สิบ'ฮุนได สปริ๊นท์' ก็ทำอะไรไม่ได้


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าเกาหลี ยังลังเลกับตลาดไทย

"มาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก ด้วยโครงสร้างนิรภัยระดับ WORLD CLASS

- ตัวถังเหล็กกล้าหนาถึง 0.9 ม.ม. - ห้องโดยสารแบบ CRUMPLE ZONE ลดแรงกระแทกกรอบคัน - แท่งเหล็กป้องกันการยุบตัวถึง 5 ชิ้นที่หลังคา - คานเหล็กนิรภัย 2 ชั้น (BEAM&BAR) เสริมประตูทุกบาน - คานเสริมนิรภัย TWIN LOGITUDINAL FLOOR BEAMS ตามแนวยาวใต้ท้องรถ - คานเหล็กนิรภัยเสริมในกันชนหน้าหลัง - กระจกนิรภัย 2 ชั้น - เข็มขัดนิรภัยหน้า-หลัง 5 ที่นั่ง" - และอีกหลากหลายจุดดีจุดเด่น ที่กลั่นมาเป็นถ้อยคำเพื่อการโฆษณาถึงคุณภาพ ความ พร้อมสรรพ ของรถยนต์ฮุนได สปริ๊นท์ หรือ แอคเซ้นท์ 3 ประตู

คุณภาพที่ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารถยนต์ญี่ปุ่นใน ระดับเดียวกันที่มีจำหน่ายในเมืองไทย มิหนำซ้ำบางจุดยังถือว่าดีกว่าด้วยซ้ำ แต่ยัไงม่พอแค่นั้น ราคาได้ถูกนำมาเป็นกลยุทธ์สำคัญ

ฮุนได สปริ๊นท์ ในรุ่นต่ำสุดจะมีราคาจำหน่ายเพียง 299,000 บาท ในช่วงเปิดตัว จึงนับ เป็นรถยนต์นั่งที่มีราคาต่ำที่สุดในเมืองไทย (นี่กำลังพูดเฉพาะรถยนต์นั่งที่โครงสวร้างเป็นรถยนต์นั่งอย่างแท้จริงเท่านั้น)

แม้ว่าจะต้องเพิ่มค่าเครื่องปรับสมรรถนะ และความสะดวกสบาย ที่รถยนต์สามาประตูมี ให้ แบบไม่ต่างกับรถยนต์ซีดานมากนัก มองถึงเรื่องราคาที่นับว่าโดดเด่น และเป็นการทุ่มเทอย่างที่สุดครั้งหนึ่งของ บันเทิง จึงสงวนพรสุข เถ้าแก่ใหญ่ของ บริษัท ยูไนเต็ด โอโต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้เมื่อหลายเดือนก่อนแล้ว ก็น่าที่จะมั่นใจได้ว่า ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของ ฮุนได จะกลับมาอีกครั้ง ในตลาดรถยนต์นั่งของเมืองไทยเสมือนเมื่อปีสองปีแรกหลังจากเปิดตัวใหม่ ๆ

แต่ชัยชนะในสมรภูมิที่นับว่าร้อนแรงแห่งหนึ่งของโลก คงไม่ได้มาโดยง่ายดายเช่นนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มาเป็นตัวแปรว่า จะได้รับชัยชนะหรือไม่

ศิริชัย สายพัฒนา กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางของบริษัทในการนำ ฮุนได สปริ๊นท์ เข้ามาเปิดตัวในช่วงนี้ว่า บริษัทคาดหวังที่จะให้ฮุนได สปริ๊นท์ เป็นตัวผลักดันให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดโดยรวมขยับขึ้นไปถึง 5,000 หรือ 6,000 คันในปีนี้ ซึ่งอาศัยความสดของผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ราคาแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้

ปลายปี 2538 ยูไนเต็ดฯ ได้วางเป้าหมายการจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดในปี 2539 นี้ว่า จะต้องมียอดจำหน่ายถึง 10,000 คัน แต่เมื่อตลาดรถยนต์เมืองไทยตกต่ำลงอย่างมากในปีนี้ ทำให้สถานการณ์ของฮุนไดในเมืองไทยย่ำแย่ตามไปด้วย และผ่าน 9 เดือนแรกของปียอดจำหน่ายมีเพียง 3,548 คันเท่านั้น ดังนั้นฮุนได สปริ๊นท์ จึงเป็นความหวังที่บริษัทฝากไว้ ในอันที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ไว้ได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

