประชาคมสามัคคีไม่มีฝ่าย ทุกๆคนอยู่ใน "วชิราวุธธานี "อย่างสมานฉันท์ และดำเนินชีวิตตามภาระหน้าที่ของแต่ละคน การที่โรงเรียนทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกๆคนในโรงเรียนมีวิถีชีวิตแบบธรรมาธิปไตย เรียนรู้ ที่จะรักสามัคคี และร่วมกันแก้ไขปัญหา

ศ.ดรชัยอนันต์ ยังกล่าวย้ำว่า การมีประสบการณ์ตรง และมีวิถีชีวิตประจำวันในฐานะพลเมือง ของวชิราวุธธานี นั้น มีคุณค่ากว่าการเรียนหน้าที่พลเมืองศีลธรรม จากหลักสูตร และการบรรยายอาทิตย์ละ1-2คาบในห้องเรียน

"เราเชื่อมั่นในความตอนหนึ่งในพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า แบบระเบียบกฏบังคับ และหลักสูตรเหล่านั้น จะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษ และร้ายยิ่งกว่านั้น จะทำให้เป็นการเปลืองเวลา ถ้าสิ่งเหล่านั้น มิได้นำมา ซึ่งความสำเร็จในอันที่จะสร้างพลเมืองชนิด ซึ่งเราต้องการสำหรับประเทศของเรา"

วชิราวุธวิทยาลัยยังได้ทำโครงการ"พลเมือง-พลโลก"เมื่อปีการศึกษา 2542 โดยให้ความสำคัญแก่การเรียนรู้หน้าที่ สิทธิเสรีภาพ ของพลเมือง และพลโลกที่ดีด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เน้นการฝึกฝน และการปฎิบัติควบคู่ไปกับการสรุปความคิดเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของพลเมือง พลโลกที่ดี หนังสือ และคู่มือการเรียนรู้ของนี้ได้มีการทดลองไปแล้วทั้งภายในโรงเรียน และทั้งให้ครูจากโรงเรียนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นับว่าวชิราวุธวิทยาลัยได้ก้าวรุดหน้าไปมากกว่าหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะกระทรวงฯเพิ่งจะตื่นตัว และมีนโยบายให้บรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองไว้ในหลักสูตร ปีการศึกษา2544 เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง

ในช่วงเวลา ที่ผ่านมานักเรียนของ ที่นี่มีทางเลือกในการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย เช่น ที่คณะสนามจันทร์ ซึ่เป็นคณะเด็กเล็กได้จัด"โครงการพี่ช่วยน้องขึ้น" โดยรับอาสาสมัครจำนวนครั้งละ12คน ไปช่วยเลี้ยงน้อง ที่บ้านเด็กอ่อนพญาไท โดยจะไปในวันพฤหัสช่วงบ่ายหลังทานอาหารกลางวัน ไปช่วยอุ้ม ช่วยป้อนข้าว ช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ

และนักเรียนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายธรรมชาติระดับต่างๆ เช่นกิจกรรมค่ายธรรมชาติด้วยการไปเดินป่า ที่เขาชะโงก ไปฝึกพายเรือล่องแก่ง และศึกษาพันธ์ไม้ ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก

วชิราวุธยังเน้นการเรียนรู้ ที่ผ่านการแสดงละครอีกด้วย เช่นเดียวกับเมื่อสมัย

รัชกาล ที่6 ที่โปรดให้มีการแสดงละครอย่างมาก โดยละครแต่ละเรื่องจะมีข้อคิด ข้อเตือนใจที่ดีๆให้กับคนชมปีนี้ ที่จัดแสดงมาแล้วเช่น ละครเวทีเรื่อง"เมืองคนโง่ "ละครเวทีดัดแปลงจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่6เรื่อง"มัทนะพาธา"

ในขณะที่วชิราวุธวิทยาลัยกำลังพัฒนา และปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้บังคับการยังให้ความสนใจในเรื่องดนตรี และกีฬาควบคู่กันไปด้วย และยึดมั่นว่าเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของเด็กนักเรียน ที่นี่

เช่นเดียวกับเรื่องของศาสนา ที่จะต้องมีการปฎิบัติอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง กิจกรรมศาสนา ที่ต้องเข้าร่วมกับชุมชน การสวดมนต์เช้าเย็นเป็นจริยธรรม ที่จะต้องปฎิบัติจริง เพราะเป็นโรงเรียนประจำ เป็นทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนอยู่ด้วยกัน

จากวิสัยทัศน์ในเรื่องต่างๆของผู้บังคับการคนปัจจุบัน ทำให้วชิราวุธ เป็นโรงเรียนหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจของผู้ปกครองคนรุ่นใหม่ จะเห็นได้จากในปีดการศึกษาปีที่ผ่านมามีผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเองเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนี้

และท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับระบบการสอบเข้าเรียนต่อของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม แต่ดูเหมือนว่าวชิราวุธวิทยาลัย มีข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการนี้มานานแล้ว เพราะนักเรียนโรงเรียนนี้ไม่มีการสอบข้อเขียน หรือการสอบสัมภาษณ์ แต่ผู้ปกครองจะต้องผ่านการกาสอบสัมภาษณ์จากคณะกรรมการของโรงเรียนแทนแล้วมีการจัดอันดับคะแนน นักเรียนทุกคนที่ผ่านจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าประมาณ 1.5แสนบาทต่อคน และเสียค่าใช้จ่ายรายปีประมาณปีละ 10,000 บาท

และ ที่สำคัญโรงเรียนใจกลางกรุงแห่งนี้ยังมีพื้นที่ถึง99ไร่ ทำให้บรรยากาศของโรงเรียน ซึ่งมีอาคารแบบสถาปัตยกรรมของความเป็นไทยนั้น ร่มรื่น และสวยงามอย่างมาก มีสนามฟุตบอลกว้างใหญ่ มีสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ หลายสนาม เป็นโรงเรียน ซึ่งผู้บังคับการภูมิใจอย่างมากๆว่า เป็นโรงเรียน ที่สนามกว้างกว่าพื้นที่ๆใช้ในการเรียนหลายเท่านัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.