วิธีรวยของลูเซ่นแยกตัวจาก เอทีแอนด์ที


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องธุรกิจ, การเมืองหรือสงคราม บางครั้งความใหญ่โตเกินไป ก็สร้างปัยหาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นี่เป็นเหตุทำให้ เอทีแอนด์ที (ไทยแลนด์) อิ๊งค์ จำต้องแยกตัวออกมาเป็นบริษัทใหม่ชื่อ ลูเซ่น เทคโนโลยีส์ ไทยแลนด์ อิ๊งค์ โดย เอทีแอนด์ที ไม่ได้ถือหุ้นแม้แต่นิดเดียว

การแยกตัวนี้ดำเนินไปตามแนวทางปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัท เอทีแอนด์ที สหรัฐอเมริกา เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 และสรุปได้ว่า ในปี 2538 ลูเซ่นมีรายได้ประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทมหาชนที่ตั้งใหม่แห่งนี้ ซึ่งมีโรงงานผลิต 60 แห่งใน 21 ประเทศ หน่วยวิจัยและพัฒนาเบลล์แลบส์ใน 13 ประเทศ มีบริษัทร่วมทุน 11 แห่งอยู่ในประเทศไทยหนึ่งแห่ง เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิระบบสื่อสัญญาณ ใยแก้วนำแสง สายเคเบิล ไมโครอิเล้กทรอนิกส์ และระบบเครื่องชุมสาย

ในประเทศไทย ผลงานของลูเซ่น คือการติดตั้งสายโทรศัพท์ 570,000 เลขหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 การติดตั้งชุมสายโทรศัพทืระหว่างประเทศและชุมสายบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิตอลให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย เสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2539

แม้จะดูเป็นบริษัทหน้าใหม่ ก็ถือได้ว่า ลูเซ่นนั้นคือระดับลายครามแห่งยุคดิจิตอล ซึ่งมีประสบการณ์สั่งสมมาไม่ต่ำกว่า 125 ปี เนื่องจากเคยสังกัดอยู่กับเอทีแอนด์ที

แต่เดิม ธุรกิจใหญ่ ๆ ของเอทีแอนด์ทีคือ ให้บริการโทรศัพท์ ขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขายอุปกรณ์ในด้านการสร้างระบบโทรคมนาคม ระยะหลังก็ทำทีวีผ่านดาวเทียม แข่งกับบริษัทเคเบิลทีวีในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จุดยืนและภาพพจน์ของอาณาจักรนี้ คือโอเปอเรเตอร์ด้านเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของโลก ในที่สุดก็ได้รับการปฏิเสธจากลูกค้าที่เป็นคู่แข่งของเอทีแอนด์ทีโดยตรงเมื่อเป็นเช่นนี้ การแยกกันเดินก็น่าจะสมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจมากกว่า

ลูกเซ่นจึงกลายเป็นบริษัทใหม่ที่มีฐานะเป็นซัปพลายเออร์ระบบโทรคมนาคมในขณะที่เอทีแอนดีทีมีฐานะเป็นธุรกิจบริการ เช่นเดียวกับไนเน็กซ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ของเทเลคอมเอเชีย

ความชัดเจนเช่นนี้นับว่าสำคัญหากเป็นซัปพลายเออร์ก็ไม่จำเป็นต้องไปผูกติดกับโอเปอเรเตอร์รายใดรายหนึ่ง เพราะซัปพลายเออร์ก็ย่อมต้องการขายสินค้าให้กับทุกโอเปอเรเตอร์ แต่ถ้าเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ ก็สามารถที่จะเป็นพันธมิตรกับโอเปอเรเตอร์อีกรายหนึ่งได้

"ปัจจุบัน เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งไม่เหมือนเมื่อครั้งอยู่กับเอทีแอนด์ทีทำให้เราสามารถขยายธรุกิจทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว" ดอนกรีน ประธานระบบเครือข่ายไร้สายของลูเซ่น ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกล่าว

ที่แล้วมา การมีสองสถานะคือเป็นทั้งผู้ให้บริการซัปพลายเออร์ ทำให้เทเลคอมเอเชีย ไม่เลือก เอทีแอนด์ทีเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ เอทีแอนด์ที หรือซัปพลายเออร์ในสังกัดของตนเอง หยั่งแขนขาสร้างสายสัมพันธ์เชิงธุรกิจได้ไม่ง่ายนักเพราะโอเปอเรเตอร์มีความกระอักกระอ่วนใจ

แต่ก็ใช่ว่า ลูเซ่นถึงกับต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากเอทีแอนด์ทีนั้นดำเนินธุรกิจในไทยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี คือการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศร่วมกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยให้บริการในสองรูปแบบคือ การให้บริการลูกค้ารายย่อยร่วมกัน และการฝ้หบริการวงจรเช่า ลูเซ่น ในตอนที่ยังอยู่กับ เอทีแอนด์ที จึงได้รับผลพวงในด้านสายสัมพันธ์มาด้วย

หลังแยกตัว ลูเซ่นทำแคมเปญโฆษณาตอกย้ำแบรนด์อย่างต่อเนื่องเพราะสินค้าของลูเซ่นมิ ได้มีแค่โซลูชั่นสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เท่านั้น แต่ยังมีคอนซูเมอร์โปรดักส์ เช่น โทรศัพท์มีสายและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และยังเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ แต่ธุรกิจหลักคือการขายโซลูชั่นสำหรับระบบโทรคมนาคม ซึ่งทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดคู่แข่งก็หนีไม่พ้น อัลคาเทล เอ็นอีซี ซีเมนส์ อีริคสัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่เป็นซัปพลายเออร์จะมีน้อยกว่าโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์ทั้งพื้นฐานและไร้สาย ซึ่งในเมืองไทยต่อไปจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ราย