ยอดขาย 500 คันต่อเดือน คือเป้าหมายในช่วงต้น หรือประมาณ 1,500 คันในช่วงเกือบ 3 เดือนนับจากปลายตุลาคมเรื่อยมาถึงสิ้นปี ซึ่งจะว่ามากก็นับว่ามาก สำหรับรถยนต์รุ่นหนึ่ง หรือจะว่าเป็นเป้าหมายที่มักน้อยหรือให้ได้แน่นอนไว้ก่อน ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้

"เป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้น เป็นเป้าหมายที่ไม่เกินจริง เป็นความสามารถที่เราจะส่งมอบรถได้ตามกำหนด เพราะรถรุ่นนี้เพิ่งเปิดตัวใหม่ในตลาดโลกและมียอดจำหน่ายสูงมาก ดังนั้นกำลังการผลิตอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบ้าง"

แต่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ได้พิสูจน์ระดับหนึ่งว่า ฮุนได ยังคงได้รับความสนใจจากตลาดเมืองไทยอยู่บ้าง

เพราะเพียง 7 วัน หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ยอดจองฮุนได สปริ๊นท์ มีจำนวนถึง 1,600 คัน แม้ว่าไม่ใช่สถิติที่ถึงกับฮือฮา แต่ก็นับได้ว่า เป็นยอดจองที่เกินเป้าหมายไปมาก และนี่น่าจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ของบริษัท หลังจากที่เงียบเหงามานานแรมปีกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่นำเข้ามาในระยะหลัง ซึ่งได้รับการตอบสนองน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเอลันตรา หรือแอคเช้นท์ ซีดาน

แต่แนวโน้มที่น่าจะไปได้ดี กลับมามีจุดที่อาจจะต้องทำให้ชะงักอยู่บ้าง

ศิริชัย กล่าวว่า ราคาจำหน่ายอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000-30,000 บาท เพราะราคาที่เปิดตัวนั้นทางฮุนได มอเตอร์ แห่งเกาหลีใต้ ได้ช่วยเหลือมาเพียง 1,500 คันหรืออย่างน้อยก็เฉพาะจำนวนที่สั่งจองในช่วงเปิดตัวประมาณ 1 เดือน แรกเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น ยูไนเต็ดฯ อาจจะต้องแบกรับภาระเองถ้าไม่มีการปรับราคาขึ้น

แม้ว่า ฮุนได มอเตอร์ โดยคี ยัง ฮอง กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ จะกล่าวว่า ทางฮุนไดมอเตอร์ ประสงค์ที่จะรุกเข้ามาในตลาดเมืองไทยมากขึ้น และอนาคตอันใกล้หวังที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดที่ประมาณ 10% หรือเป็นอันดับสาม ซึ่งการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น ก็คือการให้ความช่วยเหลือกับทางยูไนเต็ดฯ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและผลิต ซึ่งความช่วยเหลือนี้จะเน้นในทุกด้าน

ที่เป็นรูปธรรม ก็คือ ด้านตัวสินค้า ราคา กิจกรรมทางการตลาด การบริการหลังการขาย และด้านการเงิน

แต่เมื่อประเมินจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับองค์กรยูไนเต็ดฯ แล้ว ไม่แน่ใจว่า ฮุนได มอเตอร์ หวังอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่

มองจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วสิ่งที่จะทำให้ยูไนเต็ดฯ กลับมาผงาดได้นั้นจะต้องมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวประกอบกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องได้รับแรงสนับสนุนจากฮุนได มอเตอร์ อย่างแท้จริง

ระยะสั้นก็คือ จะทำอย่างไรให้ตลาดกลับมาสนใจรถยนต์ฮุนได ซึ่งแน่นอนว่า กลยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญ และการตัดราคาก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าจะใช้ได้ผลที่สุดในขณะนี้

ซึ่งมองถึงประเด็นในเรื่องราคาแล้วฮุนได มอเตอร์ เกื้อหนุนเพียงประมาณ 1,500 คันหรือช่วงสั้น ๆ ตามที่ ศิริชัยกล่าว ซึ่งนับว่าน้อยมาก และตรงนี้ก็ไม่น่าจะเกิดผลอะไรกับตลาดฮุนไดในไทยในระยะต่อไป เพียงไม่กี่เดือนเชื่อแน่ว่าฮุนได สปริ๊นท์ ก็คงจะลดความน่าสนใจลงเหมือนรุ่นอื่น ๆ

ที่สำคัญกว่านั้น การวางนโยบายด้านราคาจะต้องกระทำในทุกรุ่น และยาวนานพอสมควรไม่ใช่ลดแหลก หรือคอยตามแห่กับคู่แข่ง ซึ่งไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา มิหนำซ้ำ ภาพพจน์แทบไม่มีหลงเหลือ ซึ่งถ้า ฮุนได มอเตอร์ หวังที่จะโตในไทยตามที่ประกาศไว้จริง ๆ นโยบายตรงนี้จะต้องพิจารณากันใหม่

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และจะต้องวางแผนในระยะยาว ก็คือช่องทางการจำหน่ายและงานการตลาดทั้งหมด รวมถึงงานบริการและอะไหล่

น่าจะกล่าวได้ว่า นโยบายของยูไนเต้ดฯ ในเรื่องของดีลเลอร์นั้น ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เป็นความล้มเหลวด้านหนึ่งที่สัมพันธ์กับความล้มเหลวอีกหลายส่วน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ ฮุนได มอเตอร์จะต้องพิจารณาว่าจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร

ความล้มเหลวในด้านช่องทางการจำหน่ายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งรีบแก้ไข และต้องวางแผนระยะยาวกว่าจะสร้างความมั่นคงในส่วนนี้ได้อย่างไร

ยูไนเต็ดฯ เป็นบริษัทรถยนต์ที่ขยายช่องทางจำหน่ายได้รวดเร็วมากในช่วงเปิดตัวใหม่ ๆ แต่เวลาเพียง 2-3 ปี เท่านั้น จำนวนดีเลอร์ได้ลดลงอย่างน่าใจหาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะหันไปหายี่ห้ออื่นหรือล้มเลิกกิจการ แต่แน่นอนว่าเป็นเหตุมาจากความไม่คุ้มค่าในการเป็นดีลเลอร์จำหน่ายรถยนต์ฮุนได

ความไม่รับผิดชอบในความเป็นอยู่ของเหล่าดีลเลอร์นั้น แม้จะไม่สาหัสในเวลานี้ แต่ถ้ายูไนเต็ดฯ ปล่อยให้เนิ่นนานออกไป มั่นใจได้ว่าตลาดฮุนไดยากที่จะฟื้นตัวได้ เพราะไม่ใช่ว่าดีลเลอร์อยู่ลำบากแล้วจบแค่นั้น

เมื่อดีลเลอร์อยู่อย่างลำบาก การลงทุนในส่วนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ หรืออะไหล่ ก็ต้องรัดเข็มขัดเกือบทั้งหมด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อวงจรเดินมาถึงลูกค้า ลูกค้าก็จะมีแต่ส่ายหน้าเท่านั้น

ที่สุดแล้ว ชื่อเสียงของฮุนได ก็จะมีแต่ชื่อเสีย ภาพพจน์แย่

การกระตุ้นดีลเลอร์ ทั้งส่วนงานขาย งานบริการ และอะไหล่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งทำและต้องสร้างภาพพจน์ใหม่ตรงนี้ให้ได้

แผนงานส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมต่าง ๆ การสร้างภาพพจน์ความชัดเจนในแผนระยะยาวด้านการผลิตในไทย ซึ่งระยะหลังเงียบหายขึ้นทุกที และอีกหลายข้อติดขัดสำหรับตลาดฮุนไดในไทย เป็นเรื่องที่ยูไนเต็ดฯ จะแก้ไขเพียงผู้เดียวได้ยากเสียแล้ว

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ จะเป็นบทพิสูจน์ในลำดับต่อไปว่า ฮุนได มอเตอร์จริงจังแค่ไหนกับตลาดเมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.