นี่เป็นหลักประกันว่า แนวโน้มของลูเซ่นน่าจะไปได้ดี โดยเฉพาะเมื่อจะมีการขยายโทรศัพท์ 6 ล้านหมายเลข ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เนื่องจากโอเปอเรเตอร์เครือข่ายโทรศัพท์มักจะเลือกซัปพลายเออร์ 4 ราย เพราะไม่อยากมีโซลูชั่นของซัปพลายเออร์เพียงรายเดียว แต่การมีซัปพลายเออร์มากเกินไปก็อาจทำให้ไม่สะดวกต่อการบริหารระบบ

เทเลคอมเอเชีย ผู้ได้รับสัมปทานโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ก็มีนโยบายกระจายซัปพลายเออร์ให้อยู่ใน 3 ทวีป ยกตัวอย่างเมื่อเลือกซัปพลายเออร์จากยุโรป เช่น ซีเมนส์ แล้ว ก็ไม่เลือกอีริคสัน หันมาเลือกลูกเซ่น

แต้มต่อของลูเซ่น คือ เทคโนโลยีซึ่งเหมาะกับเครือข่ายที่ต้องการศักยภาพสูงและออกแบบเพื่อรองรับอนาคต เนื่องจากลูเซ่นมีหัวใจสำคัญคือ เลล์ แลบส์ อันเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาระดับดังคับโลกธุรกิจเช่นนี้ ย่อมไม่เหมาะกับตลาดขนาดเล็ก เพราะลงทุนสูง

การวิจัยของเบลล์ แลบส์ แยกออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนแรก เบสิกรีเสิร์ช ซึ่งเป็นการทุ่มทุนวิจัยทั่วไป โดยไม่เน้นในเชิงการตลาดมากนัก

ส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยในลักษณะรับวิจัยเป็นโปรเจกต์ให้แก่โอเปอเรเตอร์ด้านโทรคมนาคมที่ต้องการโซลูชั่นใหม่ ๆ เมื่อวิจัยออกมาแล้ว จะนำมาเอาผลงานไปขายต่อให้กับโอเปอเรเตอร์รายอื่นไม่ได้ นี่นับเป็นส่วนที่ทำเงินอย่างสูง

ส่วนที่ 3 เป็นการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาด

"ที่แล้วมา โอเปอเรเตอร์ในเลเยียม และยุโรป ก็จ้างลูเซ่น เป็นผู้สร้างฟีเจอร์สำหรับเน็ตเวิร์ก ส่วนเน็ตเวิร์กแมเนจเมนท์ที่ทันสมัยที่สุดในญี่ปุ่นลูเซ่นก็เป็นผู้ทำ" อมฤต ภูมิรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายขายระบบเครือข่ายของลูเซ่นกล่าว

เขากล่าวถึงแนวโน้มของซัปพลายเออร์ระบบโทรศัพท์ว่า เทคโนโลยีเครือข่ายกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การจะชิงแต้มต่อในเรื่องนี้ต้องใช้งบวิจัยสูง โดยเฉพาะในเรื่องชุมสาย ดังนั้น บริษัทที่ไม่มีความสามารถสูงพอย่อมอยู่ไม่ได้

ช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสทองของลูเซ่น เนื่องจากยังคงมีความต้องการเครือข่ายสื่อสารทั้งแบบมีสายและไร้สายสูงมาก ประชากรราวครึ่งหนึ่งของโลกยังไม่มีโอกาสใช้โทรศัพท์แม้แต่ครั้งเดียวตลาดจึงยังกว้างใหญ่ แต่สำหรับในประเทศโลกที่สาม เรื่องของการบริหารสายสัมพันธ์กับโอเปอร์เรเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องอาศัยคนที่เข้าใจท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ลูเซ่นตั้งประธานคนใหม่ประจำประเทศไทย คือ สตีเฟ่น เอส คอลเวล ซึ่งมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 25 ปีในงานทุกแขนงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงและการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือในช่วง 9 ปีสุดท้ายเขาทำงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาโดยตลอด

ในไทยลูเซ่นมีนโยบายที่จะแนะนำเครือข่ายการสื่อสารไร้สายระบบซีดีเอ็มเอให้เป็นที่รู้จัก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูเซ่นได้เซ็นสัญญามูลค่าหลายล้านดอลลาร์กับบริษัทซินเซกิเทเลคอม แห่งเกาหลี ให้เป็นผู้จำหน่ายและติดตั้งเครือข่ายซีดีเอ็มเอทีทันสมัย และมีคุณภาพสูง

อันที่จริง หน้าใหม่แต่ลายครามอย่างลูเซ่น มีแต่จะต้องหมายตาไปสู่โทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 นี่เป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ฝีมือของสตีเฟ่นว่า จะสอบผ่านระบบทีเต็มไปด้วยเส้นสนกลในของประเทศนี้หรือไม่ เพราะการมีเทคโนโลยีดีเลิศอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่พอเพียง

ส่วนการค้าขายสนิค้าคอนซูเมอร์เป็นเรื่องที่เขายังไม่คิดที่จะซีเรียสด้วยแต่ประการใด เพราะกว่าแบรนด์ลูเซ่นจะชื่อคุ้นหูคนไทย ก็คงต้องเหนื่อยอีกหลายยกทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.